ผู้ป่วยโรคเรื้อรังในสังคมไทยนับได้ว่ามีอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคยาวนานและค่อยๆ เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น เป็นความบกพร่อง หรือเบี่ยงเบนจากปกติที่มีลักษณะของการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร พยาธิสภาพที่เกิดขึ้นไม่สามารถกลับคือสู่ปกติ แนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ การใช้ยาในการรักษา การใช้แพทย์ทางเลือก และการควบคุมอาหาร และวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในสังคมไทย คือการพัฒนาระบบการให้การบริการ ส่งเสริมการดูแลตนเอง การพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ การส่งเสริมสุขบัญญัติในการดูแลตนเอง การจัดการปัญหาภาวะความซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ดังนั้นการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้จำเป็นจะต้องมีองค์ความรู้นอกจากการรู้ด้านการรักษาและบริการแล้ว การดูแลทางด้านจิตใจก็เป็นสิ่งสำคัญ
งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามหลักการแพทย์แผนปัจจุบันและสภาพปัญหาวิธีการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในสังคมไทย ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดและวิธีการดูแลผู้ป่วยตามหลักพระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการ โดยศึกษาแนวคิดและวิธีปฏิบัติดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา และการแพทย์แผนปัจจุบัน
พร้อมกันนี้ได้วิจัยเชิงทดลองและได้กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในศึกษาจากประชาชนที่มีอายุ ๑๘-๗๐ ปี ที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลมะการักษ์ จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน ๑๐๐ คนที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการบำบัดรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการ ประกอบด้วย ชุดธรรมปฏิบัติ ๓ ส ๓ อ ๑ น แบบชี้วัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกชุดย่อ ฉบับภาษาไทย (WHOQOL-BREF–THAI) และแบบประเมินสภาวะอารมณ์ เพื่อประเมินภาวะซึมเศร้า
จากผลการวิจัยสรุปได้ว่า แนวคิดและวิธีการดูแลผู้ป่วยตามหลักพระพุทธศาสนานั้น ได้ใช้การรักษามีวิธีการที่แตกต่างกันตามลักษณะต่างๆ มุ่งเน้นให้เกิดความสมดุลทางร่างกาย เช่น การรักษาโดยใช้ตัวยา การใช้ธรรมะในการรักษาโรค การรักษาอาการป่วยด้วยการปฏิบัติกรรมฐาน การควบคุมการรับประทานอาหาร หมั่นเดินออกกำลังกาย และหมั่นประพฤติธรรม ซึ่งหลักการเหล่านี้สามารถควบคุมโรคได้ และมีหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นคำสอนที่มุ่งประโยชน์โดยตรง สามารถนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น หลักอริยสัจ ๔ อธิษฐานธรรม ๔ โภชเนมัตตัญญุตา อิทธิบาท ๔ โยนิโสมนสิการ อปัณณกปฏิปทา เป็นต้น
และรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการ ประกอบด้วย C (Chanting) การสวดมนต์ M (Meditation) การปฏิบัติ สมาธิ D (Dhamma discussion) การสนทนาธรรม E (Eating) การรับประทานอาหาร E (Exercise) การออกกำลังกาย E (Emotional control) การควบคุมอารมณ์และ D (Daily life activity around the clock) การปฏิบัติตนตามวงรอบของชีวิตประจำวัน หรือ เรียกว่า “CMDEEED” ซึ่งรูปแบบการดูแลรักษาที่พัฒนาขึ้นนี้เป็นการบูรณาการเชิงพุทธร่วมกับวิธีการดูแลรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และจะมุ่งเน้นกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นหลัก และผลการนำรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการไปทดลองใช้ พบว่า ระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเรื้อรังของกลุ่มทดลองที่ได้รับการส่งเสริมสุขภาพด้วยรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการ พบว่า คุณภาพชีวิตโดยรวมมีค่าเฉลี่ยระดับคุณภาพชีวิตหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง และระดับความซึมเศร้าของกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเรื้อรังกลุ่มทดลอง หลังการทดลองมีค่าเฉลี่ยของภาวะความซึมเศร้าลดล
ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้พัฒนารูปแบบใหม่หรือองค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นวิธีการเชิงพุทธผสมกับการแพทย์ปัจจุบัน ในกระบวนการป้องกันการเกิดโรค กระบวนการในการเยียวยา และกระบวนการในการแก้ไขเมื่อเกิดโรค คือ “CMDEEED” สามารถสรุปนำเสนอรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการได้ดังนี้
๑. C (Chanting) การสวดมนต์บูรณาการกับการดูแลรักษาในทางการแพทย์ เช่น บทสวดมนต์เช้า-เย็น บทสวดพระคาถาชินบัญชร บทสวดโพชฌังคปริตร เป็นต้น หลังจากสวดมนต์ไปได้ระยะเวลาหนึ่ง จิตใจจะเงียบสงบลง ซึ่งเป็นจุดประสงค์ของการเจริญสมาธินั่นเอง ช่วยปลดปล่อยความเครียดและช่วยพัฒนาการใช้ชีวิตให้เป็นปกติส่งผลให้สุขภาพดีขึ้นด้วย
๒. M (Meditation) การปฏิบัติสมาธิ บูรณาการกับการดูแลรักษาในทางการแพทย์ การเจริญสมาธิ ทำให้จิตสงบ ใจสบายคลายทุกข์ หนักแน่น มั่นคง อารมณ์แจ่มใส นอนหลับสบาย ความจำดี ทำงานมีประสิทธิภาพ มีผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ว่า การเจริญสมาธิต่อเนื่องช่วยให้ปรับสมดุลของร่างกายและสารเคมีในร่างกายสร้างสารสุขและภูมิคุ้มกันโรค สามารถสร้างสุขภาพและบำบัดโรคให้หายหรือทุเลาได้หลายชนิด
๓. D (Dhamma discussion) การสนทนาธรรมบูรณาการกับการดูแลรักษาในทางการแพทย์ การสนทนาธรรมเป็นการเรียนรู้ธรรมะที่เกื้อกูลต่อการสร้างสุขภาพ ป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพแล้วนำมาปฏิบัติควบคู่กับการปฏิบัติตามหลักการแพทย์และการสาธารณสุขด้วย โดยปรึกษาหรือซักถาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้มีความรู้ด้านพุทธธรรม และหรือด้านการแพทย์และการสาธารณสุข หรือผู้ทรงคุณวุฒิอื่นๆ
๔. E (Eating) การรับประทานอาหารบูรณาการกับการดูแลรักษาในทางการแพทย์ การรับประทานอาหารให้ครบ ๕ หมู่ ตามหลักโภชนาการในปริมาณพอประมาณ คือ การรู้จักประมาณในการบริโภคเพื่อหล่อเลี้ยง ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ให้ร่างกายเป็นปกติสุขพอเพียง มิใช่รับประทานตามความอยาก หรือความอร่อยเท่านั้น
๕. E (Exercise) การออกกำลังกาย บูรณาการกับการดูแลรักษาในทางการแพทย์ การออกกำลังกายรูปแบบต่างๆ เช่น การเดิน การวิ่ง ยืด เหยียดกล้ามเนื้อ เดินจงกรมและอื่นๆ เป็นเวลาครั้งละ ๓๐ นาที สัปดาห์ละอย่างน้อย ๓ ครั้ง ตามแนวทางที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
๖. E (Emotional control) การควบคุมอารมณ์บูรณาการกับการดูแลรักษาในทางการแพทย์ การควบคุมและปล่อยวางจิตใจ ไม่ยึดมั่นถือมั่นโดยไม่มีเหตุผล การยึดหลักทางสายกลางตามหลักพุทธธรรมการรู้จัก คลายเครียด เมื่อมีสิ่งกระทบให้เกิดอารมณ์ โดยใช้สติสัมปชัญญะและเจริญสมาธิสม่ำเสมอ
๗. D (Daily life activity around the clock) การปฏิบัติตนตามวงรอบของชีวิต ประจำวัน บูรณาการกับการดูแลรักษาในทางการแพทย์ ทำกิจวัตรประจำวัน ด้วย ๓ ส ๓ อ ผสมผสานการเรียนรู้ การอาชีพและการสังสรรค์จนเป็นนิสัย มีวินัยประจำตนอย่างมีดลุยภาพกับการทำงานของอวัยวะสำคัญของร่างกายทำให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์และยั่งยืน โดยมีกิจวัตรประจำวันหมุนเวียนกันไปตามนาฬิกาชีวิต
ข้อเสนอแนะในการนำผลวิจัยไปใช้
๑) จากผลการวิจัยพบว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ได้รับการส่งเสริมสุขภาพด้วยรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการ มีระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้น ควรขยายผลรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการ “CMDEEED” ในการบำบัดในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือโรคอื่นๆ
๒) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยควรพิจารณานำรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการนี้ไปปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาสุขภาพแบบองค์รวมมีความครอบคลุมในทุกมิติทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ ปัญญาหรือจิตวิญญาณ และสังคม
๓) ในระดับครอบครัวที่มีสมาชิกของครอบครัวป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ศึกษาและนำกระบวนการของรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเชิงพุทธบูรณาการ “CMDEEED” ไปปรับใช้เพื่อการดูแลเกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
ที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20150922/213880.html
ขอบคุณ : ภาพ/ข่าว คม ชัด ลึก