ข่าวมหาวิทยาลัย |
ผู้บริหารมหาจุฬาร่วมประชุมคณะกรรมการสถาบันสมทบประเทศสิงค์โปร์ | ||
วันที่ ๑๙/๐๗/๒๐๑๐ | เข้าชม : ๗๕๓๗ ครั้ง | |
วันนี้ (๑๙ กรกฏาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๐ น.) คณะกรรมการสถาบันสมทบวิทยาลัยพระพุทธศาสนาสิงค์โปร์ (Buddhist College of Singapore) ในส่วนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วยพระศรีคัมภีรญาณ,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ, พระศรีธวัชเมธี, พระครูปลัดเถรานุวัตร, พระครูพิพิธสุตาทร, ศ.ดร.จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ กรรมการ และพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,ผศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กรรมการและเลขานุการ ได้เดินทางไปประชุมคณะกรรมการสมทบ ณ ประเทศสิงค์โปร์ตามการมอบหมายของพระธรรมโกศาจารย์,ศ.ดร. อธิการบดี
จากซ้ายไปขวา: พระศรีธวัชเมธี, พระครูปลัดเถรานุวัตร, พระศรีคัมภีรญาณ, พระซิก ซาง ซิง, พระครูพิพิธสุตาทร, พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, และศ.ดร.จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ ส่วนคณะกรรมการสถาบันสมทบในส่วนของวิทยาลัยพระพุทธศาสนาสิงค์โปร์ประกอบด้วย ท่านซิก กวาง เชง (Sik Kwang Sheng) อธิการบดี, ดร.ซิก ชาง ชิง (Sik Chang Qing) รองอธิการบดี และคณบดีฝ่ายวิชาการ, ท่านซิก ชวน ฮัว (Sik Chuan Hou) รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร, ท่าน ผศ. ซิก หยวน หลัว (Sik Yuan Liu) นายโก๊ะ ยี ชิน เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส และ นายโจเซน โลว เจ้าหน้าที่ธุรการ การประชุมร่วมครั้งนี้ เป็นการประชุมประจำปีซึ่งสถาบันสมทบแห่งนี้ได้นิมนต์ และเชิญคณะกรรมการในส่วนของมหาจุฬาฯ มาปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถาบันสมทบให้เป็นสอดคล้องกับแนวทางของการจัดการจัดศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดหลักสูตรปริญญาตรีสาขาพระพุทธศาสนาภาษาจีน ซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นปีที่ ๓ ก่อนเข้าสู่การประชุมอย่างเป็นทางการ ท่านซิก กวาง เชง (Sik Kwang Sheng) อธิการบดีวิทยาลัยพระพุทธศาสนาสิงค์โปร์ ได้กล่าวว่า "ขอขอบคุณพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ที่ได้เมตตาให้การสนับสนุนมาด้วยดี ทั้งในแง่ของการอนุมัติหลักสูตร และการสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับการบริหารการจัดการสถาบันสมทบ พร้อมกันนี้ ขอขอบคุณคณะผู้บริหารจากมหาจุฬาฯ ซึ่งนำโดยพระศรีคัมภีรญาณ,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ที่ได้เสียสละเวลา และให้เกียรติเดินทางมาร่วมประชุมสถาบันสมทบประจำปี ๒๕๕๓ วันนี้" ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า "ในการคณะทำงานของสถาบันสมทบมีปัญหาและอุปสรรคบ้าง เพราะเพิ่งเปิดดำเนินการมาได้ประมาณ ๓ ปี ฉะนั้น หวังว่าผู้บริหารของมหาจุฬาฯ ซึ่งมีประสบการณ์ด้านนี้จะสามารถให้คำแนะนำ และช่วยพัฒนาสถาบันสมทบให้เดินไปสู่จุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของพระสงฆ์อันจะส่งผลต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโอกาสต่อไป" พระศรีคัมภีรญาณ,รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการได้กล่าวตอบว่า "ในนามของพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี รู้สึกดีใจที่ได้เห็นความก้าวหน้าในการบริหารจัดการศึกษาของสถาบันสมทบ และกำลังจะมีนิสิตรุ่นแรกที่กำลังจะจบการศึกษา และนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญที่จะทำให้หลักสูตรพระพุทธศาสนาจีนนั้น ได้ขยายตัวในประเทศสิงค์โปร์ และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้และความเข้าใจของพระสงฆ์ซึ่งเป็นศาสนทายาทรุ่นใหม่ และจะส่งผลต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาจีนให้แก่ประชาชนที่กำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ต่างๆ ให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขในสถานการณ์ปัจจุบัน" อนึ่ง ปัจจุบันนี้ วิทยาสงฆ์พระพุทธศาสนาสิงค์โปร์มีนิสิตจำนวนทั้งสิ้น ๑๒๕ รูป ส่วนใหญ่จะเป็นนิสิตนานาชาติ เช่น จีน เวียดนาม กัมพูชา และไต้หวัน วิทยาลัยแห่งนี้เข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาจุฬาฯ เมื่อปี ๒๕๕๑ ได้เปิดหลักสูตรพระพุทธศาสนาจีน และกำลังจะมีนิสิตจบการศึกษารุ่นแรกในปีหน้าจำนวน ๙ รูป การจัดการศึกษาจะอยู่ในรูปแบบ "ให้เปล่า" โดยการสนับสนุนทุน และงบประมาณจากท่านซิก กวาง เชง (Sik Kwang Seng) อธิการบดี และเจ้าอาวาสวัดก๊ก เมง ซัน วัดแห่งนี้เป็นวัดมหายานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศสิงค์โปร์ซึ่งมีชาวพุทธเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันเป็นประธานสมาคมพระพุทธศาสนาในประเทศสิงค์โปร์ด้วย ภายหลังการประชุม พระศรีคัมภีรญาณ, รศ.ดร. และพระครูปลัดเถรานุวัตรได้ร่วมกันมอบหนังสือ และพระพุทธรูปปางปฐมเทศนาซึ่งเป็นปางประจำมหาจุฬาฯ ให้แก่ท่านอธิการบดี
|
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||