บทความวิชาการ
การศึกษาสภาพและเนื้อหาการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ ภาค 11
11 พ.ย. 56 | บทความวิจัย
3802

ผู้แต่ง :: นายธนู ศรีทอง และคณะ

ชื่อผู้วิจัย : นายธนู ศรีทอง และคณะ
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
วันสำเร็จการศึกษา : 2553

บทคัดย่อ
ผู้วิจัย : นายธนู ศรีทอง, ผศ.ทวีศักดิ์ ทองทิพย์, ผศ.บรรจง โสดาดี และ นายพลนภัส แสงศรี

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมในเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค 11 เพื่อศึกษาเนื้อหาที่ใช้ในการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมในเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค 11 และ เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมในเขตการปกครองคณะสงค์ภาค 11 ประชากรที่ใช้ศึกษา ได้แก่ เอกสารที่เกี่ยวข้อง สำนักเรียนหรือสำนักศาสนศึกษา ผู้บริหาร ครู และนักเรียน ในเขตการปกครองคณะสงค์ภาค 11 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล มี 4 แบบ ได้แก่ 1) แบบบันทึกการค้นคว้า 2) แบบสัมภาษณ์ 3) แบบสังเกต 4) แบบสอบถาม การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้วิธีวิเคราะห์แบบบรรยาย ผลการวิจัยพบว่า

1. สภาพการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค 11 มีข้อค้นพบดังนี้ 1) ด้านอาคารสถานที่ สำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมมีอาคารเรียนเพียงพอ มีความเหมาะสมและมีความสะอาด 2) ด้านสภาพแวดล้อม มีบรรยากาศทางธรรมชาติที่ร่มรื่นและเอื้อต่อการเรียนการสอน 3) ด้านบุคลากรที่เป็นครู มีความรู้เหมาะสมกับวิชาที่สอน มีความสามารถในการสอน มีความเมตตากรุณาต่อผู้เรียน ประพฤติตนเป็นที่เคารพทั้งในเวลาและนอกเวลาสอน ช่วยเหลือให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียน อดทนต่อพฤติกรรมของผู้เรียน อุทิศตนในการสอนอย่างสม่ำเสมอ 4) ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ มีการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องในช่วงเข้าพรรษา ให้ทำแบบฝึกหัดอย่างสม่ำเสมอ เน้นการท่องจำ ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน มีการติวเข้มก่อนสอบ 5) ด้านสื่อเทคโนโลยีการสอน มีกระดานดำหรือไวท์บอร์ดในห้องเรียนและ มีการใช้เทปบันทึกเสียง ส่วนสื่อประเภทอื่นๆ มีการใช้น้อยมาก

2. เนื้อหาที่ใช้ในการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค 11 มีข้อค้นพบดังนี้ 1) ด้านความสอดคล้องกับพระธรรมวินัย มีความสอดคล้องกับพระธรรมวินัยทั้งในด้านเนื้อหาและด้านโครงสร้าง 2) ด้านความสอดคล้องกับเป้าหมายการศึกษาของชาติ มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๕๙) กล่าวคือ การปลูกฝังและเสริมสร้างศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ 3) ด้านความสอดคล้องกับเป้าหมายการสร้างศาสนทายาท มีความสอดคล้องกับเป้าหมายของการสร้างศาสนทายาท กล่าวคือ มีเนื้อหาที่ส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมวินัยและสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาได้ 4) ด้านความทับซ้อนของเนื้อหาในแต่ละชั้น มีความทับซ้อนในการใช้หนังสือประกอบหลักสูตรบางเล่มในระดับนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก 5) ด้านการพัฒนาเนื้อหา มีการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรตามโอกาสอันสมควรทั้งในด้านเนื้อหาวิชาและตำราที่ใช้ในการเรียนการสอน

3. ความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมในเขตการปกครองคณะสงค์ภาค 11 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากทุกด้าน ซึ่งเรียงอันดับค่าเฉลี่ยเลขคณิตจากมากไปหาน้อยได้ดังนี้ คือ ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านสภาพแวดล้อม ด้านเนื้อหาที่ใช้ในการเรียนการสอน ด้านเทคโนโลยีการสอน ด้านบุคลากรที่เป็นครู ด้านอาคารสถานที่ ( = 4.19, 4.11, 4.02, 3.99, 3.91, 3.72 และ S.D. = 0.80, 0.86, 0.87, 0.93, 0.90, 0.83) ตามลำดับ เมื่อพิจารณาโดยรวมพบว่า มีค่าเฉลี่ยเลขคณิตอยู่ในระดับพึงพอใจมาก = 3.99 S.D. = 0.16 สรุปได้ว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ในเขตการปกครองคณะสงฆ์ภาค 11 อยู่ในระดับพึงพอใจมาก

จากผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้ ดังต่อไปนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติควรกำหนดนโยบายและแผนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน การจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม คณะสงฆ์ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงควรถือเป็นวาระเร่งด่วนในกำหนดนโยบายและแผนเพื่ออำนวยการ กำกับดูแลและพัฒนาสำนักเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ควรมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการจัดฝึกอบรมและการศึกษาวิจัยเพื่อนำเสนอข้อมูลให้แก่รัฐและคณะสงฆ์ สำนักเรียนและสำนักศาสนศึกษา ควรเร่งรัดให้มีการจัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมในทุกๆ ด้าน