15ม.ค.2559 พระสรวิชญ์ อภิปญฺโญ,ดร. อาจารย์ประจำและหัวหน้าภาควิชาจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า ปัญหาการทำแท้งของวัยรุ่น ถือว่าเป็นปัญหาทางสังคมที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของวัยรุ่นในปัจจุบัน จากการรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง พบว่า การทำแท้งของวัยรุ่นมีวัตถุประสงค์หลักอยู่ ๒ ประการ คือ 1) ทำแท้งเพื่อการรักษา เป็นการทำแท้งแบบถูกกฎหมาย โดยแพทย์สามารถทำได้ตามที่กฎหมายระบุอนุญาตซึ่งจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าหากปล่อยให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปจะเป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต สุขภาพของมารดา เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง โรคเลือดโรคไตบางชนิดมารดาที่เป็นโรคจิตอยู่ก่อนการตั้งครรภ์หรือเป็นโรคจิตขณะตั้งครรภ์หรือการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นจากการข่มขืนกระทำชำเราในผู้เยาว์ต่ำกว่า 15 ปี 2) ทำแท้งผิดกฎหมายหรือทำแท้งเถื่อนซึ่งพบโดยส่วนมากมักกระทำโดย หมอเถื่อนหรือผู้ที่แอบอ้างว่าตนเองเป็นหมอ สาเหตุส่วนใหญ่ที่เกี่ยวโยงกับการทำแท้งของหญิงสาวผู้ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมจะมีบุตรนั้น เกิดจากการตั้งครรภ์เนื่องมาจากการไม่ได้ป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์และเมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ไม่ต้องการให้เด็กเกิดมาการตั้งครรภ์ในระหว่างที่ยังอยู่ในวัยเรียนการตั้งครรภ์โดยพ่อของเด็กไม่รับผิดชอบ เป็นต้น
จากการศึกษาของศูนย์สร้างเสริมสุขภาพวัยรุ่นของโรงพยาบาลรามาธิบดีประมาณการว่าจะมีวัยรุ่นทำแท้งถึงปีละ 3 แสนคนหรือวันละราว 1,000 คนซึ่งเป็นเรื่องน่ากลัวเพราะมันได้กลายเป็นค่านิยมใหม่ของวัยรุ่นยิ่งเมื่อถามความคิดเห็นต่อไปก็ยิ่งหนาว เพราะ 4.2% บอกว่าเคยคิดขายตัวและถ้าอนุมานกันจริงๆ ก็คาดว่ามีเด็กกว่า 15% คิดขายตัวเพราะมองว่าเรื่องนี้ไม่น่าตำหนิขณะเดียวกันกองโรคเอดส์ของกระทรวงสาธารณะสุขก็รายงานว่ากว่า 50% ของคนที่เป็นเอดส์เป็นวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-34 ปี และส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ขณะที่ สำนักวิจัยแอแบคโพล ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นอายุ 15-25 ปี จำนวน 1,627 คน พบว่า พฤติกรรมเชิงชู้สาวกับบุคคลเพิ่งรู้จักตามห้างสรรพสินค้า ผับและเธค กล่าวคือวัยรุ่น 40.2% ยอมรับให้จับมือและโอบเอวได้ และมี 13.9% ที่บอกว่ายอมรับได้ถ้าหากมีเพศสัมพันธ์กับคนที่เพิ่งรู้จักที่น่าตกใจคือบุคคลที่ตอบคำถามครั้งนี้ระบุว่าเคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์ถึง 24.4 % โดยกว่าครึ่งมีเพศสัมพันธ์มากกว่า 1 คน สิ่งที่น่าตกใจก็คืออดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล เคยทำวิจัยในประเด็นเดียวกันพบว่า เด็กนักเรียนไทยระดับมัธยมกว่า 50% มีเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะ "เซ็กซ์เอื้ออาทร"ระหว่างเพื่อนจนกลายเป็นคำนิยามของเด็กไทยแล้วในขณะที่อีกการวิจัยหนึ่งพบว่าผู้หญิง 29.9% เคยทำแท้งตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี 2.7% เคยทำแท้งขณะเป็นนักศึกษา 70.% มีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 20 ปี 5% มีเพศสัมพันธ์ก่อนอายุ 15 (ต่ำสุด 11 ขวบ) ในกลุ่มอายุ 15-23 ปี มีพฤติกรรมแลกเปลี่ยนคู่นอนเพิ่มมากขึ้น 50%
จากปรากฏการณ์ความรุนแรงของปัญหาการทำแท้งของวัยรุ่นดังกล่าว ทำให้หน่วยงานต่างๆทางสังคมต้องกลับมาศึกษาและหาแนวทางแก้ไขป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ที่ไม่พึ่งประสงค์ เพื่อป้องกันการทำแท้งของวัยรุ่นอย่างจริงจัง ผู้วิจัยจึงได้ทำการวิจัยเรื่อง "ปัจจัยจิตสังคมเชิงพุทธที่มีผลต่อการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำแท้งของวัยรุ่นในสังคมไทย" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการณ์และปัจจัยด้านสังคมเชิงพุทธต่อพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำแท้ง ศึกษาปัจจัยจิตสังคมเชิงพุทธที่มีต่อการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำแท้งของวัยรุ่น ตลอดทั้งทำการวิเคราะห์และเสนอปัจจัยด้านจิตสังคมเชิงพุทธที่มีต่อการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำแท้ง
