การประชุมผู้นำศาสนาเพื่อสันติภาพในประชาคมอาเซียน ครั้งที่ 1 เรื่อง ขันติธรรมทางศาสนา โดยมีผู้นำศาสนาจาก 10 ประเทศในประชาคมอาเซียน 80 คน รวมถึงคนไทยร่วมงานประมาณ 500 คน ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เริ่มอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.นี้ และจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 29 ก.ย. โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน
นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการพศ. ได้กล่าวรายงานการจัดการประชุมว่า 1 ใน 3 เสาของการสร้างประชาคมอาเซียน คือ การบูรณาการทางด้านสังคมและวัฒนธรรมผ่านการสร้างประชาคมสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community) แห่งอาเซียนและในการก้าวเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมแห่งอาเซียน นั้น จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม และกรอบวิธีคิดรวมไปถึงการดำเนินชีวิตที่มีลักษณะจำเพาะในบริบทของแต่ละสังคม
ในการนี้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ได้ให้คติเตือนใจโดยขอให้การประชุมครั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุุขแห่งประชาชน เพื่อสันติสุขแห่งประชาชาติ และเพื่อสามัคคีสุขแห่งอาเซียน อย่างไรก็ตามในสาส์นสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ได้ให้ความหมายของ "ขันติธรรมทางศาสนา" หลายประการแต่ที่น่าสนใจน่าจะนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมคือความเป็นผู้มีใจกว้างทางศาสนา พร้อมที่จะยอมรับและสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับเพื่อนมนุษย์ผู้มีศาสนาและวัฒนธรรมแตกต่างกัน
เช่นเดียวกันนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมตรีกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้อ่านสาส์นในนามรัฐบาลไทย โดยได้ยกปฏิญญายูเนสโกว่าด้วยขันติธรรมก็ได้หมายคือความเปิดใจกว้างเช่นเดียวกัน พร้อมกับระบุว่า ขอขอบคุณสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) และ มจร ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทยและมหาเถรสมาคม และขอชื่นชมต่อหลักสูตรปริญญาโทสาขาสันติศึกษาพร้อมทั้งกรรมการดำเนินการจัดงานทุกคนและยินดีกับผู้นำศาสนาในประชาคมอาเซียนที่มุ่งมั่นสร้างสันติสนทนาเพื่อสันติภาพครั้งนี้
ขณะที่สาส์นนายอาศิศ พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ก็ได้ระบุถึงขันติธรรมทางศาสนาในลักษณ์เดียวกันความว่า อิสลามเป็นหนึ่งศาสนาสากลที่มีสาส์นเพื่อมวลมนุษยชาติ ส่งเสริมให้เกิดสันติภาพที่มั่นคงคงบนพื้นพิภพ เรียกร้องให้มนุษยชาติอยู่ร่วมกันด้วยความสันติ ขันติธรรม และฉันท์มิตร มิให้นำความแตกต่างทางเชื้อชาติ สีผิว ภาษาและลัทธิทางความเชื่อขอบบุคคลมาเป็นกำแพงกั้นในการอยู่ร่วมกัน จึงไม่เป็นการอันควรที่จะให้ความแตกต่างดังกล่าวเป็นบ่อเกิดหรือเหตุแห่งความขัดแย้งและความแตกแยกให้หมู่มนุษยชาติ
และอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้ร่วมเสวนาหรือผู้ปาฐกถาได้แนะก็คือไม่ควรปล่อยให้นักการเมืองนำศาสนาเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์อย่างเช่นพระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดี มจร ประธานกรรมการบริหารสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก พร้อมกันเสนอว่าการจัดเสวนาครั้งนี้จะไม่ใช่เป็นครั้งสุดท้ายจะต้องมีแนวทางในการร่วมกันทำงานต่อไป พร้อมกันนี้ต้องอาศัยสื่อความร่วมมือให้คนระดับรากหญ้าให้รับทราบและเข้าใจร่วมกัน
อย่างไรก็ตามในช่วงของการเสวนาผู้นำทั้ง 5 ศาสนามีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรนำศาสนามาเป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้ง อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ศึกษาศาสนาตนเอง แต่ต้องเคารพยอมรับเข้าใจศาสนาอื่น ๆ ไม่ใช้ความรุนแรงทุกประการในทุกกรณี และไม่ให้การเมืองนำใช้ศาสนาไปใช้ในการแสวงหาอำนาจหรือผลประโยชน์
ถึงอาเซียนจะแตกต่างกันในเรื่องของศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี แต่เราคือมนุษย์ร่วมโลกกัน....อยู่ร่วมกันในความแตกต่าง หรือเรียกว่า เอกภาพในความแตกต่าง
ทั้งนี้พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าโครงการปริญญาโทหลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวว่า เมื่อไม่มีขันติ เราจะแสวงหาสันติได้อย่างไร? และถ้าไม่มีสันติ เราจะสามารถอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างได้อย่างไร? เมื่อผู้นำศาสนาแสวงหาช่องทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ บนฐานของการมีขันติ คำถามคือ ศาสนิกของแต่ละศาสนาจะใช้แบบอย่างดังกล่าวมาหล่อหลอมแนวคิด และวิถีแนวปฏิบัติได้อย่างไร? รางวัลการตอบคำถามได้อย่างถูกต้อง คือ ความอยู่รอดของมนุษยชาติ
หัวหน้าโครงการปริญญาโทหลักสูตรสันติศึกษา มจร กล่าวว่า ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุม จะมีการลงนามในปฏิญญาอยุธยาว่าด้วยการอยู่ด้วยกันอย่างมีขันติธรรมในอาเซียน โดยจะมีการกำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานให้แต่ละประเทศนำไปปฏิบัติ จากนั้นในปี 2558 ในการประชุมผู้นำศาสนาเพื่อสันติภาพในประชาคมอาเซียน ครั้งที่ 2 จะนำผลการดำเนินการตามปฏิญญามาหารือกันว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด และประปัญหาอะไรหรือไม่ เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป
...............................
(หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Nuchua Narong)
ที่มา: : สำราญ สมพงษ์ คมชัดลึก
http://www.komchadluek.net/detail/20140927/192922.html