คมชัดลึก : ปิดฉากอย่างสงบสุข ท่ามกลางบรรยากาศวิกฤติเกิดบ้านเมืองสับสนวุ่นวายในการชุมนุม สำหรับการประชุมสัมมนาชาวพุทธนานาชาติ ภายใต้หัวข้อ “การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์โลก ตามทัศนะชาวพุทธ” ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๕ พฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ได้ร่วมกับประเทศญี่ปุ่นจัดงาน "วันวิสาขบูชาโลก ปี ๒๕๕๓" โดยมีประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ด้านศาสนา คณะสงฆ์ และผู้แทนจากองค์กรพุทธทั่วโลกกว่า ๕,๐๐๐ รูปต่อคน จาก ๘๓ ประเทศ
"ที่ประชุมยังมีมติให้เสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกันให้หนักแน่นยิ่งขึ้น ในหมู่ชาวพุทธทุกนิกาย ทุกองค์กร ปัจเจกบุคคล และลัทธิความเชื่อทางศาสนาอื่นๆ รวมทั้งประชาคมทั่วไป โดยอาศัยการสนทนาแลกเปลี่ยนกันสม่ำเสมอ ที่ประชุมมีมติให้เผยแผ่หลักธรรมเรื่องสันติภาพ ซึ่งมีคำสอนเรื่องปัญญาและกรุณาของพระพุทธเจ้าเป็นพื้นฐาน หลังจากได้สำรวจหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา เพื่อช่วยแก้ไขและฟื้นฟูวิกฤติการณ์ของโลก" นี่คือบทสรุปของการประชุมจากพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม ในชาวพุทธนานาชาติครั้งที่ ๗ นี้ ที่ประชุมได้มีมติออกปฏิญญากรุงเทพฯ ๑๑ ข้อ ประกอบด้วย
๑.ย้ำถึงผลกระทบของวิกฤติการณ์ด้านการเงินและเศรษฐกิจโลกว่า เกิดจากการกระทำของมนุษย์ มีต่อกระทบต่อทุกชุมชนและทุกชาติ และการที่ภาวะทางจิตใจของมนุษย์มีอิทธิพลต่อการทำกรรม และกรรมของมนุษย์ก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเน้นความพยายามที่จะฟื้นฟูศีลธรรมในจิตใจของมนุษย์ โดยอาศัยกฎธรรมชาติของการอยู่ร่วมกัน ที่จะช่วยให้การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลกเป็นไปอย่างยั่งยืน
๒.เพื่อให้ชาวพุทธมีส่วนช่วยให้โลกฟื้นจากวิกฤติการณ์ จึงขอสนับสนุนประชาคมโลกให้รู้จักการศึกษาแบบมนุษยนิยม เพื่อที่ส่งเสริมศักดิ์ศรี ของความเป็นมนุษย์ สร้างความมั่นคง และเอกภาพทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยให้ลดปัญหาที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นเอง ขอเรียกร้องให้ผู้นำทางศาสนาและผู้นำทางการเมืองทั่วโลก จัดให้มีการเจรจาพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด และการกระทบกระทั่ง ระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
๓.พิจารณาเห็นว่า ทุกๆ วิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ เริ่มมาจากวิกฤติการณ์เล็กๆ ขยายตัวใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ ถ้าเราสามารถเข้าใจสาเหตุที่ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์นั้น แล้วพัฒนากระบวนการแก้ปัญหาอย่างสันติ ที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งทางสายกลาง ในการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูจากวิกฤติการณ์ ที่อาศัยการสื่อสารอย่างอดทน การเข้ามามีส่วนร่วม และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
๔.ส่งเสริมสุขภาวะทางด้านจิตใจและอารมณ์ และการพัฒนาทางด้านจิตใจของมวลมนุษยชาติ โดยอาศัยหลักจริยธรรมทางด้านศีลธรรม การปฏิบัติกรรมฐาน การประเมินผลตนเอง การตระหนักรู้จักตนเอง และสัมมาทิฐิ รวมทั้งย้ำให้เห็นว่าภาวะของจิตใจที่เห็นแก่ตัวเป็นอันตรายต่อสังคม และให้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง
๕.ใช้เรื่องพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมในสาขาต่างๆ ตามหลักธรรมคำสอนเป็นเครื่องมือช่วยบรรเทาผลกระทบของวิกฤติการณ์ทางด้านเศรษฐกิจโลก ทั้งในระดับบุคคลและระดับชุมชน
