เมืองปาโร ราชอาณาจักรภูฏาน ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘; พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมคณะผู้บริหาร ได้รับอาราธนาจากรัฐบาลราชอาณาจักรภูฏานให้เดินทางไปร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ (International Conference on Gross National Happiness) ณ เมืองปาโร ราชอาณาจักรภูฏาน ในวโรกาสเเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๐ พรรษา สมเด็จพระราชาธิบดีจิ๊กมี ซิงเย นัมเกล วังชุก พระราชบิดาของสมเด็จพระราชาธิบดีจิ๊กมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก ระหว่างวันที่ ๓-๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ โดยมีผู้เข้าประชุมกว่า ๗๐๐ คน จาก ๔๘ ประเทศ ทั่วโลก
เดิน ทางถึงสนามบินปาโร วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ท่านดาโช ปาซัง ดอร์จี อดีตโฆษกแห่งชาติถวายการต้อนรับ วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ นำคณะผู้บริหารขึ้นวัดตั๊กซัง
พระพรหมบัณฑิต มอบของที่ระลึกและสนทนากับ ฯพณฯ เชอริ่ง ทับเก นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน
ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้นำคณะผู้บริหารเดินทางขึ้นสู่วัดทักซัง หรือวัดถ้ำเสือตั้งซึ่งอยู่บนหน้าผาสูง ๙๐๐ เมตร ชายเขตเมืองปาโร วัดตักซังเป็นสถานที่แสวงบุญที่ชาวภูฏานเลื่อมใสศรัทธามากที่สุดแห่งหนึ่งในเขตหิมาลัยภายในเขตวัดมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่หลายแห่งซึ่งล้วนมีความเป็นมาเกี่ยวข้องบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของภูฐาน ในภาคค่ำได้เข้าร่วมพิธีการต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมประชุม ณ บริเวณพระราชวังเมืองปาโร หรือปาโรซอง โดยมี ฯพณฯ เชอริ่ง ทับเก นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน เป็นประธานกล่าวต้อนรับและมอบของที่ระลึกแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสนับสนุนการดำเนินการในการวัดความสุขมวลรวมประชาชาติภูฏาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีภูฏานกล่าววว่า “สมเด็จพระราชาธิบดีจิ๊กมี ซิงเย นัมเกล วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฐานได้ท้าทายการพัฒนากระแสหลักนับแต่วันที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ ในปี พ.ศ.๒๕๑๕ โดยประกาศปรัชญาการพัฒนาของประเทศที่มุ่งไปสู่ความสุข ของประชาชนในประเทศตามหลักพระพุทธศาสนาและประกาศใช้ "ความสุขมวลรวมประชาชาติ" (Gross National Happiness) หรือ จีเอ็นเอช (GNH) เป็นแนวทาง
จีเอ็นเอชครอบคลุมเนื้อหาสาระ ๔ ประการ หรือเรียกว่า "๔ เสาหลักของจีเอ็นเอช" ได้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน การส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรม การอนุรักษ์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและการใช้ธรรมาภิบาลในการปกครองประเทศนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันสังคมโลกต่างยอมรับในแนวทางการพัฒนานี้และขยายไปสู่นานาอารยะประเทศมากยิ่งขึ้นและหวังว่าการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ ณ เมืองปาโรครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยยึดหลักพระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของการพัฒนาต่อไป
พระพรหมบัณฑิต พร้อมคณะผู้บริหารเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมและกล่าวปาฐกถาพิเศษ
ในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ พระพรหมบัณฑิตพร้อมคณะได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม โดยมีท่านซัมตัน ดอร์จิ รินโปเช ผู้ช่วยสังฆราชฝ่ายการศึกษาเป็นประธาน จากนั้น พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้กล่าวปาฐกถาเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติเปรียบเทียบความสุขประเทศไทยกับภูฏาน โดยใช้หลักธรรมพัฒนาแบบสมดุลย์ ความว่า
สมเด็จพระราชาธิบดีจิ๊กมี ซิงเย นัมเกล วังชุก ซึ่งเป็นพระกษัตริย์พระองค์แรกที่แนะนำแนวความคิดเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติขึ้นในปี ๒๕๑๕ พระองค์เสนอแนวความคิดว่า ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) สำคัญมากว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(GNP)เพราะตรงกับหลักตามคำสอนในพระพุทธศาสนาที่สอนเรื่องความสุข ๔ประการคืออัตถิสุข สุขเกิดจากการมีทรัพย์, โภคสุข สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์, อณนสุข สุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ และอนวัชชสุข สุขเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษคือมีสัมมาชีพ
การพัฒนา ๔ ประการนี้ แสดงให้เห็นว่ามนุษย์ต้องพัฒนาสมดุลย์กันทั้งในทางด้านวัตถุและด้านจิตใจพร้อมกันตามหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา การเน้นความเป็นอยู่ดีทางด้านวัตถุ แต่ละเลยทางด้านจิตใจ ถือเป็นสุดโต่งด้านหนึ่งที่เรียกว่ายึดติดอยู่กับความสุขทางประสาทสัมผัส (กามสุขัลลิกานุโยค) และการเน้นความอยู่ดีทางด้านจิตใจ แต่ละเลยทางด้านวัตถุ ถือเป็นสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง ที่เรียกว่าทรมานตนเอง (อัตตกิลมถานุโยค) พระพุทธศาสนาได้สอนให้เราละเว้นที่สุดโต่งทั้งสองอย่าง และให้ปฏิบัติตามทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ให้มีการพัฒนาสมดุลย์กัน
ในประเทศไทยพระเจ้าอยู่หัวได้เสนอรูปแบบของการพัฒนาสมดุลย์ที่เรียกว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๗ ดังพระราชดำรัสว่า “การพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นต้องกระทำตามขั้นตอน เริ่มต้นด้วยการเสริมสร้างพื้นฐานอย่างพอเพียง โดยมั่นใจที่ประชากรส่วนใหญ่ของเรามีพอกิน” ซึ่งภูฏานและไทยต่างก็มีความคล้ายคลึงกันและหวังว่า
การประชุมครั้งนี้ จะเป็นเวทีให้เราได้ใช้ประสบการณ์และแลกเปลี่ยน เรื่องนโยบายความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH), และหลักเศรษฐกิจพอเพียง มาผสมผสานเป็นนโนบายนำไปสู่การพัฒนาสมดุลย์ต่อไป”
สำหรับการประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาตินี้ ประเทศไทย ได้เคยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๒๒-๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญที่ทางรัฐบาลราชอาณาจักรภูฏานได้จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระราชาธิบดีจิ๊กมี ซิงเย นัมเกล วังชุก ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ ๖๐ พรรษา ดังกล่าว
คณะผู้ร่วมเดินทางในการประชุมสัมมนาถ่ายภาพร่วมกับประธานจัดการประชุม
สมหมาย สุภาษิต รายงานจากเมืองปาโร ราชอาณาจักรภูฏาน
|