ข่าวมหาวิทยาลัย |
เก็บภาษีพระ-หมุนสมภารตกก่อนถึง ครม. ลั่นปฏิรูปพุทธต้องไม่แตะโครงสร้างหลัก ยัน ม.สงฆ์ไม่เปิดสอนวิชาชีพ | ||
วันที่ ๑๙/๐๖/๒๐๑๕ | เข้าชม : ๑๕๐๓ ครั้ง | |
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่หอประชุมพุทธมณฑล สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) มีการประชุมพระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศ โดยพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะคณะทำงาน มส.ติดตามแนวทางการปฏิรูปพระพุทธศาสนา กล่าวว่า แนวทางที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมอบให้ พศ.หารือกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องและให้เสนอกลับไป ครม.ภายใน 30 วันนั้น ขณะนี้ มส.ยังไม่ได้มีความเห็นหรือมติใดๆ เพียงตั้งคณะทำงานติดตามเรื่องดังกล่าวเท่านั้น และขอให้คณะสงฆ์เข้าใจตรงกันว่าบทบาทหน้าที่ของ สปช.คือศึกษาและเสนอแนะการปฏิรูปด้านต่างๆ ไม่ใช่องค์กรตรากฎหมายหรือเป็นผู้ตัดสิน พระพรหมบัณฑิตกล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา สปช.มี 4 ข้อ ได้แก่ 1.ให้ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ โดยทรัพย์สินที่ได้ระหว่างบวชตกเป็นของคณะสงฆ์โดยไม่มีข้อยกเว้น 2.ปรับปรุงกฎ มส.ฉบับที่ 24 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ 3.คณะสงฆ์ได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ป้องกันการทำให้พระธรรมวินัยวิปริตขัดจากพระไตรปิฎก และ 4.ปฏิรูปการศึกษาคณะสงฆ์ ส่วนเรื่องหมุนเวียนเจ้าอาวาส 5 ปี และเก็บภาษีพระสงฆ์นั้นไม่ได้อยู่ในข้อเสนอที่ สปช.เสนอ ครม. แต่การให้ยกร่าง พ.ร.บ.จัดการทรัพย์สินวัดสร้างความกังวลแก่คณะสงฆ์เพราะเหมือนถูกมัดมือชก ซึ่งที่ประชุม สปช.ก็ไม่เห็นด้วยที่ให้ สปช.ร่างกฎหมายเอง จึงส่งให้ ครม.พิจารณา หลักของการปฏิรูปต้องไม่แตะโครงสร้างหลัก ดังนั้น หากจะปฏิรูป พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ก็ไม่ควรแตะพระธรรมวินัยและจารีต เรื่องมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ถือเป็นจารีตไปแล้ว การสอนวิชาชั้นสูงของมหาวิทยาลัยสงฆ์หมายถึงอุดมศึกษาและศาสตร์สมัยใหม่ แต่ไม่มีการสอนวิชาการประกอบอาชีพแต่อย่างใด. ที่มา; หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 19 มิถุนายน 2558 ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ |
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||