ผู้แต่ง :: รศ.สมบูรณ์ บุญฤทธิ์ และคณะ
การศึกษาผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณร
ในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จากเหตุการณ์ความไม่สงบ
ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
A Study of Impacts on Religious Activities for Monks and Novices
in Yala, Pattani and Narathiwat Provinces of The Violent Situtation
in The Southern Border
รศ.สมบูรณ์ บุญฤทธิ์
กศ.บ.(สังคมศึกษา), ศศ.ม.(ไทยคดีศึกษา)
พระมหาวิเชียร วชิรธมฺโม
พธ.บ.(ภาษาอังกฤษ), M.A.(ภาษาศาสตร์)
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ ๑) เพื่อศึกษาผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในด้านวิถีการดำรงชีวิต การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา และการสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ และ ๒) เพื่อศึกษาปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะแนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติศาสนกิจ ตลอดจนความช่วยเหลือจากภาครัฐต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ดังกล่าว
ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาส พระลูกวัด คณะกรรมการวัด และพุทธศาสนิกชนที่อาศัยโดยรอบวัดในพื้นที่ที่เป็นแหล่งข้อมูล โดยใช้แบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น
ผู้วิจัยนำข้อมูลที่รวบรวมได้มา วิเคราะห์ จัดระบบ และนำเสนอผลการวิจัยด้วยวิธีการพรรณนาวิเคราะห์ประกอบตาราง และภาพถ่าย
ผลการวิจัย พบว่า
๑. พระภิกษุ สามเณรในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในด้านวิถีการดำรงชีวิต ด้านการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ด้านการเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา และด้านการสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ
๒. พระภิกษุ สามเณรในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีข้อเสนอแนะและแนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติศาสนกิจ คือ จัดให้มีกำลังทหารคอยให้ความคุ้มกันให้ความปลอดภัยเมื่อบิณฑบาตและประกอบพิธีกรรมตลอดจนปฏิบัติศาสนกิจอื่น ๆ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาควรมีการปรับเปลี่ยนเวลาและขั้นตอนเพื่อความปลอดภัย การเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ควรเผยแผ่เฉพาะในวัดและควรปรับเปลี่ยนรูปแบบในการเผยแผ่โดยใช้วิทยุชุมชน หรือเผยแผ่โดยใช้สื่อหนังสือหรือซีดีธรรมะแก่ประชาชน
๓. ความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณร ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส พบว่า มีความต้องการความช่วยเหลือ จากภาครัฐ ๓ ประการคือ ต้องการให้รัฐช่วยดูแลความปลอดภัยในการดำรงชีวิตและปฏิบัติศาสนกิจ ต้องการให้ช่วยด้านสวัสดิการ ดูแลด้านสาธารณสุข และปัจจัยสี่ตามเหมาะสม และ ต้องการให้รัฐร่วมเป็นเจ้าภาพในการประกอบพิธีกรรมที่สำคัญทางศาสนาทุกกิจกรรม
Abstract
This researches have two objectives. First, to study the impacts of violent situation in 3 provinces in Southern border i.e. Yala, Pattani, and Narathiwat on religious activities for monks and novices were affected to the way of life, the performing religious rite, the announcing Dharma of Buddhism, and social work. Second, to study the problems and the solving the problems in changing the formatting religious activities and helping monks and novices from government sectors.
The researchers collected the data from field work in 3 provinces in the Southern border by using Questionnaire, interview form. The sampling groups are the officer monks as the monk dean in province level, district level, sub-district level and the abbots monks, temple committees, and buddhist.
The researchers collected, analyzed, systematized the data and presented the results of research by describing in the tables and photos.
The results of research found that
(1) The monks and novices who were staying 3 provinces in Southern border were faced the impacts of violent situation in 3 provinces in Southern border i.e. Yala, Pattani, and Narathiwat on religious activities for monks and novices to the way of life, the performing religious rite, the announcing Dharma of Buddhism, and social work.
(2) They were advised to changing the formatting religious activities i.e. to protecting from soldiers for safety on religious activities, to changing time and step for safety on religious rite, to announcing Dharma of Buddhism in only temple and It should be changing the way to announcing Dharma of Buddhism by using the radio, books, VCD of Dharma to people.
(3) The needs of helping from Government sectors on religious activities for monks and novices in Southern area were found that there were 3 parts; One the need of caring in the way of life and religious activities, Second the need of welfare in the parts Public Health and Four Requisites, and Third, the need of financing to support the all religious rite.
บทนำ
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๖ ให้หมายถึง ๔ จังหวัดในภาคใต้ของประเทศไทยที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมที่แตกต่างไปจากกลุ่มคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งมีเป็นจำนวนน้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ไม่สนใจในเรื่องการเมือง มุ่งดำเนินชีวิตด้วยความสงบ และเคร่งครัดในศาสนา เชื่อผู้นำศาสนาอย่างจริงจัง บางครั้งไม่คำนึงถึงเหตุผลข้อเท็จจริง จึงเป็นการง่ายต่อการชักจูงใจ และเป็นที่ทราบกันดีว่า แม้ในปัจจุบันประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้นจังหวัดสตูล ยังไม่ยอมรับโดยสนิทใจใจว่าตน “เป็นคนไทย” ตามหลักสัญชาติและภูมิลำเนาหรือตามรัฐธรรมนูญของประเทศที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ เพราะได้มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาเขตของประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว ไม่ได้อพยพมาจากประเทศอื่น ๆ เหมือนกับชาวญวน หรือชาวจีน แต่ความแตกต่างในเรื่องภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม ทำให้นักฉวยโอกาสทั้งในและนอกประเทศยกมาเป็นข้ออ้างในทวงสัญชาติและดินแดนแบบผิด ๆ เพื่อก่อให้เกิดความแตกแยกในประเทศ
สภาพเหตุการณ์การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน นับว่าจังหวัดสตูลเป็นจังหวัดที่มีเหตุการณ์สงบปกติมากที่สุดทั้ง ๆ ที่มีสถิติของจำนวนประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามมากกว่า ๓ จังหวัด แต่ประชากรในจังหวัดสตูลมีทัศนคติที่ถูกต้องและเข้าใจในความหมายของการเป็นพลเมืองของประเทศ โดยไม่นำเรื่องศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ฉะนั้น ความหมายของ “จังหวัดชายแดนภาคใต้” จึงมีเพียง ๓ จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่มักเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่อยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะในปัจจุบัน เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกขณะ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่เกิดขึ้นรายวัน มีความเสียหาย ผู้คนบาดเจ็บล้มตาย เป็นจำนวนมาก อาทิ การเผาโรงเรียน วางระเบิดวัด เผากุฏิพระ ปล้นอาวุธปืนในค่ายทหาร ปิดล้อมโรงพักแล้วระดมยิงต่อสู้กับตำรวจ มีการลอบฆ่าหรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ของบ้านเมือง ทำร้ายพระภิกษุ สามเณร ครู นักเรียน มีการลอบวางระเบิดตามสถานที่ต่าง ๆ ในเวลาที่ไล่ ๆ กัน[1]
จากรายงานของสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับความเสียหายที่มีต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ถึง เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ปรากฏว่าความรุนแรงใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทำให้ทั้งชาวไทยพุทธ และมุสลิม เสียชีวิตไปแล้วกว่า ๘๐๐ คน [2]
จนถึงปัจจุบันเหตุการณ์การก่อการร้ายหรือก่อความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงต่อเนื่องเป็นรายวัน ทั้งทำร้ายประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำลายพืชไร่ พืชสวน ก่อความเสียหาย เป็นที่หวาดกลัว และหวาดระแวงต่อประชาชนทั่วไปในพื้นที่ ดังที่ จรัล มะลูลีม[3] กล่าวว่า
“…ชีวิตหลังวันที่ ๔ มกราคม (๒๕๔๗) แตกต่างไปจากความเคยชิน ถึงเวลานี้ ไม่มีใครดื่มน้ำชาโดยหันหลังให้กับถนนอีกต่อไป ทุกคนต่างระแวงและต้องการให้ตัวเองรอดพ้นจากภยันตรายที่อาจจะมาถึงในเวลาหนึ่ง เวลาใดก็ได้ การทำมาหากินก็ต้องเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม หรือการเดินทางไปเรียนหนังสือ ที่ต้องกลับก่อนค่ำ การลดเวลาออกกำลังกาย และความหวาดหวั่นที่มักจะเกิดขึ้นในใจเสมอ สำหรับคนชั้นกลางนั้นพบว่า มีจำนวนอยู่ไม่น้อยที่ต้องการย้ายภูมิลำเนามาอยู่ในสงขลา หรือไม่ก็ย้าย ที่เรียนของลูก ๆ มาอยู่ในกรุงเทพฯ…” |
ความประหวั่นพรั่นพรึง ความหวาดระแวง และการปรับตัวในชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้ตนเองอยู่รอดภายใต้สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ไม่ยกเว้นแม้แต่บุคคลในกลุ่มพระภิกษุ สามเณร ที่ปฏิบัติศาสนกิจอยูในพื้นที่ดังกล่าว ที่จะต้องปรับตัว และปรับวิธีการปฏิบัติศาสนกิจให้เหมาะสมสอดคล้องและเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและศาสนสมบัติ การงดออกบิณฑบาต หรือการออกบิณฑบาตโดยมีกำลังของเจ้าหน้าที่ทหารคอยคุ้มกัน การเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาในพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางด้านหลักคำสอนของศาสนาเป็นอย่างมาก การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือการดำรงชีวิตของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
ผู้วิจัยจึงดำเนินการวิจัยเรื่องนี้ขึ้นเพื่อศึกษาถึงผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณรจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลการวิจัยจะทำให้ทราบถึงผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ดังกล่าว จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นผลการวิจัยยังทำให้ทราบถึงวิธีการปรับตัว และการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการปฏิบัติศาสนกิจให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพของสถานการณ์ความไม่สงบ เพื่อความปลอดภัยของพระภิกษุ สามเณร ตลอดจนทำให้ทราบถึงปัญหา และความต้องการความช่วยเหลือของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ต่อภาครัฐ อันจะทำให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้ความช่วยเหลือ อุปถัมภ์ แก่พระภิกษุ สามเณรที่ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมก่อให้เกิดขวัญ กำลังใจในการปฏิบัติ สืบทอด และดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนสืบไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
๑. เพื่อศึกษาผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในด้านวิถีการดำรงชีวิต การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา และการสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ
๒. เพื่อศึกษาปัญหาข้อเสนอแนะ และแนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติศาสนกิจ ตลอดจนความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณร ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
ขอบเขตของการวิจัย
การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบในการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณร ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะเก็บข้อมูลเฉพาะในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เท่านั้น
คำจำกัดความเฉพาะ
ผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณร อันเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และส่งผลทำให้พระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ดังกล่าวมีการปฏิบัติศาสนกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทั้งในด้านวิถีการดำรงชีวิต การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา และการสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ
เหตุการณ์ความไม่สงบ หมายถึง ภาวการณ์ หรือเหตุการณ์ เช่น ความวุ่นวาย การ ก่อการร้าย การก่อกวน การวางเพลิง การปล้นสดมภ์ การฆ่า ทำร้ายร่างกาย และหรือเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา
๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ หมายถึง จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
๑. ผลของการวิจัยจะทำให้ทราบถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในด้านวิถีการดำรงชีวิต การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การเผยแผ่หลักคำสอนของศาสนา และการสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ
๒. ผลของการวิจัยจะทำให้ทราบถึงปัญหาและข้อเสนอแนะ และแนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบในการปฏิบัติศาสนกิจตลอดจนความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อการปฏิบัติศาสนกิจให้เหมาะสม สอดคล้อง และมีความปลอดภัยของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
วิธีการวิจัย
การดำเนินการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจโดยการเก็บข้อมูลภาคสนามเชิงลึกในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการวิจัยดังนี้
๑. แหล่งข้อมูล
๑.๑ แหล่งข้อมูลเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ได้จากแหล่งข้อมูลที่เป็นแหล่งค้นคว้า เช่น ห้องสมุดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นต้น
๑.๒ แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบ ได้จากสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เช่น หนังสือพิมพ์ วารสาร ข่าวจากวิทยุโทรทัศน์ เป็นต้น
๑.๓ แหล่งข้อมูลภาคสนาม จากการสัมภาษณ์ ตอบแบบสอบถาม และการสังเกต ได้จากการเก็บข้อมูลภาคสนามในวัดและในหมู่บ้านที่มีลักษณะต่อไปนี้
๑) วัดและหมู่บ้านชาวไทยพุทธที่มีอายุการก่อตั้งไม่เกิน ๑๐ ปี ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนจังหวัดละ ๓ วัดและหมู่บ้าน รวม ๙ วัดและหมู่บ้าน
๒) วัดและหมู่บ้านชาวไทยพุทธที่มีอายุการก่อตั้งเกิน ๑๐ ปีขึ้นไป ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน จังหวัดละ ๓ วัดและหมู่บ้าน รวม ๙ วัดและหมู่บ้าน
๓) วัดและหมู่บ้านที่มีชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่รวมกันใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนจังหวัดละ ๓ วัดและหมู่บ้าน รวม ๙ วัดและหมู่บ้าน
๒. กลุ่มตัวอย่าง
ผู้วิจัยได้กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกผู้บอกข้อมูลซึ่งใช้เป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ ดังนี้
