บทความวิชาการ
ความคิดทางการเมือง:ประชาธิปไตย ตามแนวคิดพระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตโต)
30 ม.ค. 58 | พระพุทธศาสนา
27343

ผู้แต่ง :: ดร.สุรพล ยะพรหม

ความคิดทางการเมือง:ประชาธิปไตย ตามแนวคิดพระธรรมปิฎก(ป.อ. ปยุตโต)

ดร.สุรพล ยะพรหม (2548)


          ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๕ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันก็ล่วงเลยมาถึงกว่า ๗๒ ปีแล้ว แต่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่เสมอว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบ ประชาธิปไตยของไทยที่เต็มใบหรือยัง เพราะหากศึกษาจากประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง ของไทยช่วงระยะเวลา ๗๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้ พบข้อเท็จจริงว่า มีการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลบ่อยครั้งมาก มีการประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญซ้ำแล้วซ้ำอีกจนมีผู้กล่าวกันว่า รัฐธรรมนูญไทยไม่มีร่องรอยให้เห็นพัฒนาการสักเท่าไรเลย เพราะมีการฉีกทิ้งฉบับแล้วฉบับเล่า ไม่มีลักษณะของการใช้ที่ต่อเนื่อง ที่มีการพัฒนาจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง สิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดในระบอบประชาธิปไตยของไทยก็คือ การเลือกตั้งที่ยังมีสภาพเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้ เพราะเมื่อดูจากอดีตของการเลือกตั้งก่อนปี ๒๕๔๔ จะพบข้อเท็จจริงว่า มีการใช้วิธีการที่ไม่ สุจริต ไม่โปร่งใส มีการใช้อามิสสินจ้างมาเป็นตัวกำหนด ทำให้ระบบการเมืองของไทยพิกลพิการ ดังที่เคยเป็นมาในอดีต นี้เป็นเพียงเรื่องตัวอย่างไม่กี่ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประเทศไทยใช้อยู่ ยังไม่มีความสมบูรณ์ดังที่ควรจะเป็น

          เมื่อกล่าวเฉพาะกรณีเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจของไทยล่าสุดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ ยิ่งทำให้มองเห็นชัดว่า ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยของไทย เพราะเหตุไรจึงทำให้เกิด ปัญหาในบ้านเมืองได้ และคำถามที่เจ็บปวดสำหรับนักนิยมประชาธิปไตยก็คือว่า เป็นเพราะระบบ ประชาธิปไตยมือใครยาวสาวได้สาวเอาหรือเปล่าที่ทำให้ไทยต้องประสบวิกฤตในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทยทั้งชาติ โดยเมื่อเกิดกรณีดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่า มีนักวิชาการหลายท่านได้นำเสนอว่า ประเทศไทยถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาทบทวนรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่เคยใช้ปฏิบัติกันมา เพราะความล้มเหลวที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันในเรื่องนี้

          นักวิชาการจึงเสนอทางออกร่วมกันว่า แน่ละ ไทยยังคงต้องปกครอง ด้วยระบอบประชาธิปไตยต่อไป เพราะถือว่า เป็นการปกครองที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นการปกครองที่แม้มิใช่การปกครองที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นการปกครองที่เลวน้อยที่สุด แต่การปกครองด้วยระบบประชาธิปไตยสถานเดียวยังไม่เพียงพอ ควรที่จะมีหลักการปกครองอื่นมาผสมผสานด้วย หลัก ที่ว่านั้น บ้างก็เรียกธรรมรัฐก็มี ธรรมาภิบาลก็มี หรือในภาคราชการไทยเรียกเวลานี้ว่า หลักการ ปริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตรงกับที่โลกตะวันตกใช้คำว่า "Good Governance" นั่นเอง ซึ่งเมื่อจะดูความหมายที่นักวิชาการพูดถึงกันแล้วให้สรุปก็คือ การปกครองด้วยประชาธิปไตย ที่ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง ความชอบธรรม ความเป็นธรรมและความดีงามเป็นส่วนสำคัญในการปกครองด้วย อาจกล่าวได้ว่า นี่แหละสอดคล้องกับหลักธรรมาธิปไตย (ธัมมาธิปไตย) ทางพระพุทธศาสนานั่นเองที่พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้นำเสนอต่อสาธารณะเสมอว่า ธรรมาธิปไตยจะเป็นแกนจริยธรรมของประชาธิปไตย เพราะธรรมาธิปไตยจะเป็นรากฐานทำให้ประชาธิปไตยได้บรรลุภารกิจของหลักการปกครอง ที่นำมาใช้เป็นประโยชน์ก่อให้เกิดสันติสุขและความผาสุกที่แท้จริงของชาวโลกและสังคมไทย ได้ตลอดไป



          พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) เป็นพระนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา ที่มีมุมมองต่อการแก้ไขปัญหาสังคม โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน พระธรรมปิฎกได้ให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากผลงานทางวิชาการทั้งในรูปแบบของงานนิพนธ์ การแสดงปาฐกถา และบรรยายธรรม ในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการผสมผสานแนวความคิดทางพระพุทธศาสนา ที่จะนำมาประยุกต์กับศาสตร์สมัยใหม่ในการนำผลแก้ไขปัญหาสังคมไทยที่เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา

          พระธรรมปิฎก มีพื้นเพเดิมเป็นชาวอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อได้ บวชเรียนภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนาแล้ว ได้สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์คือ เปรียญธรรม ๙ ประโยค และสำเร็จการศึกษาเป็นพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) เกียรตินิยม อันดับ ๑ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ในสมัยนั้น) และต่อมามีตำแหน่งปกครองทางคณะสงฆ์เป็นเจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร และได้เป็นอาจารย์สอนประจำ พร้อมทั้งเป็นผู้บริหารระดับสูง ของ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอีกด้วย ซึ่งในระหว่างที่ทำหน้าที่ทั้งสองอย่าง ดังกล่าว พระธรรมปิฎก ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งทางการบริหารของคณะสงฆ์ เพื่อไปทำหน้าที่ในแวดวงวิชาการคือ งานเผยแผ่ธรรมะแก่สังคมโลกเป็นส่วนรวม

          อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน (พ.ศ.๒๕๔๗) พระธรรมปิฎกเมื่อได้ย้ายไปอยู่วัดที่ สร้างใหม่คือ วัดญาณเวศกวัน ที่มีผู้สร้างถวายและมีการจดทะเบียนวัดเสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว คณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวันตราบเท่าทุกวันนี้ แม้จะดำรงตำแหน่งทางคณะสงฆ์อยู่ พระธรรมปิฎกก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาส่วนนี้อย่างเต็มที่ ดังจะเห็นได้จากผลงานทางวิชาการที่มีการตีพิมพ์แล้วร่วม ๒๐๐ เรื่อง ซึ่งนับว่ามากที่สุดกว่าบุคคลใดๆ ที่ผลิตผลงานทางวิชาการในประเทศนี้

          แน่นอนทีเดียว ผลงานทางวิชาการที่ล้ำค่าของพระธรรมปิฎกมีมากเล่ม แต่เล่มที่สังคมยอมรับว่าเป็นผลงานทางวิชาการที่ยอดเยี่ยม นั่นก็คือ "พุทธธรรม" ซึ่งเป็นการประมวลสาระสำคัญของพระพุทธศาสนาจากหลักฐานของพระพุทธศาสนาโดยตรง จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่นๆ กว่า ๑๐๐ เล่ม โดยการนำเสนออย่างเป็นระบบ ทันสมัย อ่านเข้าใจง่าย และสามารถสืบค้นคว้าต่อไปได้ง่ายอีกด้วย

          เกียรติคุณของพระธรรมปิฎก มิใช่มีเพียงเฉพาะงานทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ มีจริยาวัตรและปฏิปทาที่งดงามยิ่งนัก สมดังที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชได้ ประทานวรสัมโมทนียกถา ในคราวที่กระทรวงศึกษาธิการในนามของรัฐบาลจัดงานเชิดชูเกียรติและแสดงมุทิตาจิต ที่พระธรรมปิฎกได้รับการถวายรางวัลการศึกษา เพื่อสันติภาพ จากองค์การยูเนสโก ความตอนหนึ่งว่า "...ท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก หรือท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ของเรา ท่านเป็นผู้สร้างเกียรติยศชื่อเสียงให้แก่เรา ให้แก่ประเทศชาติของเรา ให้แก่คณะสงฆ์ของเราอย่างมากมาย ที่จริงก่อนที่องค์กรการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสห- ประชาชาติจะถวายรางวัลการศึกษาหรือสันติภาพ ท่านเจ้าคุณท่านก็เป็นผู้มีชื่อเสียง เกียรติยศของคนไทย ของไทย ของพระสงฆ์ไทยอยู่ตลอดมาแล้ว เพราะท่านเป็นคนดีจริง เป็นพระดีจริง ผู้ที่รู้จักท่านหรือไม่ได้ยินกิตติศัพท์ชื่อเสียงของท่าน นิยมยกย่อง สรรเสริญเป็นอันมาก..."

          ผลงานทางวิชาการของพระธรรมปิฎกที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความคิดทางการเมือง เท่าที่ผู้เขียนศึกษาและค้นคว้ามีจำนวนมากเล่มด้วยกัน ดังตัวอย่างเช่น

          ๑. รัฐกับพระพุทธศาสนา ถึงเวลาชำระล้างหรือยัง
          ๒. การสร้างสรรค์ประชาธิไตย
          ๓. มองให้ลึก นึกให้ไกล : ข้อคิดจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕
          ๔. กระบวนการเรียนรู้หรือพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย
          ๕. เราจะกู้แผ่นดินกันอย่างไร
          ๖. ธรรมกับไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน
          ๗. สิทธิมนุษยชน : สร้างสันติสุขหรือสลายสังคม
          ๘. สลายความขัดแย้ง นิติศาสตร์-รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์ แนวพุทธ
          ๙. นิติศาสตร์แนวพุทธ
          ๑๐. พระพุทธศาสนากับสังคมไทย


          
          ประชาธิปไตย แปลมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Democracy ซึ่งคำนี้มาจากคำว่า Demokration ในภาษากรีก แปลว่า การปกครองของประชาชน ดังที่อดีตประธานาธิบดี ลินคอนของสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวไว้เป็นเสมือนคำคมว่า "รัฐบาลประชาธิปไตย คือ รัฐบาลของประชาชน เพื่อประชาชน และโดยประชาชน" ซึ่งหมายถึงระบบการปกครองตามอุดมคติ ระบบหนึ่ง ที่รัฐบาลในระบบประชาธิปไตยจะให้โอกาสอันเท่าเทียมกันในการดำรงชีวิต การแสวงหา ความสุข เป็นต้น

          นอกจากนี้ "ประชาธิปไตย" คำนี้ใช้ใน ๓ ความหมายใหญ่ๆ ซึ่งถ้ากำหนดเป็น วงกรอบหรือฐานะใหญ่ๆ ได้ ๓ ฐานะด้วยกัน ซึ่งได้แก่ ๑) เชิงความคิด ๒) รูปแบบการ ปกครอง และ ๓) วิถีชีวิต โดยมีคำอธิบายเพิ่มเติมโดยสังเขปคือ

          ๑. ในฐานะเป็นปรัชญา (Phi-osophy) ทฤษฎีหรืออุดมการณ์ทางการเมือง ประชาธิปไตยในความหมายนี้ มุ่งเน้นไปในเรื่องของความคิด เป็นสภาพทางมโนกรรมทั้งของผู้นำและคนทั่วไป คือ ทั้งของผู้บริหารประเทศ และ พลเมืองทั่วไป

          ๒. ในฐานะเป็นรูปแบบการปกครอง (Forms of Government) เป็นการพิจารณาประชาธิปไตยในเชิงโครงสร้างของรัฐบาลแบบประชาธิปไตย เช่น เป็นระบบรัฐสภา เป็นระบบประธานาธิบดี

          ๓. ในฐานะเป็นวิถีชีวิต (Way of -ife) หมายถึง
          ๓.๑ วิถีทางแห่งการยอมรับเสียงข้างมาก
          ๓.๒ ความมีใจกว้าง
          ๓.๓ การมีขันติธรรม
          ๓.๔ การไม่ใช้ความรุนแรง
          ๓.๕ การเอาใจใส่ในกิจการบ้านเมือง (การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง) อันเป็นเรื่องการประพฤติในสังคม

          จากที่ได้นิยามความหมายของคำว่า ประชาธิปไตย มาโดยสังเขปนั้น ก็พอจะประมวล ลักษณะที่สำคัญของการปกครองแบบประชาธิปไตยได้เป็น ๔ ประการ ดังต่อไปนี้
          ๑. ประชาชน เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย คือ ประชาชนมีอำนาจสูงสุดในรัฐ อาจใช้อำนาจทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้
          ๒. ประชาชนทุกคนในรัฐ มีความเสมอภาคเท่าเทียมกันตามกฎหมาย ตลอดจน มีสิทธิเสรีภาพในขอบเขตของกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
          ๓. การดำเนินการต่างๆ ของรัฐนั้น คือ เอามติของเสียงข้างมากเป็นเครื่องตัดสิน แต่ในขณะเดียวกันเสียงข้างน้อยหรือคนส่วนน้อยของรัฐ จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายที่ป้องกันมิให้ประชาชนส่วนใหญ่ กดขี่ข่มเหงอย่างผิดกฎหมาย และผิดทำนองคลองธรรม
          ๔. กระบวนการของประชาธิปไตย คือ วิธีการปกครองซึ่งได้รับความยินยอมพร้อมใจของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งแสดงออกในรูปของการเลือกตั้ง การอภิปราย การออกเสียง ประชามติ การเสนอร่างกฎหมายของประชาชน เป็นต้น

          พระธรรมปิฎกได้นิยามคำว่า ประชาธิปไตยไว้อย่างน่าฟังยิ่งว่า เมื่อพูดถึงประชา- ธิปไตย ถ้ากล่าวถึงความหมาย มีวิธีพูดง่ายๆ อย่างหนึ่งคือ ยกเอาวาทะของประธานาธิบดี ลินคอล์น มาอ้าง เพราะคนชอบ และรู้จักกันมาก คือวาทะที่ว่า "ประชาธิปไตยเป็นการ ปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน" วาทะนี้คนจำได้แม่น เวลาพูดกัน คนมักมองความหมายในแง่ของความรู้สึกตื่นเต้นว่า ตนเองจะได้ เช่น จะได้สิทธิ ได้อำนาจ หรือ ได้ความเป็นใหญ่ในการที่จะเป็นผู้ปกครอง แต่อีกแง่หนึ่งที่ไม่ค่อยได้มองคือ "ความรับผิดชอบ"

          ดังนั้น จากวาทะลินคอล์นนั้น พระธรรมปิฎกมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ที่ว่า ประชา- ธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชนนั้น เป็นการเตือนให้รู้สึกตัวด้วยว่า คุณภาพของประชาธิปไตยอยู่ที่คุณภาพของประชาชน เพราะว่า โดยปกติ คุณภาพของการปกครองย่อมขึ้นต่อคุณของผู้ปกครองเป็นสำคัญ ด้วยว่าในสมัยก่อนการ ปกครองอยู่ในกำมือของผู้ปกครองโดยตรง คุณภาพของประชาธิปไตย ก็วัดได้จากผู้ปกครองนั่นเอง แต่ในสมัยนี้ ในเมื่อประชาชนมาเป็นผู้ปกครอง บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยจะมีคุณภาพแค่ไหน ก็อยู่ที่คุณภาพของประชาชนเป็นสำคัญ

          จึงกล่าวสรุปได้ว่า พระธรรมปิฎกได้นิยามประชาธิปไตยโดยให้ความสำคัญในแง่ คุณภาพของประชาธิปไตยเป็นหลัก โดยเน้นว่า

          "ถ้าประชาชนมีคุณภาพดี ประชาธิปไตยก็มีคุณภาพดีด้วย ถ้าประชาชนมีคุณภาพต่ำ ประชาธิปไตยก็จะเป็นประชาธิปไตยอย่างเลวด้วย เพราะว่า คุณภาพของประชาธิปไตย ขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน แล้วคุณภาพของประชาชนขึ้นต่ออะไร ก็ขึ้นต่อการศึกษา"๑๐



          ความเข้าใจของคนไทยทั่วไปที่มีต่อภาพลักษณ์ของประชาธิปไตยนั้น ก็คือ ในสังคมของคนหมู่มาก ต่างคนก็ต่างมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป เกณฑ์ตัดสินอำนาจสูงสุดของความต้องการหรือความประสงค์ของคนในระบอบนี้ก็คือ เสียงข้างมากของประชาชนนั่นเอง พระธรรมปิฎกเห็นว่า การตัดสินใจเช่นว่านี้ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากตัดสินถูกก็ดีไป ถ้าตัดสินผิดก็อาจเกิดความเสื่อมความพินาศทุกอย่างทุกประการ การที่จะตัดสินใจผิดหรือตัดสินใจถูก ก็อยู่ที่ความเป็นคนดี มีปัญญา คือ มีคุณธรรม และมีความรู้ความเข้าใจ เฉลียวฉลาด สามารถในการคิด เป็นต้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ประชาชนควรจะมี ถ้าประชาชน เป็นคนดี ตั้งใจดี มีความรู้ความเข้าใจ มีปัญญาชัดเจน คิดเป็น มองเห็นความจริง ก็ตัดสินใจได้ถูกต้อง๑๑

          ดังนั้น จากแนวคิดเรื่องดังกล่าวนี้ ทำให้เห็นได้ว่า ประชาธิปไตยจะดี ก็อยู่ที่ประชาชน ที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจนั้นว่า จะต้องเป็นคนดีและมีปัญญา โดยที่ว่า ประชาชนเป็นใหญ่ มีอำนาจตัดสินใจนี้ การตัดสินใจที่ว่านั้น วินิจฉัยด้วยเสียงข้างมากเป็นใหญ่ ในเรื่องนี้พระธรรมปิฎกให้ข้อสังเกตไว้ ๒ ประการด้วยกันคือ

          ๑. ถ้าคนส่วนใหญ่เป็นคนโง่ เสียงข้างมากที่วินิจฉัยก็จะเป็นการตัดสินใจเลือกอย่าง โง่ๆ หรือแม้แต่เลือกไปตามที่ถูกเขาหลอกล่อ ทำให้ผิดพลาดเสียหาย แต่ถ้าคนส่วนใหญ่เป็นคนดี มีปัญญา ก็จะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจเลือกได้ถูกต้อง บังเกิดผลดี จึงต้องให้ประชาชนมีการศึกษา หรือจะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจอย่างผู้มีปัญญา

          ๒. ความจริงของสิ่งทั้งหลายย่อมเป็นอย่างที่มันเป็น มันย่อมไม่เป็นไปตามการบอก การสั่ง การลงคะแนนเสียง หรือตามความต้องการของคน ดังนั้น คนจะไปตัดสินความจริง ไม่ได้ แต่เป็นหน้าที่ของคนเองที่จะต้องตัดสินใจเลือกสิ่งที่เป็นจริง จึงต้องให้ประชาชนมี การศึกษา เพื่อจะได้เสียงข้างมากที่ตัดสินใจเลือกเอาสิ่งที่ถูกต้องเป็นจริง

          พระธรรมปิฎกย้ำว่า เสียงข้างมากตัดสินความจริงไม่ได้ อันนี้เป็นหลักธรรมดา เราตัดสินใจ ไม่ใช่ตัดสินความจริง ถ้าเอาเสียงข้างมากมาตัดสินความจริง ก็เป็นไปไม่ได้๑๒

          เพราะฉะนั้น ตามหลักการแล้วไม่สามารถเอาเสียงข้างมากมาตัดสินความจริงได้ ถ้าอย่างนั้น จะเอาเสียงข้างมากตัดสินอะไร ประเด็นนี้ พระธรรมปิฎก ให้ความเห็นว่า เราเอาเสียงข้างมากมาตัดสินความต้องการ คือบอกว่าจะเอาอย่างไร ในแง่นี้สามารถบอกได้ว่า ประชาชนต้องการอะไร จะเอาอย่างไร แล้วมีมติเป็นที่ตกลงกันว่าจะเอาอย่างนี้ ซึ่งรวมความ ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ความต้องการที่ว่าจะเอาอย่างไรนั้น ไปประสานกับความมุ่งหมายที่ดี โดยมีสติปัญญาที่รู้เข้าใจว่า อะไรเป็นความจริง ความถูกต้อง แล้วตัวประโยชน์แท้ที่ควรจะเอา คือ ต้องให้ความต้องการนั้น ไปตรงกับความจริง ความถูกต้องและความเป็นประโยชน์ที่แท้จริง มิฉะนั้นความต้องการนั้นก็ผิด

          เมื่อคนตัดสินใจด้วยความต้องการที่ผิด การตัดสินใจนั้นก็ผิด จะเลือกผิด เอาผิด และก่อให้เกิดผลร้าย เพราะฉะนั้น จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องทำให้คนมีความรู้ มีสติปัญญา จึงต้องเน้นกันว่า คนจะต้องมีวิจารณญาณ หรือจะใช้คำศัพท์ให้ลึกลงไปกว่านั้น ก็คือ ต้องมีโยนิโสมนสิการ ด้วยเหตุนี้ การใช้เสียงข้างมากมาตัดสิน จึงต้องเป็นเสียงแห่งสติปัญญา ที่แสดง ถึงความต้องการอันฉลาดที่จะเลือกเอาสิ่งที่ดีงามถูกต้องเป็นประโยชน์แท้จริง

          พระธรรมปิฎกสรุปว่า การศึกษาจำเป็นต่อประชาธิปไตย หรือพัฒนาประชาชนให้ ทำหน้าที่หรือใช้อำนาจตัดสินใจอย่างได้ผลดีใน ๒ ประการ๑๓ คือ

          ๑. ให้เสียงข้างมากที่จะใช้วินิจฉัย เกิดจากการตัดสินใจของคนที่เป็นบัณฑิต คือ คนดีมีสติปัญญา
          ๒. ให้การตัดสินใจของคนที่เกิดจากความต้องการที่มาประสานกับปัญญาที่รู้ และให้เลือกเอาสิ่งที่ถูกต้องดีงามจริงแท้ และเป็นประโยชน์แท้จริง

          เมื่อพิจารณาจากแนวคิดเรื่องเสียงข้างมาก ในประชาธิปไตยตามแนวของพระธรรมปิฎก จึงเห็นได้ชัดว่า สังคมไทยเป็นสังคมแห่งวิถีพุทธ ดังนั้น ระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงควร ที่นำแนวคิดในเรื่องของการตัดสินใจด้วยเสียงข้างมาก ตามแนวของพระธรรมปิฎกมาประยุกต์ใช้ ก็จะทำให้ระบบการเมืองไทย ได้เสียงข้างมากที่เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของระบอบประชาธิปไตย ที่แน่นอน กล่าวคือ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของสังคมไทยโดยรวมนั่นเอง



          ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น ส่งเสริมความเข้าใจ อันดี และความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งการสนับสนุกการนำหลักธรรมของศาสนามา ใช้เพื่อส่งเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต๑๔ เรื่องดังกล่าวนี้ พระธรรมปิฎกได้แสดงทัศนะให้เห็นว่า โดยหลักการแล้ว การที่รัฐสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนานั้น สรุปได้ ๒ ลักษณะด้วยกันคือ

          ๑. เป็นความสัมพันธ์เชิงหน้าที่เกี่ยวกับธรรม หรือหน้าที่ต่อธรรม คือ รัฐโดยเฉพาะผู้ปกครองที่ดี ย่อมเป็นผู้ใฝ่ธรรม แสวงหาธรรม และเป็นผู้เชิดชูธรรม พระสงฆ์ หรือทางฝ่ายศาสนานั้น เป็นผู้ดำรงไว้ซึ่งธรรม เป็นผู้เผยแผ่ และสืบต่อ สืบทอดธรรมให้ดำรงอยู่ ในโลก ในสังคม เพราะฉะนั้น รัฐก็ทำหน้าที่ในการที่จะช่วยผู้ดำรงรักษาสืบทอดธรรม เผยแผ่ธรรมนี้ ให้ทำหน้าที่นั้นด้วยดี การกระทำอย่างนั้น ก็เท่ากับรัฐได้เชิดชูคุณธรรมด้วย

          สืบเนื่องจากหน้าที่ที่เกี่ยวกับธรรมเช่นนี้ พระธรรมปิฎกให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หน้าที่เกี่ยวกับธรรมของรัฐนั้น ก็ทำให้พระมหากษัตริย์หรือทางรัฐมีหน้าที่ต่อไปอีก คือ จะต้องพยายามให้ศาสนาบริสุทธิ์ เพื่อให้มีธรรมดำรงอยู่สืบต่อไปในสังคม หรือในโลกนี้ การทำ สังคายนาก็ดี การกำจัดชำระล้างมลทินของศาสนาในบางสมัยก็ดี เป็นเรื่องที่จัดได้ว่า อยู่ในหน้าที่ข้อนี้

          เมื่อมีเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นในวงการศาสนา รัฐก็เข้ามาอุปถัมภ์คณะสงฆ์ ในการทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัย เพื่อรักษาธรรมที่บริสุทธิ์ไว้ สังคายนาต่างๆ โดยมาก ก็มีพระเจ้าแผ่นดิน หรือทางรัฐเข้ามาเป็นผู้อุปถัมภ์ ทั้งในประเทศอินเดีย ในศรีลังกา ตลอดจนกระทั่งในประเทศไทยหลายครั้ง หลายสมัย

          นอกจากนี้ ในกรณีปลีกย่อย เมื่อปรากฏว่ามีคนของรัฐ หรือพลเมืองคือ คนของ บ้านเมืองที่เป็นคนร้าย คนไม่ดีเข้าไปซุกซ่อนตัวแอบแฝงอยู่ เข้าไปบวช เข้าไปเบียดเบียนทำลายศาสนา ซึ่งเท่ากับทำลายผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนด้วย ทางรัฐหรือทางพระเจ้า แผ่นดิน ก็ช่วยรักษาความบริสุทธิ์ของพระศาสนาด้วยการเอาคนของรัฐ หรือพลเมืองของตนเองที่เป็นคนไม่ดีที่เข้าไปทำลายศาสนานั้นออกมา ข้อนี้ถือว่าเป็นการชำระล้างพระศาสนาด้วยการเอาคนร้าย พลเมืองไม่ดีของตนเองกลับออกมาเสีย ไม่ให้เข้าไปหรืออยู่ทำลายพระศาสนาอีกต่อไป๑๕

          ๒. เป็นความสัมพันธ์เชิงหน้าที่ในฐานะที่ผู้ปกครองหรือรัฐ เป็นตัวแทนของประชาชน ควรแสดงน้ำใจตอบแทนต่อทางฝ่ายสงฆ์ หรือทางศาสนา โดยนัยนี้ พระธรรมปิฎกเห็นว่า ตามปกติพระภิกษุสงฆ์ หรือทางฝ่ายศาสนาเป็นผู้แนะนำสั่งสอนประชาชนให้ดำรงอยู่ในศีลธรรม ให้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงาม ให้พัฒนาทางจิตใจ ทางปัญญา ให้พระสงฆ์ทำ เช่นนี้ ประชาชนก็จะมีการศึกษาดี มีความรู้ ประพฤติดี มีจิตใจที่มีคุณภาพดี ก็จะเป็น พลเมืองที่ดี ผลประโยชน์ก็ตกแก่รัฐด้วย ช่วยให้รัฐนั้นเจริญรุ่งเรือง มีความสงบสุข รัฐสำนึก ในพระคุณฝ่ายสงฆ์ หรือทางศาสนานั้น เป็นการตอบแทนคุณความดี หรือบูชาคุณของฝ่าย ศาสนา หรือฝ่ายสงฆ์นั่นเอง และทำหน้าที่ดังกล่าวแทนประชาชน คือ อุปถัมภ์บำรุงพระศาสนา แทนประชาชน๑๖

          ดังนั้น จากการที่รัฐจำจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อฝ่ายพระสงฆ์ หรือฝ่ายพุทธจักร และในขณะเดียวกัน ฝ่ายของพระสงฆ์หรือฝ่ายพุทธจักรเองก็ต้องมีปฏิสัมพันธ์ตามหน้าที่ของตน ต่อฝ่ายรัฐหรือฝ่ายอาณาจักร เพราะโดยที่สุดแล้ว พระธรรมปิฎกสรุปว่า ก็ล้วนแต่เพื่อประโยชน์สุขของพหูชนทั้งสิ้นนั่นเอง



          พระธรรมปิฎกมองว่า ประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ช่วยประสานประโยชน์ระหว่างบุคคลและสังคม หลักการนี้ยังหาผู้ปฏิบัติได้ผลจริงได้ยาก จะเห็นได้ว่า ระบบสังคม ต่างๆ มักมีปัญหาในเรื่องที่ว่า ถ้าให้สังคมได้ บุคคลก็ต้องยอมสละ ทำอย่างไรจึงจะประสานประโยชน์กันได้ อุดมคติอย่างหนึ่งของประชาธิปไตยก็คือ การช่วยประสานประโยชน์ระหว่างบุคคลกับสังคม

          อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะก้าวไปสู่การประสานประโยชน์ระหว่างบุคคลกับสังคมให้มาเสริมกันนั้น มีบททดสอบพื้นฐานหนึ่งที่จะให้เห็นว่า ประชาชนในสังคมนั้นๆ มีคุณภาพเพียงพอ ที่จะทำให้คุณค่าของประชาธิปไตยข้อนี้บรรลุผลได้หรือไม่ บททดสอบนี้ก็คือ ความประสานสมดุลในการปฏิบัติตามหลักแห่ง ๑) สิทธิกับหน้าที่ ๒) เสรีภาพกับความรับผิดชอบ

          มุมมองต่อ สิทธิกับหน้าที่ นั้น พระธรรมปิฎกชี้ว่า คู่กับการมีสิทธิที่จะได้และเรียกร้องเอาสิ่งที่ตนพึงได้นั้น บุคคลก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำ เพื่อเป็นส่วนร่วมที่จะธำรงรักษาและสร้างสรรค์พัฒนาสังคมประชาธิปไตยนั้นด้วย ถ้าอยากใช้สิทธิก็ควรปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดี และเมื่อมีการทำหน้าที่ด้วยดี สังคมประชาธิปไตย ก็จะได้รับการรักษาไว้ เพื่อให้คนมีโอกาสที่จะใช้สิทธิได้ต่อไป๑๗

          ส่วนเรื่องของ เสรีภาพกับความรับผิดชอบ นั้น พระธรรมปิฎกมองเห็นว่า คู่กับเสรีภาพที่จะกระทำต่างๆ ตามความปรารถนาของตน บุคคลจะต้องรู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำและผลการกระทำของตน และใช้เสรีภาพนั้นอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตน มีส่วนร่วมอยู่ด้วย เพื่อความชัดเจนขึ้นในเรื่องของเสรีภาพนั้น พระธรรมปิฎกได้ยกตัวอย่างเรื่องเสรีภาพที่เป็นหลักการของประชาธิปไตย ที่เน้นความหมายในแง่ของการที่บุคคลมีโอกาสที่จะนำเอาศักยภาพ เช่น สติปัญญา ความสามารถของตนออกไปเป็นส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สังคม ซึ่งเป็นความหมายเชิงความร่วมมือและเอื้อเฟื้อต่อกัน แต่ภายใต้อิทธิพลของทุนนิยม เสรีภาพเน้นความหมายในแง่ของการที่จะได้ผลประโยชน์ตามที่ตนปรารถนา ซึ่งเป็นไปในทางแบ่งแยกและแก่งแย่ง๑๘



