วันที่ 17 เม.ย.2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการประชุม โดยได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามร่างความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับฮังการี เกี่ยวกับการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในฮังการี โดยร่วมมือกับวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกท (AGREEMENT BETWEEN THE KINGDOM OF THAILAND AND HUNGARY ON THE FUNCTIONING OF THE MAHACHULALONGKORNRAJAVIDYALAYA UNIVERSITY IN HUNGARY IN COOPERATION WITH THE DHARMA GATE BUDDHIST COLLEGE)
ทั้งนี้ หากก่อนลงนามมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างความตกลงฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ ให้ ศธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ แทนคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติและมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นผู้ลงนามในร่างความตกลงฯ 3. มอบหมายให้ กต. จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามตามข้อ 2 4. มอบหมายให้ กต. จัดทำหนังสือแจ้งฝ่ายฮังการี เป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางการทูต เพื่อดำเนินการให้ร่างความตกลงฯ มีผลผูกพัน
สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ เป็นการรับรองและสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในฮังการีโดยร่วมมือกับวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกทในสาขาพระพุทธศาสนศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เช่น ภาคีคู่สัญญาให้ความมั่นใจว่าจะสนับสนุนการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยจุฬาภรณราชวิทยาลัยในฮังการี โดยร่วมมือกับวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกทในสาขาวิชาพุทธศาสนาศึกษา และจะให้การยอมรับซึ่งกันและกัน ซึ่งประกาศนียบัตรที่ออกให้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงคุณวุฒิทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาและคุณวุฒิทางวิชาชีพ การรับรองว่ามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ดำเนินงานอยู่ในราชอาณาจักรไทย และการคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกันจากการดำเนินงานและเจตนารมณ์ของภาคีคู่สัญญาในการสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งเพิ่มเติม ซึ่งความร่วมมือทางวิชาการในสาขาพุทธศาสนาศึกษา โดยระบุองค์กรหลักที่รับผิดชอบในการดำเนินงานตามความตกลงนี้ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงศักยภาพมนุษย์ของฮังการี
อย่างไรก็ตามตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.เป็นต้นมา พระมหาสมบูรณ์ วุฒิกโร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ได้เดินทางไปที่วิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกท ประเทศฮังการี เพื่อทำหน้าที่เป็นอาจารย์แลกเปลี่ยนด้วยพันธสัญญา โดยได้เปิดเผยว่า วันแรกเป็นการแนะนำตัวและวันที่ 2 เป็นการเรียนการสอนวิชาอภิธรรมตามแนวคัมภีร์บาลีของฝ่ายเถรวาท มีนักศึกษาสนใจเข้าเรียน 6 คน โดยรวมนักศึกษามีพื้นฐานความเข้าใจในอภิธรรมค่อนข้างดีและลึก จึงง่ายในการสอนและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ประเด็นของวันนี้เป็นเรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับอภิธรรม เช่น ความหมายของอภิธรรม กำเนิดและพัฒนาการของอภิธรรม ข้อถกเถียงเรื่องที่ว่าอภิธรรมเป็นพุทธพจน์หรือไม่ ภาษาของอภิธรรม วิธีการนำเสนอความจริงแบบอภิธรรม (แบบวิเคราะห์/analysis และแบบสังเคราะห์/synthesis) ประโยชน์ของเรียนอภิธรรม วัตถุประสงค์ทางปฏิบัติของอภิธรรม ขอบเขตเนื้อหาของอภิธรรม (subject matter)
"ผมพยามแนะนำนักศึกษาว่า ในการเรียนอภิธรรมนั้น เราต้องไม่คิดว่าอภิธรรมเป็นสิ่งอื่นที่แปลกแยกจากชีวิตของ การศึกษาอภิธรรมก็คือการศึกษาชีวิตของเราหรือขันธ์ 5 ของเรานั่นเอง เพราะอภิธรรมเอาชีวิตของมนุษย์เป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษา อภิธรรมจริงๆ อยู่ในชีวิตเรา ไม่ใช่อยู่ในคัมภีร์ เป้าหมายสุดท้ายของอภิธรรมเป็นเช่นเดียวกับเป้าหมายของการปฏิบัติวิปัสสนานั่นเอง ต่างตรงที่อย่างแรกมุ่งเข้าถึงความจริงในเชิงทฤษฎี อย่างหลังมุ่งเข้าถึงในทางปฏิบัติ จากนั้นได้ชวนนิสิตถกเกี่ยวกับความจริงหรือสัจจะ 2 อย่างตามแนวอภิธรรม คือ สมมติสัจ กับ ปรมัตถสัจ โดยเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ชีวิตประจำวันของเรา เช่น ภาษาและระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สังคมมนุษย์สร้างขึ้นและยอมรับร่วมกัน กับความจริงในตัวมันเองที่ไม่เกี่ยวกับการสร้างของสังคมมนุษย์" คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ระบุ