พระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในนามผู้แทนคณะสงฆ์ไทย พร้อมคณะผู้บริหาร ได้เดินทางไปร่วมในพิธีฌาปนกิจศพพร้อมลงนามไว้อาลัย "Most Ven. Aggamahapanditha Udugama Sri Buddharakkitha Rathanapala Mahanayake Thero พระอูดูกามา ศรีพุทธรักขิตา มหานายะกะ เถโร" อายุ ๘๕ ปี (17 March 1930-08 April 2015) พระสังฆนายกฝ่ายอรัญวาสี วัดอัสคิริยะ เมืองแคนดี้ ศรีลังกา ๑๔.๐๐ น. อาทิตย์ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๘ ที่สนาม Asgiriya เมืองแคนดี้ โดยมีพระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการฝ่ายกิจการต่างประเทศ, พระศรีธวัชเมธี รอง ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์ฯ, พระมหาสุเทพ สุปณฺฑิโต ผช.อธิการบดีฝ่ายตรวจสอบ, นายสมหมาย สุภาษิต รอง ผอ.สนง.บริหารฯ มจร ร่วมพิธี ซึ่งในพิธีดังกล่าวมีคณะสงฆ์ทุกนิกายพร้อมพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา เข้าร่วมในพิธีจำนวนมาก พร้อมกันนี้ ได้มีชาวพุทธนานาชาติ ได้ไปร่วมพิธี ซึ่งในพิธี ได้มีการกล่าวไว้อาลัย โดยพระมหาเถระชาวศรีลังกา
พระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้กล่าวไว้อาลัย ในนามตัวแทนของชาวพุทธนานาชาติทั่วโลกที่ไปร่วมงาน หลังจากที่พระพรหมบัณฑิต ได้กล่าวคำไว้อาลัยแล้ว ฯพณฯ ไมตรีพาลา สิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกา ได้เข้ากราบนมัสการ ซึ่งพระพรหมบัณฑิต ได้กล่าวเชิญประธานาธิบดีศรีลังกา เดินทางไปร่วมในพิธีเฉลิมฉลองวิสาขบูชาโลกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในปีนี้
พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร พบปะและสนทนากับ ฯพณฯ ไมตรีพาลา สิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกาที่มาเป็นประธานในพิธี
หลังจากนั้น พระพรหมบัณฑิต พร้อมคณะผู้บริหาร ได้เข้ากราบนมัสการพระทิพโบตุเววา ศรี สิทธัตถะ สุมังคละ มหานายกะ เถโร พระมหานายกะฝ่ายมัลวัตตะและอาราธนาเข้าร่วมงานวิสาขบูชาโลกที่ประเทศไทยในปลายเดือนพฤษภาคมปีนี้
เรียบง่าย!พิธีฌาปนกิจศพ‘สังฆราช’ศรีลังกา อธิการบดี‘มจร’ร่วมไว้อาลัย
ตามที่พระอูดูกามา ศรีพุทธรักขิตา มหานายะกะเถโร"Most Ven. Aggamahapanditha Udugama Sri Buddharakkitha Rathanapala Mahanayake Thero" พระสังฆนายก(พระสังฆราช)ฝ่ายอรัญวาสี วัดอัสคิริยะ เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ได้มรณภาพลงเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2558 ที่โรงพยาบาลMount Elizabeth ประเทศสิงคโปร์ สิริอายุ 85 ปี สร้างความอาลัยแก่ชาวพุทธศรีลังกาและชาวพุทธทั่วโลก โดยพระอูดูกามา ศรีพุทธรักขิตา มหานายะกะเถโรเกิดเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2473
ประเทศศรีลังกาได้จัดพิธีศพตามอริยะประเพณีและมีพิธีฌาปนกิจศพเมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา ในการนี้พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) พร้อมด้วยพระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการฝ่ายกิจการต่างประเทศ และคณะเดินทางไปร่วมไว้อาลัยและพิธีดังกล่าวด้วย