          จากการที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคปฏิรูปการศึกษา โดยกำหนดให้มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งระบุให้กระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และ ศักดิ์ศรี ของความเป็นมนุษย์๑๙

          จากประเด็นดังกล่าวนี้ พระธรรมปิฎกมีมุมมองที่ชี้ให้เห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย จำเป็นต้องอาศัยการศึกษา เพื่อทำให้คนมีคุณภาพ เพราะคุณภาพของประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับคุณภาพของประชาชน และ ในเวลาที่มองประชาธิปไตย ก็อย่ามองแค่การปกครอง อย่ามองแค่ว่า นี่เราเป็นประชาธิปไตยแล้ว ประชาชนได้ขึ้นมาเป็นผู้ปกครอง แล้วก็หยุดแค่นั้น โดยนึกว่า นี่เราเก่ง เราได้เป็นใหญ่แล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องมองว่า เรา ปกครองเพื่ออะไร เราควรจะมองไปให้ถึงจุดหมายของการปกครอง

          การปกครองนั้น ก็คือการที่มาร่วมกันจัดสรรสังคม เพื่อสร้างสรรค์สังคมให้เจริญ มั่นคง มีสันติสุข และให้แต่ละคนมีโอกาสพัฒนาศักยภาพเพื่อให้ชีวิตเจริญงอกงาม บรรลุประโยชน์สุขที่สูง ประเสริฐ และมาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมกันต่อไปอีก นี่แหละ เป็นจุดหมายของการปกครอง๒๐

          พระธรรมปิฎกให้ความสำคัญต่อการศึกษาอย่างยิ่ง โดยเน้นว่า การปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น จะต้องอาศัยการศึกษา อย่างน้อยก็เป็นการนำเอาการศึกษามาช่วยเตรียมคนให้พร้อม ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการปกครองของสังคมประชาธิปไตย นี่คือ สาระที่ สำคัญที่สุด คือการเตรียมคนให้พร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสังคมประชาธิปไตย หรือในกระบวนการประชาธิปไตยทั้งหมด ถ้าไม่เตรียมการคนอย่างนี้ กระบวนการประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นกระบวนการที่ล้มเหลว เพราะว่า บุคคลที่เป็นส่วนร่วมซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนนั้น ไม่มีคุณภาพ ไม่มีความพร้อม

          การศึกษาทำให้คนได้เข้าถึงโอกาสในสังคมประชาธิปไตย เราบอกกันเสมอว่า ประชาธิปไตยจัดสรรสังคมให้เกิดมีโอกาสแก่บุคคลแต่ละคนแล้ว แต่คนที่ไม่มีการศึกษา ก็ไม่สามารถเข้าถึงหรือใช้โอกาสนั้น คือไม่สามารถได้รับประโยชน์จากสังคมประชาธิปไตย เช่น ถ้าบุคคลใดไม่รู้หนังสือ โอกาสที่มีอยู่มากมายในสังคมประชาธิปไตย ก็ไม่เป็นประโยชน์แก่เขา ดังนั้น ในขั้นที่หนึ่งนี้ พระธรรมปิฎกจึงเห็นว่า การศึกษาช่วยให้คนเข้าถึงโอกาสและสามารถได้ประโยชน์จากสังคมประชาธิปไตยนั้น ๒๑

          ในขั้นต่อไป เมื่อคนมีการศึกษาดี ก็สามารถนำศักยภาพของตนออกมาร่วมสร้างสรรค์สังคม ดังนั้น การศึกษาช่วยให้คนสามารถใช้โอกาสที่จะทำประโยชน์แก่สังคมประชาธิปไตย และในที่สุดเมื่อกล่าวโดยรวม การศึกษาเข้ามาช่วยให้การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมีคุณภาพที่แท้จริง และสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ของประชาธิปไตย มิเช่นนั้นประชาธิปไตยก็อาจจะเป็นเพียงชื่อ เป็นเพียงแต่ระบบในอุดมคติที่ไม่สามารถบรรลุผลได้เลย จึงกล่าวในประเด็นนี้ได้ว่า ปัจจัยที่จะให้สังคมประชาธิปไตยบรรลุผลสำเร็จก็คือ การศึกษา๒๒

          ในทางกลับกัน ประชาธิปไตยก็ให้โอกาสแก่ทุกคนที่จะเข้าถึงการศึกษาอย่างเสมอภาคด้วย หมายความว่า เมื่อมีการปกครองแบบประชาธิปไตย ตัวระบบของประชาธิปไตยก็เปิดโอกาสให้กับคนที่จะเข้าถึงการศึกษาได้ โดยนัยนี้ พระธรรมปิฎกมองว่า การสร้างสรรค์สังคมประชาธิปไตย ก็คือการสร้างสรรค์สังคมที่เอื้อต่อการศึกษา หรือจะใช้คำที่กำลังนิยมกันว่า สร้างสรรค์สังคมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เพราะที่แท้จริง สังคมประชาธิปไตยกับสังคมแห่งการเรียนรู้ ก็คือ คนละด้านของเรื่องเดียวกัน๒๓

          ดังนั้น จะเห็นได้ว่า พระธรรมปิฎกให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างสังคมประชาธิปไตย และสามารถได้รับประโยชน์จากสังคมประชาธิปไตย แล้วก็ช่วยให้ประชาธิปไตยดำเนินไปด้วยดี สู่จุดหมายของระบอบประชาธิปไตยด้วยอาศัยการศึกษานั่นเอง



          ในหลักการที่เป็น อธิปไตย ในทางพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ ๓ ประการด้วยกัน ๒๔ นั่นก็คือ

          ๑. อัตตาธิปไตย ถือตนเป็นใหญ่ คือ ถือเอาตนเอง ฐานะ ศักดิ์ศรี เกียรติภูมิของตนเป็นใหญ่ กระทำการด้วยการปรารภตนและสิ่งที่เนื่องด้วยตนเป็นประมาณ ในฝ่ายกุศล ได้แก่ เว้นชั่ว ทำดี ด้วยเคารพตน

          ๒. โลกาธิปไตย ถือโลกเป็นใหญ่ คือ ถือความนิยมของชาวโลกเป็นใหญ่ หวั่นไหวไปตามเสียงนินทาและสรรเสริญ กระทำด้วยปรารถนาจะเอาใจผู้นั้น หาความนิยม หรือหวั่นกลัวเสียงกล่าวว่าเป็นประมาณ ในฝ่ายกุศลได้แก่ เว้นชั่ว ทำดีด้วยเคารพเสียงหมู่ชน

          ๓. ธรรมาธิปไตย ถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ถือหลักการความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผลเป็นใหญ่ กระทำด้วยปรารภสิ่งที่ได้ศึกษา ตรวจสอบตามข้อเท็จจริง และความเห็นที่รับฟังอย่างกว้างขวาง แจ้งชัด และพิจารณาอย่างดีที่สุด เต็มขีดแห่งสติปัญญา มองเห็นได้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นไปโดยชอบธรรม และเพื่อความดีงามเป็นประมาณ อย่างสามัญได้แก่ ทำการด้วยความเคารพ หลักการ กฎ ระเบียบ กติกา เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ถ้าต้องการรับผิดชอบต่อรัฐประชาธิปไตย หรือหลักข้อ ๓ คือ ธรรมาธิปไตย

