ข่าวประชาสัมพันธ์
พุทธาโลกานุวัตร คอมฯ พระไตรปิฎก
28 พ.ค. 49 | ข่าวมหาวิทยาลัย
1938
ข่าวมหาวิทยาลัย
พุทธาโลกานุวัตร คอมฯ พระไตรปิฎก
วันที่ ๒๘/๐๕/๒๐๐๖ เข้าชม : ๑๔๒๐๗ ครั้ง
     เปิดตัว "พระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์" ฉบับนานาชาติ ฝีมือคนไทยหนึ่งเดียวในโลก แปลเป็น 8 ภาษา มีพจนานุกรมคำศัพท์พร้อมเนื้อหาคำแปล ม.มหิดล ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และ 2 มหาวิทยาลัยสงฆ์ ใช้เวลาเกือบ 20 ปีพัฒนา พร้อมทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพฯ
รศ.ดร.ศุภชัย ตั้งวงศ์ศานต์ รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งเอื้ออำนวยทางวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า พระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ฉบับนานาชาตินี้เป็นผลงานอันดับที่ 10 ของโครงการพระไตรปิฎก ซึ่งได้ขยายผลเพื่อให้การใช้งานแพร่หลายยิ่งขึ้น โดยพัฒนาโปรแกรมให้สามารถแสดงผลในอักษรของภาษาที่แตกต่างกันได้ถึง 8 ภาษาลักษณะอักษร ได้แก่ เทวนาครี สิงหล พม่า เขมร ล้านนา ลาว โรมัน และไทย จากฐานข้อมูลเพียงชุดเดียว ด้วยการออกแบบและพัฒนาฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถเป็นอักษรในภาษาต่างๆ ได้ง่าย และประหยัดเนื้อที่ในการจัดเก็บ ขยายการพัฒนาในด้านการสืบค้นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการค้นหา คือ สามารถสืบค้นข้อมูลในอักษรของภาษาต่างๆ ได้ 8 อักษรในทุกคัมภีร์ และเปิดดูพร้อมกันได้ทีเดียว 15 หน้าต่าง สามารถเชื่อมโยงและเทียบเคียงระหว่างข้อมูลในแต่ละชุดคัมภีร์ เพื่อให้ผู้ศึกษาได้อ่านคำอธิบาย ความเห็นในเรื่องต่างๆ ในทันทีที่ต้องการ นอกจากนี้พระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ฉบับนานาชาติชุดนี้ยังเป็นการรวบรวมคัมภีร์ไว้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด จำนวน 194 เล่ม คือ พระไตรปิฎก ฉบับภาษาไทย 45 เล่ม พระไตรปิฎกบาลี ฉบับสยามรัฐ 45 เล่ม อรรถกถาบาลี 57 เล่ม ฎีกาบาลีที่สำคัญ 27 เล่ม และคัมภีร์สำคัญอื่นๆ เช่น ตำราเรียนเปรียญธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย 20 เล่ม
"การแสดงข้อมูลคัมภีร์ด้วยอักษรของภาษาต่างๆ ได้ถึง 8 ชุดอักษรนั้น จะเป็นคุณสมบัติพิเศษที่ขยายประโยชน์ของพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ออกไปอีกมากมาย โดยช่วยให้พุทธศาสนิกชนและนักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป จากนานาชาติ นานาภาษา สามารถเข้าถึงแหล่งแกนกลางแห่งพระพุทธศาสนธรรมได้ทั่วกัน ทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก อีกทั้งจะเป็นพื้นฐานด้านการแปลภาษาในอนาคต โดยภาษาอังกฤษจะเป็นเป้าหมายอันดับแรก"
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โครงการพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์เริ่มขึ้นในปี 2530 โดยสำนักคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประสบผลสำเร็จในการบรรจุพระไตรปิฎกภาษาบาลี จำนวน 45 เล่ม เข้าคอมพิวเตอร์ พร้อมพัฒนาโปรแกรมเพื่อการสืบค้นชื่อ (BUDSIR BUDdhist Scriptures Information Retrieval) ผลงานนี้ใช้เวลาเพียง 7 เดือน จึงประสบผลสำเร็จในวันวิสาขบูชา 30 พ.ค. 2531 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสรัชมังคลาภิเษก สามารถค้นหาทุกคำ ศัพท์ทุกศัพท์ ทุกวลี และทุกพุทธวจนะได้ในเวลาอันรวดเร็ว และได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องและครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกแห่งที่ปรากฏ นับเป็นพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ฉบับแรกที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทย
     ในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา โครงการได้เผยแพร่ผลงานมาแล้วรวม 9 ครั้ง พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนล่าสุดคือ พระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ฉบับนานาชาตินี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นฉบับแรกและฉบับเดียวในโลกที่มีการรวบรวมไว้ถึง 8 ภาษา โดยแปลความหมายเป็นภาษาไทย มีระบบสืบค้นข้อมูล ค้นหาคำวลีอย่างครบถ้วน ทั้งยังมีพจนานุกรมเพื่อหาความหมายของคำในพระไตรปิฎกอีกด้วย โดยผู้ร่วมจัดทำคือ มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาราชมกุฎราชวิทยาลัย กองบาลีสนามหลวง และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะนำพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ฉบับล่าสุดนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งได้มีการจัดงานประชุมชาวพุทธนานาชาติขึ้น และในงานดังกล่าวสมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงประเคนพระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ฉบับนานาชาติแก่พระสังฆราช หรือผู้นำสงฆ์จากนานาชาติ 45 ประเทศเข้าร่วม
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ 5 พ.ค.49

แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
Print This Page    Sent to Friend
แสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ในโครงการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ระดับปริญาตรี ประจำปี การศึกษา ๒๕๖๗ มจร
    20 ธ.ค. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    79
  • พิธีประสาทปริญญา ประจำปี ๒๕๖๗ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
    12 ธ.ค. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    193
  • ข้อปฏิบัติในการเข้ารับประทานปริญญาบัตร ในพิธีประสาทปริญญา
    25 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    522
  • พระสุธีรัตนบัณฑิต, รศ.ดร. คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพและศักยภาพการปฎิบัติงานของบุคลากรการแข่งขันกีฬา "มหาจุฬาอโยธยาเกมส์"
    22 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    391
  • พระพรหมวัชรวิมลมุนี วิ., รศ.ดร. ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระ สนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพและศักยภาพการปฎิบัติงานของบุคลากรการแข่งขันกีฬา "มหาจุฬาอโยธยาเกมส์"
    22 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    370