ผู้แต่ง :: ฉวีวรรณ สุวรรณาภา
โลกปัจจุบันมีความเจริญรุดหน้าด้านความรู้ ข้อมูลข่าวสาร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้สังคมมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้เกิดปัญหาน้อยใหญ่ ตามมามากมาย ผู้คนที่จะดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และสร้างสรรค์สังคมได้ ต้องเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ใฝ่ดี และมีทักษะชีวิตที่เหมาะสมเพียงพอ การจัดการเรียนรู้แบบเดิม ๆ ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ความรู้จากครู หรือจากหนังสือเพียงไม่กี่เล่ม ไม่สามารถพัฒนาคนให้มีบุคลิกภาพและคุณลักษณะที่เหมาะสมต่อการเผชิญโลกอนาคตได้ การจัดการศึกษายุคใหม่ ให้เป็นไปตามแนวทางที่เหมาะสมจึงต้องมีการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ โดยมุ่งพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เรียนรู้อย่างมีความสุข มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มศักยภาพของตนเอง สามารถนำผลการเรียนรู้มาใช้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ คือ พลังที่จะขับเคลื่อนประชาคมไทย ไปสู่อนาคตอย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง แต่การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ไม่ใช่ยาวิเศษขนานใหม่ที่จะลอกเลียนสูตรสำเร็จเสมอไป ถือปฏิบัติเหมือนกันทั่วประเทศ แก่นแท้ของการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ คือ ความตระหนักในศักยภาพของทุกคนที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง หลากหลาย สนุกสนาน ท้าทายและมั่นใจ
การปฏิรูปหลักสูตร เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการพัฒนาหลักสูตรและการใช้หลักสูตรเพื่อแก้ไขจุดอ่อน จุดด้อย ของระบบหลักสูตรเดิมที่ไม่ทันสมัย ไม่เอื้อต่อการตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของสังคมและไม่เอื้อต่อการจัดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตตลอดจนไม่สามารถออกแบบให้สนองความแตกต่างระหว่างผู้เรียนที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต การปฏิรูปหลักสูตรเป็นการเสริมสร้างให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการกำหนดออกแบบหลักสูตรโดยครูที่โรงเรียน และส่วนกลางเน้นที่จัดระบบ แนะนำ ช่วยเหลือ ชี้นำ ให้ตัวอย่างแก่ครู ให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานแกนกลางที่คนไทยต้องมีเหมือน ๆ กันรวมทั้งส่งเสริมการดำเนินไปสู่มาตรฐาน การนิเทศติดตาม และประเมินผลให้บรรลุมาตรฐาน เหตุที่ต้องมีหลักสูตรระดับโรงเรียนก็เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ได้มาตราฐานสากล มาตรฐานความเป็นไทย มาตรฐานที่ท้องถิ่นต้องการและยกระดับมาตรฐานของภูมิปัญญาไทย เป็นโอกาสที่จะสนองสาระที่มาจากภูมิปัญญาไทยและภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้สิทธิแก่พ่อแม่ ชุมชน ได้มีส่วนร่วมกำหนดความต้องการของท้องถิ่น
การพัฒนาหลักสูตรระดับโรงเรียนจะมีคุณภาพหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับ “ครู” เพราะครูเป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ และสัมผัสกับผู้เรียนอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา แต่ทั้งนี้ในการกำหนดหลักสูตรจะต้องคำนึกถึงความมีคุณภาพ ผู้เรียน เรียนแล้วเกิดการเรียนรู้ได้ดีเพียงใด และสามารถบรรลุ กรอบมาตรฐานคุณภาพผลการเรียนรู้ (Quality Standard Framework) จากส่วนกลางได้ การพัฒนาหลักสูตรระดับโรงเรียนโดยลำพังแล้วครูเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวนั้นย่อมกระทำไม่ได้ ต้องอาศัยส่วนกลางที่จะต้องสร้างความพร้อมให้แก่โรงเรียนและครู โดยจะต้องเป็นแกนสำคัญในการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพและศักยภาพให้เพียงพอต่อการดำเนินการ