๒.๑ เป็นพระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัด ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ในแหล่งข้อมูลตามข้อ ๓.๑.๓
๒.๒ เป็นพระภิกษุ สามเณร ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ในแหล่งข้อมูลตามข้อ ๓.๑.๓ จำนวนแห่งละ ๓ - ๕ รูป
๒.๓ เป็นคณะกรรมการวัด ในวัดที่เป็นแหล่งข้อมูลตามข้อ ๓.๑.๓ จำนวนแห่งละ ๓ - ๕ คน
๒.๔ พุทธศาสนิกชนที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้วัดที่เป็นแหล่งข้อมูลตามข้อ ๓.๑.๓ และมีอายุ ๔๐ ปีขึ้นไป จำนวนแห่งละ ๓ - ๕ คน
๓. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลดังนี้
๓.๑ แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม และแบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์และความรุนแรงของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณร วิถีการดำรงชีวิต การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การเผยแผ่หลักคำสอนของศาสนา การสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ แนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติศาสนกิจและการให้บริการด้านศาสนาแก่สังคม ปัญหา ข้อเสนอแนะ และความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในการช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลนี้ได้ผ่านการตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะ ในการออกแบบเครื่องมือจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๔ ท่าน ดังต่อไปนี้
๑) ศาสตราจารย์เกียรติคุณบุญธรรม กิจปรีดาบริสุทธิ์ มหาวิทยาลัยบูรพา
๒) รองศาสตราจารย์ ดร. ภาณุวัฒน์ สุริยฉัตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
๓) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ พัฒน์ใหญ่ยิ่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
๔) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปัญญา เลิศไกร มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช
๓.๒ เทปบันทึกเสียงและแถบบันทึกเสียง
๓.๓ กล้องถ่ายรูปดิจิตอล
๔. วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
ผู้วิจัยใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการสัมภาษณ์ สอบถาม และสังเกตเกี่ยวกับผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณร วิถีการดำรงชีวิต การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การเผยแผ่หลักคำสอนของศาสนา การสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ แนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติศาสนกิจและการให้บริการด้านศาสนาแก่สังคมปัญหา ข้อเสนอแนะ และความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในการช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากกลุ่มบุคคลที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ ๑ ตุลาคม – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๐
และเนื่องจากเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่เสี่ยงอันตราย ผู้วิจัยได้คัดเลือกผู้ช่วยนักวิจัยจากบุคคลที่มีภูมิลำเนา มีความคุ้นเคยในพื้นที่ และมีความรู้ด้านการวิจัยและการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม และสามารถสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลได้
ผู้ช่วยนักวิจัยที่ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย
๑) นายธนิศร์ ชูเลื่อน อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ห้องเรียนปัตตานี ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดปัตตานี เก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่จังหวัดปัตตานี
๒) นายอัตตพร คงรัตน์ พลฯทหารประจำการ และมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดยะลา เก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่จังหวัดยะลา
๓) นายเพชร สมัครกิจ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาจุฬา ลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส เก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส
ผลการวิจัย
๑. ลักษณะความรุนแรงที่เกิด
ผลการวิจัยเกี่ยวกับลักษณะความรุนแรงที่เกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และปัตตานีจะมีการก่อความไม่สงบโดยมีการซุ่มยิง และ วางระเบิดมากที่สุด ส่วนในพื้นที่จังหวัดยะลาพบว่า มีลักษณะของการซุ่มยิง วางระเบิด และเผาบ้านเรือนมากที่สุด ทั้งนี้จะเห็นว่ามีการก่อกวนโดยวิธีต่าง ๆ ในทุกพื้นที่นับจำนวนครั้งไม่ถ้วน
ในการก่อความไม่สงบที่เกี่ยวข้องกับวัด และพระภิกษุ สามเณร พบว่า มีการวางระเบิดวัดในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ๒ ครั้ง มีการงัดและเผากุฏิพระในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จำนวน ๖ ครั้ง และในพื้นที่จังหวัดปัตตานีจำนวน ๑ ครั้ง ส่วนการทำร้ายพระภิกษุ และสามเณร พบว่ามีทุกพื้นที่ โดยมีเหตุการณ์ทำร้ายพระภิกษุ ในพื้นที่จังหวัดยะลา จำนวน ๒ ครั้ง ปัตตานี ๑ ครั้ง และนราธิวาส ๒ ครั้ง
จากการสัมภาษณ์ถึงความรุนแรงที่กระทบต่อพระภิกษุ สามเณร พบว่า มีการทำร้ายพระภิกษุถึงแก่มรณภาพ ๑ รูป ทำร้ายเด็กวัดจนถึงแก่ความตาย ๒ ศพ และเผากุฏิพระจำนวน ๑ หลัง เหตุเกิดที่วัดพรหมประสิทธิ์ ตำบลบ้านนอก อำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี และจับ เจ้าอาวาสมัดมือและเท้าเพื่อชิงทรัพย์ เหตุเกิดที่วัดน้ำขาวยะถา ตำบลกายุคละ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส
ส่วนลักษณะการก่อการร้ายที่ผู้ก่อการร้ายปฏิบัติต่อวัด พระภิกษุ สามเณร และการก่อกวนการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเป็นจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน ได้แก่ การลอบทำร้ายขณะบิณฑบาต วางระเบิดในเส้นทางบิณฑบาต จุดประทัดหรือส่งเสียงก่อกวนในเวลาทำวัตรสวดมนต์ เยาวชนมุสลิมล้อเลียนพระสงฆ์ เป็นต้น
๒. ผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ผลการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินอันเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า มีผลกระทบต่อชีวิตของคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ โดยมีประชาชนเสียชีวิตมากที่สุดในจังหวัดยะลา โดยมีประชาชนเสียชีวิตจำนวน ๑๐๗ ราย รองลงมาคือ นราธิวาส และปัตตานี มีประชาชนเสียชีวิต ๘๗ และ ๘๖ รายตามลำดับ
ส่วนผลกระทบต่อชีวิตของพระภิกษุ สามเณร พบว่า มีพระภิกษุ มรณภาพในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส จังหวัดละ ๑ รูป นอกจากนั้นมีพระภิกษุ สามเณรได้รับบาดเจ็บสาหัส ในพื้นที่จังหวัดยะลา ๖ รูป นราธิวาส ๕ รูป และ ปัตตานี ๑ รูป และมีพระภิกษุ สามเณรได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยในพื้นที่จังหวัดยะลา ๓ รูป ปัตตานี ๑ รูป และนราธิวาสอีก ๖ รูป
จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทรัพย์สินได้รับความเสียหาย โดยความเสียหายส่วนใหญ่จะเป็นบ้านเรือนของประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นในทุกจังหวัด ส่วนความเสียหายที่เกิดกับวัดนั้น ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสจะมีวัดได้รับความเสียหายมากที่สุด รองลงมาคือจังหวัดปัตตานี
๓. ผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัด ชายแดนภาคใต้
๑) ผลกระทบด้านวิถีการดำรงชีวิต พบว่า พระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลกระทบด้านวิถีการดำรงชีวิต ๓ ประการ คือ
๑.๑) ผลกระทบต่อการบิณฑบาต มีความไม่สะดวกปลอดภัยและไม่ปลอดภัยในการบิณฑบาต โดยการบิณฑบาตทุกครั้งต้องมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยคุ้มกันให้ความปลอดภัย
