เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.30 น. ที่หอประชุมสิริภักดีธรรม วัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร แขวงกัลยา เขตธนบุรี กรุงเทพฯ พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก เมตตาเป็นประธาน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานร่วม และนายสิทธา มูลหงส์ ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้ร่วมในการแถลงข่าวการจัดงานวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 18 เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” (Buddhist Wisdom Coping with Global Crises) โดยได้รับเมตตาจาก พระโสภณวชิรวาที ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร พระครูวิลาศกาญจนธรรม รองเจ้าคณะอำเภอทองผาภูมิ เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน พระครูปลัดปัญญาวรวัฒน์, ศ.ดร. ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ เจ้าอาวาสวัดใหม่ (ยายแป้น) ร่วมในงาน และภาคีเครือข่ายสื่อมวลชน ร่วมรับฟังแถลงข่าว
พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติได้ให้การรับรองวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2542 เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวิสาขบูชานานาชาติร่วมกันของชาวพุทธทั้ง 3 นิกายใหญ่ คือ เถรวาท มหายาน และวัชรยานแบบทิเบต เพื่อให้คนทั้งโลกได้ร่วมกันเฉลิมฉลองวิสาขบูชา ไม่ว่าจะเป็นผู้นับถือศาสนิกใด และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวพุทธทั่วโลกจึงได้ร่วมกันจัดงานวิสาขบูชาโลก ที่องค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ตั้งแต่ปี 2543 โดยมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Vesak หรือภาษาไทยเรียกว่า วิสาขะ โดยคณะกรรมการสมาคมสภาสากลวิสาขบูชาโลก จึงได้มีฉันทามติร่วมกันให้ประเทศไทยโดยมีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล และมหาเถรสมาคม เป็นเจ้าภาพในการจัดพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 18 เรื่อง “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” (Buddhist Wisdom Coping with Global Crises) เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2566 ในระหว่างวันที่ 1 - 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต.ลำไทร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร และ พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยได้รับเกียรติจากประมุขสงฆ์ต่างประเทศ อาทิ พระสังฆราชบัวคลี่แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ประธานสงฆ์สาธารณรัฐประชาชาจีน มหานายาตะประมุขสงฆ์สยามนิกายแห่งศรีลังกา และผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนกว่า 3,500 รูป/คน จาก 55 ประเทศ
“ในวันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน 2566 เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก จะเสด็จไปเป็นประธานในกิจกรรม ณ อาคารหอประชุม มวก. 48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และจะทรงร่วมรับฟังการปาฐกถาพิเศษ “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” (Buddhist Wisdom Coping with Global Crises) โดย นายดิเนช คุณวาระเดนะ (H.E. Dinesh Gunawardena) นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และภาคบ่าย เป็นการสัมมนา 3 หัวข้อหลัก คือ 1. “พุทธปัญญาเพื่อการบรรลุสันติภาพโลก” (Buddhist Wisdom to Achieve World Peace) 2. “พุทธปัญญากับการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ” (Buddhist Advice to Cope with Climate Change) และ 3. “พุทธคุณูปการกับการพัฒนาทางสังคมและมนุษยธรรมหลังจากโรคโควิด” (Buddhist Contribution to Further Social and Humanitarian Development after Covid Pandemic) จากนั้นในวันที่ 2 มิถุนายน 2566 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ เป็นประธานเปิดงานพิธีเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ 18 ประจำปี 2566 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร และภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิด จะเป็นการประกาศปฏิญญากรุเทพมหานคร 2023/2566 โดย พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. ประธานสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก นอกจากนี้ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 จะมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” (Buddhist Wisdom Coping with Global Crises) ณ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย อ.ศาลายา จ.นครปฐม และในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 จะมีการบรรยายเรื่องเดียวกัน ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา” พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กราบขอบพระคุณท่านเจ้าคุณพระพรหมบัณฑิต เมตตาให้กระทรวงมหาดไทยมีส่วนสำคัญในการที่จะร่วมขับเคลื่อนงานอันเป็นงานที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งกับสังคมไทยและสังคมโลก คือ งานวันวิสาขบูชาโลก อันสอดคล้องกับวันวิสาขบูชาของชาวพุทธทุกคน ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยมีภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน ดูแลรักษาความมั่นคงภายในประเทศ โดยปัจจัยสำคัญที่หนุนเสริมเติมเต็มให้งานของกระทรวงมหาดไทยสำเร็จได้มาโดยตลอดนั้น พระพุทธศาสนาและทุกศาสนาถือเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งพระพุทธศาสนาเป็นศูนย์กลางการหลอมรวมพลังของทุกศาสนาในประเทศทำให้เกิด “สันติภาพของโลก” และทำให้คนในสังคม ในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี มีจิตใจเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นปฐมบททำให้ครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศไทย และนานาชาติเป็นสังคมที่มีความสุข ไม่เบียดเบียนกัน ดังนั้น ในวาระพิเศษ คือ วันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ “วันวิสาขบูชา” จึงเป็นวาระพิเศษ เป็นวันสำคัญยิ่งที่ชาวพุทธและคนไทยทั้งมวล
“กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานวันสำคัญทางพระพุทธศาสนามาอย่างเสมอต้นเสมอปลายในทุกโอกาส ทั้งวันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน พิธีทอดผ้าป่า และด้วยพระเมตตาของเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดมีพระบัญชาแต่งตั้งให้ตนในฐานะปลัดกระทรวงมหาดไทยคนที่ 41 ได้ดำรงตำแหน่งไวยาวัจกร ฝ่ายบริหารงานสาธารณสงเคราะห์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม อันเป็นมิ่งมงคลต่อตนและชาวกระทรวงมหาดไทยในการร่วมถวายงานและสนองงานคณะสงฆ์ผู้เป็นหลักชัยของสังคมไทย นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงขับเคลื่อนโครงการบ้าน วัด ประชา รัฐ สร้างสุข มุ่งสร้างสรรค์ทำให้พื้นที่ของบ้าน วัด และพื้นที่สาธารณะในชุมชนให้เป็นพื้นที่ที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของงานสัปดาห์วิสาขบูชาโลก คือ การส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยังได้รับเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานกรรมการฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ของมหาเถรสมาคม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน เพื่อให้พระสงฆ์ได้เมตตานำฝ่ายบ้านเมือง คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ สร้างความผาสุก สร้างความเกื้อกูลทำให้สังคมไทยมีความสุข อันเป็นการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดสิ่งที่ดีงามกับแผ่นดินไทย” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาหรือสัปดาห์วิสาขบูชาโลก ประจำปี 2566 นี้ กระทรวงมหาดไทยจะได้ร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ที่มีอยู่ทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ รวมถึงกรุงเทพมหานคร จะได้ร่วมกันเชิญชวนและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ เสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วมของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ รวมถึงศาสนิกชนอื่น ๆ ได้ร่วมกิจกรรม ได้แก่ 1) เชิญชวนส่วนราชการ ห้าง ร้าน มูลนิธิ สมาคม บริษัทเอกชน ตลอดจนพี่น้องประชาชนทุกครัวเรือน ร่วมกันประดับธงชาติและธงธรรมจักร อันเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญเพื่อสร้างบรรยากาศที่คึกคักของสัปดาห์วันวิสาขบูชาโลกทั่วประเทศ และเป็นสัญลักษณ์ว่าพวกเราคนไทยมีความเป็นสิริมงคลในห้วงของการเฉลิมฉลองจัดงานสัปดาห์วิสาขบูชาโลก 2) ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นผู้นำการบูรณาการทุกภาคส่วน นำพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ร่วมกันทำบุญใส่บาตรและประกอบกิจกรรมที่เป็นสรรพสิริมงคล เช่น การไถ่ชีวิตโค กระบือ ปล่อยปลา ปล่อยนก ปล่อยเต่า ปลูกต้นไม้ ปลูกป่า และกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มพูนขึ้นตามภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะให้เราได้ดำเนินการที่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติบูชาให้เพิ่มพูนมากขึ้น นอกเหนือจากการประดับธงที่ถือเป็นอามิสบูชา 3) ทุกจังหวัดและทุกอำเภอเชิญชวนเด็ก เยาวชน และพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ร่วมประกาศตนเป็นพุทธมามกะต่อคณะสงฆ์ เพื่อเป็นเครื่องระลึกเตือนใจว่าเราเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธและจะปฏิบัติตามหลักธรรมะหลักธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ ในส่วนที่เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในด้านการพิจารณาอนุญาตที่เกี่ยวข้อง โดยห้ามมีการอนุญาตจัดให้มีการเล่นการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนันทั้งปวงตลอดสัปดาห์วิสาขบูชาโลก และสำหรับในวันวิสาขบูชา ต้องตรวจตราไม่ให้มีการจำหน่ายสุรายามึนเมาแอลกอฮอล์ และขอความร่วมมืองดให้บริการสถานบริการในวันวิสาขบูชา เพื่อลดโอกาสคนจะไปมึนเมาทำผิดศีลธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และเนื่องในโอกาสอันเป็นอุดมมงคลฤกษ์วันวิสาขบูชาในปีนี้ กระทรวงมหาดไทยจะได้ใช้เป็นนิมิตหมายอันดี เชิญชวนผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ช่วยกันขยายผลเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราชบพิตร ที่กระทรวงมหาดไทยได้รับเมตตาจากคณะสงฆ์เป็นหลักชัยขับเคลื่อนจนประสบผลสำเร็จเป็นบริบูรณ์ในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดนครนายก อันเป็นแนวทางที่สำคัญที่ทำให้คนไทยอยู่รอด คนไทยไม่เป็นหนี้เป็นสิน สามารถช่วยเหลือพึ่งพากันในครัวเรือน ในชุมชน และช่วยเหลือชุมชนอื่น ๆ ทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
“เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชาและการจัดงานวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 18 เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” (Buddhist Wisdom Coping with Global Crises)” ขอเชิญชวนพี่น้องพุทธศาสนิกชนคนไทยทั่วประเทศ ได้ร่วมกันน้อมรำลึกถึงหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รักษาศีล ปฏิบัติสิ่งที่ดีงาม เข้าวัด ทำบุญตักบาตร บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ร่วมกับสมาชิกในครอบครัว ชุมชน และสังคม ตลอดสัปดาห์วันวิสาขบูชา 1 – 7 มิถุนายน 2566 โดยพร้อมเพรียงกัน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย