ข่าวมหาวิทยาลัย |
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับ ยูเนสโกจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคเพื่อฟื้นฟูพุทธศิลป์ | ||
วันที่ ๒๑/๑๑/๒๐๐๗ | เข้าชม : ๑๓๖๔๓ ครั้ง | |
วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ร่วมกับองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (องค์การยูเนสโก) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการประเมินผล โครงการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมในพุทธศาสนสถานโดยคณะสงฆ์ Cultural Survival and Revival in the Buddhist Sangha Project ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา โดยมีเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลให้ศิลปวัฒนธรรมเสื่อมสลาย พุทธศิลป์โดยเฉพาะพระพุทธรูปเก่าแก่ในหลายๆ ประเทศที่ถูกทำลายลงไปอย่างน่าเสียดายโดยไม่มีกระบวนการหรือวิธีการดูแลปกป้อง ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความเจริญงอกงามทางด้านจิตใจโดยมีศิลปวัตถุเป็นสื่อ การที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและองค์การยูเนสโก ได้ริเริ่มฟื้นฟูและอนุรักษ์พุทธศิลป์จึงเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมสนับสนุนและจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ จากนั้น พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวต้อนรับว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูพุทธศิลป์เป็นอย่างสูง โดยจัดให้มีหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีสาขาวิชาพุทธศิลปกรรมโดยเฉพาะ เป้าหมายที่สำคัญคือ การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนานั้นมิใช่เน้นเฉพาะในด้านกายภาพภายนอกเท่านั้น แต่ให้ฟื้นฟูคติธรรมในศาสนวัตถุเพื่อให้เกิดคุณค่าทางด้านจิตใจอีกด้วย เมื่อมรดกวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูแล้วจะเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่ามิใช่เฉพาะของชาวพุทธประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่หมายถึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาวโลกทั้งปวง การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยภาคภูมิใจและพร้อมจะร่วมมือกับยูเนสโกเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้ที่ยั่งยืนต่อไป ดร.ริชาร์ด เองเกิลอาร์ด ที่ปรึกษาระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ทางด้านวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก กล่าวว่า องค์การยูเนสโกเป็นหน่วยงานหลักขององค์การสหประชาชาติที่มีพันธกิจในการสนับสนุนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ทั้งเชิงที่จำต้องได้และจับต้องไม่ได้ (Tangible and Intangible Heritage)ตลอดจนดูแลรักษาความหลากหลายวัฒนธรรม(Cultural Diversity) ของมวลมนุษยชาติ ทั้งนี้ เพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมเชิงพุทธ เพื่อศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้ และนำองค์ความรู้นั้นๆ มาสู่การฝึกปฏิบัติที่แท้จริงและเพื่อนำองค์ความรู้ต่างๆ มาแบ่งปัน และสืบสานให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบทอดต่อไปซึ่งโครงการฯ ได้แบ่งออกเป็นสองระยะ ระยะหนึ่งโครงการได้เริ่มต้นที่ประเทศลาว ซึ่งได้มีการรี้อฟื้นการหล่อพระพุทธรูปสัมฤธิ์แบบโบราณที่มีเทคนิคอันซับซ้อนและกำลังจะสูญหายให้กลับคืนมา และมีการศึกษาอย่างเป็นระบบระยะที่สองได้มีการขยายโครงการไปสู่ประเทศต่างในแถบภูมิภาคเอเชยและแปซิฟิค เช่น ประเทศไทย กัมพูชา จีน อินเดีย ศรีลังกา มองโกเลีย เนปาล ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมทั้งนิกายเถรวาท และวัชรญาณนอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ของประเทศไทย จัดทำหลักสูตรการอนุรักษ์เชิงป้องกัน (Preventative Conservation) เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ซึ่งใกล้ชิดกับมรดกทางวัฒนธรรม และอีกทั้งยังเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในวัดอยู่แล้ว ได้มีความรู้ที่ถูกต้องในการบูรณปฏิสังขรณ์ด้วยหลักวิชาการที่ถูกต้อง และเข้าใจถึงขั้นตอนวิธีการของพุทธศิลป์แบบดั้งเดิม |
ไฟล์แนบ : Thai_Draft programme overview.doc | ||
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||