          โดยเฉพาะอย่างในการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น พระธรรมปิฎกมองเห็นว่า การปกครองนั้น หากเป็นไปเพื่ออยากได้ผลประโยชน์ อยากใหญ่ อยากโต อยากมีอำนาจ อยากได้อะไรๆ ต้องเป็นไปตามความยึดถือของตน ซึ่งจะตรงกันข้ามกับจริยธรรม ถ้าถูกตัณหา มานะ หรือ ทิฏฐิครอบงำ แน่นอนว่า จริยธรรมเดินไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทางแก้ไขเรื่องนี้ก็คือ จะต้องมีการพัฒนาความอยากให้มันดี และอยากทำให้มันดีนี้ให้เข้มข้น แรงกล้า ให้เป็นไปอย่างมุ่งมั่นที่สุด ให้ฝังลึกลงไปประจำอยู่ในจิตใจให้ได้

          เมื่อคนในสังคมประชาธิปไตย มีความใฝ่ดี อยากให้มันดี ปรารถนาความสุขแก่ ประชาชน และแก่บ้านเมืองแล้ว ความปรารถนานี้ก็จะแผ่ลึกซึ้งและครอบคลุมทั่วไป ซึ่งพระธรรมปิฎกพูดด้วยคำสั้นๆ ว่า ความอยากให้ธรรมเกิดมีขึ้น หรือความใฝ่ธรรม กล่าวคือ อยากให้ธรรม ความดี ความงาม ความจริง ความถูกต้อง เกิดมีขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และตรงจุดหมาย เพราะการที่มนุษย์มีการปกครอง มีการงานบ้านเมืองต่างๆ นี้ ก็เพื่อให้ เกิดมี "ธรรม" ขึ้นในสังคมมนุษย์ หรือเพื่อดำรง "ธรรม" ให้คงอยู่

          คำว่า "ธรรม" ในที่นี้ พระธรรมปิฎกให้นิยามไว้ว่า หมายถึง ความจริง ความ ถูกต้อง ความดีงาม ประโยชน์สุขที่แท้จริง รวมทั้งหลักการที่จะให้เกิดความดีงาม ความ ถูกต้องเหล่านี้๒๕ การที่เราจัดตั้งวางหลักต่างๆ เช่น หลักการทางรัฐศาสตร์ หลักการทาง นิติศาสตร์ หลักการทางเศรษฐศาสตร์ หรือหลักการเองใดๆ ก็ตาม ก็เพื่อให้มีเกณฑ์ มี มาตรฐานในการที่จะดำเนินงาน เพื่อสร้างสรรค์ทำให้เกิดความดี ความงาม ความถูกต้อง และประโยชน์สุขที่แท้นั้น

          เมื่อต้องการความดีงามและประโยชน์สุขแก่บ้านเมือง ก็ต้องยึดถือหลักการเหล่านี้ ซึ่งเรียกด้วยคำที่สั้นที่สุดคำเดียวว่า "ธรรม" เพราะฉะนั้น นักการเมืองจะต้องมีจริยธรรมสำคัญขั้นต่อไป ต่อจากความอยากที่ถูกต้อง หรือความใฝ่ปรารถนาที่เรียกว่า ฉันทะ ก็คือ การที่จะต้องยึดถือธรรมเป็นใหญ่ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า ธรรมาธิปไตย ถ้าคนเรา ไม่ถือธรรมเป็นใหญ่ คือไม่ถือหลักการ ไม่เอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ประโยชน์สุขที่แท้เป็นมาตราฐาน เป็นใหญ่หรือเป็นที่ยึดถือ ก็จะเอนเอียงหรือเขวออกไป กลายเป็นยึดถือเอาตัวคนเป็นใหญ่ เอาผลประโยชน์เป็นใหญ่ หรือเอาคะแนนนิยมเป็นใหญ่ เป็นต้น

          เมื่อถือเอาตัวตน ผลประโยชน์ของตน ความยิ่งใหญ่ อำนาจของตน เป็นต้นเป็นใหญ่ เรียกว่า อัตตาธิปไตย แต่ถ้าถือเอาความนิยม การเอาอกเอาใจกัน ความชอบใจ ความพึงพอใจ ของคนจำนวนมาก โดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์เรียกว่า โลกาธิปไตย

          พระธรรมปิฎกอธิบายหลักการของธรรมาธิปไตยเพิ่มเติมว่า ผู้เป็นนักปกครอง เป็นนักการเมือง เป็นนักบริหาร ต้องถือเป็นเรื่องสำคัญว่า ตอนนี้จะออกสู่ภาคปฏิบัติ ต้อง ตั้งหลักก่อน การที่จะตั้งหลักก็คือ จะต้องยึดถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ถือหลักการ กฎกติกา กฎหมาย ถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผล ประโยชน์สุขที่แท้เป็นใหญ่ เป็นเกณฑ์ และเป็นมาตราฐาน ๒๖ เมื่อถือธรรมเป็นใหญ่ ก็เห็นแก่ธรรม เห็นแก่ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม และยึดถือตามหลักการ กฎกติกา รวมทั้งกฎหมายก็จะไม่เอนเอียงไปข้างไหน ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ ไม่เห็นแก่พรรคพวก ไม่เห็นแก่คะแนนนิยม เป็นต้น และจะมีความชัดเจนในการทำงาน ซึ่งโดยที่สุดแล้ว ธรรมาธิปไตยเท่านั้นจะเป็นแกนจริยธรรมของระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ

          สำหรับท่าทีต่อระบอบประชาธิปไตยที่ใช้เป็นรูปแบบในการปกครองประเทศไทยนั้น พระธรรมปิฎกได้ชี้แนวทางว่า ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องมีความชัดเจนในหลักการของ พระพุทธศาสนา ถ้าเป็นพุทธศาสนิกจะต้องถือธรรมเป็นใหญ่ พระพุทธเจ้าเองก็ทรงถือธรรมเป็นใหญ่ ไม่มีอะไรใหญ่กว่าธรรม คนที่ถือธรรมเป็นใหญ่ คือเป็นธรรมาธิปไตยนั้น มีลักษณะสำคัญคือ

          ๑. เป็นคนมีหลักการไม่เลื่อนลอยไหลไปตามกระแส ถือเอาความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นไปตามเหตุผล และกฎเกณฑ์เป็นเกณฑ์ตัดสิน
          ๒. ใช้ปัญญาและพัฒนาปัญญาอยู่เสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันข้อมูลความเป็นไปตามความเป็นจริง และเพื่อให้รู้เข้าใจ เข้าถึงหลักการความจริง ความถูกต้องดีงามและเหตุผลในเรื่อง นั้นๆ เพื่อให้สามารถรักษาหลักการความจริง ความถูกต้องไว้ได้
          ๓. มีความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ สุจริตใจ ในการใช้ปัญญาพิจารณาตัดสินใจ ไม่เอนเอียง ไปด้วยอคติ
          ๔. รักธรรม รักความจริง ความถูกต้องดีงาม ทำอะไรก็มุ่งจะให้ถึงธรรมและเป็นไปตามธรรม มุ่งให้ได้ความจริง มุ่งให้เกิดความถูกต้องดีงาม จนข้ามพ้นความยึดถือในตัวตนไปได้ ให้ธรรมเป็นใหญ่เหนือแม้แต่เกียรติและศักดิ์ศรีของคน และเพราะรักธรรม มุ่งให้เกิดความเป็นธรรมนั้น จึงเป็นคนที่พูดด้วยง่าย รับฟังข้อมูลและเหตุผล ไม่ดื้อรั้นในทิฏฐิ

          ใน ๔ ข้อนี้ ข้อสุดท้ายเป็นตัวตัดสินความเป็นธรรมาธิปไตยแค่ในแง่ปฏิบัติ จะขาด ๓ ข้อแรกไม่ได้ ต้องมีไว้ครบทั้งหมด๒๗ ซึ่งควรนำมาประยุกต์ให้เข้ากับรูปแบบในการปกครองของประเทศไทย



