ข่าวมหาวิทยาลัย |
วิถีอยุธยาโมเดลต่างศาสนาอยู่ร่วมกันสันติสุข | ||
วันที่ ๒๗/๐๙/๒๐๑๔ | เข้าชม : ๑๙๐๙ ครั้ง | |
‘วิถีอยุธยาโมเดล’ต่างศาสนาอยู่ร่วมกันสันติสุขก้าวแรกของผู้นำ 5 ศาสนาในภูมิภาคประชาคมอาเซียน 10 ประเทศจำนวน 80 ชีวิตเดินทางมาร่วมประชุมผู้นำศาสนาเพื่อสันติภาพในประชาคมอาเซียน ครั้งที่ 1 เรื่อง ขันติธรรมทางศาสนา ระหว่างวันที่ 24-29 กันยายน พ.ศ.2557 ที่โรงแรมคลาสสิก เคมิโอ จ.พระนครศรีอยุธยา และที่ หอประชุม "มวก ๔๘ พรรษามหาวชิราลงกรณ์" มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เดินทางไปทัศนศึกษาในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและเยี่ยมชมชุมชนกุฎีจีนประกอบด้วยวัด โบสถ์คริสต์ และมัสยิด ในวันที่ 25 ก.ย.นี้ โดยได้ศึกษาและเรียนรู้บทเรียนจริงการอยู่ร่วมกันของชาวอยุธยาที่มีความเชื่อที่แตกต่างกันได้อย่างไร จุดแรกที่ผู้นำศาสนาเข้าเยี่ยมชมคือศูนย์ท่องเที่ยวพระนครศรีอยุธยาตามด้วยอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา รวมถึงวัดพระมหาธาตุที่มีเศียรพระพุทธรูปฝังอยู่ในต้นไม้ โบสถ์คริสต์ยอเซฟที่สวยงามวิจิตรได้รับความสนใจจากผู้นำศาสนาเป็นอย่างมาก และมัสยิดตะเกียโยคิณราชมุสลิมจินดาสยามซึ่งมีการจำลองโบสถ์ตามลักษณะสถาปัตยกรรมของโบสถ์พุทธทั่วไปเป็นแท่นที่ปราศรัย เพราะมัสยิดแห่งนี้เดิมเคยเป็นวัดมาก่อน ตามด้วยวัดพนันเชิงที่มีฝาผนังศิลปะเปอร์เซีย โดยเป็นวัดของพุทธศาสนามหายานมาก่อนภายหลังกลายสภาพเป็นวัดพุทธเถรวาท ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังมีพระมหายานและมีธงทิวประดับบริเวณโบสถ์ แล้วอะไรที่ทำให้คนอยุธยาอยู่ร่วมกันได้ในสภาพเช่นนี้อย่างมีความสุข มัคคุเทศก์ให้คำแนะคือ "ความเป็นอยุธยา" โดยที่คนอยุธยาต่างศาสนาได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันตั้งแต่เป็นนักเรียนและวิถีชีวิตทั่วไป โดยจะไม่มีการพูดกระทบกระทั้งกัน และมีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมาตลอด ขณะที่มงซินญอร์แอนดรูว์วิษณุ ธัญญอนันต์ ผู้แทนศาสนาคริสต์ กล่าวว่าความจริงแล้วคนอยุธยาอยู่ร่วมกันบนสภาพที่หลากหลายทางความเชื่อมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและมีความเป็นสากลหรืออินเตอร์มานานแล้ว น่าที่พื้นที่ต่างๆควรจะเป็นเอาเป็นแบบอย่างขยายพื้นที่ไปให้มาก ทั้งนี้คงเป็นเพราะวิสัยทัศน์ของผู้นำขณะนั้นคือกษัตริย์สมัยนั้นมีความใจกว้างให้อิสระทางความคิดแล้วคนระดับล่างปฎิบัติตาม ด้านนายถุงเงิน บุญยัง กรรมการอิสลามมัสยิดตะเกียโยคิณราชมุสลิมจินดาสยาม กล่าวว่า ความเป็นอยุธยาคือความเป็นพี่น้องกันเกิดในประเทศเดียวกัน สามัคคีกัน ไปมาหาสู้กัน เมื่อมีงานบุญต่างๆก็ไปร่วมงานอย่างเช่นงานแต่งงานและจะไม่มีการบังคับให้มีการนับถือ เช่นเดียวกันนายบุญเลิศ ตานีเทพ กรรมการอิสลามมัสยิดตะเกียโยคิณราชมุสลิมจินดาสยาม กล่าวว่า คนย่านนี้ต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาไปมาหาสู่กันตลอด โดยไม่ได้คำนึงว่าจะนับถือศาสนาอะไร ทุกคนที่มาที่มัสยิดแห่งนี้พร้อมให้การต้อนรับ อย่างไรก็ตามพระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี มจร หัวหน้าหลักสูตรสันติศึกษา ในฐานะกรรมการจัดงานผู้นำศาสนาอาเซียน พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ได้ไปเดินทางไปออกรายการเรื่อง "ปรองดองสร้างชาติ" ร่วมกับนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และออกอากาศ 20.30น. วันที่ 25 ก.ย. ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที โดยได้อธิบายรายระเอียดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมสันติสนทนาระหว่างผู้นำศาสนาเพื่อสันติภาพในประชาคมอาเซียนดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมีการเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 ก.ย.โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานเปิดอย่างเป็นทางการ และนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมตรีที่กำกับดูแล พศ.ร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยอธิการบดี มจร กล่าวด้วยว่า ยูเนสโกได้นำเสนอปฏิญญาว่าด้วย "ขันติธรรม" ระหว่างผู้แทนของมนุษยชาติในคราวประชุม ปี 2536 และเนื้อหาสำคัญตอนหนึ่ง คือ "ไม่มีขันติ ย่อมไม่มีสันติ ไม่มีสันติ ย่อมไม่มีการพัฒนาและประชาธิปไตยที่ยั่งยืน" ในขณะที่พระพุทธศาสนาได้ชื่อว่าเป็น "ศาสนาแห่งขันติธรรม" จากอุดมการณ์ของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสในวันโอวาทปาติโมขก์ว่า "ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง" เชื่อแน่ว่าวิถีอยุธยาจะเป็นโมเดลของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนสภาพที่แตกต่างที่มี "ขันติธรรมทางศาสนา" เป็นฐานรอบรับ ที่มา: : สำราญ สมพงษ์ คมชัดลึก |
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||