มนุษย์ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลก กระบวนการเรียนการสอนที่ดี คือครูต้องรู้จักบูรณาการ หาหนทาง วิธีการส่งเสริม สร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนได้รู้จักการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองโดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนและการนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์โดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง อาศัยหลักการ CIPPA MODEL ซึ่งประกอบด้วย
๑. CONSTRUCT ให้ผู้เรียนแสวงหาข้อมูล ทำความเข้าใจ คิดวิเคราะห์ สรุปข้อความรู้ด้วย
ตนเอง
๒. INTERACTION ให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์
แก่กันและกัน
๓. PARTICIPATION ให้ผู้เรียนมีบทบาทและส่วนร่วมในการเรียนรู้มากที่สุด
๔. PROCESS/PRODUCT ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการควบคุ่ไปกับผลงานข้อความรู้ที่
สรุปได้
๕. APPLICATION ให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
(สุพล วังสินธ์ กรมวิชาการ วารสารวิชาการ ปีที่ ๑)
แนวทางของ CIPPA MODEL คือการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกฝน รวบรวมข้อมูลและสร้างสรรค์ความรู้ด้วยตนเอง ตลอดทั้งฝึกฝนให้รู้วินัยและรับผิดชอบในการทำงาน สำหรับกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จะประกอบด้วย ๔ ขั้นตอน คือ ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นกิจกรรมการเรียนการสอน ขั้นวิเคราะห์อภิปรายผลจากกิจกรรม และขั้นสรุปประเมินผลการเรียนรู้ โดยแนวทาง CIPPA จะถูกนำไปใช้ในขั้นตอนของการจัดกิจกรรม ครูผู้สอนจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากครูผู้สอน เป็นผู้อำนวยการความสะดวก คือเป็นผู้จัดเตรียมประสบการณ์ และสื่อการเรียนการสอน รวมทั้งการหาเทคนิคและวิธีการสอนรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนใช้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ ความรู้ด้วยตนเองและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพ คือ เป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข ตลอดทั้งมองกว้าง คิดไกล ใฝ่รู้และเชิดชูคุณธรรม
ความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น บางครั้งจึงเป็นการยากที่จะส่งเสริมให้เด็กหรือครูคิดได้หรือมองเห็นในจิตใจ การเป็นครู มีภาระหน้าที่สอนนักเรียนทั้งในและนอกห้องเรียนนั้นใช่ว่าจะดำเนินการได้ตามหลักการและทฤษฏีที่เคยเรียนมาได้หมดทุกประการ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ครูมักจะรำพึงรำพันกับตนเองว่าทำไมไม่สามารถปฏิบัติได้ตามที่ตนเองร่ำเรียนมา ต้องมีการศึกษาหาวิธีแก้ปัญหาอยู่เสมอไม่รู้จบ ความคิดสร้างสรรค์ เกิดจากความสามารถ ๓ ประการ ซึ่งสามารถพัฒนาได้ในตัวนักเรียนแต่ควรใช้และพัฒนาให้เกิดความสมดุลกัน คือ
๑. ความสามารถในการสังเคราะห์ (Synthetic ability) คือ ความสามารถที่จะคิดอะไร
ได้มากกว่าสิ่งที่เห็นอยู่เป็นปกติ ได้อะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาซึ่งคนอื่นมองไม่เห็น เช่น เห็นสายไฟ เห็นแผ่นพลาสติก เห็นมอเตอร์ อาจจะจับรวมกันเป็นพัดลมได้
๒. ความสามารถในการวิเคราะห์ (Analytical ability) คือความสามารถในการคิดแยก
แยะออกเป็นส่วน ๆ มีการประเมินผล มองเห็นจุดดี คิดนำจุดดีไปใช้ประโยชน์
๓. ความสามารถในทางปฏิบัติ (Practial ability) คือ ความสามารถในการเปลี่ยนทฤษฎี
เป็นปฎิบัติ หรือเปลี่ยนความคิดเชิงนามธรรมให้เป็นรูปธรรม
(รศ.ดร.สุรศักดิ์ หลาบมาลา. กรมวิชาการ วารสารวิชาการ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ )
ความคิดสร้างสรรค์ก็คือสิ่งใหม่หรือนวตกรรมซึ่งเกิดจากการนำความสามารถในการสังเคราะห์ + ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ + ความสามารถในการปฏิบัติ นำมารวมกันแล้วยังไม่พอต้องอาศัยครู ช่วยส่งเสริมความสามารถทั้ง ๓ ประการพัฒนาให้ความสามารถทั้ง ๓ ประการให้สมดุลกัน ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น บางครั้งจึงเป็นการยากที่จะส่งเสริมให้เด็กหรือครูคิดได้ แผนที่การคิด (Thinking map) จึงเป็นเครื่องมือให้นักเรียนเข้าใจกระบวนการคิดและมองเห็นรูปร่างได้ เช่น การคิดอุปมาอุปมัย คือเปรียบเทียบสิ่งที่แตกต่างกัน ใช้เชื่อมแนวความคิด ๒ ประการ เปรียบเทียบกัน แผนที่การคิดชนิดนี้เรียกว่า แผนที่การคิดแบบสะพาน (Bidge Map) เช่น
