ข่าวประชาสัมพันธ์
พระมหากษัตริย์นักพัฒนา
31 พ.ค. 61 | ข่าวมหาวิทยาลัย
1701

ผู้นำชาวพุทธ 85 ประเทศ ร่วมประชุมวิสาขบูชาโลก สดุดี  "ในหลวง" รัชกาลที่ 9

พระพุทธศาสนากับการพัฒนามนุษย์

หัวข้อหลักในการจัด ประชุมผู้นำชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 15 ซึ่งประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจากผู้นำชาวพุทธทั่วโลกให้เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 25-26 พ.ค. ที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และในวันที่ 27 พ.ค. ที่ ศูนย์การประชุมองค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยมีสมเด็จพระสังฆราช ประธานสงฆ์ และผู้นำชาวพุทธจาก 85 ประเทศทั่วโลก รวมกว่า 3,000 รูป/คน เดินทางมาเข้าร่วมประชุมครั้งนี้อย่างยิ่งใหญ่



การประชุมในช่วงเช้าวันที่ 25 พ.ค. สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อมฺพโร) เสด็จเป็นประธานการประชุม และทรงฉายพระรูปร่วมกับผู้เข้าประชุมทั้งหมดด้วย จากนั้นในช่วงบ่าย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.บัณฑิต มลายอริศูนย์ เป็นผู้แทนพระองค์ เปิดการประการประชุม สร้างความปลื้มปีติให้กับผู้เข้าร่วมประชุมเป็นอย่างยิ่ง

และที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายเชอริ่ง ต๊อบเกย์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน มาแสดงปาฐกถา “คุณูปการพระพุทธศาสนาต่อการพัฒนามนุษย์” ต่อผู้เข้าร่วมประชุม ระบุชัดเจนถึงแนวทางในการนำหลักพระพุทธศาสนามาพัฒนาประเทศ

นายเชอริ่ง ต๊อบเกย์ กล่าวตอนหนึ่งว่า “ภูฏานได้ยึดหลักพระพุทธศาสนา รวมทั้งได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มาพัฒนาประเทศ อีกทั้งการบริหารประเทศจะเน้นนโยบายให้นำหลักธรรมะไปใช้ในการบริหารทุกระดับ จากการนำหลักพระพุทธศาสนามาเป็นประเด็นหลักในการบริหารประเทศ ส่งผลให้ความสุขมวลรวมของคนภูฏานอยู่ในอันดับต้นๆของโลกมาโดยตลอด”

ขณะที่ พระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะอธิการบดี มจร. ประธาน สภาสากลวันวิสาขบูชาโลก และประธานสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ บอกถึงหัวใจหลักของการประชุมในครั้งนี้ ว่า คณะกรรมการสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก มีมติร่วมกันกำหนดหัวข้อการประชุมเรื่อง พระพุทธศาสนากับการพัฒนามนุษย์ เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ได้รับการยกย่องในฐานะพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ในด้านการพัฒนามนุษย์ จากองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี 2549 โดยเฉพาะหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมะในพระพุทธศาสนา และประเด็นหลักในที่ประชุมครั้งนี้เน้นในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงเน้นไปที่การพัฒนามนุษย์ เมื่อมนุษย์มีคุณธรรม อยู่อย่างถูกต้อง ก็จะเกิดระบบการเมือง เศรษฐกิจ ที่ถูกต้อง ดีงาม สู่เป้าหมายของความสุข 4 ประการ คือ สุขจากการมีทรัพย์ สุขจากการจ่ายทรัพย์ สุขจากการไม่เป็นหนี้สิน และสุขจากการทำงานสุจริต ไม่คอร์รัปชัน เบียดเบียนกัน ซึ่งผู้นำชาวพุทธต่างเห็นตรงกันว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนามนุษย์และส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

นอกจากนี้เพื่อให้ผลของการประชุมนำไปสู่การปฏิบัติ ดังนั้นทุกครั้งของการจัดประชุมผู้นำชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก จะมีการประกาศปฏิญญาร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของผู้นำชาวพุทธในแต่ละประเทศ

ซึ่งในปีนี้ได้มีการออกประกาศ ปฏิญญากรุงเทพมหานคร การประชุมผู้นำชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2561 ดังนี้

1.พระพุทธศาสนามีความสอดคล้องกับพันธกิจที่จะให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติในปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ.2573) จึงจะร่วมกันเพื่อให้บรรลุข้อตกลงดังกล่าว

2.แสดงการขอบคุณต่อการจัดงานวันวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 14 ที่ประเทศศรีลังกา

3.ชื่นชมการตีพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสากล ฉบับภาษาอังกฤษ และฉบับภาษาไทยของ มจร.

4.แสดงความยินดีต่อข้อตกลงร่วมกับ มจร.ในการแปลพระไตรปิฎกฉบับสากลเป็นภาษาจีน ฮังการี อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น โปรตุเกส สเปน และเวียดนาม

5.รับทราบถึงความก้าวหน้าในการจัดทำสหบรรณานุกรมพระไตรปิฎกที่สามารถทำให้พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีของ มจร.เผยแพร่ทางออนไลน์ได้ พร้อมมีเป้าหมายที่จะเชื่อมโยงกับพระไตรปิฎกฉบับภาษาอื่นๆทางออนไลน์เช่นกัน

6.แสดงความชื่นชมอย่างยิ่งต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งประเทศไทย ซึ่งมีพื้นฐานมาจากมรรค 8

7. แสดงความขอบคุณต่อแนวคิดของความสุขประชาชาติมวลรวมของราชอาณาจักรภูฏาน

และ 8.ส่งเสริมการพัฒนามนุษย์ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างกันของการพัฒนาภายในและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้ผู้นำทางศาสนาและชุมชนให้มีพันธสัญญาต่อกัน ใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบ สร้างชุมชนให้มีความกรุณาต่อกัน มีเมตตาร่วมกัน ตัดวงจรของความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนผ่านการศึกษาทางพุทธศาสนา ปรับหลักการของพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับสังคมให้เข้ากับปัญหาทางสังคมในปัจจุบัน และรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมในโลกที่เชื่อมต่อกัน

จากการที่ “ทีมข่าวศาสนา” ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมผู้นำชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 15 ตลอดช่วง 3 วัน พบว่า ผู้นำชาวพุทธทั้ง 85 ประเทศ ต่างเห็นพ้องตรงกันว่า หลักพระพุทธศาสนามีส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

แต่การที่จะไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่แท้จริงได้นั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่การพัฒนามนุษย์ ที่จะต้องได้รับการปลูกฝังในเรื่องคุณธรรมตั้งแต่วัยเด็ก

เพราะเมื่อมนุษย์มีคุณธรรมเป็นรากฐานในจิตใจแล้ว ไม่ว่าจะเข้าสู่ระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ย่อมส่งผลให้เกิดการพัฒนาในทุกระบบที่ยั่งยืนอย่างแน่นอน.

ทีมข่าวศาสนา

อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/1293642



แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ

แสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ทำบุญปีใหม่ มจร 2568 จับฉลากล ลุ้นรางวัล
    15 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    59
  • พิธีถวายพระพรชัยมงคลและเจริญพระพุทธมนต์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่ากับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช ๒๕๖๘
    15 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    55
  • "อ.เบียร์ คนตื่นธรรม" ข้ากราบสักการะ "พระเทพวัชรสารบัณฑิต" ปมเปรียบพระเกจิกับสุนัข
    11 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    125
  • พิธีอัญเชิญปัจจัยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 8 มกราคม โดย นายกิติภัค เกษรสิริธร ผู้แทนพระองค์
    08 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    131
  • "อาจารย์ ม.สงฆ์ มจร" นำสัมมนานานาชาติ เสริมพลังพุทธศาสนาและวรรณกรรมเพื่อความเท่าเทียม
    07 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    107