ข่าวประชาสัมพันธ์
เยือนสิบสองปันนา
22 ก.ค. 53 | ข่าวมหาวิทยาลัย
802
ข่าวมหาวิทยาลัย
เยือนสิบสองปันนา
วันที่ ๒๒/๐๗/๒๐๑๐ เข้าชม : ๙๑๔๖ ครั้ง

เชิญติดตามชมสารคดี เยือนสิบสองปันนา

วันจันทร์ที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓ เวลา ๐๘.๐๕-๐๘.๓๐ น. ทาง สทท ๑๑

บทบรรยาย

       พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งสันติภาพ สงบ เป็นที่ยอมรับของชาวโลก ปรากฏดังที่องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของโลก ชาวพุทธทั่วโลกต่างจัดงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่โดยเฉพาะที่ประเทศไทย ที่มีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพหลักในนามรัฐบาลไทยและคณะสงฆ์ไทย ชาวพุทธทั่วโลก ต่างเดินทางมาร่วมโดยไม่คำนึงถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่กำลังปรากฏในประเทศไทย ด้วยอานุภาพแห่งความศรัทธาที่มีต่อคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

   ในประเทศภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ก็เป็นภูมิภาคที่มีพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาหลัก จึงเป็นจุดสำคัญต่อการเชื่อมสัมพันธไมตรีโดยมีพระพุทธศาสนาเป็นฐานแห่งการสานสัมพันธ์ทุกด้าน รวมทั้งดินแดนแห่งหนึ่งที่คณะสงฆ์ไทย ในส่วนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เชื่อมสัมพันธ์ทางการศึกษาพระพุทธศาสนากันมาอย่างยาวนาน คือ สิบสองปันนา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

 

        สิบสองปันนา เป็นดินแดนแห่งตำนานที่หลายคนใฝ่ฝันจะได้มีโอกาสเดินทางไปสัมผัส ซึ่งคณะจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เดินทางไปยังสิบสองปันนา ตามที่สำนักงานการค้ามณฑล สำนักงานท่องเที่ยวมณฑล ศาลากลางเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา และบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไฮ่เฉิน เชิญให้ไปร่วมจัดนิทรรศการ ทางการศึกษา งานแสดงสินค้าและการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 13 ณ เมืองเชียงรุ้ง เขตปก ครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 9-22 เมษายน 2553 ซึ่งคณะของเราได้เดินทางด้วยทางรถยนต์เริ่มจากการนั่งเรือข้ามฝั่งจากไทยด่านเชียงของมุ่งสู่ บ้านห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แล้วนั่งรถยนต์ตามเส้นทางหมายเลข อาร์ ๓ เอ มุ่งเข้าด่านตรวจคนเข้าเมืองที่บ่อเต็น-บ่อหาน เข้าสู่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

      ตลอดเส้นทางเราจะได้เห็นว่า ธรรมชาติยังคงความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะการทำสวนยางพาราของชาวจีน สถานที่แห่งแรกที่ได้เข้าไปสัมผัสวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ คือเมืองหล้า ซึ่งในอดีต เป็นที่หยุดพักของนักเดินทาง ก่อนที่จะต่อไปยังเชียงรุ้ง แต่ปัจจุบันเมืองหล้าแห่งนี้ กลายเป็นเพียงเส้นทางผ่าน น้อยนักที่จะมีใครหยุดพัก เนื่องจากการเดินทางไปยังเชียงรุ้งมีความสะดวกสบายกว่าเมื่อก่อน สิ่งที่ได้พบเห็นก็คือวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่กันอย่างเรียบง่าย แม้ในยามราตรีก็มีแต่ความเงียบสงบไม่มีความพลุกพล่านด้วยผู้คนและยานพาหนะ

เช้าวันรุ่งขึ้นคณะผู้มาเยือน ได้เดินทางต่อไปยังเชียงรุ้ง ระหว่างทางได้และเข้าไปที่หมู่บ้านกาหลั่นป้า ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการอนุรักษ์ให้คงสภาพไว้เหมือนเมื่อครั้งอดีต บ้านเรือนที่อยู่อาศัยมีลักษณะพิเศษ คือเสาจะไม่ฝังลงในดินวัดวาอารามมีลักษณะเช่นเดียวกับวัดที่อยู่ทางภาคเหนือของไทย จากนั้น ได้เดินทางมุ่งสู่เชียงรุ้ง เข้าไปไหว้พระที่วัดป่าเชต์ใหม่ ซึ่งรัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เพราะเห็นว่า พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีประวัติอันยาวนานควบคู่มากับสิบสองปันนา และยังกำหนดให้วัดแห่งนี้ เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาของสิบสองปันนาเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาเถรวาทต่อไปในอนาคต จะเห็นว่ารัฐบาลจีนมองการณ์ไกลและเห็นคุณค่าของพระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชนชาวไทลื้อแห่งนี้

            หลังจากนั้นได้เดินทางไปยังวัดป่าเชต์เก่า เข้ากราบนมัสการครูบาหลวงจอมเมือง ประธานวิทยาลัยพระพุทธศาสนา สิบสองปันนา สาขามณฑลยูนนานได้พบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นด้านความสัมพันธ์ทางการศึกษาพระพุทธศาสนาระหว่างไทยและจีน

