ข่าวมหาวิทยาลัย |
เปิดมุมมอง 'พระนิสิตต่างชาติ' ที่มีต่อมหาจุฬาฯ | ||
วันที่ ๑๘/๐๓/๒๐๑๗ | เข้าชม : ๑๔๗๘ ครั้ง | |
เปิดมุมมอง 'พระนิสิตต่างชาติ' ที่มีต่อมหาจุฬาฯ การที่ได้เรียนมหาจุฬาฯ ส่งผลดีต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาก เพราะได้เรียนวิชากัมมฐาน อันเป็นวิชาที่ชาวโลกสนใจอยู่ตอนนี้ ได้เรียนรู้หลักการใช้ภาษาบาลี และที่สำคัญได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาแบบเถรวาท...
ผมในฐานะศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หลายปีมานี้เฝ้ามองความก้าวหน้าของ มหาจุฬา ฯ ด้วยความภาคภูมิใจ ที่ผู้บริหารร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาให้มีความเจริญก้าวหน้าไปมาก จากข้อมูลที่ผมมีอยู่ ณ ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ มีวิทยาเขตทั่วประเทศ 11 แห่ง วิทยาลัยสงฆ์อีก 16 แห่ง ห้องเรียน 3 แห่ง หน่วยวิทยบริการ 14 แห่ง และสถาบันสมทบในต่างประเทศอีก 7 แห่ง
มีพระนิสิตทั้งที่เป็นทั้งพระภิกษุและฆราวาสหลายหมื่นคน โดยเฉพาะ “พระนิสิตต่างชาติ” ตอนนี้นิยมมาเรียนที่มหาจุฬาฯ กันมาก สอบถามจากเจ้าหน้าที่กองวิเทศน์สัมพันธ์ ที่ดูแล “พระนิสิตต่างชาติ” โดยตรงท่านให้ข้อมูลว่า...
“ปีนี้มหาจุฬา มีนิสิตต่างชาติทั้งพระและฆราวาสทั้งหมด 1,468 รูป /คน จาก 17 ประเทศ ทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกา หรือแม้กระทั้งรัฐเซีย มีนิสิตต่างชาติเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นรองแค่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือเอแบคเท่านั้น และปีหน้าคาดว่าอาจจะขึ้นครองเป็นอันดับหนึ่ง เพราะตอนนี้พระสงฆ์ในประเทศเพื่อนบ้านนิยมมาเรียนกันมาก”
ได้มีโอกาสคุยกับ “พระนิสิตต่างชาติ” 2-3 รูป ถึงเหตุผลว่าทำไมจึงมาเรียนที่มหาจุฬาฯ และเมื่อจบกลับไปแล้วจะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดอย่างไร?
พระอชินปุปพะหงษา จากคณะสงฆ์รามัญนิกาย ประเทศเมียนมาร์ ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ปีที่ 3 คณะสังคมศาสตร์ เอกรัฐศาสตร์ ท่านให้เหตุผลว่า เนื่องจาก ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาโลก ต้องการศึกษารูปแบบการปกครอง รูปแบบการบริหารจัดการการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยไปพัฒนาคณะสงฆ์ในรามัญนิกาย และที่สำคัญในอดีตคณะสงฆ์ไทยและคณะสงฆ์รามัญนิกายก็มีความสัมพันธ์ที่ดีแบบพี่น้อง มีการพึ่งพาซึ่งกันและกัน และประเด็นสุดท้าย คือ ประเทศไทย มีการเป็นอยู่ที่สมบูรณ์ ไม่ลำบากด้านที่พักอาศัยและอาหารการฉัน
“อาตมาเป็นเจ้าอาวาส 2 วัดในเขตรัฐมอญ วัดหนึ่งเปิดเป็นสำนักเรียนบาลี มีพระเณรประมาณ 100 รูป อีกวัดเป็นวัดบ้านเกิด เหตุผลที่มาเรียนเมืองไทย เพราะต้องการเอาความรู้จากมหาจุฬาฯ กลับไปพัฒนาคณะสงฆ์รามัญนิกาย ปัจจุบันคณะสงฆ์มอญในพม่ากระจัดกระจายอยู่ใน 3 นิกาย”
คือ คณะสุธัมมานิกาย ซึ่งเป็นคณะที่ใหญ่ที่สุด เมื่อประมาณปี 2524 คณะสงฆ์มอญขอแยกตัวออกมาตั้งเป็น “คณะสงฆ์รามัญนิกาย” ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10,000 รูป มีวัดประมาณ 800 วัด คณะที่สองชื่อ “มหายินนิกาย” มีพระมอญอยู่ประมาณ 500 รูป คณะสงฆ์มหายินของมอญนี้ มีวัตรปฎิบัติเหมือนกับคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายของประเทศไทย และคณะสงฆ์สุดท้ายที่มีพระสงฆ์มอญไปสังกัด คือ “คณะสงฆ์ซวยจินนิกาย” เป็นคณะสงฆ์เล็กๆ มีพระมอญอยู่ประมาณ 300-400 รูป คณะสงฆ์มหายินนี้ มีวัตรปฎิบัติเหมือนคณะสงฆ์พม่า
“ในอนาคตหากเป็นไปได้วันหนึ่งพวกเราก็ต้องพยายามให้รวมเป็นหนึ่งให้ได้...”
ส่วนอีกท่านเป็น พระภิกษุณี ชื่อ Nguyen Thi Hai Uyen เป็นภิกษุณีนิกายมหายาน จากประเทศเวียดนาม ปัจจุบันเป็นนิสิตระดับปริญญาโท สาขาพระพุทธศาสนา ท่านเล่าว่า ที่ประเทศเวียดนามเปิดสอนแค่ระดับปริญญาตรี จึงต้องเดินทางมาเรียนนที่มหาจุฬาฯ เพราะที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษระดับปริญญาโท ที่ประเทศเวียดนามไม่มีการสอน
“การที่ได้เรียนมหาจุฬาฯ ส่งผลดีต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาก เพราะได้เรียนวิชากัมมฐาน อันเป็นวิชาที่ชาวโลกสนใจอยู่ตอนนี้ ได้เรียนรู้หลักการใช้ภาษาบาลี และที่สำคัญได้เรียนรู้พระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ชีวิตหลังจากจบจากมหาจุฬาฯ จะเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ประเทศออสเตรเลีย...”
ปัจจุบันประเทศเวียดนาม มีพระภิกษุณีมากกว่าพระภิกษุ กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ และอนาคตพระภิกษุณีจะเป็นฐานสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ส่วน ประเทศไทย เรากลุ่มสิทธิสตรีหลายกลุ่มก็พยายามดิ้นรนเพื่อให้มีภิกษุณีให้ครบตามพุทธบริษัทสี่ ในการรักษาปกป้องพระพุทธศาสนา ก็ไม่รู้ว่า “ทำไมบวชไม่ได้” เพราะถ้าอ้างว่า “ขาดสูญ” แล้วทำไมหลายประเทศที่นับถือพุทธแบบเถรวาทมีได้...
ส่วนรูปสุดท้ายเป็นพระไทใหญ่ ชื่อ พระสิริวรรณะ สิริวณฺโณ จากรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่กองวิเทศสัมพันธ์ และกำลังเรียนอยู่ในระดับปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์ด้วย
“ปัจจุบันพระสงฆ์ไทใหญ่มาเรียนที่มหาจุฬาฯ มีประมาณ 100 รูป มหาจุฬาฯ กับรัฐฉาน โดยเฉพาะกับพระไทใหญ่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และตอนนี้ที่รัฐฉานเราก็กำลังก่อสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ นำโดย พระอาจารย์ ดร.คำหมาย ธัมมะสมิ เพราะท่านเชื่อว่าการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ต้องเริ่มจากการพัฒนาคนก่อน”
คณะสงฆ์ไทใหญ่เดียวนี้นิยมมาเรียนที่มหาจุฬาฯ กันมาก เพราะทั้งการเดินทาง ทั้งการเป็นอยู่ การใช้ภาษา ไม่ลำบาก ญาติโยมที่เมืองไทยทั้งที่เป็นชาวไทใหญ่และคนไทยก็ดูแลอุปถัมภ์ดี หลังจากอาตมาจบแล้ว จะนำความรู้ที่ได้ จากมหาจุฬาฯ กลับไปพัฒนาคณะสงฆ์และประชาชนในรัฐฉาน
ทั้งหมด คือ “มุมมองของพระนิสิตนานาชาติ” ที่มาเรียน ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะศิษย์เก่าหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มหาจุฬา ฯ คงจะเป็นสถาบันระดับอุดมศึกษาในการสร้างคนให้มีคุณภาพ มีความรู้ สู้กับเขาได้ เมื่ออยู่ในเพศสมณะก็เป็นสมณะที่มีคุณภาพ เมื่อออกมาครองเรือนก็เป็นฆราวาสที่มีคุณภาพ
มีเรื่องขำๆ ตบท้ายว่า...ตอนผมจบ และสึกออกไปใหม่ๆ ไปทำงาน มีหัวหน้าคนหนึ่งถามผู้จัดการฝ่ายบุคคลว่า... “เอามหามาทำอะไร ทำงานสื่อ เขียนข่าว ไม่ใช่มาเขียนคำเทศน์นะ...”
แฮ่ะ...แฮ่ะ...คุณไม่รู้ว่าคุณสมบัติของความเป็น “มหา” อย่างผมนี่นะ ถูกสอนมาให้มีความอดทน และมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่สูงมาก และยิ่งจบจากมหาจุฬาฯ ด้วยแล้ว อุปมาอุปไมยเหมือนม้าอาชาไนยตัวเจริญที่ถูกฝึกมาดีแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น...
…...................................
คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง
โดย เปรียญ10 : riwpaalueng@gmail.com
ขอขอบคุณ : ภาพ/ข่าว จาก เดลินิวส์
|
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||