ผลการวิจัยพบว่า วัยรุ่นที่ได้รับการปลูกฝังลักษณะทางพระพุทธศาสนาจากครอบครัวจะมีการปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาที่ดี แสดงให้เห็นว่าเมื่อบุคคลได้รับการปลูกฝังลักษณะทางพระพุทธศาสนาจะเป็นผู้ที่มีลักษณะทางพุทธสูงและมักจะเป็นผู้ที่ให้ความสนใจในพุทธศาสนา หลักธรรม คำสอน และสุดท้ายนำไปสู่การปฏิบัติด้วยตนเองซึ่งสะท้อนการได้รับการถ่ายทอดจากครอบครัวนั้นหมายความว่าหากรอบครัวหรือบิดามารดาได้ให้การปลูกฝังลักษณะทางพระพุทธศาสนาที่ดีต่อบุตรย่อมส่งผลต่อการสร้างเสริมลักษณะหรือพฤติกรรมของบุตรให้เป็นไปในแนวทางที่ดีเช่นเดียวกัน
ด้านการได้รับการปลูกฝังลักษณะทางพระพุทธศาสนาจากโรงเรียนและสังคมของวัยรุ่นในสังคมไทย พบว่า วัยรุ่นไทยได้รับการปลูกฝังลักษณะทางพระพุทธศาสนาจากโรงเรียนและสังคม โดยภาพรวม ในระดับปานกลาง เมื่อจำแนกเป็นรายข้อและเรียงตามลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย 3 ลำดับแรก ได้แก่ ระหว่างการเรียนครูมักจะสอดแทรกหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาแก่นักเรียนสม่ำเสมอ ผู้บริหาร ครู นักเรียนทุกคน ไปปฏิบัติศาสนกิจที่วัดเดือนละ 1 ครั้ง มีวัดเป็นแหล่งเรียนรู้ การที่ได้เข้าวัด ได้ฟังธรรม หรือการจัดกิจกรรมธรรมะในโรงเรียนช่วยทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามีศรัทธามากขึ้น
จากผลการศึกษาการปลูกฝังลักษณะทางพระพุทธศาสนาจากโรงเรียนและสังคมดังกล่าวหากพิจารณาในแง่ของสังคมแล้วจะพบว่าเป็นไปในลักษณะของการสนับสนุนทางสังคมให้วัยรุ่นมีความสามารถในการเผชิญกับปัญหาต่างๆ ทางสังคมและดำเนินชีวิตอย่างเข้มแข็งและถูกต้อง ซึ่งการสนับสนุนทางสังคมในลักษณะดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งดังในการศึกษาถึงปัจจัยทางครอบครัว และพฤติกรรรมทางสังคมของที่มีผลต่อการลาออกกลางคันของนักศึกษาอาชีวะเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ของภุมริน บุญทวี(2548)ซึ่งพบว่าการกล่อมเกลาทางสังคมมีอิทธิพลโดยตรงต่อความคิดของวัยรุ่นโดยเฉพาะในถ้าวัยรุ่นขาดความใกล้ชิดกับบิดามารดา ก็จะแสวงหาต้นแบบจากบุคคลอื่นดังนั้นการอบรมขัดเกลาเยาวชนจากโรงเรียนและสังคมจึงมีความสำคัญ ยิ่งหากเป็นการอบรมขัดเกลาด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดความเชื่อของวัยรุ่นด้วยแล้วยิ่งส่งผลให้วัยรุ่นมีความสามารถเผชิญปัญหามากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องเพศ
ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรที่ศึกษากับพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำแท้งของวัยรุ่นในสังคมไทย พบว่า ลักษณะจิตสังคมเชิงพุทธ มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำแท้งของวัยรุ่นในสังคมไทย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยการปฏิบัติตามหลักธรรมมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำแท้งของวัยรุ่นในสังคมไทยมากที่สุด
ผลการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ(Multiple Regression Analysis)เพื่อทำนายการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำแท้งของวัยรุ่นในสังคมไทย พบว่า ตัวแปรอิสระทั้ง 4 ตัวได้แก่ ความเชื่อทางพระพุทธศาสนา การปฏิบัติตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา(ศีล5) การปลูกฝังลักษณะทางพระพุทธศาสนาจากครอบครัว และการปลูกฝังลักษณะทางพระพุทธศาสนาจากโรงเรียนและสังคม ร่วมกันทำนายการลดพฤติกรรรมเสี่ยงต่อการทำแท้งของวัยรุ่นในสังคมไทยได้ร้อยละ 55.1 และเมื่อพิจารณาตัวแปรอิสระที่มีอำนาจในการทำนายการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำแท้งของวัยรุ่นได้ดีที่สุด คือ การปฏิบัติตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา (ศีล 5)
ที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20160115/220647.html
ขอขอบคุณ : ภาพ/ข่าว หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก