บทความวิชาการ
การพัฒนาการศึกษาคณะสงฆ์ไทย
23 ธ.ค. 58 | พระพุทธศาสนา
57108

ผู้แต่ง :: ผศ.ดร.สมศักดิ์ บุญปู่

การพัฒนาการศึกษาคณะสงฆ์ไทย



ผศ.ดร.สมศักดิ์ บุญปู่

       การศึกษานั้น ได้มีมาพร้อม ๆ กับมนุษย์ที่ได้อุบัติขึ้นมาในโลกโดยรู้จักการแก้ปัญหา รู้จัก รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ตลอดทั้งแก้ปัญหาขัดแย้งด้วยเหตุและผล รู้จักสำนึกและเข้าใจ ในคุณค่าของสิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏให้เราได้เรียนรู้ในแง่ต่าง  ๆ  ตลอดทั้ง สิ่งแวดล้อมสมัยนั้น ๆ ด้วย ทั้งนี้เพราะการศึกษาหรือการค้นคว้าทำให้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิด ขึ้นในโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และสามารถรู้และคาดการณ์ล่วงหน้าในอนาคตได้ นอกจากนั้น การศึกษาไม่ว่าจะเป็นคดีโลกหรือคดีธรรม ย่อมเป็นเหตุปัจจัยยกระดับฐานะของตนเองให้สูงขึ้น กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย ในที่นี้จะมุ่งถึงเฉพาะการศึกษาทางคดีธรรมหรือศึกษาการพัฒนาการ ศึกษาคณะสงฆ์ไทยว่าเป็นมาอย่างไร

การศึกษาของคณะสงฆ์เป็นมาอย่างไร
     เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระองค์ได้ทรงประกาศคำสอนใหม่ ซึ่งเป็นการปฏิวัติต่อคำสอน ของพราหมณ์ กำจัดความเชื่อถือเรื่องวรรณะ ไม่ให้ถือเอาชาติกำเนิดเป็นเครื่องแบ่งแยกความสูง ต่ำและสิทธิของมนุษย์ ให้ถือว่าทุกคน ทุกวรรณะเกิดมามีความเสมอภาคกัน จะดี จะชั่ว จะประเสริฐ หรือต่ำทราม เพราะการกระทำ และการประพฤติดีของตนเอง จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร จัณฑาลหรือปุกุสะก็ตาม ทำดีก็ได้ผลดีเหมือนกัน ทำชั่วก็ได้ผลชั่วเหมือนกัน คนใดปฏิบัติ ธรรมก็ได้ความสงบทางจิต มีความก้าวหน้า ถึงจุดหมายของศาสนาได้เหมือนกัน ชาติกำเนิด ไม่สำคัญ สำคัญที่การฝึกอบรม
     นอกจากทรงประกาศคำสอน เพื่อให้เกิดผลทางการปฏิบัติ ทางความเชื่อถืออย่างใหม่ ของประชาชนแล้ว พระพุทธเจ้าทรงนำหลักการนี้มาปฏิบัติให้เกิดผลในรูปสถาบันด้วย ทรงตั้ง คณะสงฆ์ขึ้น คณะสงฆ์นี้เปิดรับบุคคลทุกวรรณะและนอกวรรณะ ทุกคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกของ สถาบันสงฆ์นั้นแล้วมีสิทธิเสมอกันในทางด้านการปกครองและชีวิตทางสังคม มีข้อกำหนดเพียง ให้แสดงความเคารพกันตามลำดับอายุสมาชิกภาพ และมีโอกาสเท่าเทียมกันในการที่จะได้รับการ ศึกษาอบรมตลอดจนปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่ชีวิตในสงฆ์จะเข้าถึงได้สถาบันวัดกลายเป็น สถาบันทางการศึกษา เพราะเป็นที่ฝึกหัดอบรม บรรยากาศภายในวัดรวมถึงวิถีชีวิตของพระสงฆ์ ภายในวัดเป็นบรรยากาศสำหรับฝึกหัดพัฒนาคนและพัฒนาตนให้เดินไปในวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงาม ตามระบบพัฒนาคน ๓ ด้าน ที่เรียกว่า ไตรสิกขา ได้แก่
     ๑.  ฝึกฝนพัฒนาในการแสดงออกทางกายและวาจา (อธิศีล)
     ๒.  ฝึกฝนพัฒนาด้านคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพจิต (อธิจิต)
     ๓.  ฝึกฝนพัฒนาสมองหรือปัญญา (อธิปัญญา)
     พิจารณาจากประวัติการประดิษฐานพระพุทธศาสนา  จะเห็นได้ว่าคณะสงฆ์ใน ความหมายที่แท้นั้น พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นเป็น “สังคมตัวอย่าง” ที่มีการจัดระบบต่าง ๆ ทั้งใน การปกครอง การเลี้ยงชีพ ชีวิตทางสังคม  ตลอดจนการศึกษาอบรมทุกอย่าง โดยให้สมาชิก ทุกคนมีสิทธิ์และมีส่วนร่วมในกิจกรรมและผลประโยชน์ต่าง ๆ ของสถาบันโดยทั่วถึงและเท่าเทียม กัน มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน เคารพในคุณค่าของกันและกัน อยู่ด้วยความกลมกลืนประสานกัน เป็น ระเบียบเรียบร้อย มีความปลอดโปร่งเป็นอิสระทั้งทางกาย ทางวาจา และความคิด มีโอกาสพร้อม บริบูรณ์ที่จะให้ความสามารถ และคุณสมบัติต่าง ๆ ของตน ๆ ได้รับการฝึกอบรมเจริญก้าวหน้า โดยเต็มที่ถึงขีดสุดเท่าที่ตนจะทำได้ในมรรคาแห่งการปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระศาสนา คือให้ทุกคนมีสิทธิในการปกครองสถาบันของตน มีปัจจัย ๔ พอเหมาะพอดีแก่การที่จะให้ชีวิตดำรง อยู่ด้วยความสะดวกสบายพอสมควร และช่วยให้การปฏิบัติหน้าที่ได้ผลดี สมาชิกทุกคนอยู่ร่วม กัน โดยให้ความเคารพนับถือกันฉันพี่น้อง ช่วยเหลือกันและให้โอกาสแก่กันในการปฏิบัติหน้าที่
ผู้จบการศึกษาอบรมแล้ว หรือศึกษาต่ำกว่า ผู้รับการศึกษาจะต้องฝึกฝนอบรมตนเอง ด้วยตั้งใจจริงเต็มหน้าที่และความสามารถของตน
     หลักทางพระพุทธศาสนาส่งเสริมให้มีการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านหลักธรรม เช่น เรื่อง พระนิพพาน การกำจัดอวิชชา ไตรสิกขา การเน้นปัญญา ความสำคัญของกัลยาณมิตร ความ เป็นพหูสูต เป็นต้น หรือทางพระวินัย เช่น การถือนิสัยของพระนวกะ การร่วมประชุมในอุโบสถ เดียวกัน การนั่งประชุมแสดงธรรม สนทนาสากัจฉา อภิปราย ตอบปัญหาธรรมกันเป็นต้น ทั้งนี้ โดยมีวัดเป็นสถาบันการศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ของพระภิกษุ เป็นชีวิตที่มุ่งต่อการฝึกฝนอบรมและ การให้การศึกษาอบรม ดังนั้น ชีวิตของสังคมภิกษุจึงมากไปด้วยกิจกรรมการศึกษา พัฒนาการทาง การศึกษาของอารยันที่ได้จากพระพุทธศาสนา
     การศึกษาคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ดำเนินตามแนวไตรสิกขา โดยยึดถือพุทธพจน์ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก มีความมุ่งหมายสำคัญ เพื่อให้ประพฤติปฏิบัติตน ดำรง รักษาและเผยแผ่พรหมจรรย์อันเป็นระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ ดำเนินชีวิตตามหลักการแห่ง พระธรรมวินัย ต่อมา ได้แยกออกเป็นฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระ  คือคันถธุระ  ได้ศึกษา พระธรรมวินัย คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และวิปัสสนาธุระ ได้แก่ การเรียนวิธีฝึกหัดจิตใจของ ตนเองให้ปราศจากกิเลส เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระสงฆ์ พุทธสาวก จึง ประชุมกันทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ได้ตรัสสอน ไว้มีจำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จัดไว้เป็น ๓ หมวด คือ พระสูตร พระวินัย และ พระอภิธรรม เรียกรวมกันว่า พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาสืบมา
     พระพุทธศาสนา มีองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ ปริยัติ คือ การเล่าเรียน ปฏิบัติ คือ ลงมือกระทำ และปฏิเวธ คือ ประจักษ์แจ้งผลการศึกษาปริยัติ เป็นองค์ประกอบสำคัญ อันเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ ความเจริญทางการศึกษาหรือปริยัติของคณะสงฆ์ เป็นปัจจัยสำคัญ เกี่ยวกับความเจริญของพระพุทธศาสนา

ลักษณะของการศึกษาพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล
     ๑.  ระบบการรับเข้าศึกษาพระพุทธศาสนา ตามพุทธบัญญัติพระวินัย กุลบุตรที่จะเข้า มาสู่สถาบันแห่งนี้ต้องบรรพชาอุปสมบท สามเณรมีอายุ ๗ ปีขึ้นไป พระภิกษุอายุ ๒๐ ปีขึ้นไป
     ๒.  ระบบการศึกษาของพระพุทธศาสนา เป็นแบบโรงเรียนกินนอน
     ๓.  สถานศึกษา คือ วัด
     ๔.  ชีวิตนักศึกษา ทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกันตามพระวินัย ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ
     ๕.  ด้านปัจจัย ๔ ได้รับการดูแลและอุปถัมภ์โดยพระราชา อำมาตย์ พ่อค้า คหบดี และ ประชาชนทั่วไป
     ๖.  เครื่องแบบการแต่งกาย ใช้ผ้าบังสุกุลตามพุทธบัญญัติ เรียบง่าย สะอาด มีเพียง๓ ผืน
     ๗. วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อกำจัดตัณหา อันเป็นวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตาย เกิดของมนุษย์ และดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ คือ ทางสายกลางมุ่งเข้าสู่นิพพาน อันเป็นจุดหมาย สูงสุดของพระพุทธศาสนา
     ๘.  หลักสูตร  พระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก หลักสูตรนี้ใช้ หลักการท่องจำ เรียกว่า มุขปาฐะ โดยการแต่งเป็นร้อยแก้ว ร้อยกรอง เพื่อสะดวกในการท่องจำ ผู้เรียนจะเลือกเรียนตามความสมัครใจ
     ๙.  วิธีสอน สอนด้วยการใช้มุขปาฐะ (ปากเปล่า) สนทนา การบรรยาย การถามตอบ แบบวางกฎข้อบังคับ
     ๑๐.  บทบาทของครู ครูผู้สอนมักเรียกว่า อุปัชฌาย์ อาจารย์ เป็นผู้มีบทบาทในการสอน ให้การอบรม ให้คำปรึกษา และสอบวัดผลด้วยตนเอง

พัฒนาทางการศึกษาของพระพุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพาน
     ๑.  ระบบการศึกษาแบบเถรวาท (พ.ศ. ๑-๕๐๐) รูปแบบการศึกษามี ๒ ลักษณะ คือ
     คันถธุระและวิปัสสนาธุระ โดยมีสำนักต่าง ๆ ที่มีการดำเนินการศึกษาอย่างอิสระต่อ กัน บางสำนักเน้นพระสุตตันตะ บางสำนักเน้นพระวินัย เป็นต้น แต่เมื่อใดแต่ละสำนักมีความ เข้าใจพุทธธรรม และปฏิบัติแตกต่างกันมาก คณะสงฆ์ก็จะขอพึ่งอำนาจรัฐให้เข้ามาจัดทำสังคายนา เป็นครั้งคราวไป เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของพระพุทธศาสนา
     ๒. ระบบการศึกษาแบบมหายาน (พ.ศ. ๖๐๐-๑๔๐๐) มีประเด็นศึกษา ๒ ประเด็น คือ
     ๒.๑ สำนักปรัชญาพุทธ (พ.ศ. ๖๐๐-๙๐๐) การเกิดขึ้นของมหายานทำให้การศึกษาใน พระพุทธศาสนาเปลี่ยนไปจากรูปแบบของศาสนาสู่ระบบปรัชญา เกิดสำนักทางปรัชญาเด่น ๆ ขึ้น ๒ สำนัก คือ ก. สำนักมาธยมิกะ ผู้ก่อตั้ง คือ นาคารชุน (พ.ศ. ๗๐๙ - ๗๓๙) ผลงานที่สำคัญ คือ “มาธยมิกศาสตร์” หรือ “มาธยมิกการิกา” ให้ตรรกศาสตร์ ความคิดที่ว่องไว กล้าหาญ แนวคิดที่ สำคัญเน้น “ศูนยตา” มีอิทธิพลทั่วชมพูทวีปและขยายออกนอกเขตประเทศ, ข. สำนักโยคาจารย์ ผู้ก่อตั้งคือ  ท่านอสังคะและท่านวสุพันธุ์ (พุทธศตวรรษที่ ๙) ผลงานที่สำคัญคือ อภิธรรมโกศะ, มหายานสัมปริครหะ และประกรณะอารยวาจา แนวคำสอนเป็นจิตนิยม
     ๒.๒ มหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนา (พ.ศ. ๑๐๐๐-๑๗๐๐) ในช่วงนี้ วัดซึ่งเดิมเป็น ศูนย์รวมของผู้ฝึกฝนอบรมตนเองอยู่แล้วได้พัฒนามาเป็นสถาบันทางการศึกษา  โดยสืบทอด คุณลักษณะกลุ่มของสาวกของพระพุทธเจ้าที่ว่า “สังฆะ” คือชุมชนแห่งการเรียนรู้ ราว พ.ศ. ๙๐๐ วัด  หลายวัดได้ร่วมกันดำเนินการทางการศึกษา จนกลายเป็นระบบมหาวิทยาลัยทางพระพุทธ ศาสนาขึ้นและขยายรูปแบบการให้การศึกษากว้างขวางขึ้น  มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้แก่ นาลันทา วัลภี โอทานตะปุระ วิกรมศิลา โสมปุระ มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีผู้เข้า ศึกษาหลายหมื่นคน มีหลักสูตร มีการวัดผลประเมินผล
     ๒.๓ ระบบการศึกษาแบบตันตระ (พ.ศ. ๑๒๐๐-๑๗๐๐) ซึ่งมีพัฒนาการมาตามลำดับคือ
     (๑)  มันตรยาน/รหัสยาน ลักษณะสำคัญคือพร่ำสอน บ่นมนตร์และลงเลขยันตร์ ให้ เกิดความศักดิ์สิทธิ์เป็นทางรอดพ้นจากทุกข์ (๒) วัชรยาน นับถือฌานิพุทธและพระโพธิสัตว์ นำศักติ ของฮินดูตันตระมานับถืออ่อนวอน ผู้เข้าอยู่ในองค์นิรตมเทวีเป็นผู้เข้าสู่นิพพาน (๓) กาลจักร นับถือ เหมือนสองอย่างแรก เพิ่มการเซ่นผีเข้าด้วย ถือว่าการอ้อนวอนบูชาจะสำเร็จประสบสุขได้
     พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) มีความเห็นเกี่ยวกับระบบการศึกษาของพระพุทธ ศาสนาหลังพุทธปรินิพพานว่า การศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นแบ่งได้เป็น ๒ ระยะ คือ ระยะแรกราว พ.ศ. ๑๐๐๐ ถึง ๑๔๐๐ เป็นระยะที่มีการศึกษาวิชาการต่าง ๆ กว้างขวาง ทั้งทางวิชาศาสนาและ วิชาสามัญ แต่ครั้นถึงระยะหลัง พ.ศ. ๑๔๐๐ เป็นต้นมา การที่พระสงฆ์หันมานิยมศึกษาและใช้ ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาวิชาการ ได้กลายเป็นการจำกัดวงการศึกษาให้แคบเข้ากว่าเดิมอีก ที่ นาลันทาและมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่เหลือ ก็ปรากฏว่าพระพุทธศาสนามหายาน ได้รับอิทธิพลจาก ศาสนาพราหมณ์ นำมาผสมผสานกันมา จนกลายเป็นนิกายตันตระ หรือวัชรยานขึ้น ระยะนี้ ก็นิยมชื่นชมกับผลงานเก่า ๆ ที่สร้างสมกันมา ยุคนี้เป็นระยะของการเขียนอรรถกถาและอรรถาธิบาย ต่าง ๆ พร้อมกับมีความรู้สึกหยิ่งลำพองในความรู้ ใจแคบ และลำเอียง นอกจากนี้ ความนับถือ เรื่องวรรณะก็เหมือนจะรุนแรงขึ้น วิธีการเรียนการสอนก็เป็นแบบประเพณีตายตัว โดยนัยนี้ การ ศึกษาในชมพูทวีปก็เสื่อมถอย และยังไม่ทันรู้ตัวที่จะรื้อฟื้นแก้ไข ก็ประสบเหตุให้พินาศเสียก่อน สาเหตุที่ทำให้พินาศนั้น ก็คือ การเข้ายึดครองของต่างชาติ เริ่มด้วยชาวเติร์กยกทัพเข้ามา และ ทำลายมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาหมดสิ้น ทำลายวัดส่วนมาก พระสงฆ์ที่ไม่ถูกฆ่า หนีไปต่างประเทศ อันเป็นเหตุการณ์ในราว พ.ศ. ๑๗๐๐ ตามปกติการใช้อำนาจเข้ากดขี่บีบคั้นถ้าไม่ถึงกับทำลายให้ สูญสิ้นเสียทีเดียว หรือให้เปลี้ยหมดกำลังจริง ๆ แล้ว ย่อมเป็นทางให้เกิดการดิ้นรน ต่อสู้ ให้เกิด ความเข้มแข็งและการกลับฟื้นตัวได้ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้  เป็นแบบทำลายโดยสิ้นเชิง  พระพุทธ ศาสนาจึงไม่มีโอกาสคืนชีวิตได้อีก เป็นอันสิ้นยุคความเจริญในอดีต

พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย
     ก่อนที่พระเจ้าอโศกมหาราชจะทรงส่งพระสงฆ์เป็นสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในประเทศต่าง ๆ นั้น ได้มีการแตกแยกนิกายสงฆ์ขึ้นในประเทศอินเดีย ในการสังคายนาครั้ง ที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.  ๑๐๐ เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องวินัยบางประการ จึงเกิดเป็นนิกาย ใหญ่ ๆ ๒ นิกาย คือ
     ๑.  เถรวาท
     ๒.  อาจริยวาทหรือ มหายาน
     นิกายทั้ง  ๒ มีข้อแตกต่างกันคือ เถรวาท เป็นนิกายที่ภิกษุชาวอินเดียภาคกลางและ ภาคใต้  ผู้ปฏิบัตตามคำสอนของพระเถระ  หมายถึง พระเถระที่ทำสังคายนาครั้งแรกบางทีก็ เรียกว่า นิกายสถวีรวาท แปลว่า ลัทธิของพระเถระ ปัจจุบันประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา นิกาย เถรวาท คือประเทศไทย ศรีลังกา พม่า เขมร และลาว พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทใช้ภาษา มคธ (ภาษาบาลี) จารึกพระไตรปิฎก
     มหายาน เป็นนิกายของภิกษุชาวอินเดียฝ่ายเหนือ ที่ถือตามพุทธานุญาตที่ประทานไว้ ในเวลาใกล้ดับขันธปรินิพพานว่า   ถ้าภิกษุทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่า สิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ บทใด ที่ทรงบัญญัติไว้จะประพฤติไม่ได้สะดวก  ก็ให้แก้ไขได้  ภิกษุในนิกายมหายาน  อนุโลมดัดแปลง พระธรรมวินัยตามกาลเทศะ และประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน คือ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ทิเบต เกาหลี มองโกเลีย และไต้หวัน ใช้ภาษาสันสกฤตจารึกพระธรรมวินัย
     ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่  ๓ ได้ทรงจัดให้การ สังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๓   เมื่อทำสำเร็จแล้วได้ส่งพระสงฆ์ที่เป็นพระธรรมทูตไปเผยแผ่ พระพุทธศาสนาในแว่นแคว้นต่าง ๆ รวม ๙ สาย คณะของพระโสณะและพระอุตตระได้มายัง สุวรรณภูมิ  ได้แก่พื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีประเทศไทยปัจจุบันเป็นศูนย์กลาง  โดยมี นครปฐมเป็นราชธานี เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๓๐๓ ดังตำนานที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชา นุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือตำนานพระพุทธเจดีย์ว่า พระพุทธศาสนาได้มาถึงประเทศไทย เป็น ๔ ยุค คือ
     ยุคที่  ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๓๐๓ เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
     ยุคที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๗๖๐ พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจากแคว้นกัสมิระ ได้เผยแผ่มา ทางดินแดนทางตอนใต้ของสุวรรณภูมิคือเกาะสุมาตรา ชวา และกัมพูชา ล่วงมาถึงประมาณ ปี พ.ศ. ๑๓๐๐ ก็ได้แพร่ขยายขึ้นมาถึงปัตตานี สุราษฎร์ธานี ที่ไชยา
     ยุคที่ ๓ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๖๐๐ พระพุทธศาสนาแบบพุกาม ได้แพร่เข้ามาถึงอาณาจักร ล้านนา และอาณาจักรทวารวดี
     ยุคที่ ๔ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๙๐๐ พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้แผ่จากลังกาเข้ามา ทางภาคใต้ของไทย คือ นครศรีธรรมราช เรียกว่า ลัทธิลังกาวงศ์

การพัฒนาการศึกษาของสงฆ์สมัยสุโขทัย
     วัดเป็นสถาบันสังคมที่ให้การศึกษาแก่คนไทยมาช้านานตั้งแต่โบราณ  โดยพระเป็น ครูสอน มีทั้งการอบรมสั่งสอนพระด้วยกันเอง ถวายพระธรรมเทศนาแด่พระมหากษัตริย์ และเทศนา สั่งสอนอบรมประชาชนทั่วไป หรือเด็กวัด ก่อนสถาปนากรุงสุโขทัยได้มีชุมชนต่าง ๆ รวมกันอยู่ และมีพระเป็นผู้ให้การศึกษาแก่คนในชุมชนนั้น  ภายหลังก่อตั้งสุโขทัยเป็นราชธานีของคนไทย การปกครองคณะสงฆ์สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายคามวาสี และ อรัญญวาสี พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงส่งเสริมให้มีการศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนาจาก พระไตรปิฎก  แม้พระองค์เองก็ทรงสั่งสอนประชาชนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา การศึกษา จากพระไตรปิฎกนี้เรียกว่า “การศึกษาพระปริยัติธรรม” แบ่งการศึกษาเป็น ๓ ตอน โดยเริ่มต้นให้ ศึกษาพระสุตตันตปิฎก (หมวดพระสูตรที่ประมวลพระธรรมเทศนาและเรื่องเล่าต่าง ๆ) เมื่อศึกษา จบแล้วให้ศึกษาพระวินัยปิฎก (หมวดพระวินัยประมวลข้อบัญญัติสำหรับพระสงฆ์) เมื่อศึกษา พระวินัยจบแล้วให้ศึกษาพระอภิธรรมปิฎก (หมวดพระอภิธรรม ประมวลหลักธรรมที่เป็นวิชาการ ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์และตัวบุคคล)
     การที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แบ่งคณะสงฆ์เป็น ๒ ฝ่าย ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ทำให้ การจัดการศึกษาสำหรับสงฆ์แตกต่างออกไปคือฝ่ายคามวาสีซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่อยู่ในเมืองมีหน้าที่ ศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา  และอบรมพระภิกษุสามเณรตลอดจนประชาชนให้ ปฏิบัติดี ประพฤติชอบอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เรียกว่า คันถธุระ (ฝ่ายที่ศึกษาคัมภีร์) และ ฝ่ายอรัญญวาสี ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่อยู่ตามป่า  มีหน้าที่อบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ในทางปฏิบัติ สมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน เรียกว่า “วิปัสสนาธุระ” (ฝ่ายบำเพ็ญภาวนา) พระสงฆ์ ทั้ง ๒ ฝ่าย แบ่งกันทำหน้าที่ ทำให้เกิดผลดีต่อการปกครองคณะสงฆ์ และช่วยให้การพระศาสนา ในกรุงสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองมาก
     ครั้นถึงสมัยพระยาลิไทครองราชสมบัติ การพระศาสนาฝ่ายเถรวาทเจริญรุ่งเรืองมาก พระองค์มีพระราชศรัทธาแรงกล้า ถึงกับทรงอุทิศถวายพระมหาปราสาทเป็นที่เล่าเรียนของพระภิกษุ สามเณร และวิชาที่ศึกษายังมีทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายวิชาการทางธรรมและทางโลก มิใช่ศึกษาวิชา ทางพระพุทธศาสนาอย่างเดียว

การพัฒนาการศึกษาของสงฆ์สมัยอยุธยา
     การศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์ในสมัยนี้  แรก  ๆ ถูกปล่อยปละละเลย ต่อมาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเห็นพระพุทธศาสนาถูกลัทธิภายนอกย่ำยี ประชาชน มัวเมาหลงใหลเห็นผิดเป็นชอบ จึงทรงรับบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงโปรดจัดการศึกษาเล่าเรียน พระปริยัติธรรมขึ้นเหมือนในครั้งกรุงสุโขทัย  ให้มีการสอบไล่พระปริยัติธรรม  นับว่าเป็นการ สอบไล่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ต่อมาจนถึงสมัยธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงใส่ พระทัยพัฒนาการพระพุทธศาสนา ทรงอาราธนาพระภิกษุสงฆ์ให้มาอยู่รวมกันอีกครั้งหนึ่ง ทรง แต่งตั้งสมณศักดิ์และสถาปนาพระอารามหลายแห่งให้พระภิกษุสงฆ์ศึกษาเล่าเรียนคันถธุระและ วิปัสสนาธุระ พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกวาระหนึ่ง

หลักสูตรการศึกษา
     ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงโปรดให้คณะสงฆ์เอาภารธุระในการ เรียนการสอนอย่างจริงจัง โดยกำหนดหลักสูตร เวลาเรียน การประเมินผล และฐานะของผู้สอบ ไล่ได้เป็นการแน่นอน ใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นหลักสูตร โดยแบ่งเป็น ๓ ชั้นเรียน คือ
     ๑.  บาเรียนตรี ต้องแปลภาษาบาลีจบพระสูตร
     ๒. บาเรียนโท ต้องแปลภาษาบาลีจบพระสูตร และพระวินัย
     ๓.  บาเรียนเอก ต้องแปลภาษาบาลีจบพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม
     ผู้เรียนจบบาเรียน ตรี  -  โท  - เอก เรียกว่า “มหาบาเรียนบาลี” โดยใช้อักษรย่อว่า“บ.บ.”
     สถานศึกษา
     ในสมัยอยุธยา การเรียนการสอนพระปริยัติธรรมใช้บริเวณพระบรมมหาราชวังเป็นที่ เล่าเรียน  ส่วนวัดวาอารามต่าง ๆ เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนส่วนย่อยเท่านั้น ครูผู้สอน ได้แก่ พระมหากษัตริย์บ้าง ราชบัณฑิตบ้าง พระเถระผู้มีความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกบ้าง
     การวัดผลการศึกษา
     เริ่มแรกเรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์ (หลักภาษา) ใช้เวลาประมาณ ๒ - ๓ ปี จึงเรียนแปล พระไตรปิฎกที่จารึกในใบลานเป็นหนังสือแบบเรียน เมื่อมีความรู้ความสามารถในการแปลได้ดีแล้ว ครูบาอาจารย์และเจ้าสำนักเรียนก็จะทูลถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงทราบ และทรงโปรดให้ประกาศการสอบไล่ความรู้ของพระภิกษุสามเณรขึ้น เรียกว่า “สอบสนามหลวง” หมายถึงการสอบในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงยกย่องผู้สอบได้ให้มีสมณศักดิ์เป็น “มหา” นำหน้า ชื่อ แล้วพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นพระราชาคณะ เป็นเกียรติแก่พระพุทธศาสนาสืบไป สถาน ที่สอบใช้พระบรมหาราชวังเป็นที่สอบ และใช้ระยะเวลาเรียน ๓ ปี จึงมีการสอบ ๑ ครั้ง

วิธีสอบ
     เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงประกาศให้มีการสอบพระปริยัติธรรมขึ้นแล้ว พระมหาเถระและ ราชบัณฑิตทั้งหลาย ก็แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น โดยมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นประธาน การสอบแปล ผู้สอบต้องจับสลาก ตามที่คณะกรรมการกำหนดให้ ถ้าจับได้คัมภีร์ผูกใดก็แปลผูกนั้น โดยเริ่มจาก พระสูตรก่อน ต้องแปลปากเปล่าต่อหน้าคณะกรรมการ ผิดศัพท์หรือประโยคได้เพียง ๓ ครั้ง ถ้า กรรมการทักท้วงเกิน ๓ ครั้ง ถือว่า ตก ถ้าแปลได้คล้องเป็นที่พอใจ ไม่มีการทักท้วงถือว่าสอบได้ ในประโยคนั้น ๆ เมื่อผ่านพระสูตร ก็ให้เกียรติคุณเป็น “บาเรียนตรี” เรียนพระวินัยปิฎกต่อไป อีก ๓ ปี สอบผ่านก็เป็น “บาเรียนโท” จากนั้นศึกษาพระอภิธรรมปิฎกอีก ๓ ปี สอบผ่านก็ได้รับ ยกย่องเป็น “บาเรียนเอก”
 
การพัฒนาการศึกษาสมัยธนบุรี
     ศูนย์การศึกษาในสมัยธนบุรีก็ยังคงอยู่ที่วัดเหมือนสมัยอยุธยา โดยมีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้น ที่มีโอกาสศึกษา เพราะต้องอยู่กับพระที่วัดเพื่อเรียนหนังสือ พระสงฆ์ก็คือครูที่จะสอนหนังสือให้ แก่กุลบุตร เพื่อให้ได้รับการอบรมความประพฤติ เรียนพระธรรม ภาษาบาลี สันสกฤต และศัพท์เขมร เพื่อประโยชน์ในการอ่านคัมภีร์พระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ยังมีการเรียนวิชาเลขเน้นมาตรา ชั่งตวง วัด มาตรเงินไทย และการคิดหน้าไม้ ซึ่งจะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีวิชาช่างฝีมือ สำหรับเด็กโต ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการช่างก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ในการบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะ และสิ่งก่อสร้างภายในวัด สำหรับการเรียนวิชาชีพโดยตรงนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ใครมีอาชีพ อะไรก็ถ่ายทอดวิชานั้น  ๆ  ให้แก่ลูกหลานของตน ตามสายตระกูล เช่นวิชาแพทย์แผนโบราณ วิชาช่างปั้น ช่างถม ช่างแกะสลัก ช่างปูนปั้น ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างทอง ส่วนการศึกษาสำหรับ เด็กผู้หญิงก็ถือตามประเพณีโบราณ คือเรียนการเย็บปักถักร้อย ทำกับข่าว การจัดบ้านเรือน การ ฝึกอบรมมารยาทของกุลสตรี สังคมสมัยนั้นไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ จึงมีผู้หญิงจำนวนน้อย ที่อ่านออกเขียนได้
     การศึกษาของพระสงฆ?สมัยนี้ ช่วงแรกขาดการศึกษาในระยะหนึ่ง เพราะพระสงฆ์มีเหลือ อยู่น้อย  กระจายกันไปตามชนบทเพื่อหนีภัยข้าศึก  เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงว่างจาก ศึกสงครามแล้ว  ทรงเลือกสรรพระสงฆ์ผู้ตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัยแต่งตั้งเป็นพระราชา คณะปกครองคณะสงฆ์ รวมถึงการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ และทรงโปรดให้มีการเรียน พระปริยัติธรรม เหมือนสมัยอยุธยาทุกประการ

การพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาไปพร้อมกับ การพัฒนาบ้านเมือง ทรงอาราธนาพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์และราชบัณฑิตเป็นกรรมการชำระ พระไตรปิฎก จารึกเป็นอักษรขอมขึ้นใช้เวลา ๕ เดือน จึงเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นการทำสังคายนา ครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์

     หลักสูตรการศึกษา
     ในสมัยรัตนโกสินทร์ยุคต้น หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมยังใช้พระไตรปิฎก เรียน ๓ ปี จึงมีการสอบ ๑ ครั้ง  เหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา  ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ได้มีการปรับปรุง หลักสูตรการเรียนการสอนขึ้นใหม่ โดยจัดหลักสูตรเป็น ๙ ชั้น เรียกว่า ประโยค ประโยค ๑-๒_ ๓ เป็นเปรียญตรี ประโยค ๔-๕-๖ เป็นเปรียญโท ประโยค ๗-๘-๙ เป็นเปรียญเอก และผู้ที่สอบ ไล่ได้ ๓ ประโยคแล้วจึงจัดว่าเป็นเปรียญ ถ้าเป็นภิกษุใช้คำนำหน้าว่า พระมหา และถ้าเป็นสามเณร ก็ใช้อักษรย่อและตัวเลขต่อท้าย เช่น สามเณรพุ่ม ป.ธ.๓ เป็นต้น

     สถานศึกษา
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งมณเฑียร ธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์และ เจ้านาย ส่วนข้าราชการชั้นผู้น้อยให้ไปศึกษาตามวัดต่าง ๆ พอถึงยุครัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระอารามบ้าง ทรงสร้างเก๋งบริเวณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยภายในพระบรมมหาราชวังบ้าง เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียน  โปรดเกล้าฯ  ให้เลี้ยงเพลพระภิกษุและพระราชทานรางวัลด้วย ภายหลังสถานที่ไม่เพียงพอจึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นที่เล่าเรียน ต่อมา ในรัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเก๋งขึ้น  ๔ หลัง ณ วัดพระศรีรัตน ศาสดาราม เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติม

การพัฒนาการศึกษาของสงฆ์ : ยุคปฏิรูปประเทศ (ร.๔ - ร.๖)
     การศึกษาของสงฆ์สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) คงดำเนิน ไปเหมือนเช่นในรัชกาลก่อน  และโปรดเกล้าฯ  ให้สร้างเก๋งอีก ๔ หลัง  ที่วัดพระศรีรัตน ศาสดาราม สำหรับราชบัณฑิตบอกหนังสือพระ ในสมัยนี้ มีปราชญ์ด้านการสงฆ์ คือ สมเด็จพระ มหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ได้ปรับปรุงการเรียน การสอนของสงฆ์ให้พัฒนาขึ้น การวัดผลการสอนพระปริยัติธรรมนับเป็นราชการแผ่นดินอย่างหนึ่ง ด้วย อยู่ในพระราชกิจของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก เพราะฉะนั้น การสอบแต่ละ ครั้งได้มีเจ้าพนักงานฝ่ายราชอาณาจักรช่วยปฏิบัติดูแล อำนวยความสะดวกด้วย เพราะการสอบ พระปริยัติธรรมแต่ก้อนสอบกันเป็นคราว ๆ  หลาย ๆ  ปีสอบครั้ง  ที่ต้องใช้เวลานานเพราะ นักเรียนต้องนั่งแปลด้วยปากเปล่าต่อหน้าคณะกรรมการทีละองค์เรียงกันไปตามลำดับ
     สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือว่าเป็นยุคใหม่แห่งการศึกษาของสงฆ์ ทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ จึงทรงสนับสนุนการศึกษาทั้งทางโลกและการศึกษาสงฆ์ด้วย เพราะพระองค์ทรงประสงค์ให้พระภิกษุสงฆ์ได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งด้านพระปริยัติธรรม และวิชาการ
     สมัยใหม่ควบคู่กันไป เพื่อจะให้พระสงฆ์ในฐานะผู้มีความรอบรู้ทั้งวิชาการทางโลก และทางธรรม ทางพระพุทธศาสนา เพื่อจะนำไปเผยแผ่แก่ประชาชนของไทย และในรัชกาลนี้ได้เริ่มเกิดสำนัก การศึกษาของสงฆ์ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาสากล จึงได้ทรงสถาปนาการศึกษาชั้นสูงทางคณะสงฆ์ขึ้น ๒ แห่ง คือ ทรงสถาปนามหาธาตุวิทยาลัยขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ ที่วัดมหาธาตุ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๙ โปรดพระราชทานนามใหม่ว่า  “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย”  เพื่อเป็นที่ศึกษา พระปริยัติธรรมและวิชาการชั้นสูง ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๓๖ โปรดให้สถาปนา “มหามกุฏราชวิทยาลัย” ขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยทั้ง ๒ แห่งนี้ ก็ยังไม่พร้อมจะดำเนินการใน รัชกาลนี้
     มาถึงรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นผู้อำนวย การศึกษาของคณะสงฆ์ได้ร่วมมือกับพระเถระในสมัยนั้น (พ.ศ. ๒๔๕๔) จัดให้มีการศึกษา พระธรรมวินัยในแบบภาษาไทย โดยคัดเลือกหัวข้อธรรมวินัยในพระไตรปิฎก จัดเป็นหมวดหมู่เป็น ชั้น  ๆ ตามความยากง่าย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บวชเข้ามาใหม่เรียนได้ง่ายขึ้น โดยแบ่งเป็น  ๓ ชั้นเรียน คือ  ชั้นตรี  ชั้นโท  ชั้นเอก  ผู้ที่เรียนจึงได้ชื่อว่านักธรรม  พระเณรที่สอบได้  ก็เรียกกันว่า “พระ นักธรรม” หลักสูตรนี้ต่อมาอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าสอบด้วย เรียก “ธรรมศึกษา” สำหรับผู้ที่สอบ บาลีได้เป็นเปรียญ และสอบนักธรรมได้อีก เรียกว่า “เปรียญธรรม” ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.” อนึ่ง ผู้ที่จะสอบบาลีนั้นจะต้องสอบนักธรรมให้ได้ก่อน ถ้าสอบนักธรรมตก บาลีก็โมฆะ คือนักธรรมตรี มีสิทธิ์สอบได้แค่ ประโยค ๑-๒-๓ นักธรรมโท มีสิทธิ์สอบประโยค ๔-๕-๖ ส่วนนักธรรมเอก มี สิทธิ์สอบประโยค ๗-๘-๙

การวัดผลการศึกษา
     ยุคแรกการสอบพระปริยัติธรรมใช้เวลาศึกษา ๓ ปี สอบ ๑ ครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ จึงได้กำหนดให้สอบปีละ ๑ ครั้ง ตลอดมา วิธีสอบพระปริยัติธรรมในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังคงใช้ สอบแบบเดิม คือ สอบด้วยปากเปล่า ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้เปลี่ยนแปลงมาสอบด้วยวิธีเขียน เฉพาะประโยค ๑ และประโยค ๒ ส่วนตั้งแต่ประโยค ๓ ขึ้นไป สอบแปลด้วยปากตามแบบเดิม
 
