ข่าวมหาวิทยาลัย |
เดินธรรมยาตรา ๑๒ กิโลพัฒนาขันติธรรม ปฐมนิเทศหลักสูตรปริญญาโทสันติศึกษารุ่น ๓!!! | ||
วันที่ ๑๐/๐๖/๒๐๑๕ | เข้าชม : ๑๖๓๒ ครั้ง | |
๖-๗ มิถุนายน ๕๘ ณ ศูนย์พัฒนาศาสนาแคมป์สน เพชรบูรณ์: หลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษา มหาจุฬาฯ นำโดยพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรฯ และคณาจารย์ พร้อมทั้งนิสิตทั้ง ๒ รุ่น ได้จัดพิธีปฐมนิเทศนิสิตใหม่ จำนวน ๔๑ รูป/คน ซึ่งมาจากสาขาอาชีพที่หลายหลาย เช่น พยาบาล ทหาร ตำรวจ นักการเมือง นักธุรกิจ ข้าราชการจากระทรวงต่างๆ และพระภิกษุสามเณร เพื่อย้ำเตือนให้นิสิตได้เข้าถึงถึงอัตลักษณ์ และวัตถุประสงค์ รวมไปถึงวัฒนธรรมของหลัก อีกทั้งเป็นการหลอมหลวมให้นิสิตได้เข้าสู่การเป็นครอบครัววิศวกรสันติภาพอย่างเป็นทางการ
หัวใจหลักของการดำเนินกิจกรรมมาจากหลักการในการพัฒนาวิศวกรสันติภาพบนฐานของบันได ๓ ขั้น คือ “สติ ขันติ และสันติ” จุดเริ่มต้นเป็นการเข้าสู่กระบวนการในการประกาศตนเพื่อเป็นวิศวกรสันติภาพนั้น คือ การพัฒนา “สติ” โดยการย้อมจิตใจให้สงบเย็น และรู้ ตื่น และเบิกบานด้วยการสวดมนต์เพื่อสันติภาพ และการภาวนาเพื่อสันติ เพื่อเปิดพื้นที่ให้นิสิตสามารถเข้าถึงสันติภายใน (Inner Peace) ให้สอดรับกับพุทธพจน์ที่ว่า “สุขอื่น ยิ่งกว่าความสงบไม่มี” สันติภาพภายในจึงขึ้นอยู่กับของลมหายใจเข้า และออกที่สะท้อนความสงบเย็น หรือโกรธ เกลียด เคียดแค้นและชิงชัง การภาวนาเพื่อสันติจึงเป็นการเปิดโอกาสให้วิศวกรสันติภาพได้ค้นหาและพัฒนาสันติที่ซ่อนตัวอยู่ภายในจิตใจให้เจริญเติบโต เพื่อที่จะได้ขยายเมล็ดพันธุ์ของสันติให้ขยายวงออกไปสู่บุคคลอื่นๆ ที่อยู่ในครอบครัว สำนักงาน ชุมชน และสังคม
กระบวนการที่สองเป็นการพัฒนา “ขันติ” ให้เจริญเติบโต เพื่อใช้ขันติหรือความอดทนเป็นเครื่องมือในการรับฟัง ความคิด ความเชื่อ และการกระทำที่แตกต่างระหว่างมนุษย์ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอดทนต่อปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เข้ามากระทบต่อการทำหน้าที่ของวิศวกรสันติภาพทั้งที่พึงพอใจและไม่พึงปรารถนา ด้วยเหตุนี้ หลักสูตรฯ จึงได้นำแนวทาง “ธรรมยาตรามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาขันติ” ธรรมยาตรา หมายถึง การดำเนิน หรือเดินทางไปเพื่อธรรม ธรรมยาตราในบริบทของสันติศึกษา จึงเป็นการพามวลวิศวกรสันติภาพออกเดินทางไปเพื่อพัฒนาขันติธรรม หรือความอดทนให้เกิดขึ้น อันเป็นการทนต่อความลำบากทางกาย และอุปสรรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการเดิน ทั้งนี้ หลักสูตรฯ ได้จัดให้นิสิตได้เดินเป็นระยะเวลา ๑๒ กิโลเมตร โดยใช้เวลา ๒ ชั่วโมงกับ ๒๘ นาที โดยเริ่มจากศูนย์พัฒนาศาสนาแคมป์สนไปจนถึงวัดพระธาตุผาซ่อนแก้ว กระบวนการขั้นที่ ๓ ในการเริ่มต้นปฐมนิเทศเพื่อฝึกหัดและขัดเกลาวิศวกรสันติภาพ คือ การพัฒนาให้เกิด “สันติ” ขึ้น โดยการมุ่งพัฒนาทั้งสันติภายใน และสันติภายนอก ถึงกระนั้น กระบวนการที่จะพัฒนาให้เกิดสันติเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันในครอบครัววิศวกรสันติภาพนั้นจำเป็นจะต้องสร้างกระบวนการเพื่อให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างกลุ่มคนในครอบครัว ด้วยเหตุนี้ หลักสูตรฯ จึงได้วางฐานสำคัญให้นิสิตเริ่มต้นด้วยการให้คฤหัสถ์รักษาศีล ๘ เพื่อเป็นฐานในการพัฒนากาย วาจา และใจ ซึ่งจะเอื้อต่อการเข้าสู่ “พิธีปฏิญาณตัวแสดงตนเป็นวิศวกรสันติภาพ” ซึ่งพิธีนี้ได้ใช้เทียนเป็นสื่อในการอธิบายถึงสันติภาพจะเป็นแสงสว่างให้มนุษยชาติได้มองเห็นคุณค่าของกันและกัน โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง และเป็นแนวทางในการเสียสละตัวพระองค์เองเพื่อมนุษยชาติแม้จะทรงลำบาก และเหน็ดเหนื่อยพระวรกายมากเพียงใดก็ตาม ประดุจแสงเทียนที่ส่องสว่างทอประกายมากเพียงใด จะทำให้ตัวเล่มเทียนสั้นลงไว้มากเพียงนั้น
กิจกรรมสุดท้าย หลักสูตรฯ ได้นำวิศวกรสันติภาพไปรับฟัง และถอดบทเรียนของ ดร.เกษร วงศ์มณี: ต้นแบบของสตรีที่ทำงานเสียสละเพื่อเพื่อนมนุษย์ด้วยความทุ่มเท และเสียสละตลอด ๓๐ ปีที่ผ่านมาในฐานะพยาบาล และสาธารณะสุขอำเภอหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เพื่อเสริมสร้างสังคมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ จนทำให้ได้รับรางวัลคุณงามความดีเพื่อยกย่องจากประเทศไทยและต่างประเทศมากมาย แนวทางนี้ จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจต่อวิศวกรสันติภาพในการทำงานรับใช้เพื่อนมนุษย์ในทุกลมหาย เพื่อให้สอดรับกับ “สันติปณิธาน” ของหลักสูตรฯ ที่ย้ำเตือนว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอตั้งสัจจะอธิษฐานว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบำเพ็ญสันติบารมี พัฒนาชีวีให้รู้ตื่นและเบิกบาน ร่วมประสานมนุษย์และสังคม ให้อุดมด้วยสันติสุข ในทุกลมหายใจ ตลอดไปเทอญฯ
|
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||