เมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๓ : ณ สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.๙,Ph.D.) ศาสตราจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัย ส่วนราชการ องค์กร ที่เกี่ยวข้องการจัดงานวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลสหประชาชาติ ประจำปี ๒๕๕๓ โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายกนก แสนประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานพุทธมณฑล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, นายพัลลภ ไทยอารี ประธานองค์การพุทธิกสัมพันธ์แห่งโลก, นายทวีพร ตัณสถิตย์ ประธานเตรียมงานวิสาขบูชา ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ในพระสังฆราชูปถัมภ์, นายถาวร เจริญผล นายกยุวพุทธิกสมาคมแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์, ผู้แทน UNCC , ผู้แทนองค์กรชาวพุทธนิกายเรียวยูไก(ITRI) เจ้าภาพร่วม ผู้บริหารระดับสูงจากมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย และส่วนงานที่เกี่ยวเข้าประชุมอย่างพร้อมเพรียง
พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวว่า "เนื่องจากสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเห็นว่า การจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาที่ผ่านๆ มา ประสบกับปัญหาอันเนื่องจากขาดการประสานงานและการเตียมงานที่เหมาะสม จึงได้มีหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ขอให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายก่อนการจัดงาน เพื่อชักซ้อมความเข้าใจให้ถูกต้องตรงกัน และมอบหมายผู้รับผิดชอบในแต่ละภารกิจให้ชัดเจน เช่น การขออนุมัติลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งลงนามโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี, การวางแผนการจัดกิจกรรมของส่วนงานต่างๆ ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด,การบริหารจัดการด้านงบประมาณ, การจัดตารางเชิญชวนประชาชนร่วมงาน, การทูลเชิญฯเสด็จ, การถ่ายทอดสดกิจกรรมต่างๆ ให้ มีความสอดคล้องกัน "
ดร.พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า "การเตรียมงานในส่วนกิจกรรมสัมมนาวิชาการนานาชาติ ประจำปี ๒๕๕๓ ได้กำหนดจัดในวันที่ ๒๓-๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ วันที่ ๑ และ ๒ พิธีเปิดและการประชุมสัมมนาทางวิชาการ จัด ณ หอประชุม มวก.๔๘ พรรษามหาวชิราลงกรณ์ มจร วังน้อย อยุธยา,โดยในวันที่ ๒๕ จะเป็นพิธีปิดและเวียนเทียน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติและพุทธมณฑล กรุงเทพมหานคร ผู้เข้าร่วมประชุม ๓,๐๐๐ คน หัวข้อในการประชุมสัมมนา เรื่อง "การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก ตามทัศนะชาวพุทธ" ประกอบด้วยกลุ่มประชุม ๘ กลุ่ม
กลุ่มที่ ๑ : การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยการพัฒนาทางจิตใจ
กลุ่มที่ ๒ : การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยการศึกษาเชิงพุทธ
กลุ่มที่ ๓ : การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยการร่วมกันอย่างสันติ
กลุ่มที่ ๔ : การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยนิเวศวิทยาเชิงพุทธ
กลุ่มที่ ๕ : การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม
กลุ่มที่ ๖ : สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ (ประชุมเชิงปฏิบัติการ)
กลุ่มที่ ๗ : พระไตรปิฎกฉบับสากล (ประชุมเชิงปฏิบัติการ)
กลุ่มที่ ๘ : การจัดทำรายการตำราทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน (ประชุมเชิงปฏิบัติการ)
(ดูกำหนดการได้ที่ไฟล์แนบ)
พระธรรมโกศาจารย์เปิดเผยว่า "ในวาระเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ๕ ธ.ค. ๒๕๕๓ จะมีการอัญเชิญคัมภีร์พระพุทธศาสนาโบราณ อายุกว่า ๒,๐๐๐ ปี จากสถาบันอนุรักษ์สเคอเยน ประเทศนอร์เวย์ มายังประเทศไทย ในช่วงงานวันวิสาขบูชาประจำปี ๒๕๕๓ เพื่อจัดแสดงให้พุทธศาสนิกชนได้เข้าชม โดยมหาเถรสมาคมได้มอบหมายพระธรรมสิทธินายก ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ เป็นผู้แทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ และหารือกับ ศ.ดร.เยน โบรกวิก กรรมการกองโบราณคดีและอักษรศาสตร์แห่งนอร์เวย์ ในการอัญเชิญคัมภีร์โบราณดังกล่าว และเมื่อเร็ว ๆ นี้ทาง ศ.ดร.เยน โบรกวิก ได้ทำหนังสือแจ้งมาว่า สถาบันอนุรักษ์สเคอเยน อนุญาตให้อัญเชิญพระคัมภีร์มายังประเทศไทยได้เป็นเวลา 65 วัน นับตั้งแต่วันวิสาขบูชาเป็นต้นไป
"พระไตรปิฎกโบราณนี้ค้นพบในถ้ำหุบเขาบามียัน ประเทศอัฟกานิสถาน ก่อนที่จะถูกทำลายลง ซึ่งนักโบราณคดีและภาษาศาสตร์ใช้เวลาร่วม ๑๒ ปี ทำการชำระคัมภีร์ และสันนิษฐานว่าเป็นผลงานของพระอรหันต์ที่ได้จารึกพระธรรมวินัยเป็นตัวอักษรสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากนิษฐกะ บรรจุในไห เป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่มีอายุมากที่สุด มีการถอดเป็นภาษาโรมัน แปลเป็นภาษาอีกหลายภาษา โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์หนังสือประวัติความเป็นมาเพื่อเผยแผ่ในการดังกล่าวด้วย โดยส่วนตัวสนใจเรื่องนี้เป็นอย่างมากและเคยเห็นภาพนี้นานแล้ว แต่ยังไม่เคยเห็นฉบับจริง ถือเป็นการค้นพบคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่มีอายุมากที่สุด โดยจะขอให้นำมาแสดงให้ประมุขสงฆ์ นักปราชญ์ นักวิชาการ และพุทธศาสนิกชนได้ชม ณ อาคารพิพิธภัณฑ์พระไตรปิฎก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ ๒๒-๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ และจะทำพิธีแห่ไปที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ" พระธรรมโกศาจารย์กล่าว
ด้านนายกนก แสนประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกล่าวว่า "สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะนำพระไตรปิฏกไปประดิษฐานแสดง ณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งจะได้ประสานงานเพื่อดำเนินการต่อไป"
สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ คือ การเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินการจัดกิจกรรมนานาชาติ, คณะกรรมการดำเนินการจัดงานฯ ในส่วนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ,คณะกรรมการดำเนินการจัดงานฯ ในส่วนกรรมการ ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการดำเนินการจัดกิจกรรมในส่วนภูมิภาค ซึ่งทำหน้าที่จัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี ๒๕๕๓ ให้ทุกฝ่ายจัดทำรายชื่อและส่งที่ ดร.พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส โดยด่วน เพื่อเสนอ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีลงนามต่อไป
ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานประงานประชุมวิสาขบูชานานาชาติ (IABU) มจร วังน้อย โทร ๐๓๕-๒๔๘-๐๙๘ ถึง ๙, ๐๓๕-๒๔๘-๐๐๐
ข่าวโดย พระมหาศรีทนต์ สมจาโร ผู้อำนวยการส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
|