          พระธรรมปิฎกได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับประชาธิปไตย ในหลายวาระ หลายโอกาส และหลายเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน ผู้เขียนเห็นว่า ถ้อยคำที่พระธรรมปิฎกได้แสดงไว้นั้น เป็นถ้อยคำ ที่มีความลึกซึ้ง เป็นเหตุ เป็นผลที่อธิบายให้เชื่อมโยงกันได้อย่างน่ารับฟังยิ่ง ควรค่าแก่การนำมา เผยแพร่ เพราะเป็นเรื่องที่เนื่องด้วยประชาธิปไตยทั้งสิ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้

          "ลักษณะสำคัญ ๒ อย่างของสังคมประชาธิปไตย คือวิถีชีวิตแห่งความพอดี ที่เป็นสายกลาง ซึ่งองค์ประกอบและปฏิบัติการทั้งหลายได้สัดส่วนสมดุลกัน...อีกอย่างหนึ่งคือ การยอมรับศักยภาพของมนุษย์ว่า บุคคลแต่ละคนมีความสามารถที่พัฒนาได้... ศักยภาพนั้น จะต้องได้รับการพัฒนา คือ ต้องมีการศึกษา เพื่อให้บุคคลมีสติปัญญา สามารถคิดวินิจฉัย เลือกตัดสินใจ และใช้เสรีภาพเป็นต้น ได้อย่างถูกต้องพอดี... การจะมีประชาธิปไตยที่ดีนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เอาอย่างรูปแบบเขามาใช้ตามไปเท่านั้นก็สำเร็จ แต่มีสิ่งที่จะต้องเพียรพยายามทำด้วยความตั้งใจจริง เฉพาะอย่างยิ่ง ต้องมีการแสวงหาปัญญา และใช้ปัญญาอย่างจริงจังโดย ให้บุคคลมีเสรีภาพที่จะพัฒนาศักยภาพของตน และให้ศักยภาพนั้นอำนวยผลดีในการที่จะใช้เสรีภาพในการที่จะเกื้อกูลต่อชีวิตและสังคม ทำให้เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปอย่าง สมดุล โดยเป็นเสรีภาพของคนที่ปกครองตนเองได้"๒๘

          "สังคมประชาธิปไตย จะต้องมีเครื่องผูกพันคนให้มีความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน... การร่วมมือกันและอยู่ร่วมกันด้วยดีนั้น มีลักษณะการแสดงออกต่างๆ กัน ซึ่งเน้นความ มีเมตตาปรารถนาดี หวังประโยชน์สุขต่อกัน อันจะโยงไปหาหลักการพื้นฐาน คือ การที่คนเราจะต้องใช้ปัญญา...เป็นสังคมแห่งสามัคคีเอกีภาพ ที่คนมีเมตตาหรือไมตรีต่อกันเป็นพื้นฐานรองรับความเป็นอยู่ และการแสดงออกเสรีที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน"๒๙

          ประชาธิปไตยจะไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย ถ้าหากไม่ถึงธรรมาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตยนั้นไม่ดีไปกว่าราชาธิปไตยที่เป็นอัตตาธิปไตย คือนำไปสู่ความพินาศเช่นเดียวกัน...จะเป็นธรรมาธิปไตยก็ต้องเริ่มตั้งแต่รู้ว่าอะไรเป็นธรรม ความรู้เกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยปัญญา จะให้มีปัญญาก็ต้องให้มีการศึกษา ฉะนั้นจะต้องเริ่มตั้งแต่ให้การศึกษา

          "การศึกษาที่พรั่งพร้อม ที่จะให้เกิดประชาธิปไตย ก็ต้องมี ๓ องค์...คือมีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา...การศึกษาที่ขาดศีล ขาดระเบียบวินัย ขาดสมาธิ ขาดการสร้างจิตใจ ที่เข้มแข็งมั่นคง จึงไม่อาจจะเป็นพื้นฐานที่ดีของการสร้างประชาธิปไตยได้"๓๐

          "การปกครองตามความหมายในพระพุทธศาสนา จึงเป็นการปกครองเพื่อการศึกษา การปกครองจากความสงบเรียบร้อยที่เกิดจากการปกครองนั้น มิใช่จุดหมายในตัว แต่เป็นเพียงปัจจัยคือสภาพเอื้อ เพื่อช่วยให้แต่ละบุคคลบรรลุจุดหมายแห่งการศึกษา หรือเพื่อเป็นหลักประกันของการศึกษา จึงถือเป็นมติได้ว่า การปกครองที่มีขึ้นเป็นเรื่องของการศึกษาและเพื่อการศึกษาทั้งสิ้น

          ถ้าไม่ปกครองด้วยการศึกษา ก็ต้องปกครองด้วยอำนาจ เมื่อปกครองด้วยอำนาจก็เกิดความรู้สึกในเชิงปฏิปักษ์ ที่เอียงไปในทางที่จะขัดแย้งกัน... ด้วยเหตุนี้ การปกครองแบบใช้อำนาจ จึงก่อให้เกิดปัญหา เริ่มตั้งแต่เกิดความขัดแย้งในจิตใจเป็นต้นไป ทำให้ยิ่งต้องเพิ่มการใช้อำนาจ ใช้อาญาและจะเน้นการลงโทษมากยิ่งขึ้นตามลำดับ ไม่ใช่เป็นการปกครองแบบพยายามสร้างคนดี แต่เป็นการปกครองแบบพยายามกำจัดคนเลว"๓๑

          "สามัคคีมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชีวิตหมู่ หรือการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตย สามัคคีคือความพร้อมเพรียงกัน ความร่วมแรงร่วมใจกัน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เรียกว่า เอกีภาพ (แต่คนไทยเรานิยมใช้ว่า เอกภาพ) ดังนั้น คุณค่าของความสามัคคีที่สำคัญมาก ซึ่งเป็นพื้นฐานของวินัย และประชาธิปไตย คือทำให้สังคมเกิดมีคุณประโยชน์ตามความหมายของมัน โดยเป็นสภาพเอื้ออำนวยโอกาสแก่ทุกคน ที่จะดำรงชีวิตของคนอยู่ด้วยดี สามารถพัฒนาชีวิตของคนให้เข้าถึงประโยชน์สุขยิ่งขึ้นไป"๓๒

          "ธรรมที่เป็นหลักการทั่วไป ซึ่งไม่ได้บัญญัติไว้เป็นสิกขาบทในพระวินัยมีหลายอย่าง ที่เป็นเครื่องสนับสนุนให้เกิดความสามัคคีในชุมชนแห่งกัลยาณมิตร เช่น หลักสาราณียธรรม เป็นต้น ซึ่งถือได้ว่า เป็น หลักการของประชาธิปไตย ขอยกตัวอย่างหัวข้อหลักธรรมแห่ง สาราณียธรรม ๖ ประการ (สารณียธรรมก็เรียก) คือ ๑) จะทำอะไรก็ทำต่อกันด้วยเมตตา ๒) จะพูดอะไรก็พูดต่อกันด้วยเมตตา ๓) จะคิดอะไรก็คิดต่อกันด้วยเมตตา ๔) ได้มาแบ่งกัน กินใช้ ๕) ตั้งอยู่ในความประพฤติเสมอกัน ๖) มีความเสมอกันโดยทิฏฐิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมประชาธิปไตย ถ้าประชาชนไม่ยึดถือหลักการแห่งประชาธิปไตยร่วมกัน ก็ถึงอวสาน เพราะฉะนั้น สมาชิกทุกคนจึงต้องมีอุดมการณ์และมีหลักการร่วมกัน"๓๓

          นอกจากนี้ ยังมีวาทะเสมือนเป็นคำคมของพระธรรมปิฎก ที่แสดงนัยเกี่ยวเนื่องกับประชาธิปไตย โดยปรากฏในหลายแห่งหลายสถาน ต่างวาระกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้