๑.๒)ผลกระทบต่อการทำกิจของสงฆ์และความเป็นอยู่ในวัด พระภิกษุ สามเณรมีความวิตกกังวลตลอดเวลา รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย จะทำกิจกรรมอะไรต้องระมัดระวังตัวอยู่ตลอดเวลา และหากไม่จำเป็นก็ไม่ออกจากวัด
๑.๓) จำนวนพระภิกษุ สามเณรในวัด มีการย้ายออกจากวัดไปอยู่ในที่ปลอดภัยต่างจังหวัดทำให้มีจำนวนพระภิกษุไม่เพียงพอในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
๒) ผลกระทบด้านการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พบว่า พระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผลกระทบด้านการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา คือไม่สามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ตามเวลาที่เหมาะสม ต้องปรับเวลาในการประกอบ กิจกรรมและพิธีกรรมทางศาสนาให้เสร็จก่อนค่ำ มีพุทธศาสนิกชนเข้าวัดเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาน้อยลง ลดกิจนิมนต์ไปการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่บ้านของญาติโยม โดยจะเลือกรับกิจนิมนต์เฉพาะที่เห็นว่ามีความปลอดภัยเท่านั้น หรืออาจต้องให้ทหารให้ความคุ้มกันในขณะที่ไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามกิจนิมนต์ ต้องลดขั้นตอนของการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้น้อยลง และ ต้องปรับรูปแบบการประกอบพิธีกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์
๓) ผลกระทบด้านการเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา พบว่า พระภิกษุไม่สามารถเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาได้อย่างเต็มที่ โดยสามารถเผยแผ่หลักคำสอนได้เฉพาะที่วัดในวันพระเท่านั้น ไม่สามารถออกไปเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ในพื้นที่ไกล ๆ ได้ การไปเผยแผ่หลักคำสอนแต่ละครั้งต้องมีเจ้าหน้าที่ทหารคอยให้ความคุ้มครอง ขาดพาหนะรับ–ส่งในการเดินทางไปเผยแผ่หลักคำสอน มีพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมกิจกรรมฟังธรรมน้อยลงเนื่องจากเกรงความไม่ปลอดภัย และมีพระผู้ทรงคุณวุฒิหรือพระธรรมกถึกน้อยลง
๔) ผลกระทบด้านการสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ พบว่า พระภิกษุ สามเณรขาดความเชื่อมั่นในการดำเนินกิจกรรมด้านการสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ เพราะมีความหวาดระแวงระหว่างไทยพุทธกับไทยมุสลิมมีมากขึ้น ขาดแนวร่วมในการให้การสังคมสงเคราะห์เนื่องจากบุคคลผู้สนับสนุนในด้านต่าง ๆ ไม่กล้าเข้ามาในพื้นที่ กิจกรรมด้านการสังคมสงเคราะห์แก่ชุมชนบางกิจกรรมต้องยกเลิกไป เนื่องจากเกิดความไม่ปลอดภัยทั้งตัวพระและผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในบางพื้นที่ประชาชนกลับเป็นฝ่ายให้การสงเคราะห์หรือช่วยเหลือพระภิกษุ สามเณรมากขึ้น เช่น การนำอาหารไปถวายพระภิกษุ สามเณรถึงในวัด การจัดรถรับ-ส่งให้ความสะดวกในการเดินทางไป เผยแผ่พระพุทธศาสนา และการช่วยเป็นหูเป็นตาให้ความปลอดภัยแก่พระภิกษุ สามเณรมากขึ้น เป็นต้น
๔. ข้อเสนอแนะและแนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติศาสนกิจ
จากการประมวลข้อเสนอแนะและแนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติศาสกิจของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง พบข้อเสนอแนะและแนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติศาสนกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ความไม่สงบและรุนแรงในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ
๑. ด้านการดำรงชีวิต จัดให้มีทหารคอยคุ้มครองเวลาบิณฑบาต เพิ่มกำลังทหารคุ้มครองวัดและหมู่บ้านทุกจุด และ เพิ่มมาตรการเพื่อความปลอดภัย เช่น มีการตรวจตราการ เข้า – ออกในวัดอย่างละเอียด โดยเฉพาะบุคคลแปลกหน้าหรือบุคคลที่มีท่าทีแปลก ๆ
๒. ด้านการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ควรปรับเปลี่ยนเวลาในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา โดยให้เสร็จสิ้นในเวลากลางวัน ควรประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนาโดยย่อ ๆ ให้รัฐจัดพุ่มกฐินไปถวายพระที่ลำบาก โดยการร่วมเป็นเจ้าภาพ เพื่อใช้ในการบูรณะซ่อมแซมสิ่งที่จำเป็น และ ให้ทหารคุ้มครองขณะประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือจัดงานในวัด
๓. ด้านการเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ควรเผยแผ่หลักคำสอนเฉพาะภายในวัดเท่านั้น และควรปรับเปลี่ยนรูปแบบในการเผยแผ่ เช่น เผยแผ่ทางเสียงวิทยุชุมชนในหมู่บ้าน วิทยุกระจายเสียง จัดทำเทป หรือ ซี.ดี. ธรรมะให้ประชาชน
๔. ด้านการสังคมสงเคราะห์ หน่วยงานภาครัฐควรจัดสรรงบประมาณให้วัดที่มีโครงการด้านการสังคมสงเคราะห์แก่ชุมชน หน่วยงานภาคเอกชนที่อยู่นอกพื้นที่ ควรให้ความสนใจและยื่นมือเข้าให้ความช่วยเหลือแก่วัด และชุมชนในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดหาทุนเพื่อสงเคราะห์แก่พระภิกษุ สามเณรที่
อาพาธ หรือจัดเวชภัณฑ์ ยารักษาโรคถวายวัดที่อยู่ห่างไกลชุมชน
๕. ความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณร ในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส
จากการประมวลความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ผู้วิจัยสัมภาษณ์ทั้ง ๓ จังหวัด ได้สะท้อนความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ สรุปได้ ๓ ประการ คือ
๕.๑ ความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในด้านความปลอดภัย คือ ต้องการให้ดูแลด้านความปลอดภัยในชีวิตอย่างทั่วถึง โดยอาจจัดชุดทหารเข้าเวรยามหน้าวัด – หลังวัด ต้องการให้จัดรถรับส่งในการเผยแผ่ศาสนา ต้องการให้จัดหาอุปกรณ์ป้องกันภัย เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิดให้แต่ละวัด ต้องการให้จัดอุปกรณ์สื่อสาร เพื่อรับ–ส่ง ข่าวสารให้รู้ทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และต้องการให้รัฐจัดให้มีการอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน
๕.๒ ความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในด้านสวัสดิการและความเป็นอยู่ คือ ต้องการให้จัดสวัสดิการโดยเฉพาะปัจจัยสี่ให้ตามความเหมาะสม ต้องการให้ดูแลด้านสาธารณสุขให้กับพระภิกษุ สามเณรอย่างทั่วถึง ต้องการให้จัดสรรงบประมาณในการสงเคราะห์ประชาชน ต้องการให้รัฐหาวิธีการป้องกันไม่ให้ชาวไทยพุทธย้ายออกจากพื้นที่ โดยให้เหตุผลว่าหากไม่มีชาวพุทธในพื้นที่ ศาสนาพุทธจะไม่มีตามไปด้วย ต้องการให้รัฐจัดทำสถิติวัด หรือสำนักสงฆ์ที่มีความเดือดร้อนและให้ความ ช่วยเหลือตามลำดับความจำเป็น แต่ให้ทั่วถึง และต้องการให้รัฐรายงานความคืบหน้าในการแก้ปัญหาทุกด้านให้พระภิกษุและสามเณรได้ทราบด้วย
๕.๓ ความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในด้านการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและการเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา คือ ต้องการให้รัฐร่วมเป็นเจ้าภาพในพิธีกรรมทางศาสนาทุกกิจกรรมที่จัดขึ้น ต้องการให้รัฐจัดพุ่มกฐินไปถวายวัดที่ขาดแคลน เพื่อนำเงินไปบูรณะซ่อมแซมปรับปรุงวัด และต้องการให้รัฐจัดทำหนังสือหรือเอกสารเกี่ยวกับธรรมะให้กับวัดทุกวัดในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้การเผยแผ่หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาทำได้ง่ายขึ้น
การอภิปรายผล
จากการวิจัยเรื่อง การศึกษาผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณร ในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จากเหตุการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้วิจัย ขออภิปรายข้อค้นพบบางประเด็นที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
