ข่าวมหาวิทยาลัย |
พระเก่ง มจร เรียนจบปริญญา 15 ใบ | ||
วันที่ ๑๘/๐๓/๒๐๑๕ | เข้าชม : ๓๐๐๒ ครั้ง | |
วันนี้(17 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก "Post Hotnews" ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กที่รายงานข่าวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) ได้เผยแพร่ภาพพระสงฆ์รูปหนึ่ง พร้อมข้อความประกอบว่า "มีดีที่สถิติ มจร.โพสต์นิวส์ ขอเสนอสถิติ "พระจบปริญญา 15 ใบ" พระมหามงคลกานต์ ฐิตธมฺโม ป.ธ.9 อายุ 35 ปี อาจารย์ มจร. จบ ปริญญาตรี 12 ใบ ประกอบด้วย พธ.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1), มสธ. :นิติศาสตร์-การบริหารการศึกษา-การสอนมัธยมศึกษา(เกียรตินิยม)-รัฐศาสตร์-การศึกษานอกระบบ-เทคโนโลยีการอาหาร, ม.รามคำแหง :การบริหารรัฐกิจ-สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา-ประวัติศาสตร์-สื่อสารมวลชน-ภาษาไทย, ปริญญาโท 2 ใบ พธ.ม.(วิทยานิพนธ์ดี), ม.นเรศวร :ศษ.ม. และปริญญาเอก 1 ใบ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร.) :ศน.ด.(วิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม)" โดยภายหลังมีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว มีทั้งพระสงฆ์ พุทธศาสนิกชน เข้าไปแสดงความชื่นชมจำนวนมาก ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังพระมหามงคลกานต์ ซึ่งขณะนี้ได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่ มจร. วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยพระมหามงคลกานต์ กล่าวว่า ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ออกมานั้นเป็นความจริง โดยตนเรียนจบปริญญาตรีจาก มจร. 1 ใบ มสธ. 6 ใบ ม.รามคำแหง 5 ใบ จบปริญญาโทจาก ม.นเรศวร 1 ใบ จาก มจร. 1 ใบ รวมถึงจบปริญญาเอกจาก มมร. 1 ใบ และปัจจุบันกำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการแพทย์แผนไทย ที่ มสธ.อยู่ด้วย พระมหามงคลกานต์ กล่าวต่อไปว่า ตนเป็นคนสุรินทร์ ในวัยเด็กพอเรียนจบชั้น ป.6 ก็ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ จึงตัดสินใจขอครอบครัวมาบวชที่วัดอังกัญโคกบรรเลง จ.สุรินทร์ เพื่อหวังที่จะได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และได้ขอเจ้าอาวาสไปเรียนต่อโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ที่วัดกลางสุรินทร์ เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ก็ได้สอบเข้าศึกษาต่อที่ มจร. วิทยาเขตเชียงใหม่ จนจบระดับปริญญาตรี สาขาวิชาปรัชญา และในระหว่างที่เรียนที่มจร.นั้น ได้ลงทะเบียนเรียนที่ ม.รามคำแหง และ มสธ.ด้วย เนื่องจากทั้งสองมหาวิทยาลัยอนุญาตให้เทียบโอนรายวิชาพื้นฐานได้ จึงได้เทียบโอนรายวิชาพื้นฐานที่เรียนผ่านมาแล้วจาก มจร. ทำให้ใช้เวลาเรียนที่ ม.รามคำแหง ประมาณ 1 ปีครึ่ง ส่วนของ มสธ.ใช้เวลาเรียนสาขาวิชาละประมาณ 2 ปี พระมหามงคลกานต์ กล่าวอีกว่า สาเหตุที่ทำให้ตนมุมานะเรียนจนจบปริญญาหลายใบนั้น เพราะมองว่าชีวิตคนเราเปรียบเหมือนน้ำไม่เต็มแก้ว จำเป็นต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ส่วนตัวตั้งใจจะเรียนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะอายุ 60 ปี เพื่อให้มีความรู้ไปสอนญาติโยม และเป็นที่พึ่งของญาติโยมได้ทั้งทางโลกและทางธรรม ยอมรับว่ามีความสุขกับการที่ได้เรียนหนังสือมาก เพราะได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ อยู่ตลอด ที่สำคัญยังได้ฝึกตัวเองไปในตัวด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ภาษาอังกฤษ ที่มา; หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 17 มีนาคม 2558
|
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||