๖.ส่งเสริมการตระหนักรู้ความเชื่อมโยงกันระหว่างพระพุทธศาสนา นิเวศวิทยา และทัศนคติที่ดีต่อธรรมชาติ อีกทั้งมีการลงนามสร้างเครื่องข่าย “พุทธนิเวศ”
๗.ลงนามจัดสร้างพุทธอุทยานโลก โดยใช้กองทุนพุทธอุทยานโลกที่ จ.ปราจีนบุรี ประเทศไทย เพื่อพัฒนาศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกต่อไป ดังที่นานาชาติได้เคยลงนามไว้เมื่อปี ๒๕๔๘ ณ พุทธมณฑล จ.นครปฐม ประเทศไทย
๘.ดำเนินการส่งเสริมให้สาธารณชนในวงกว้าง ให้เข้าใจหลักธรรมทางพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น โดยเรียบเรียงและเผยแผ่พระไตรปิฎกฉบับสากล ที่จะสะท้อนถึงหลักคำสอนที่มีคุณค่าของพระพุทธศาสนา ในนิกายเถรวาท มหายาน และวัชรยาน รวมทั้งสนองตอบความต้องการของสังคมในสมัยปัจจุบัน
๙.ดำเนินการสนับสนุนโครงการอิเล็กโทรนิกส์ที่กำลังจัดทำอยู่ จัดสร้างบัญชีร่วมกันของตำราทางพระพุทธศาสนา ที่ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจาก ๒๓ มหาวิทยาลัย และห้องสมุด จาก ๑๖ ชาติ ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนา ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งกำหนดให้มีขึ้นในเดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๓
๑๐.จัดงานประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ครั้งที่ ๒ ในเดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ ภายใต้หัวข้อใหญ่เรื่อง พุทธปรัชญาและการประยุกต์ใช้ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ
๑๑.จัดงานวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี ๒๕๕๔ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร และพุทธมณฑล จ.นครปฐม ประเทศไทย เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ณ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓
พุทธอุทยานโลก
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้ขึ้นมาประกาศเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งนั่นคือ พันธกิจของรัฐบาลไทยในการดำเนินการจัดสร้าง “สวนพุทธธรรมโลก” ที่เขาอีโต้ จ.ปราจีนบุรี จำนวน ๑๓,๕๐๐๐ ไร่ เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มาใช้ประโยชน์ สมกับที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาโลก เนื่องจากสถานที่ ณ พุทธมณฑล ไม่เพียงพอต่อการรองรับการจัดงาน
สวนพุทธธรรมโลก จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๓ ส่วน ประกอบด้วย ๑.สถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประสูติ และตรัสรู้ ๒. เขตสังฆาวาส เชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทุกนิกายมาร่วมใช้พื้นที่และสร้างโบสถ์วิหารตามนิกายของแต่ละประเทศได้ และ ๓.เป็นศูนย์กลางแห่งพระรัตนตรัย หรือสวนแห่ง Palace of Triple Gem จะมีการสร้างห้องสมุดบรรจุหนังสือและคำสอนของทุกนิกาย เพราะทั้งหมดล้วนยึดในหลักธรรมเดียวกัน ให้เป็นศูนย์กลางแห่งพระรัตนตรัย ใช้เป็นที่ศึกษาและปฏิบัติธรรม
ในส่วนของการจัดทำพระไตรปิฎกสากล ซึ่งจะทำเป็น ๓ ภาษา ในเล่มเดียวกัน ความหนาประมาณ ๕๐๐ หน้า และคาดว่าจะสามารถจัดทำดราฟแรกขึ้นมาได้ใน พ.ศ.๒๕๕๔ โดยจะต้องใช้งบประมาณ ๕๐๐-๖๐๐
หนังสือพระไตรปิฎกสากลจะไม่ใช่แค่การผลิตหนังสือพุทธ แต่ต้องแตกต่างจากหนังสือที่มีอยู่แล้ว โดยขณะนี้มีการจัดทำส่วนที่เป็นประวัติของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว
"ที่ประชุมมีมติให้เผยแผ่หลักธรรมเรื่องสันติภาพ ซึ่งมีคำสอนเรื่องปัญญาและกรุณาของพระพุทธเจ้า เพื่อช่วยแก้ไขและฟื้นฟูวิกฤติการณ์ของโลก"
เรื่อง... "ไตรเทพ ไกรงู"
ภาพ... "ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มจร."
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 2 มิถุนายน 2553