เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน 2561 ณ ห้องประชุม 401 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศาสตราจารย์ คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษเรื่อง "ทิศทางกระทรวงการอุดมศึกษากับการพัฒนาบัณฑิตไทยในอนาคต" ในการประชุมสามัญสภาคณะผู้บริหารบัณฑิตศึกษาแห่งประเทศไทย (สคบท) ครั้งที่ 2/2561 ระหว่าง 14-15 มิ.ย.2561 ซึ่งจัดโดยบัณฑิตวิทยาลัย มจร ภายใต้การนำของพระราชปริยัติกวี รักษาการรองอธิการบดี มจร
นพ.อุดม คชินทร กล่าวว่า การอุดมศึกษามีความสำคัญและถือเป็นหัวจักรในการพัฒนาประเทศ ซึ่งการปฏิรูปอุดมศึกษาโดยจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ แยกออกจากกระทรวงศึกษาธิการ ขณะนี้มีความก้าวหน้าไปมาก โดยมีหลักการสำคัญคือ เป็นกระทรวงที่มีขนาดเล็ก มีความคล่องตัวบนฐานความรับผิดชอบ ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทำงานได้ตามความถนัดเชี่ยวชาญ ผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ พร้อมเชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะลำพังเพียงกระทรวงศึกษาธิการเพียงกระทรวงเดียว คงทำให้สำเร็จได้ยาก รวมทั้งเชื่อมโยงกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตลอดจนเชื่อมโยงสู่ภาคประชาสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย
ดังนั้น การที่จะปฏิรูปอุดมศึกษา ให้สามารถผลิตกำลังคนที่มีศักยภาพไปขับเคลื่อนการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ ต้องสร้างกำลังคนระดับบัณฑิตศึกษาที่เข้มแข็งเสียก่อน จากนั้นจึงเสริมแรงด้วยงานวิจัยมุ่งเป้าหมาย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคม ที่จะเป็นการยกระดับองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ ลดการนำเข้า และทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง
ในส่วนของบัณฑิตศึกษา มีบทบาทสำคัญด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำประเทศไปสู่ THAILAND 4.0 เปรียบเสมือน "หัวใจ" ของบัณฑิตศึกษาที่จะต้องสร้างงานวิจัยเพื่อพัฒนา และนำองค์ความรู้มาปรับใช้ในการสอนให้กับนักศึกษา ที่จะเป็นการเสริมสร้างกำลังคนยุค 4.0 รองรับความท้าทายของโลกยุคดิจิทัล ที่ความต้องการของตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป และมีจุดเน้นระบบเศรษฐกิจฐานความรู้เป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันเพื่อจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติเพื่อเป็น World Class University มีส่วนสำคัญต่อการเลือกเรียนต่อของผู้เรียนยุคใหม่ มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับตัวให้ทัน เพราะหากไม่ปรับตัว ผู้เรียนก็ลดลงและอาจถูกปิดตัวไปในที่สุด เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในหลายประเทศ
โดยมหาวิทยาลัยต้องพัฒนาหลักสูตรโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้มีความรอบรู้ทางวิชาการ มีคุณธรรมจริยธรรม มีความเป็นพลเมืองดี สร้างนวัตกรรมใหม่ และสื่อสารด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และสื่อต่าง ๆ ได้ โดยเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ทั้งในและนอกห้องเรียน นอกโรงเรียน และเรียนนอกระบบ พร้อมเติมเต็มทักษะที่จำเป็นแก่ผู้เรียนเฉพาะบุคคล ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้บทบาทของครูอาจารย์เปลี่ยนไป เป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้และอำนวยความสะดวก คอยชี้แนะในการเรียนรู้จากการปฏิบัติ พร้อมผลักดันให้ผู้เรียนมีแรงบันดาลใจและแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงตนเอง
สำหรับมหาวิทยาลัย ผู้บริหารต้องปรับ Mindset และทำความเข้าใจถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อค้นหาตัวตนหรือจุดแข็งเพื่อสร้างความแตกต่าง สร้างงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ ตลอดจนสร้างผู้ประกอบการที่เกิดจากการเรียนจากการทำงาน
อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของกระทรวงและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตามโครงสร้างกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ ใหม่นั้น ขอยืนยันว่าทุกฝ่ายต้องปรับ Mindset และทำความเข้าใจถึงบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อการปรับตัวได้อย่างเท่าทัน สิ่งสำคัญคือ เมื่อมหาวิทยาลัยเกิดการปรับตัวและมีจุดเน้นที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ก็จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งถือว่าปัจจุบันให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการอุดมศึกษามากขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมายการยกระดับ GDP ของประเทศ และการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก
............
(หมายเหตุที่มา http://www.moe.go.th/websm/2018/2/188.html)
ที่มา : https://siampongsnews.blogspot.com/2018/06/blog-post_93.html
ขอขอบคุณ : ภาพ/ข่าว เว็บไซต์ข่าว siampongsnews