ข่าวมหาวิทยาลัย |
อธิการบดี มจร แนะปฏิรูปสงฆ์-รัฐ แก้ด้วยธรรมาภิบาล | ||
วันที่ ๐๘/๐๕/๒๐๑๕ | เข้าชม : ๒๐๐๙ ครั้ง | |
มจร วังน้อย อยุธยา (7 พ.ค.58) พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "พระพุทธศาสนากับหลักธรรมาภิบาล" เนื่องในโอกาสการประสาทปริญญาบประจำปี 2558 ของมหาวิยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 พฤษภาคม พ.ศ.2558 นี้ที่ มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งในปีนี้ มีจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี-โท-เอก ทั้งส่วนกลาง วิทยาเขตและสถาบันสมทบทั้งในและต่างประเทศ และจะเข้ารับประทานปริญญาบัตร จากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จำนวน 5,242 รูป/คน ในวันที่ 9-10 พฤษภาคมนี้ ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากที่สุดและมหาวิทยาลัย ยังคงรักษาอัตลักษณ์ไว้คืออัตราเฉลี่ยระหว่างพระสงฆ์และคฤหัสถ์ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัย จำนวน 70/30 % โดยวันที่ 7 พฤษภาคมได้มีการประชุมสัมมนาทางวิชาการขึ้นในภาคเช้า “การบริหารราชการแผ่นดินจะเป็นธรรมาภิบาลหรือไม่นั้นต้องดูองค์ประกอบ 2 ประการคือ ระบบและปัจเจกชน หากระบบดีจะสร้างปัจเจกชนให้ดีได้ แต่ปัจเจกชนไม่ดีก็จะมีการแก้ไขระบบให้เอื้อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง ปัจจุบันนี้ประเทศไทยระบบอ่อนแอแต่ปัจเจกชนเข้มแข็งดังนั้นทั้ง 2 องค์ประกอบนี้ต้องเอื้อกัน และหลักธรรมาภิบาลนี้ต้องมีทุกระดับตั้งแต่ผู้สั่งและผู้ปฏิบัติ องค์การสหประชาชาติได้กำหนดหลักของธรรมาภิบาลไว้ 8 ข้อคือ การมีส่วนร่วม รับผิดชอบ โปร่งใส ปกครองด้วยกฎหาย มุ่งความเห็นร่วมกัน ต้องตอบคำถามชี้แจงได้ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้วางระบบสงฆ์ไว้โดยให้สงฆ์เป็นใหญ่ หากใครเข้ามาต้องทำตามระบบสงฆ์แสดงให้เห็นว่าพระพุทธเจ้ายึดหลักการมีส่วนร่วม พร้อมกันนี้พระพุทธเจ้ามีความเป็นกลางทางการเมือง ซึ่งการเป็นกลางทางการเมืองหรือ"มัชฌิมา"นี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เมื่อสังคมบ้านเมืองมีการแบ่งสีแล้วพระเป็นกลางจะอยู่ตรงไหน ดังนั้นจึงต้องดูพุทธลีลาบ้างว่าพระองค์อยู่ตรงไหน ดูอย่างกรณีที่วัสการพราหมณ์เข้าไปถามเกี่ยวกับยุทธวิธีที่จะยึดแคว้นวัชชีพระพุทธเจ้าไม่ตอบ แต่หันไปถามพระอานนท์ว่าตอนนี้ชาวแคว้นวัชชีได้ปฏิบัติตามหลักอะไร พระอานนท์ตอบว่ายึดหลักอปริหานียธรรมอยู่ ซึ่งพระองค์ตรัสว่าหากชาวแคว้นวัชชียังยึดหลักอปริหานียธรรมอยู่แล้วก็มีแต่ ความเจริญไม่มีเสื่อม ทำให้วัสการพราหมณ์รู้นัย อย่างไรก็ตามแสดงว่าแคว้นวัชชีปกครองด้วยธรรมาภิบาล ความเป็นกลางทางการเมืองของพระสงฆ์อยู่ตรงนี้และเป็นประเพณีในประเทศไทยสืบ มา "
พระพรหมบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 109 กำหนดให้พระสงฆ์ไม่มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง เพราะพระสงฆ์ต้องเป็นกลางทางการเมือง แต่ที่ติดใจก็คือว่า ได้เขียนพระสงฆ์อยู่ในวรรคกับกลุ่มวิกลจริตทำให้แสลงใจ จึงได้เสนอความเห็นไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างว่าน่าจะเขียนเกี่ยวกับพระสงฆ์ อีกวรรคหนึ่งต่างหาก พร้อมกันนี้พระพุทธศาสนามีหลักของความโปร่งใสพร้อมให้มีการตรวจสอบนั้นก็คือ หลักการปวารณาคือยอมให้มีการตรวจสอบ อีกทั้งยังมีหลักในการพิจารณาคดีความคือหลักอธิกรณสมถะ 7 ประการเช่นการตัดสินด้วยองค์คณะพร้อมหน้ากัน การออกเสียงลงคะแนนเป็นต้น แต่ทั้งนี้ต้องตั้งอยู่บนความถูกต้องชอบธรรมหากเสียงไม่ถูกต้องก็ไม่ชื่อว่า เป็นการออกเสียงที่ดี” “การปฏิรูปบ้านเมือง รวมทั้งการปฏิรูปสงฆ์ที่หลายฝ่ายกำลังคาดหวังอยู่ขณะนี้ ต้องยึดหลัก “ธรรมาภิบาล” จึงจะนำสู่การเปลี่ยนแปลงและไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ปฏิรูปเพื่อให้เสื่อมหรือถดถอยลง หรือถอยหลังลงคลองย่ำแย่ยิงกว่าเดิม ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อให้บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเพราะ “ธรรมาภิบาล” พระพรหมบัณฑิต กล่าว
สมหมาย สุภาษิต/ข่าว ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่/ภาพ |
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||