ระหว่างวันที่ ๑๘ -๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ณ วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน
พระมหา ดร.สุทิตย์ อาภากโร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในปี ๒๕๕๙ มีผลงานวิจัยที่ขึ้นชื่อว่าดีเด่นหลายเรื่อง ทั้งด้านศาสนา สังคม ประเพณี และวัฒนธรม แต่มีผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ขึ้นชื่อว่าสามารถนำไปปฏิบัติและใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน คือ “การศึกษาผลของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อระดับของความดันโลหิต” ของ ดร.จุฑามาศ วารีแสงทิพย์ เพื่อศึกษาผลของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีต่อระดับของความดันโลหิตและที่มีต่อระดับของสัญญาณชีพ
ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยกึ่งทดลอง โดยศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ในพระไตรปิฎก โดยใช้วิธีการของยุบหนอ-พองหนอ จากข้อมูลดังกล่าวจึงได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากผู้ปฏิบัติธรรม ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรม มจร.วังน้อย และศูนย์ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน นานาชาติ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสมัครใจตามคุณสมบัติที่กำหนด ได้แก่ พุทธศาสนิกชนที่มีอายุ ๑๗-๗๗ ปี ซึ่งมีความตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมดังกล่าว ที่สามารถเดินจงกรมและนั่งปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ในเวลาที่เท่าๆ กัน อย่างต่อเนื่องได้นาน ๓๐ นาที ๔๕ นาทีและ ๖๐ นาที ตามลำดับ ได้กลุ่มตัวอย่างรวมทั้งสิ้น ๖๕ คน วิธีการคือวัดความดันโลหิตและชีพจรก่อนการเดินปฏิบัติ และหลังการนั่งปฏิบัติ ในการวิเคราะห์ผลลัพธ์ของข้อมูล ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปในการหาค่าสถิติ โดยใช้การคำนวณหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และคำนวณค่าความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยใช้ T Test
ผลการศึกษาพบว่าก่อนเดินจงกรมและหลังนั่ง เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างละ ๓๐, ๔๕ และ ๖๐ นาทีตามลำดับ มีชีพจร (P) เฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ต่อมาเมื่อกลุ่มตัวอย่างก่อนเดินจงกรมและหลังนั่ง เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างละ ๔๕ นาที พบว่ามีค่า Pulse pressure (ผลต่างระหว่าง SBP และ DBP) เฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในที่สุดเมื่อกลุ่มตัวอย่างก่อนเดินจงกรมและหลังนั่ง เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างละ ๖๐ นาที พบว่ามีค่า SBP เฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุปและอภิปรายผล วิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ควรทำต่อเนื่องกันทั้งการเดินจงกรมและการนั่งสมาธิ โดยดูผลลัพธ์ที่สำคัญจากก่อนเดินจงกรมและหลังนั่ง เป็นระยะเวลาติดต่อกันดังกล่าวข้างต้น ทำให้มีการปรับอินทรีย์อย่างสมดุล เป็นผลทำให้สามารถลดการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก จนทำให้ชีพจร (P), SBP และ Pulse pressure ของผู้ปฏิบัติเฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ตามลำดับเวลาของการปฏิบัติ เริ่มต้นจากชีพจรที่ช้าลงก่อนและความดันโลหิตจึงลดลงตามมา ค่าที่ลดลงของความดันโลหิตที่ใกล้เคียง ๑๐ มม.ปรอทนี้ พบว่าสามารถลดอัตราการตายจากโรคหัวใจขาดเลือดได้อีกด้วย
องค์ความรู้ใหม่เหล่านี้เป็นการยืนยันผลของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานออกมาเป็นตัวเลขจากค่าความดันโลหิตและชีพจรที่ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าสามารถนำวิธีการปฏิบัตินี้ไปใช้กับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงให้สามารถใช้ยาได้น้อยลงหรือไม่ต้องใช้เลยในรายที่ความดันโลหิตสูงไม่มาก ทำให้ผลข้างเคียงของการใช้ยาน้อยลง และจะมีผลทำให้เศรษฐกิจมวลรวมของประเทศ และของโลกดีขึ้นอีกด้วย
ประกาศให้โลกได้รับรู้ประโยชน์แห่งวิปัสนากรรมฐาน
ในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา วงการแพทย์ตื่นตัวและให้ความสนใจอย่างจริงจังกับปัญหาความดันโลหิตสูง (Hypertension) และถือว่าภาวะดังกล่าวเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) ได้รวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี ๑๙๙๙-๒๐๐๔ พบว่าอุบัติการณ์ของภาวะความความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๒๘.๙ อีกทั้งยังเป็นการสูญเสียเงินเป็นจำนวนมากในการรักษาโรคนี้
ดร.จุฑามาศ เคยศึกษาวิจัยพบว่า ธรรมปฏิบัติด้วยวิธีการทำสมาธิโดยวิธีอานาปานสติภาวนา ซึ่งเป็นหลักการสอนที่สำคัญในพุทธศาสนา ทำให้ภาวะความซึมเศร้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและทำให้คุณภาพชีวิตในมิติทางด้านร่างกายของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และอัตราการหายใจในกลุ่มที่สวดมนต์ร่วมกับทำอานาปานสติสมาธิลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
โดยดูจากผลทางสถิติ คือก่อนเดินและหลังนั่ง เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างละ ๓๐ นาที ๔๕ นาที และ ๖๐ นาที มีค่าชีพจร (P) เฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ, ก่อนเดินและหลังนั่ง เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างละ ๔๕ นาที มีค่า Pulse pressure เฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และก่อนเดินและหลังนั่ง เป็นระยะเวลาติดต่อกันอย่างละ ๖๐ นาทีนั้น มีทั้งค่า ชีพจร (P) และ Systolic Blood Pressure เฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
จากผลการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าจะให้ผลดีที่สุดควรปฏิบัติทั้งระบบ คือการเดินจงกรมและนั่งสมาธิอย่างต่อเนื่องกันทั้ง ๓ เวลาดังกล่าว และสามารถนำผลการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงซึ่งมีอยู่จำนวนมากมาย
อย่างไรก็ตามผลงานการจัยของ ดร.จุฑามาศ กำลังจะได้รับตีพิมพ์เผยแพร่ในอเมริกา ซึ่งผลการวิจัยพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์ให้ชาวโลกเห็นว่า ผลของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ผลในการลดความดันโลหิตและชีพจรอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อได้ปฏิบัติทั้งเดินจงกรมและนั่งสมาธิติดต่อกัน ทำให้สามารถใช้ยารักษาในจำนวนที่น้อยลงทำให้เกิดผลข้างเคียงน้อยลงตามมา เป็นผลถึงค่าใช้จ่ายของประเทศไทยน้อยลง จึงทำให้เศรษฐกิจมวลรวมประเทศ และของโลกดีขึ้นตามมา
สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มจร.
สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มจร.ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๒ เพื่อเป็นอนุสรณ์เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ครบรอบ ๙๐ ปี มีภารกิจสำคัญคือ ดำเนินการวิจัยและพัฒนางานวิชาการ เพื่อสร้างองค์ความรู้ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอน เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ในพระไตรปิฎก โดยวิธีสหวิทยาการแล้วนำองค์ความรู้ที่ค้นพบมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาศีลธรรมและจริยธรรมของสังคม รวมทั้งพัฒนาคุณภาพงานวิชาการด้านพระพุทธศาสนา
พระมหา ดร.สุทิตย์ บอกว่า นโยบายเร่งด่วนของสถาบัน คือ สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์จะต้องเน้นการวิจัยตนเองเป็นหลัก เพื่อให้ทราบบทบาทและประสิทธิภาพของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต่อมาคณะอนุกรรมการยกร่างงานวิจัยจึงกำหนดโครงการวิจัยขึ้นมา ๓ โครงการ คือ
๑.ประสิทธิภาพการผลิตพระพุทธศาสตรบัณฑิต
๒.ศึกษาบทบาทและหน้าที่ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในทัศนะของอาจารย์ บัณฑิตพุทธศาสตรบัณฑิตและพระสังฆาธิการ
๓.ศึกษาติดตามผลผู้สำเร็จการศึกษาพุทธศาสตรบัณฑิต ปี ๒๕๒๘-๒๕๒๙
“สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ ดำเนินการพัฒนาโครงการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย คือ การพัฒนาการวิจัยทางพระพุทธศาสนาควบคู่กับศาสตร์สมัยใหม่เพื่อการพัฒนาจิตใจและสังคม” พระมหา ดร.สุทิตย์กล่าว
ที่มา; หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก 23 กุมภาพันธ์ 2559
ประสานงาน; ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ มจร