ข่าวมหาวิทยาลัย |
ชูหลักพุทธบูรณาการพัฒนาจิตใจ-สังคม | ||
วันที่ ๒๔/๐๗/๒๐๑๔ | เข้าชม : ๒๘๙๐ ครั้ง | |
วันนี้ (23 ก.ค.) ที่อาคารหอประชุม ม.ว.ก. 48 พรรษา มหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ มจร. ครั้งที่ 1 เรื่อง "พุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและสังคม" ประจำปี 2557 โดยมีพระดำรัส เปิดการประชุมตอนหนึ่งว่า พระพุทธศาสนามีหลักธรรมคำสอน คือ ศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นข้อประพฤติปฏิบัติที่ดีงาม เพื่อพัฒนาการกระทำ คำพูด ความคิด จิตใจ ตลอดจนปัญญาความรู้ของบุคคลให้สูงขึ้น แต่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น มีความละเอียดอ่อน ลึกซึ้ง บางข้อยากแก่การเข้าใจ การหาแนวทางนำหลักธรรมคำสอนออกเผยแผ่ให้เข้าใจง่าย เหมาะสมกับสติปัญญาของบุคคล และไม่ผิดเพี้ยนไปจากพระไตรปิฎก นับว่ามีความสำคัญและจำเป็น เพราะจะทำให้ประชาชนเข้าใจและน้อมนำไปประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตรงความเป็นจริง ดังนั้น การจัดประชุมครั้งนี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือกัน ในการกำหนดแนวทางนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้พัฒนาจิตใจ สังคม ตลอดถึงประเทศชาติอย่างเป็นรูปธรรม
พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร. กล่าวปาฐกถาพิเศษ “พุทธบูรณาการเพื่อการพัฒนาจิตใจและสังคม” ว่า การบูรณาการ คือ การผสมผสานให้สมบูรณ์ และทำให้เกิดสิ่งใหม่ ซึ่งพุทธบูรณาการก็เป็นการบูรณาการศาสตร์สมัยใหม่เข้ากับศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวที่ไม่รังเกียจศาสตร์สมัยใหม่ ไม่เคยขัดแย้งกับศาสตร์สมัยใหม่ และ การวิปัสสนากรรมฐาน ได้มีผลการวิจัยออกมาแล้วว่าสามารถนำมาบูรณาการในการพัฒนาจิตใจ และบุคลิกภาพได้ โดยการวิปัสสนาจะทำให้เกิดปัญญา ส่วนการกรรมฐานจะช่วยให้จิตสงบ ที่สำคัญจะทำให้มีสติ เพราะการขาดสติจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา นอกจากนี้การนำหลักทางพระพุทธศาสนาเข้าบูรณาการร่วมกับศาสตร์สมัยใหม่ยังจะช่วยให้เกิดคุณธรรม และจริยธรรม เช่น หลักเศรษฐกิจพอเพียง ก็เกิดจากการนำหลักพระพุทธศาสนาไปบูรณาการกับหลักเศรษฐกิจ เป็นต้น. ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ |
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||