๑) จากผลการวิจัยที่พบว่า จำนวนพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากส่วนหนึ่งได้ย้ายออกจากพื้นที่ด้วยเห็นว่าไม่มีความปลอดภัยในชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับการรายงานข่าวของสื่อมวลชนต่าง ๆ ที่รายงานตรงกันว่า “จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการทำร้าย ฆ่าชาวไทยพุทธ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้ชาวไทยพุทธที่เข้าไปทำมาหากินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หนีภัยออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ในพื้นที่ ตำบลดุซงยอ อำเภอระแนะ จังหวัดนราธิวาส ชาวไทยพุทธได้อพยพออกจากพื้นที่ทั้งหมด”[4] และสอดคล้องกับคำกล่าวของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในรายการ “นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน” ตอนหนึ่งว่า “...ผมได้บอกกับพี่น้องประชาชนและพระทั้งหลายว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยวัด และพระสงฆ์ ใน ๓ จังหวัดชายแดนมาก เพราะถือว่าเราจะต้องช่วยกันจรรโลงพุทธศาสนา ขณะนี้บางวัดพระเหลือน้อย บางวัดไม่มีปัจจัยในการทำนุบำรุงวัด เนื่องจากประชาชนได้ย้ายออกจากพื้นที่บ้าง เหตุการณ์ไม่สงบบ้าง...“ [5]
ขณะที่ พระชัยยุทธ โชติวํโส พระเลขานุการพระราชมงคลญาณ เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “...ไม่เพียงแต่ชาวบ้านเท่านั้นที่หวั่นเกรงเหตุร้าย ช่วงที่ผ่านมามีพระย้ายออกไปจำพรรษานอกพื้นที่หลายรูป ขณะที่วัดบูรพารามมีพระจำวัดอยู่ทั้งสิ้นเพียง ๖ รูป ขณะที่บางวัดมีพระอยู่ไม่ถึง ๕ รูป รวมพระใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีไม่ถึง ๓๐๐ รูป ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาได้...”[6] ผลจากการย้ายอกจากพื้นที่ดังกล่าว ทำให้มีจำนวนพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ลดน้อยลงอย่างมาก ส่งผลทำให้วัดบางวัดในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้มีพระภิกษุ สามเณรไม่เพียงพอในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา นอกจากนั้นจากการวิจัยยังพบว่า ปัญหาอุปสรรคสำคัญคือนอกจากจะมีจำนวนพระภิกษุ สามเณรเป็นจำนวนน้อยมากแล้ว ในจำนวนนั้นยังขาดพระธรรมกถึก คือ พระผู้มีความรู้ในการถ่ายทอดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากพระธรรมกถึกไม่กล้าเข้าไปจำพรรษาในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งทำให้มีผลกระทบในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามากขึ้น
การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ได้มีความพยายามเป็นอย่างมากจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และองค์สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงเป็นห่วงพสกนิกรชาวไทยพุทธที่ขาดที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในสภาวะที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระสงฆ์จากทั่วประเทศอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยพุทธมีสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และได้ทำบุญในช่วงเข้าพรรษาตลอดระยะเวลา ๓ เดือนรวมทั้งงานบุญทอดกฐิน จึงให้มีพระราชเสาวนีย์ให้มี “โครงการพระสงฆ์นำชัยคุ้มภัยใต้” ขึ้น มี พล.อ. ณพล บุญทับ รองสมุหราชองครักษ์ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นประธานโครงการพระสงฆ์นำชัยคุ้มภัยใต้ ดำเนินการอารธนาพระสงฆ์ที่อาสาสมัครเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเข้าพรรษา ประจำปี ๒๕๕๐[7] ผลจากการดำเนินการดังกล่าว มีพระสงฆ์จำนวน ๓๘๒ รูป เดินทางไปจำพรรษาในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ๔ อำเภอในจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย คณะพระสงฆ์ดังกล่าวได้เดินทางไปโดยเครื่องบินกองทัพอากาศ ซี ๑๓๐ ถึงค่ายจุฬาภรณ์ จังหวัดนราธิวาส ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐ โดยแยกกันจำพรรษาในวัดต่าง ๆ ของแต่ละจังหวัด รวม ๑๑๘ วัด คือ จังหวัดยะลา ๒๗ วัด จำนวนพระสงฆ์ ๙๔ รูป จังหวัดปัตตานี ๔๓ วัด จำนวนพระสงฆ์ ๑๒๐ รูป จังหวัดนราธิวาส ๔๗ วัด จำนวนพระสงฆ์ ๑๓๘ รูป และจังหวัดสงขลา ๑ วัด จำนวนพระสงฆ์ ๕ รูป[8]
การมีพระสงฆ์ภายใต้โครงการพระราชดำริ ส่งผลให้ชาวไทยพุทธ พระภิกษุ สามเณร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติศาสนกิจดีขึ้นตามลำดับ
๒) จากผลการวิจัยที่พบว่า พระภิกษุ สามเณร ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิต คือ มีความไม่ปลอดภัยในชีวิตทั้งในการดำรงชีวิตปกติในบริเวณวัดและนอกวัด ผู้วิจัยเห็นว่า สอดคล้องกับการรายงานข่าวของสื่อสารมวลชนต่าง ๆ และข้อเรียกร้องที่ปรากฏในแถลงการณ์คณะสงฆ์ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ หลังจากเกิดเหตุการณ์กรณีผู้ก่อการร้ายบุกเข้าไปทำลาย เผาวัดและฆ่าพระภิกษุ และลูกศิษย์วัด เมื่อกลางคืนของวันที่ ๑๕ ต่อกับวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๘ ดังรายละเอียดของแถลงการณ์ ฉบับดังกล่าวว่า
“แถลงการณ์คณะสงฆ์ จังหวัดปัตตานี เรื่อง ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณี วัดพรหมประสิทธิ์ ต.บ้านนอก อ. ปานาเระ จ.ปัตตานี
ตามที่มีผู้ก่อความไม่สงบได้บุกเข้าไปทำลาย เผาวัดพรหมประสิทธิ์ และฆ่าพระภิกษุแก้ว ฉายา โกสโล นามสกุล ปัญจเพชร อายุ ๗๘ ปี พรรษา ๔ วัดพระมหประสิทธิ และฆ่าแล้วเผา นายหาญณรงค์ คำอ่อง อายุ ๑๗ ปี และนายสถาพร สุวรรณรัตน์ อายุ ๑๕ ปีศิษย์วัดฯ เมื่อกลางคืนวันที่ ๑๕ ต่อกับวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๘ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๐.๓๐ น. ถึงเวลาประมาณ ๐๑.๐๐ น. และมีทรัพย์สินเสียหายหลายรายการ คือ กุฏิ ๑ หลัง ประตูอุโบสถ ๒ บาน โต๊ะหมู่บูชาพระอุโบสถพร้อมพระพุทธรูปบนโต๊ะหมู่ฯ รูปเหมือนหลวงพ่อทวดวัดช้างไห้ ขนาดหน้าตัก ๔ นิ้ว จำนวนหลายสิบองค์ รูปปั้นยักษ์เก่าแก่หน้าประตูอุโบสถ ๒ ตน และทรัพย์สินส่วนตัวของศิษย์วัด เช่น โทรศัพท์มือถือ ๒ เครื่อง รถจักรยานยนต์ ๒ คัน โน๊ตบุ๊ค ๑ เครื่อง ทีวี ๑ เครื่อง
การกระทำดังกล่าวเป็นที่สลดใจและสร้างความหวาดกลัว ความหวาดระแวงให้กับประชาชนโดยรอบวัดและพุทธศาสนิกชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก คณะสงฆ์จังหวัดปัตตานีจึงได้ประชุมปรึกษาและมีมติให้มีแถลงการณ์เนื่องในเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมข้อเสนอแนะ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
๑. ต้องจับกุมคนร้ายมาลงโทษตามกระบวนการทางกฎหมายความมั่นคงของประเทศให้ได้เร็วที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจในประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่
๒. ขอให้ทางราชการสร้างกำแพง ประตูที่มีความเข้มแข็งให้กับวัดทุกวัดในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเริ่มจากพื้นที่ที่เสี่ยงภัยมากที่สุด และให้เน้นการคุ้มครองพุทธศาสนิกชนในพื้นที่เสี่ยงทั้งศาสนบุคคลและศาสนสถาน
๓. ให้จัดชุดเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจหรือหน่วยรักษาความปลอดภัยเข้าไปสอดส่องดูแลในวัดที่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหรือจัดส่งเจ้าหน้าที่ฯ เข้าไปอยู่ประจำวัดทุกวัดโดยต้องเข้าปรึกษาและให้เจ้าอาวาสเสนอแนะการจัดเจ้าหน้าที่เข้าประจำในวัดเพื่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
๔. ต้องการเรียกร้องให้บุคคลที่มีความสามารถ ความรู้และเข้าใจปัญหาในพื้นที่อย่างแท้จริง กล้าตัดสินใจกลับมารับผิดชอบแก้ปัญหา บุคคลที่ต้องการคือ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี พลเอกกิตติ รัตนฉายา และพลเอกพิศาล วัฒนวงศ์คีรี