        ความสัมพันธ์ด้านการศึกษาพระพุทธศาสนาระหว่างไทยและจีนมิได้เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรกแต่มีมาอย่างยาวนาน แต่ที่มีการสานสัมพันธ์กันอย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงแลกเปลี่ยนการศึกษาพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยา ลัย วิทยาเขตพะเยา ประเทศไทย กับวิทยาลัยพระพุทธศาสนา สิบสองปันนา สาขามณฑลยูนนาน เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๐  มีการแลกเปลี่ยนพระสงฆ์ ครู นักศึกษา เพื่อศึกษาด้านพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนา การบริหารและการจัดการทางการศึกษาทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน 

    จากนั้น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ได้จัดส่งพระนิสิต จำนวน ๙ รูป เดินทางมาปฏิบัติศาสนกิจ ณ วิทยาลัยพระพุทธศาสนา สิบสองปันนา สาขามณฑลยูนนาน ณ วัดป่าเชต์ เมืองเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เป็นเวลา ๖ เดือน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากงบพัฒนาของจังหวัดพะเยา

            ปีการศึกษา ๒๕๕๑ วิทยาลัยพระพุทธศาสนา สิบสองปันนา สาขามณฑลยูนนาน ได้ส่งพระภิกษุ จำนวน ๕ รูป เข้าศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา วิชาเอกพระพุทธศาสนา ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา และปีการศึกษา ๒๕๕๒ ได้จัดส่งพระภิกษุมาเรียนเพิ่มอีก ๑ รูป

     และเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๒ วิทยาเขตพะเยามีมติจัดตั้ง ศูนย์แลกเปลี่ยนพระนิสิต นักศึกษาในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารงานตามข้อตกลงดังกล่าวให้มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การเดินทางมาครั้งนี้ จึงเป็นนิมิตหมายอันดีในการสานสัมพันธ์การศึกษาทางพระพุทธศาสนาของไทยและจีนให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตามนโยบายของ  พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นอกจากนั้น ได้จัดนิทรรศการทางการศึกษา ประวัติของมหาวิทยาลัย ประวัติและผลงานทางวิชาการของอธิการบดี และการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายมากขึ้นได้แลกเปลี่ยนความรู้ด้านการศึกษาทางพระพุทธศาสนาระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา กับ วิทยาลัยพระพุทธศาสนา สิบสองปันนา สาขามณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และสร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของนักวิชาการในระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล และองค์ความรู้ด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

            แม่น้ำโขงถือเป็นสายเลือดเส้นใหญ่ของชนชาติ ๖ ประเทศ คือ จีน ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชาและไทย ซึ่งล้วนนับถือพระพุทธศาสนา  เมื่อทุกคนได้เดินทางเข้ามาสัมผัสกับบรรยากาศของสิบสองปันนา ก็ยิ่งทำให้หวนระลึกถึงความเป็นธรรมดาและธรรมชาติของดินแดนแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ เขียวขจีไปด้วยสวนยางพารากว้างใหญ่ไพศาล นอกจากนี้ ชาที่เลื่องชื่อระบือโลกก็คือชาปู่เอ๋อและเมื่อเข้าไปถึงหมู่บ้านกาหลั่นป้า ก็เห็นสวนกล้วยหอมสุดลูกหูลูกตา และเห็นการที่รัฐบาลจีน ลงทุนสร้างวัดให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า นี่คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของพระพุทธศาสนาในจีน

     เราชาวพุทธมาร่วมใจกันรักษาศีล ปฏิบัติธรรม เจริญจิตภาวนา เพื่อรำลึกถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสานสัมพันธ์คุณงามความดีให้คำสอนทางพระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ดังจะเห็นจากที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เชื่อมความสัมพันธ์ดินแดนที่มีพระพุทธศาสนาเป็นรากฐาน จะเป็นการสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนทางพระพุทธศาสนาช่วยให้สายใยแห่งความเป็นญาติระหว่างไทย-จีนให้คงอยู่ตลอดไป

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มจร


แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
Print This Page    Sent to Friend
แสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ทำบุญปีใหม่ มจร 2568 จับฉลากล ลุ้นรางวัล
    15 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    75
  • พิธีถวายพระพรชัยมงคลและเจริญพระพุทธมนต์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่ากับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช ๒๕๖๘
    15 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    72
  • "อ.เบียร์ คนตื่นธรรม" ข้ากราบสักการะ "พระเทพวัชรสารบัณฑิต" ปมเปรียบพระเกจิกับสุนัข
    11 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    131
  • พิธีอัญเชิญปัจจัยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 8 มกราคม โดย นายกิติภัค เกษรสิริธร ผู้แทนพระองค์
    08 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    140
  • "อาจารย์ ม.สงฆ์ มจร" นำสัมมนานานาชาติ เสริมพลังพุทธศาสนาและวรรณกรรมเพื่อความเท่าเทียม
    07 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    111