มหาจุฬาฯกับการมีส่วนร่วมในการทำยุทธศาสตร์ปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา

สภาพสังคมประเทศไทยในปัจจุบัน มีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เป็นต้น ทำให้ประชาชนมีการดำรงชีวิตที่ค่อนข้างฝืดเคือง ไม่สะดวกเท่าที่ควรจะเป็น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นให้ดีขึ้น

พระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาจะไม่มีความคลาดเคลื่อน ทนทานต่อการพิสูจน์ แต่การนำพระพุทธศาสนาใช้ในชีวิตประจำวันอาจจะมีรูปแบบที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร ได้รับการตำหนิจากคนทั่วไปถึงความไม่ทันต่อเหตุการณ์

สาเหตุหลักของปัญหาดังกล่าว มาจากองค์กรศาสนา โดยเฉพาะพระภิกษุสามเณร ซึ่งได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” บางรูป ได้ประพฤติไม่เหมาะสม ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งศรัทธา มีการดัดแปลงหลักธรรมคำสอนผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงได้เสนอให้มีการปฏิรูปองค์กรพระพุทธศาสนา ใน ๔ ประเด็นหลัก คือ

๑) เรื่องทรัพย์สินของวัดและพระสงฆ์ เนื่องจากเห็นว่า มีพระสงฆ์บางรูปแสดงความอวดรวย ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ ทำให้เห็นว่าเป็นผู้สะสม มากกว่า เสียสละ และทรัพย์สินของวัดไม่มีการแสดงบัญชีทรัพย์สินให้พุทธศาสนิกชนได้รับรู้ถึงที่มาที่ไปของเงินบริจาค ไม่มีการตรวจสอบความโปร่งใส

๒) เรื่องปัญหาของพระสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธา เนื่องจากเห็นว่า มีพระสงฆ์บางรูปที่ประพฤตินอกลู่นอกทาง ประพฤติไม่เหมาะสม ทั้งนี้ เพราะไม่มีความรู้ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน สั่งสอนประชาชนตามความเข้าใจของตัวเองที่คิดว่าถูกต้อง หรือสอนตามแบบอย่างโบราณาจารย์ที่เคยสั่งสอนกันมาจากอดีต

  ๓) เรื่องการทำพระธรรมวินัยให้วิปริตและการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย เนื่องจากมีพระภิกษุบางรูปที่มีความรู้ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาพอสมควร แต่ดัดแปลงหลักธรรมคำสอนนั้นให้เอื้อประโยชน์แก่ตัวเอง สร้างความเข้าใจผิดแก่พุทธศาสนิกชนผู้เคารพนับถือและปฏิบัติตาม จนเข้าใจว่านั่นคือพระพุทธศาสนาที่แท้จริง

๔) เรื่องฝ่ายอาณาจักรที่จะต้องเข้าไปสนับสนุน ปกป้องคุ้มครองกิจการพระพุทธศาสนา เพราะเห็นว่า องค์กรทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการกิจการพระพุทธศาสนาให้เรียบร้อยดีงามได้ องค์กรทางพระพุทธศาสนาขาดความทันสมัย แก้ไขปัญหาได้ไม่ทันท่วงที


อาศัยเหตุดังกล่าว สภาปฏิรูปแห่งชาติจึงนำข้อเสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ

          คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีมติให้ฝ่ายศาสนจักร คือ มหาเถรสมาคมดำเนินการหาแนวทางในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

มหาเถรสมาคม ในฐานะองค์กรปกครองสูงสุดทางพระพุทธศาสนา มีมติมอบหมายให้กรรมการมหาเถรสมาคม ๓ รูป คือ พระพรหมมุนี พระพรหมโมลี และ พระพรหมบัณฑิต เป็นผู้แทนของมหาเถรสมาคมในการจัดทำแนวทางการปฏิรูปฯ เสนอคณะรัฐมนตรี โดยมีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

๑) กำหนดกรอบการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ๖ ด้าน ตามพันธกิจ คือ ด้านการปกครอง ด้านการศาสนศึกษา ด้านการเผยแผ่ ด้านการสาธารณูปการ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ด้านการสาธารณสงเคราะห์ โดยเพิ่ม การพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก เข้าด้วย เป็นกรอบการดำเนินการที่เรียกว่า  ๖ + ๑

๒) กำหนดกรอบการดำเนินงาน

๓) ระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

๔) ดำเนินงานตามกรอบภารกิจของคณะสงฆ์

๕) ขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ

          คณะรัฐมนตรี ในคราวประชุม เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ประชุมมีมติรับทราบผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะที่เป็นสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม เสนอ

          มหาเถรสมาคม โดยกรรมการที่เป็นผู้แทน ๓ รูป คือ พระพรหมมุนี พระพรหมโมลี และพระพรหมบัณฑิต พร้อมคณะกรรมการ ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการเป็น ๓ ระยะ คือ

ระยะที่ ๑ การรับรู้บริบทสังคม โดยการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

ระยะที่ ๒ การนำไปปฏิบัติ โดยนำความคิดเห็นจากที่ได้รับฟังมากำหนดตามภาระงานของคณะสงฆ์ ๖ ด้าน แล้วดำเนินการยกร่างแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา

ระยะที่ ๓ การรับรู้ผล โดยนำร่างแผนยุทธศาสตร์เสนอขออนุมัติต่อมหาเถรสมาคม แล้วดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์นั้น พร้อมทั้งติดตามรายงานผลให้มหาเถรสมาคมทราบโดยละเอียด

นการในระยะที่ ๑

คณะกรรมการดำเนินการ ได้จัดให้มีการจัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นจากพระสงฆ์และผู้แทนพุทธศาสนิกชนจากทั่วประเทศ โดยจัดระดมความคิดเห็นฯ ๓ ครั้ง คือ

          ครั้งที่ ๑ จัดระดมความคิดเห็นจากคณะสงฆ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนตะวันออก ที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครราชสีมา

          ครั้งที่ ๒ จัดระดมความคิดเห็นจากคณะสงฆ์ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนเหนือ  ที่ วัดพระธาตุดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

          ครั้งที่ ๓ จัดระดมความคิดเห็นจากคณะสงฆ์ในเขตปกครองหนกลางและหนใต้ ที่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          จากการจัดระดมความคิดทั้ง ๓ ครั้ง ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันในแนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาให้ดีขึ้นในประเด็นหลัก ๓ ประเด็น คือ

๑) การสร้างศรัทธา และการสร้างเอกลักษณ์ของคระสงฆ์

๒) การพัฒนาศักยภาพขององค์กรและบุคลากรทางศาสนา

๓) การส่งเสริมและให้ความสำคัญในกิจการพระพุทธศาสนาของรัฐบาล


การดำเนินการในระยะที่ ๒

เมื่อได้ข้อมูลเบื้องต้นจากการระดมความคิดเห็นทั่วทั้งประเทศแล้ว กรรมการมหาเถรสมาคมที่ได้รับมอบหมายจึงนำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม

ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ได้มีคำสั่งมหาเถรสมาคม ที่ ๒/๒๕๕๙ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคม เพื่อให้การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ประกอบด้วย

         ๑)      ฝ่ายปกครอง                     มี         สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นประธานกรรมการ

          ๒)     ฝ่ายศาสนศึกษา                 มี         พระพรหมโมลี เป็นประธานกรรมการ

          ๓)      ฝ่ายศึกษาสงเคราะห์          มี         พระพรหมบัณฑิต เป็นประธานกรรมการ

          ๔)      ฝ่ายเผยแผ่                       มี         สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นประธานกรรมการ

          ๕)     ฝ่ายสาธารณูปการ             มี         พระพรหมมุนี เป็นประธานกรรมการ

          ๖)      ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์      มี        พระพรหมวชิรญาณ เป็นประธานกรรมการ

          และ คณะกรรมการพัฒนาพุทธมณฑล มี สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เป็นประธานกรรมการ

สำหรับแนวทางแนวทางการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาด้านปกครอง -ศาสนศึกษา-ศึกษาสงเคราะห์-การเผยแผ่- ฝ่ายสาธารณูปการ -ฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ รวมทั้งการพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก ติดตามได้ในตอนต่อไปครับ