          - คุณภาพของประชาธิปไตย ขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน
          - หนึ่งบัณฑิต ดีกว่าพันพาล แต่ประชาธิปไตยต้องการให้ทั้งพันเป็นบัณฑิต
          - ประชาธิปไตยจะเป็นจริงได้ ต้องให้ประชาชนรู้จักปกครองตนเอง
          - ประชาธิปไตย จัดสรรสังคมให้มีโอกาสสูงสุด
          - ประชาธิปไตย ช่วยให้ประโยชน์ของบุคคลและสังคมมาประสานเสริมกัน
          - ประชาธิปไตยทำให้คนมีโอกาสศึกษา
          - การศึกษา ทำให้คนเข้าถึงโอกาสในสังคมประชาธิปไตย
          - กระบวนการเรียนรู้ก็เพื่อพัฒนาคนสู่สังคมประชาธิปไตย
          - กระบวนการเรียนรู้ก็เพื่อขับเคลื่อนคนสู่สังคมประชาธิปไตย
          - สังคมประชาธิปไตยกับสังคมแห่งการเรียนรู้ก็คือคนละด้านของเรื่องเดียวกัน
          - ประชาธิปไตยนั้นต้องอาศัยการศึกษามาพัฒนาคนหลายด้าน คุณธรรมเป็นส่วนหนึ่ง แต่สติปัญญานั้นสำคัญอย่างยิ่ง
          - เสียงข้างมากตัดสินความจริงไม่ได้ เราตัดสิน ไม่ใช่ตัดสินความจริง
          - ธรรมาธิปไตย เป็นแกนจริยธรรมของประชาธิปไตย



          จากการที่ประเทศไทยมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น แม้ว่าจะได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากสมบูรณาญาสิทธิราช มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๕ มาจนถึงปัจจุบัน (๒๕๔๗) ร่วม ๗๒ กว่าปี มาแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการรับรู้ ร่วมกันโดยส่วนมากว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยยังก้าวไปไม่ถึงไหน ทั้งนี้เพราะมีปัจจัย ที่เป็นสาเหตุทำให้ระบอบนี้เกิดภาวะหยุดชะงักงัน เช่น เกิดการรัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างรัฐบาลที่มีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนก็เคยมี ปัญหาเหล่านี้เป็นวัฏจักรของระบบการเมืองไทยมาโดยตลอด

          แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมาพิจารณาถึงแนวคิดทางการเมืองในเรื่อง ประชาธิปไตยในมุมมองของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) แล้ว ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทย แม้จะมีคนเข้าใจในหลักการของประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่โดยเนื้อหาแล้ว วิธีการปฏิบัติของคนที่อยู่ในระบบการเมืองแบบนี้ยังไปไม่ถึงระบอบประชาธิปไตย ที่ควรจะเป็นดั่งที่พระธรรมปิฎกได้แสดงไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยนั้น ควรเน้นให้เป็นประชาธิปไตย ตามแนวธรรมาธิปไตย เพราะสังคมไทยนั้นยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ของตนมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศตราบจนถึงทุกวันนี้ ดังนั้น จึงไม่น่าจะเป็นความแปลกประหลาดอะไรที่จะนำหลักธรรมาธิปไตยของพระพุทธศาสนา ตามแนวที่พระธรรมปิฎกแสดงไว้มาประยุกต์เข้ากับระบอบประชาธิปไตยของไทย เพราะโดยที่สุดแล้ว เมื่อธรรมาธิปไตยสามารถนำมาเป็นฐานที่มั่นคงของระบอบประชาธิปไตยของไทย ก็จะทำให้สังคมไทยสามารถสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ที่ทำให้ประชาชนของประเทศนี้อยู่กันด้วยความสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง ตามจุดมุ่งหมายของประชาธิปไตยอย่างแท้จริงตลอดไป

******************

-----------------------------
* พ.ม., พธ.บ., M.A., Ph.D.(Pol.Sc.) หัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
๑ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๕ จนถึง ปี พ.ศ.๒๕๓๕ ตลอดระยะเวลา ๕๐ ปี มีการปฏิวัติรัฐประหาร รวม ๑๘ ครั้ง เฉลี่ย ๒.๗ ปีต่อครั้ง.
๒ มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศใช้มาแล้วตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ระยะเวลา ๗๒ ปี รวม ๑๖ ฉบับ เฉลี่ย ๔.๕ ปีต่อฉบับ.
๓ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สุรพล สุยะพรหม,ดร., ธัมมาธิปไตยŽ, ใน สารนิพนธ์พุทธศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ ๔๗ ปีการศึกษา ๒๕๔๓, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๔).
๔ ดูรายละเอียดประวัติพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้ที่ อาภา จันทรสกุล. ชีวประวัติพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๓๘).
๕ หนังสือพุทธธรรม เป็นหนังสือที่มีความหนา ๑,๑๔๕ หน้า ประกอบด้วยสาระสำคัญคือ เป็นหนังสือที่เรียบเรียงเนื้อหาตามลำดับหลักธรรม แบ่งเป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ มัชเฌนธรรมเทศนา หลักความจริงที่เป็นกลางตามธรรมชาติหรือส่วนที่เป็นสัจธรรม และมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางตามธรรมชาติหรือส่วนที่เป็นจริยธรรม ดูรายละเอียดได้ที่ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ, พิมพ์ครั้งที่ ๗, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑).
๖ สำนักงานสถาบันราชภัฏ, กระทรวงศึกษาธิการ. ป.อ. ปยุตฺโต. (กรุงเทพฯ : บริษัทสหธรรมิก จำกัด, ๒๕๓๘), หน้า ๒-๓.
๗ อุทัย หิรัญโต, สารานุกรมศัพท์ทางรัฐศาสตร์, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๒), หน้า ๒-๓.
๘ จิรโชค (บรรพต) วีระสัย,ดร. และคณะ, รัฐศาสตร์ทั่วไป, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, ๒๕๔๐), หน้า ๒๕๕.
๙ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนไปสู่ประชาธิปไตย, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๓), หน้า ๓.
๑๐ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔.
๑๑ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๕.
๑๒ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๕-๖.
๑๓ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๖-๗.
๑๔ มาตรา ๗๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐.
๑๕ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), รัฐกับพระพุทธศาสนา ถึงเวลาชำระล้างหรือยัง, (กรุงเทพฯ : บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๓๗), หน้า ๑๒-๑๔.
๑๖ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๔-๑๕.
๑๗ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต), กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย, อ้างแล้ว, หน้า ๓๔.
๑๘ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต), นิติศาสตร์แนวพุทธ, (กรุงเทพฯ : บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๓๙), หน้า ๓๓.
๑๙ มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ ดูในรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พระราช- วรมุนี (ประยูร ธมมฺจิตฺโต), การคณะสงฆ์กับพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒), หน้า ๓๗-๓๘.
๒๐ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย, อ้างแล้ว, หน้า ๓๕.
๒๑ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๖.
๒๒ สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ, กระทรวงศึกษาธิการ, ป.อ.ปยุตฺโต, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๓๘), หน้า ๖๓-๖๔.
๒๓ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), กระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคนสู่ประชาธิปไตย, อ้างแล้ว, หน้า ๓๗.
๒๔ ที.ปา. ๑๑//๒๒๘/๒๓๑, อ้างใน พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), ธรรมนูญชีวิต, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๔), หน้า ๑๕.
๒๕ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), สลายความขัดแย้ง : นิติศาสตร์-รัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๖), หน้า ๑๙๗-๑๙๘.
๒๖ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๙๙.
๒๗ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), ธรรมกับสังคมไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา ลาดพร้าว, ๒๕๔๑), หน้า ๒๗-๒๘.
๒๘ พระราชวรมุนี (ปรุยุทธ์ ปยุตฺโต), การสร้างสรรค์ประชาธิปไตย, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ-ราชวิทยาลัย, ๒๕๒๖), หน้า ๗๑-๗๒.
๒๙ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๙๖-๙๘.
๓๐ พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พระพุทธศาสนากับสังคมไทย, (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๒๖), หน้า ๕๓-๕๖.
๓๑ พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), นิติศาสตร์แนวพุทธ, อ้างแล้ว, หน้า ๔๔-๔๖.
๓๒ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๗๖.
๓๓ เรื่องเดียวกัน, หน้า ๘๐-๘๑.

(ที่มา: -)