พระอูดูกามา ศรีพุทธรักขิตา มหานายะกะเถโรนั้นเป็นพระสงฆ์ในนิกายสยามวงศ์ซึ่งก่อตั้งโดยพระอุบาลีมหาเถระหัวหน้าพระธรรมทูตจากกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งเดินทางไปช่วยสืบทอดและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ เมืองแคนดี ประศรีลังกา เมื่อปี พ.ศ. 2396 จนปัจจุบัน นิกายสยามวงศ์เป็นพุทธเถรวาทนิกายที่สำคัญที่สุดในศรีลังกา และแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสี โดยพระมหานายกะทั้งสองฝ่ายได้รับมอบให้เป็นผู้ดูแลพระธาตุเขี้ยวแก้วที่เมืองแคนดี ร่วมกับไวยาวัจกรแห่งวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วซึ่งเป็นวัดที่สำคัญที่สุดของประเทศศรีลังกา
พระอูดูกามา ศรีพุทธรักขิตา มหานายะกะเถโรนั้นมีความสัมพันธ์อันดีกับกรรมการมหาเถรสมาคมและพระเถระในประเทศไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มจร เพราะได้ตั้งวัดอัสคิริยะเป็นเป็นสถาบันสมทบของ มจร ในประเทศศรีลังกาเปิดสอนในระดับปริญญาตรี และได้เดินทางมาประเทศไทยหลายครั้งในพิธีกรรมต่างๆ และครั้งสุดท้ายคราวพิธีประทานต้นพระศรีมหาโพธิ์และร่วมปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์จังหวัดตรังปี 2557
พระพรหมบัณฑิตกล่าวถึงประเทศศรีลังกาในโอกาสไปเยือนเพื่อร่วมฉลองเนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาเมื่อปี 2550 สมัยดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมโกศาจารย์ ความโดยสรุปว่า คณะสงฆ์ศรีลังกาในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 นิกายหลักคือ สยามนิกาย อมรปุรนิกายและรามัญญนิกาย แต่ละนิกายต่างมีประมุขสงฆ์สูงสุดเรียกว่าพระมหานายกปกครองตนเองนิกายใครนิกายมัน
ตำแหน่งพระมหานายกของศรีลังกานี้เทียบได้กับตำแหน่งสังฆนายกของไทยในสมัยที่ยังใช้ พ.ร.บ. คณะสงฆ์ 2484 ศรีลังกาเคยมีพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเพียงรูปเดียวคือพระสรณังกรแห่งสยามนิกาย ผู้เป็นศิษย์รูปแรกของพระอุบาลี ภายหลังที่เกิดอมรปุรนิกายขึ้นมา ตำแหน่งพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกก็ถูกยกเลิกไป คงเหลือแต่ตำแหน่งพระมหานายกมาจนถึงปัจจุบัน
ทุกวันนี้ สยามนิกายได้แบ่งออกเป็น 2 นิกายย่อย ได้แก่ มัลวัตตะ (Malwatta) และ อัสคิริยะ (Asgiriya) และมีพระมหานายก 2 รูป คือ พระมหานายกฝ่ายมัลวัตตะ และพระมหานายกฝ่าย อัสคิริยะ
พระโสภณวชิราภรณ์ได้เคยกล่าวถึงความร่วมมือทางการศึกษาระหว่าง มจร กับ ประเทศศรีลังกาว่า คณะสงฆ์ศรีลังกามีความเชี่ยวชาญด้านภาษาบาลีมาก จึงขอความร่วมมือในการร่วมกันศึกษาคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่มีการจารึกลงบนคัมภีร์ใบลานเป็นภาษาบาลี ส่วนทางคณะสงฆ์ไทยซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องกรรมฐานก็จะช่วยส่งเสริมในเรื่องกรรมฐาน พร้อกันนี้ทางประเทศไทยยังให้ทุนพระสงฆ์ศรีลังกามาศึกษาในประเทศไทยด้วย
ข้อมูล; สมหมาย สุภาษิต
ภาพ; บัญชา นารี
รายงาน; กองสื่อสารองค์กร และ คมชัดลึกอนนไลน์
|