๕. ขอสนับสนุนการเปิด Call Center เพื่อเป็นศูนย์การรับข่าวสารและแจ้งเบาะแสคนร้ายได้รวดเร็วและทันสถานการณ์ยิ่งขึ้น พร้อมทั้งขอให้ตัวแทนของภาครัฐและองค์กรเอกชน หรือองค์กรอิสระอื่น ๆ มีความจริงใจและให้เวลากับการลงพื้นที่ฟังข้อมูลความเดือดร้อนของพุทธศาสนิกชน ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่เสี่ยงภัย หรือที่มีผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่อาศัยอยู่ในจำนวนน้อยให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
๖. เรียกร้องให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าหันมาให้ความร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคง แจ้งข้อมูลการก่อการร้ายหรือผู้ต้องสงสัยให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ปัญหาสงบลงโดยเร็ว
๗. ขอสนับสนุนการต่ออายุพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อให้เหตุการณ์สงบลงโดยเร็ว และยุติอย่างถาวร โดยขอให้มีการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบรายละเอียดของพระราชกำหนดดังกล่าวอย่างทั่วถึง หรือยกเลิกพระราชกำหนดฉบับนี้แล้วใช้กฎอัยการศึกแทน
๘. รัฐต้องใช้นโยบายความเสมอภาค ควบคุม ดูแลรักษา ยึดกฎหมายสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ที่ไม่เข้าไปก้าวก่ายคามเชื่อ การปฏิบัติทางศาสนา วิถีชีวิต การกินการอยู่ของประชาชนทุกคน ไม่ให้มีการยกเลิกและการปฏิบัติไปตามอำเภอใจของกลุ่มผู้เรียกร้อง และให้ยึดกฎหมาย ความมั่นคงอย่างเคร่งครัดและยุติธรรมกับประชาชนทุก หมู่เหล่า
๙. ให้ปรับระบบการศึกษาให้มีความเป็นเอกภาพในด้านความสำนึกของความเป็นไทย และความเป็นประชาชนของประเทศไทยที่ต้องกตัญญูต่อแผ่นดินเกิดและประเทศไทย
๑๐. ให้เข้าไปดูแลส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณการจัดตั้งสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนาให้มีความเป็นเอกภาพสอดคล้องกับการศึกษาของชาติและเป็นไปตามหลักการของศาสนาที่แท้จริงและบริสุทธิ์ มุ่งให้เป็นไปเพื่อความสงบสุขของประเทศชาติโดยส่วนรวมอย่างเคร่งครัด
๑๑. ให้ยกเลิกและยุบองค์กรอิสระของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เพราะก่อให้เกิดความแตกแยก และให้การทำงานในฝ่ายความมั่นคงไม่เป็นเอกภาพในการแก้ปัญหาที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดและฉับไว
๑๒. ให้ตอบโต้ ชี้แจง ข้อมูลเท็จจริงทันทีและอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งด้วยการทูต การทหาร หรือการประกาศไม่ให้มีการสนับสนุนและส่งเสริมการเข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในประเทศของไทยจากองค์กรศาสนาหรือองค์กรอิสระอื่น ๆ ในต่างประเทศ กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกระหว่างศาสนาในประเทศไทย
๑๓. ให้รัฐใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบและถูกต้องชอบธรรมในการปฏิบัติงานโดยไม่มีภยาคติ (ลำเอียงเพราะกลัว) ในการแก้ไขปัญหาเพื่อความสงบสุขของพื้นที่
๑๔. ให้ยกเลิกสิทธิพิเศษที่ได้ให้แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ และถ้าจะให้ก็ขอให้มีสิทธิพิเศษเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ไม่มีการแบ่งแยกเป็นโควตาหรือสัดส่วนใด ๆ ทั้งสิ้นในทุกกลุ่มศาสนา
๑๕. ให้รัฐสนับสนุนการตั้งเงินเดือนให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ในวงเงินที่สูงพอ เพื่อสวัสดิการการเสี่ยงภัยในการปฏิบัติหน้าที่ และให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัว พร้อมทั้งอุดหนุนในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันปราบปราม สอดส่องดูแล รักษาความสงบของหมู่บ้านได้ เป็นการทดแทนการไม่มีเวลาประกอบอาชีพส่วนตัวที่เคยประกอบอยู่ก่อน และต้องใช้เวลาในการช่วยราชการได้มากขึ้น ให้เป็นการทำหน้าที่ด้านความมั่นคงโดยเฉพาะ
๑๖. ให้มีตัวแทนของพุทธศาสนิกชนที่ได้รับการยอมรับและรับรองจากที่ประชุมของพุทธศาสนิกชนในจังหวัด ๓ จังหวัดชายแดนนี้ ตามมติของจังหวัด นั้น ๆ เพื่อเข้าไปเป็นตัวแทนในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาฯ ในทุก ๆ คณะทำงาน ทั้งในส่วนของภาครัฐและองค์กรอิสระอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วและกำลังจะเกิดขึ้นมาใหม่
๑๗. ให้มีการยอมรับและประกาศให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย เพื่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะสามารถทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและสงบสุขได้อย่างยั่งยืน
๑๘. ให้จัดสรรรงบประมาณสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนด้านการศึกษาของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ฯ ในทุกแผนกการศึกษา ทั้งแผนกนักธรรมและแผนกบาลี พร้อมทั้งการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาทั่วไปใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ให้มากขึ้น
๑๙. ให้ส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา (มหาวิทยาลัยสงฆ์ปัตตานี)ของคณะสงฆ์ใน ๓ จังหวัดฯ เป็นกรณีพิเศษและอย่างเร่งด่วนเพื่อความมั่นคงของศาสนาพุทธในพื้นที่
ทั้งนี้เพื่อมุ่งความสงบสุข ความเข้าใจอันดีต่อกัน ระหว่างประชาชนในพื้นที่อย่างถาวรและมั่นคงตลอดไป
คณะสงฆ์จังหวัดปัตตานี
๒๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๘
๓) จากผลการวิจัยที่พบว่า พระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับผลกระทบในการปฏิบัติศาสนกิจ คือ ไม่สามารถบิณฑบาตได้ ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ ไม่สามารถเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา และการสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ผู้วิจัยเห็นว่า สอดคล้องกับการรายงานข่าวของสื่อสารมวลชนต่าง ๆ เช่น จาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์ รายงานการสัมภาษณ์ พระมหาภูษิต ฐิตสิริ พระนักเทศน์ชื่อดังและครูสอนนักธรรมวัดพระศรีมหาโพธิ์ ตำบลโคกโพธิ์ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ว่า “...เกิดเหตุไม่สงบขึ้นพระก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการบิณฑบาตจากปกติออกตอนเช้ามืดก็เลื่อนเวลามาเป็นรุ่งสางยามที่มีแสงอาทิตย์ ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องสี่ยงออกมาทำบุญตอนเช้ามืด พระวัดนี้มีทั้งหมด ๑๐ รูป ออกบิณฑบาตองค์เดียว ไม่มีทหารคุ้มกัน ไม่มีเด็กวัด ก็ต้องดูหน้าดูหลัง เหมือนกันคนเราทุกคนเกิดมาต้องตายถึงเวลาเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น”[9] และ “ปัจจุบันญาติโยมต้องปรับตัว ในการมาวัดแต่ละทีต้องระวังตัวดูหน้า ดูหลัง เวลาเย็น ๆ ต้องรีบเดินทางกลับบ้านเดี๋ยวจะไม่ปลอดภัย ขณะพระต้องปรับรูปแบบการรับกิจนิมนต์ จากเมื่อก่อนอาศัยเหมารถชาวมุสลิมแต่ปัจจุบันต้องอาศัยรถญาติโยม หรือรถของสำนักพระพุทธศาสนาเดินทางแทน”[10]
อย่างไรก็ตามในส่วนของผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชน ได้ให้ความสนใจและให้ความช่วยเหลือแก่พระภิกษุ สามเณรเพื่อให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ถึงแม้จะไม่สะดวกนักก็ตาม เช่น เจ้าหน้าที่ทหารได้จัดกำลังให้ความคุ้มครองแก่พระที่ออกบิณฑบาตในพื้นที่หรือปฏิบัติศาสนกิจ ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวัด คอยอำนวยความสะดวกในการรับ–ส่ง พระภิกษุที่จะไปปฏิบัติศาสนกิจตามกิจนิมนต์ การจัดสร้างกำแพง บังเกอร์ รั้วลวดหนาม การตั้งด่านคอยตรวจตราผู้เข้าออกวัดตลอดเวลา การติดตั้งเครื่องวงจรปิดตามที่ต่าง ๆ เป็นต้น