ให้รักษาความดี เสมือน เกลือรักษาความเค็ม
หรือแผนที่เชิงระบบขั้นต้น (System Map) ซึ่งเรารู้จักกันในกระบวนการ คือ input process และ output และอาจจะมีการให้ข้อมูลย้อนกลับด้วย เช่น
สติปัญญาสูง |
เอาใจใส่ต่อการเรียนดี |
ผลการเรียนดี |
เกรดเฉลี่ยสูง |
วิธีการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์โดยวิธีการนำเอกแผนที่การคิด (Thinking map) มาสอนนักเรียน เพื่อช่วยให้นักเรียนคิดได้ดียิ่งขึ้น ครูสามารถปรับแผนที่การคิดไว้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ตามความเหมาะสม โดยแทรกลงในบทเรียนที่สอนได้
Storyline Method เป็นนวตกรรมทางการศึกษา ที่มีการบูรณาการทั้งหลักสูตรและการเรียนการสอนโดยนำเอาเนื้อหาวิชาต่าง ๆ มาหลอมเข้าด้วยกัน เน้นที่องค์รวมของเนื้อหามากกว่าองค์ความรู้ของแต่ละรายวิชา และเน้นที่การเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่าการบอกเนื้อหาของครู Storyline Method จะเป็นวิธีสอนที่นำเอาทฤษฎีการเรียนรู้หลายทฤษฎีมาใช้รวมกัน เช่น การบูรณาการ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง การเรียนจากสิ่งที่ใกล้ตัวนักเรียนเชื่อมโยงออกไปสู่วิถีชีวิตจริง การค้นคว้าหาความรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง โดยมีความเชื่อว่า “ความรู้ควรมีลักษณะเป็นองค์รวม ผลของการเรียนรู้ขึ้นอยู่กับวิธีการได้มาซึ่งความรู้นั้น และประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญและผู้เรียนจะเรียยนรู้ได้ดีผ่านการกระทำของตนเองด้วยประสบการณ์ตรง”
การใช้ Storyline Method จะส่งเสริมให้เด็กกล้าคิด กล้าพูด กล้าแสดงออก และมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ครูต้องมีความสามารถในการหลอมรวมเนื้อหาหลักสูตรเข้าด้วยกัน และต้องมีทักษะในการคิดกิจกรรม การเขียนแผนการสอนบูรณาการที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับเรื่องที่เด็กต้องเรียนรู้อย่างกลมกลืน ตลอดทั้งการประเมินผลสัมฤทธ์ทางการเรียนของเด็กให้เป็นที่ยอมรับว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
การพัฒนาหลักสูตรระดับโรงเรียน ควรใช้ระบบ CIPPA คือ การใช้รูปแบบและการดำเนินการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง , Thinking map คือ การสอนเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์โดยวิธีการนำเอาแผนที่ความคิด และ Storyline Method คือ เส้นทางการเรียนรู้ ล้วนแล้วแต่เป็นแนวคิดและวิธีการเน้นความสำคัญของผู้เรียนหรือยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทุกแนวคิดและทุกวิธีการคาดหวัง “ครู” เป็นบุคคลที่มีคุณภาพและศักยภาพในหลาย ๆ ด้าน เช่น เป็นตัวจักรสำคัญในการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างโอกาส ประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กกระตุ้น ชี้แนะ สนับสนุนช่วยเหลือให้เด็กได้มีการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้อย่างมีความสุข สามารถเชื่อมโยงสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ไปสู่วิถีชีวิตจริงของเด็กได้
นอกจากนี้ยังคาดหวังให้ “ครู” มีความสามารถในการบูรณาการหลักสูตรที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น การจัดทำแผนการสอนแบบบูรณาการ การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ และขอบข่ายของเนื้อหาสาระในหลักสูตรการเรียนการสอนในแต่ละระดับ ตลอดทั้งการประเมินผลสัมฤทธิ์ การพัฒนาศักยภาพของ “ครู” ให้มีคุณภาพ และศักยภาพตามที่คาดหวังจึงเป็นภารกิจสำคัญต้องจัดการทำอย่างเร่งด่วน จะต้องมีกฎหมายการศึกษาขั้นพื้นฐาน กฎหมายครู กฎหมายการบริหารการศึกษา หน่วยงานทางการศึกษาในทุกระดับ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วน ทุกฝ่ายก็ต้องร่วมมือกันพัฒนาครู ให้เป็นไปตามที่การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และการปฏิรูประบบการศึกษาที่คาดหวัง