การพัฒนาการศึกษาของสงฆ์สมัย ร.๗ - ปัจจุบัน
     นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา นโยบายการศึกษาได้เปลี่ยนไป โดยแยกการศึกษาของ ภิกษุสามเณร และเด็กนักเรียนออกจากกัน ตลอดจนถึงส่วนราชการที่รับผิดชอบด้วย โดยให้ กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบเฉพาะการศึกษา สำหรับเด็กนักเรียนเท่านั้น ส่วนการศึกษาสำหรับ ภิกษุสามเณรให้สังกัดกระทรวงธรรมการ คณะสงฆ์ก็ได้เป็นภาระรับผิดชอบดำเนินการต่างหากออก ไปจนเป็นเอกเทศจากการศึกษาของรัฐ โครงการและแผนการศึกษาของชาติในสมัยต่อมา ก็ไม่ได้ กล่าวถึงสงฆ์และการศึกษาของสงฆ์อีกเลย
     การศึกษาของฝ่ายบ้านเมืองก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เจริญรุดหน้ามาตามลำดับ มีมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน เกิดขึ้นมากมายทั่วทุกส่วนของประเทศและมีการพัฒนาทาง ด้านการเรียนการสอนไปตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดเวลา ขณะที่สภาพการศึกษาพระปริยัติธรรม มิได้มีการแก้ไขปรับปรุง ทำให้ค่านิยมในหมู่เยาวชนและภิกษุสามเณรที่มีต่อการศึกษาปริยัติธรรม ลดลงไป พระภิกษุสามเณรมีความไม่มั่นใจต่อระบบการศึกษาสายพระปริยัติธรรมเดิมของคณะสงฆ์ จึงได้ขวนขวายเรียนวิชาต่าง ๆ  ทางโลกมากกว่าวิชาพระปริยัติธรรม แต่ปัจจุบันนี้  พระเถระ ผู้บริหารการพระศาสนาเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น เพื่อให้ได้เรียนวิชาการสมัยใหม่มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ได้แสดงบทบาทเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนขยาย วิทยาเขตในทั่วประเทศมากขึ้น

การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม
     ในปี พ.ศ.  ๒๔๕๔ ได้มีการเริ่มศึกษาแบบนักธรรมขึ้นควบคู่กับฝ่ายเปรียญ แต่ยังเป็น การศึกษาของสงฆ์เท่านั้น จนถึงรัชกาลที่ ๗ จึงเปิดโอกาสให้ฆราวาสชายหญิงเข้าเรียนด้วย โดย แยกเป็นแผนกธรรม สำหรับภิกษุสามเณรและแผนกธรรมศึกษาสำหรับฆราวาสชายหญิงแบ่งเป็น ๓ ชั้น นักธรรมศึกษาตรี ชั้นโทและชั้นเอก
     มูลเหตุที่เริ่มให้มีการศึกษาแผนกธรรมขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น เนื่องมาจากทางราชการ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้ ยกเว้นพระภิกษุสามเณรไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร สำหรับผู้รู้ธรรม ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงตั้งหลักสูตรการศึกษาของพระภิกษุสามเณรแบบใหม่นี้เรียกว่า “นักธรรม” มี ๓ ชั้น คือ นักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก เริ่มสอบไล่สนาม หลวงเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ เป็นต้นมา
      ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ทางคณะสงฆ์อนุญาตให้ครูที่เป็นคฤหัสถ์เข้าสอบไล่วิชานักธรรมตรีใน สนามหลวงคณะสงฆ์ได้ และต่อมาทางคณะสงฆ์ได้อนุญาตให้คฤหัสถ์ชายหญิงเข้าสอบความรู้ นักธรรมในสนามหลวงได้ด้วย โดยกำหนดให้สอบพร้อมกับภิกษุสามเณรทั่วราชอาณาจักร สำหรับ หลักสูตรวินัยบัญญัตินั้น ไม่เหมาะกับคฤหัสถ์ จึงเปลี่ยนเป็นเบญจศีล เบญจธรรมและอุโบสถศีล เป็นหลักสูตรแทน สำหรับผู้เรียนธรรมศึกษาตรี เรียน ๔ วิชา ส่วนธรรมศึกษาโทและเอก เรียน เพียง ๓ วิชา ยกเว้นวิชาวินัย

การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี
     ตั้งแต่โบราณมาไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก ส่วนใหญ่ยังคงรูปเดิมอยู่ ทั้งทางด้านหลักสูตร การวัดผลและวิธีสอบ ยังยากต่อการเล่าเรียน ต้องใช้เวลามาก และเดิมที การสอบบาลีต้องสอบด้วยปากเปล่า จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงให้ยกเลิกการสอบความรู้บาลี ด้วยวิธีแปลปากเปล่า มาใช้เป็นการสอบด้วยวิธีเขียนแทนทุกประโยค ในปัจจุบัน  การสอบบาลีสนามหลวง ป.ธ.  ๑-๒ ถึง ป.ธ.๕ เมื่อสอบได้วิชาหนึ่งและ ตกวิชาหนึ่งแล้ว แม่กองบาลีสนามหลวงเปิดโอกาสให้สอบแก้ตัวอีกครั้ง
     อนึ่งการสอบบาลี เมื่อก่อนไม่กำหนดวันสอบแน่นอน กรรมการจะประกาศเป็นคราว ๆ ไปจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๖ จึงกำหนดให้สอบปีละครั้งตลอดมา เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นสอบ ๒ ครั้ง ใน รัชกาลปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ นี้เอง
     การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา
     กระทรวงศึกษาธิการให้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๔ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ และปรับปรุงใหม่เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ การศึกษาแบบนี้เป็นการศึกษาแบบประยุกต์หรือเป็นการศึกษารูปแบบ หนึ่งของการศึกษาคณะสงฆ์ เป็นการศึกษาที่รัฐกำหนดให้มีขึ้นตามความประสงค์ของคณะสงฆ์ โดย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝ่ายศาสนจักรได้ศาสนทายาทที่ดีมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมทาง พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง และสืบต่อพระพุทธศาสนาให้เจริญสถาพรต่อไป และฝ่ายบ้านเมือง เมื่อพระภิกษุสามเณรได้ลาสิกขาแล้ว ก็สามารถเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาของรัฐได้ หรือเข้ารับ ราชการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ตนเองและบ้านเมืองสืบต่อไป ปัจจุบันนี้การศึกษาประเภทนี้ได้กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
     มหาวิทยาลัยสงฆ์  
     ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญจึงได้ปฏิรูปการศึกษา จัดการเรียน การสอนให้เป็นระบบเหมือนนานาอารยประเทศ  ให้ราษฎรทุกคนได้ศึกษาอย่างมีระบบ และสำหรับ พระภิกษุสามเณร พระองค์ก็ทรงสนับสนุนให้คณะสงฆ์ได้ศึกษาเล่าเรียน ทั้งด้านพระปริยัติธรรม และวิชาการชั้นสูงสมัยใหม่ควบคู่กันไป ได้ทรงสถาปนามหาธาตุวิทยาลัยขึ้น เมื่อ พ.ศ.  ๒๔๓๒ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.  ๒๔๓๙ ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” และในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ก็โปรดให้เปิดขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหารและได้ทรงพระราชทานนามว่า “มหามกุฏราช วิทยาลัย”  อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งนี้ได้ดำเนินการมาโดยลำดับแต่ก็ยังไม่ ก้าวหน้าถึงขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เพิ่งจะมายกระดับการศึกษาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในรัชกาลปีจจุบัน นี้เอง  โดยเฉพาะเมื่อ  พ.ศ. ๒๕๑๒ มหาเถรสมาคมได้ออกคำสั่งมหาเถรสมาคมเรื่องการศึกษา ของมหาวิทยาลัยสงฆ์อันเป็นการรับรองว่าการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งนั้นเป็นการ ศึกษาของสงฆ์อย่างเป็นทางการ
     ต่อมา รัฐบาลโดยการยินยอมของรัฐสภา ก็ได้ตราพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ.  ๒๕๒๗ ลงวันที่  ๘ ตุลาคม พ.ศ.  ๒๕๒๗ และได้ตรา พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๐ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยให้มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของ รัฐและเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลไทย จัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เปิดสอนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์และจัดหลักสูตรทั้งภาค ภาษาไทยและภาคภาษาอังกฤษ เพื่อผลิตบัณฑิตเป็นสะพานเชื่อมเครือข่ายทั่วโลก แนวโน้มการพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ในอนาคต
     ปัจจุบันนี้ การศึกษาในวงการคณะสงฆ์ได้พลิกโฉมหน้าไปอย่างมาก โดยได้มีการจัดการ ศึกษาสมัยใหม่เพิ่มขึ้นอีก ไม่เหมือนสมัยดั้งเดิมที่เน้นอยู่เฉพาะการศึกษาแผนกนักธรรมและภาษา บาลีเท่านั้น แต่ได้เปลี่ยนมาเป็นระบบการศึกษาในรูปแบบของการศึกษาปริยัติธรรมสายสามัญ และ มหาวิทยาลัยระดับอุดมศึกษาขึ้นไป เพื่อเน้นให้พระสงฆ์มีความสมบูรณ์ทางความรู้ในหลาย ๆ ด้าน โดยเน้นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างประเทศด้วย
      ยิ่งขณะนี้  พระสังฆาธิการระดับต่าง  ๆ  ได้ตื่นตัวในการศึกษาเพื่อให้มีความรู้ด้าน ต่าง ๆ ให้ทันกับเหตุการณ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้เปิดหลักสูตรประกาศนีย บัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์  (ปบ.ส.) ตั้งแต่ปี  พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา พระสังฆาธิการ ทั่วประเทศได้ศึกษาหลักสูตร ปบ.ส. ๑ ปี และสามารถเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรี และขณะนี้มี พระสังฆาธิการได้เรียนจบปริญญาตรี และกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท นับว่าเป็นหลักสูตรที่ ทำให้พระสังฆาธิการสนใจและศึกษาเป็นจำนวนมาก

บทสรุป
     ขณะนี้สังคมไทยกำลังสนใจเรื่องโครงสร้างการบริหารองค์กรต่าง ๆ และสังคมการศึกษา มีการเปลี่ยนแปลง มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น กำหนดให้ครูอาจารย์เป็นผู้บริหารมืออาชีพในการ กำหนดวิธีการและเครื่องมือในการวัดจริยธรรม คุณธรรม และวัดคุณภาพทั้งภายในและภายนอก ในการประกันคุณภาพทางการศึกษา ส่วนในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ให้ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน เมื่อการศึกษาทางโลกมีการเปลี่ยน แปลงอยู่เสมอ และมีความตระหนักที่จะนำศีลธรรมเข้าไปแก้ปัญหาของสังคม เช่น รัฐบาลได้ สนับสนุนให้พระเป็นครูสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั่วประเทศเป็นต้น ดังนั้น กระบวนการจัดการ ศึกษาของคณะสงฆ์โดยเฉพาะพระปริยัติธรรมทั้งแผนกบาลีและแผนกธรรม จึงควรที่จะมีการ เปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เข้าเป็นระบบ เพื่อจะได้รองรับเด็กที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ สามารถ เข้ามาศึกษาในคณะสงฆ์ และสามารถเทียบโอนกันได้ก็จะทำให้เด็กที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา อยู่แล้ว  ได้ศึกษาทั้งฝ่ายธรรมและฝ่ายโลกควบคู่กันไป และเป็นการสร้างศาสนทายาทและเปิด โอกาสให้เป็นทางเลือกใหม่ในการศึกษาของชาติ เพราะเหตุว่าการเรียนในโรงเรียนทั่วไปนั้นจะมี ปัญหาเรื่องยาเสพติด เรื่องคุณธรรมจริยธรรม ถ้าเข้ามาบวชเรียนในวัด พระจัดการดูแลให้ คือ จัดศาสนศึกษาซึ่งเป?นการจัดการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรที่เข้ามาบวชเรียนเพื่อเป็นทางเลือก หนึ่งของผู้ต้องการให้ลูกของตนเองมีคุณธรรมและจริยธรรม เข้ามาบวชเรียนเพื่อที่จะเป็นพลเมือง ดีของชาติ และรัฐจะต้องให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเหมือนโรงเรียนทั่วไป
     สิ่งสำคัญ ผู้บริหารคณะสงฆ์ จะต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์โดยเฉพาะ หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลีให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ที่สามารถรักษาสาระหลักสูตร เดิมไว้และสามารถเทียบโอนผลการเรียนกับการจัดการศึกษาสามัญทั่วไปของรัฐ มิฉะนั้นในทศวรรษ หน้า คณะสงฆ์จะเกิดวิกฤติขาดแคลนผู้เข้ามาบวชเรียนและสืบต่อพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรง
 

 

 

(ที่มา: สารนิพนธ์)