มหาเถรสมาคมเอง ได้ให้ความสนใจต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยในการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณร ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังจะเห็นได้จากการประชุมของมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๓/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เรื่อง พระภิกษุสามเณรถูกทำร้ายและฆาตกรรม ที่จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา[11] ซึ่งมีรายละเอียดว่า
“...ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๓/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๗ เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นบริเวณ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี กรณีพระภิกษุและสามเณรถูกทำร้ายและฆาตกรรมขณะบิณฑบาตที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดยะลา โดยกลุ่มคนร้ายใช้มีดเป็นอาวุธ เป็นเหตุให้พระภิกษุและสามเณรถึงมรณภาพ จำนวน ๓ รูป และบาดเจ็บสาหัส ๑ รูป ประกอบกับสื่อมวลชนได้ลงข่าวดังกล่าว เป็นที่สะเทือนใจแก่พุทธศาสนิกชน ดังเป็นที่ทราบโดยทั่วไปแล้วนั้น
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดยะลา ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๗ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและเพื่อการปลอบขวัญกำลังใจแก่พระภิกษุสามเณร รวมทั้งประสานงานกับเจ้าคณะผู้ปกครองในเหตุการณ์ดังกล่าว และเมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๗ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและคณะ ได้เดินทางไปร่วมงานประกอบพิธีฌาปนกิจศพพระภิกษุสามเณรที่มรณภาพที่วัดอุไรรัตนาราม อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส และเยี่ยมเคารพศพพระภิกษุสามเณร ที่จังหวัดยะลา พร้อมทั้งได้ร่วมประชุมกับเจ้าคณะจังหวัดยะลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(นายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสิริกร มณีรินทร์) และเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เกี่ยวกับ สภาวการณ์ที่ไม่ปกติ และความไม่ปลอดภัยของพระภิกษุสามเณรอาคารเสนาสนะของวัด
สรุปได้ว่า การออกบิณฑบาตของพระภิกษุสามเณร ควรปรับให้เหมาะกับสถานการณ์ และไม่ให้ผิดกับหลักพระธรรมวินัย เช่น ปรับการออกบิณฑบาตให้สายขึ้นกว่าเดิม การบิณฑบาตโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือชาวบ้านช่วยคุ้มกัน รวมทั้งให้ชาวบ้านนำภัตตาหารมาถวายแก่พระภิกษุสามเณรที่วัด ส่วนวัดที่อยู่ห่างไกล ให้พระภิกษุสามเณรเข้ามา จำพรรษาชั่วคราวที่วัดเจ้าคณะจังหวัด และให้ชาวบ้านช่วยดูแลวัดเป็นการชั่วคราวในช่วงเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสภาพขวัญและกำลังใจของพระภิกษุสามเณร และชาวพุทธในพื้นที่ดังกล่าว พบว่า ยังมีสภาพที่ไม่ดีนัก ประกอบกับได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในพื้นที่ได้ช่วยเข้าไปดูแลคุ้มครองวัดและพระภิกษุสามเณรเป็นอย่างดี และกำลังดำเนินการแก้ปัญหา รวมทั้งดำเนินการสืบสวนสอบสวน และหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างเร่งด่วนต่อไป
...ส่วนความช่วยเหลือในเบื้องต้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ถวายความช่วยเหลือพระภิกษุสามเณรในเขต ๓ จังหวัดเป็นการเร่งด่วน โดยส่งข้าวสารอาหารแห้ง ถวายแก่เจ้าคณะจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เพื่อสนับสนุนกรณีการขาดแคลนอาหารบิณฑบาต โดยจัดส่งไปตั้งแต่วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๔๗ รวมทั้งจัดสรร เงินอุดหนุนจากงบกองทุนสงเคราะห์พระภิกษุประสบภัยแก่จังหวัดทั้ง ๓ จังหวัดละ ๕๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท เพื่อให้เจ้าคณะจังหวัดดำเนินการช่วยเหลือวัดในปกครองโดยด่วน
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นว่า จากสถานการณ์ที่ ไม่สงบในเขต ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยของพระภิกษุสามเณร รวมทั้งขวัญกำลังใจของชาวพุทธที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ในชั้นต้น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจักได้สนับสนุนภัตตาหารและส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเยือน ประสานกับเจ้าคณะปกครองและเจ้าอาวาสวัดในพื้นที่ โดยแจ้งความห่วงใยของคณะสงฆ์และรัฐบาลในกรณีดังกล่าว พร้อมทั้งจักได้จัดประชุมหารือเพื่อหามาตรการในการรักษาความปลอดภัยและแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับเจ้าอาวาส คณะสงฆ์ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนโดยด่วน เพื่อสรุปเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งจัดทำมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่วัดและพระภิกษุสามเณรต่อไป และได้นำเรื่องนี้เสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม)เพื่อทราบด้วยแล้ว
อนึ่ง จากกรณีดังกล่าวได้มีพุทธศาสนิกชนหลายท่านได้ให้ความสนใจและห่วงใยในสวัสดิภาพของพระภิกษุสามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัดดังกล่าว พร้อมทั้งได้เสนอให้แก้ไขปัญหา โดยให้รัฐประสานกับเจ้าคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์ เพื่อปกป้องพระภิกษุสามเณรให้ดำเนินชีวิตในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย และมีความมั่นใจในการปฏิบัติศาสนกิจ รวมทั้งการถวายการยกย่องเชิดชูเกียรติพระภิกษุสามเณรที่ถึงมรณภาพในเหตุการณ์เช่นนี้ เช่นเดียวกับการยกย่องเชิดชูเกียรติแก่เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจที่ถึงแก่ชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การให้พระสงฆ์ทั่ว สังฆมณฑลสวดมนต์ภาวนา ปลงธรรมสังเวช หรือการดำเนินการใด ๆ ตามสมควร เพื่อไว้อาลัยให้แก่พระภิกษุสามเณรที่ถึงมรณภาพ ดังเช่นที่คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการ คือ การทำบุญครบรอบ ๗ วัน ให้แก่พระภิกษุสามเณร ที่ถึงมรณภาพที่จังหวัดยะลา โดยการนิมนต์พระสงฆ์ ๓,๐๐๐ รูป มาสวดมาติกาบังสุกุลอุทิศถวาย ในวันที่ ๓๐ มกราคม๒๕๔๗เป็นต้น
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นสมควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณาที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติว่า มหาเถรสมาคมมีความห่วงใยพระภิกษุสามเณรที่ถูกฆาตกรรมถึงมรณภาพ จำนวน ๓ รูป และได้รับบาดเจ็บ ๑ รูป และวัด ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้าย โดยให้คณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย ซึ่งมี พระธรรมวโรดม เป็นประธาน พิจารณาอนุมัติเบิกเงินจาก กองทุน “ทุนวัดช่วยวัด” ซึ่งพระสังฆาธิการตั้งแต่พระครูสัญญาบัตรขึ้นไปถึงเจ้าคณะใหญ่ทั้ง ๕ หน ร่วมกันบริจาคนิตยภัตปีละหนึ่งเดือน ตั้งเป็นกองทุนไว้ เพื่อนำไปมอบให้เป็นค่าบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระภิกษุและสามเณรที่ถึงมรณภาพ ๓ ศพ ๆ ละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ถวายเป็นค่ารักษาพยาบาลแก่พระภิกษุผู้ได้รับบาดเจ็บ ๑ รูป เป็นเงิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) รวมเป็นเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท (สี่แสนบาทถ้วน) และจัดถวายวัดต่าง ๆ ที่มีพระภิกษุสามเณรไม่สามารถออกบิณฑบาตได้เป็นค่าภัตตาหารรูปละ ๑๐๐ บาทต่อวัน เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น จนกว่าเหตุการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติและสามารถออกบิณฑบาตได้ โดยให้เจ้าคณะจังหวัด ในฐานะประธานคณะ-อนุกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยฯ เป็นผู้พิจารณาและจ่ายเงินสำรองไปก่อน แล้วทำเรื่องขอเบิกเงินคืนจากประธานในภายหลัง และให้ดำเนินการได้ทันทีโดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม...”
ในส่วนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และรัฐบาล ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่พระภิกษุ สามเณร เป็นประจำและต่อเนื่องทุกครั้งที่ได้รับรายงานจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
“ดังมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๒ หลังจากที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รายงานว่า หลังจากมีพระถูกยิงมรณภาพและบาดเจ็บขณะออกบิณฑบาตใน อ.เมือง จ.ยะลา ส่งผลให้พระภิกษุสามเณรไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ มหาเถรสมาคมมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อพระภิกษุ สามเณร และประชาชนในพื้นที่ จึงขอให้สำนักพระพุทธฯ ดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น โดยจัดเครื่องอุปโภค บริโภค ไปถวายผ่านเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ ถวายเงินให้เจ้าอาวาสวัดวาลุการาม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบำเพ็ญกุศลพระที่ถูกยิงมรณภาพ จำนวน ๑ แสนบาท และถวายค่ารักษาพยาบาลแก่พระที่ได้รับบาดเจ็บ จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท นอกจากนี้ยังจัดสรรเงินถวายเป็นค่าภัตตาหารแก่พระภิกษุในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ๙๓๖ รูป วันละ ๑๐๐ บาทต่อรูป เป็นเวลา ๒๐ วัน เป็นเงินทั้งสิ้น ๑.๘๗๒ ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น นอกจากนี้มหาเถรสมาคมได้มอบให้ผู้แทนออกเยี่ยมเยียนสร้างขวัญกำลังใจแก่เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ และภิกษุสามเณรในพื้นที่ พร้อมกับประสานฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ให้คุ้มครองดูแลความปลอดภัย ให้กับคณะสงฆ์และวัดด้วย...” [12] |
จากผลการวิจัยและการอภิปรายผลดังกล่าว สรุปได้ว่า พระภิกษุ สามเณรในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ได้รับผลกระทบในการปฏิบัติศาสนกิจ จากเหตุการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งด้านความปลอดภัยในชีวิต การดำรงชีวิต การปฏิบัติศาสนกิจที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความหวาดระแวง และเกิดความเครียดในการดำรงอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างมาก แต่ด้วยความเห็นอกเห็นใจ และเห็นความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของพระภิกษุ สามเณรอันจะมีผลกระทบต่อการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาในพื้นที่ดังกล่าว ชุมชน สังคม และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ได้ให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ ให้การปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงสามารถดำรงอยู่และดำเนินการได้ในท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ปกติสุขนี้ต่อไป
ข้อเสนอแนะ
จากการวิจัยเรื่อง การศึกษาผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณร ในจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส จากเหตุการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป ดังนี้
๑. ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย
จากผลการวิจัยที่พบว่า พระภิกษุ สามเณร ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับผลกระทบในการดำรงชีวิต คือ มีความไม่ปลอดภัยในชีวิตทั้งในการดำรงชีวิตปกติในบริเวณวัดและนอกวัด ไม่มีความปลอดภัยในการบิณฑบาต ได้รับผลกระทบในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา การเผยแผ่หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา และการให้การสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ นั้นผู้วิจัยเห็นว่า แนวทางในการแก้ไขหรือลดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะเป็นไปตามแถลงการณ์ของคณะสงฆ์ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้[13] ที่มีมติร่วมกันให้รัฐบาลดำเนินการเพื่อลดผลกระทบต่อพระภิกษุ สามเณรในพื้นที่ดังกล่าว คือ
๑) จัดตั้งองค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนา ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้พุทธศาสนิกชนสามารถดำรงชีวิตอย่างปกติสุข พระสงฆ์สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ตามปกติ โดยจัดให้มีองค์กรอาสาสมัครให้ความคุ้มครองป้องกันภัยอย่างต่อเนื่อง
๒) ให้รับบาลประสานงานกับองค์กรชาวพุทธทั่วราชอาณาจักร ร่วมกันประณามผู้ไม่หวังดีที่คุกคามทำร้ายพระสงฆ์หรือทำลายศาสนสถาน
๓) ให้รัฐบาลพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและคุณธรรม มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ โดยไม่กำหนดเฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
๔) ให้รัฐบาลพิจารณาติดตั้งเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย เพื่อให้วัดใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ใช้สื่อสารกับหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ กรณีที่มีเหตุร้าย
๕) ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณอุดหนุนการปฏิบัติภารกิจด้วยความรับผิดชอบ
และความเป็นจริงเป็นที่สุด
๒. ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป
๑) ควรจะได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ ผลการดำเนินการตามโครงการ... ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ว่ามีผลการดำเนินการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างไร พระภิกษุ สามเณรที่อยู่ในโครงการดังกล่าว สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้หรือไม่ เพียงใด
๒) ควรจะได้ศึกษาวิจัยว่า ข้อเรียกร้องในแถลงการณ์คณะสงฆ์จังหวัดปัตตานี ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๘ เรื่อง ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีประเด็นต่าง ๆ ที่ต้องการให้รัฐดำเนินการในวิธีการต่าง ๆ ๒๐ ข้อนั้น รัฐได้ดำเนินการไปแล้วมากน้อยเพียงใด ผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามข้อเรียกร้องเหล่านั้น มีผลเป็นเช่นไร สามารถแก้ไขปัญหาหรือลดผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุ สามเณร ในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้หรือไม่ เพียงใด
เอกสารอ้างอิง
๑. หนังสือ
กิตติ รัตนฉายา, พลเอก. ดับไฟใต้กับรัฐไทย. กรุงเทพฯ: ฐานการพิมพ์, ๒๕๔๘. |
พระวิสุทธิภัทรธาดา. พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และกฎมหาเถรสมาคม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๗. |
พุทธทาสภิกขุ. คำสอนผู้บวชพรรษาเดียว. กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, ๒๕๔๔. |
ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม. ไฟใต้ฤาจะดับ?. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ มติชน, ๒๕๕๐. |
สอาด จันทร์ดี. กะเทาะเปลือกไฟใต้ ใครบงการ. กรุงเทพฯ: บริษัท สหธรรมิก จำกัด, ๒๕๔๙. |
๒. วารสาร
จรัล มะลูลีม. “The Assassins (จบ)” มติชน สุดสัปดาห์. ๑๘ - ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๗. |
ไพฑูรย์ ศรีโฮง. “ปัญหาความรุนแรง ๓ จังหวัดใต้ ท่องเที่ยว...ลงทุนวิกฤติ” สยามรัฐสัปดาห์ วิจารณ์. ปีที่ ๕๑ ฉบับที่ ๒๔: ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๗. |
มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๑๒๒๔ : ๓๐ มกราคม – ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗. |
วรศักดิ์ มหัธโนบล. “ไฟใต้ ๒๕๔๗” มติชน สุดสัปดาห์. ๖ – ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗. |
อารยัน ตะวันนา. “ความจริง ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียงสะท้อนชาวบ้านจากพื้นที่ รากเหง้า ปัญหาและทางออก” มติชนสุดสัปดาห์. ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๑๒๓๕: ๑๖–๒๒ เมษายน ๒๕๔๗. |
๓. หนังสือพิมพ์
น.ส.พ. มติชน ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๗. |
น.ส.พ.ข่าวสด ฉบับวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘. |
น.ส.พ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗. |
น.ส.พ.ไทยโพสต์. ฉบับวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗. |
๔. เว็บไซต์
www. Ads2.mweb.co.th/hserver. สืบค้นวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙. |
www. Google.com. “หัวข้องานวิจัย ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้” สืบค้นวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙. |
www. Onab.go.th สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ “ จำนวนพระภิกษุ สามเณร ปี พ.ศ. ๒๕๔๗ และ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐. สืบค้นวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๐. |
www.astv maneger.co.th ไพรัช มิ่งขวัญ. “เมื่อพระต้องพูด เสียงสะท้อนจากชายแดนใต้” ใน ASTV ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้น วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๘. |
www.goosiam.com สืบค้นวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๐. |
www.mahathera.org มหาเถรสมาคม. “รายงานผลการจัดส่งพระสงฆ์อาสาสมัครไปปฏิบัติ ศาสนกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” สืบค้นวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๐. |
www.mahathera.org/ การประชุมของมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๓/๒๕๔๗ วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เรื่อง พระภิกษุ สามเณรถูกทำร้ายและฆาตกรรม ที่จังหวัดนราธิวาสและ จังหวัดยะลา. สืบค้นวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗. |
www.research.police.go.th สืบค้นวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙. |
๕. รายการวิทยุ/โทรทัศน์
สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายการ “นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน” คลื่น เอฟ.เอ็ม ๙๒.๕ วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘. |
สำนักข่าวไทย. วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๒. |
[1] วรศักดิ์ มหัธโนบล, “ไฟใต้ ๒๕๔๗” มติชน สุดสัปดาห์, ๖ – ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗, หน้า ๓๕.
[2] น.ส.พ. มติชน ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๗.
[3] จรัล มะลูลีม, “The Assassins (จบ)” มติชน สุดสัปดาห์, ๑๘- ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๗, หน้า ๓๖.
[4] นสพ.ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗.
[5] สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, รายการ “นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน”, คลื่น เอฟ.เอ็ม ๙๒.๕ วันเสาร์ที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๘ เวลา ๐๘.๐๐ น.
[6] ไพรัช มิ่งขวัญ, “เมื่อพระต้องพูด เสียงสะท้อนจากชายแดนใต้”, ใน ASTV ผู้จัดการออนไลน์, วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๔๘.
[7] www.goosiam.com., สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๐.
[8] มหาเถรสมาคม, “รายงานผลการจัดส่งพระสงฆ์อาสาสมัครไปปฏิบัติศาสนกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” , www.mahathera.org, สืบค้นเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๐.
[9] อ้างแล้ว, มหาเถรสมาคม, “รายงานผลการจัดส่งพระสงฆ์อาสาสมัครไปปฏิบัติศาสนกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” , www.mahathera.org.
[10] เรื่องเดียวกัน.
[11] มหาเถรสมาคม, การประชุมของมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๓/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗, เรื่อง “พระภิกษุ สามเณรถูกทำร้ายและฆาตกรรม ที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดยะลา.” www.mahathera.org/, สืบค้นเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗.
[12] สำนักข่าวไทย, วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๒.
[13] น.ส.พ. ข่าวสด, ฉบับวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘, “แถลงการณ์คณะสงฆ์ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้”.