เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลก (International Council for the Day of Vesak) ประจำปี 2559 และประเทศไทยได้รับอนุมัติให้เป็นเจ้าภาพจัดงานฉลองวิสาขบูชานานาชาติ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมชาวพุทธนานาชาติในหัวข้อ “พุทธวิถีสู่สันติภาพโลก” ในระหว่างวันที่ 22-23 พ.ค.นี้ โดยการประชุมชาวพุทธนานาชาติเริ่มขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. ที่ มจร วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานเปิดงานและกล่าวสัมโมทนียกถาเปิดงานในช่วงเช้า และช่วงบ่ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกอาชวินทร์ เศวตเศรนี ผู้แทนพระองค์เป็นประธานเปิด โดยปีนี้มีประมุขสงฆ์ ผู้นำทางการเมือง และนักปราชญ์คนสำคัญทางพระพุทธศาสนาจาก 85 ประเทศทั่วโลกกว่า 2,000 รูป/คน เดินทางเข้าร่วมประชุม
และวันที่ 23 พ.ค.ผู้นำชาวพุทธที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้เดินทางไปร่วมประชุมต่อที่ศูนย์ ประชุมสหประชาชาติ โดยช่วงเช้าเป็นการอ่านสาร์นจากบุคคลสำคัญโดยมีพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดี มจร ประธานกรรมการดำเนินการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ เป็นผู้ดำเนินการ เริ่มจากสาร์นของนายบัน คีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า
การประชุมวิสาขบูชาโลกครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีในการเผยแพร่พระธรรมคำสอนในการ ช่วยสังคมโลก เพื่อจัดการกับปัญหาความท้าทายที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเสมอภาค ความยุติธรรม ความขัดแย้ง และพัฒนาการตอบสนองของโลกในภาวะเร่งด่วน Mr. Li Bing Wang ตัวแทนของ Irina Bokova เลขาธิการองค์การยูเนสโก โดยกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมสร้างความสัมพันธ์กันตั้งแต่วัยเยาว์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อ่านสาร์นของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยยกคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่อง อหิงสา การไม่เบียดเบียนกันและกัน ทางสายกลาง สัมมาวาจา พูดจาดีต่อกัน หลังจากนั้นผู้นำชาวพุทธจากประเทศต่างได้ขึ้นกล่าวถึงพุทธวิถีสร้างสันติภาพ โลก โดยเน้นเรื่องเมตตา ความรัก โลกทั้งผองคือพี่น้องกัน ต้องเปลี่ยนกลองในสนามรบมาเป็นกลองทัพธรรมเพื่อสันติภาพและความสมัครสมาน สามัคคีของทุกผู้ทุกคนในโลกนี้
การประชุมวิสาขบูชาโลกจบลงด้วยการอ่าน การปฏิญญากรุงเทพฯ 2559 การประชุมชาวพุทธนานาชาติ ครั้งที่ 13 เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ณ สำนักงานใหญ่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วังน้อย อยุธยา และศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยพระพรหมบัณฑิต ความว่า
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2542 ผู้แทน 34 ประเทศได้เสนอต่อที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติให้วันวิสาขบูชาซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคมเป็นวันสำคัญสากล ของโลก และขอให้มีการจัดงานฉลองที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและสำนักงานประจำ ภูมิภาคต่างๆ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติรับรองตามนั้น (ในสมัยที่ 54 วาระที่ 174 ) ดังนั้น วันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลกจึงได้ก่อกำเนิดขึ้นในปี 2543 ด้วยความร่วมมือของชาวพุทธทุกนิกาย
เพื่ออนุวัตรตามมติที่ประชุมสหประชาชาติ พวกเราจาก 85 ประเทศและภูมิภาค จึงได้มาร่วมกันฉลองวันประสูติ วันตรัสรู้ วันดับขันธปรินิพพาน ระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤษภาคม พ.ศ.2559 ดังเช่นหลายปีที่ผ่านมา งานฉลองจัดโดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลไทย ภายใต้ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมแห่งประเทศไทย
ผลมาจากการที่ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติได้มีมติกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็น วันสำคัญสากลของโลก ชาวพุทธทั่วโลกจึงร่วมกันจัดตั้งสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ให้มีสำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ ประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางให้ชาวพุทธนานาชาติจัดกิจกรรมการบูชาเนื่องในวัน วิสาขบูชา ผลมาจากสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกจัดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดมา คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ในช่วงประชุมสำคัญประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2556 จึงอนุมัติให้สภาสากลวันวิสาขบูชาโลกเป็นองค์กรที่ปรึกษาพิเศษ มีพันธกิจครอบคลุม 4 ด้านคือ การพัฒนาที่ยั่งยืน สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การศึกษา และกระบวนการสร้างสันติภาพ
การฉลองวันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลกปีนี้ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครองสิริราชสมบัติ ครบ 70 ปี และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันสวดมนต์ถวายพระพรชัยมงคล และตั้งจิตอธิษฐานขอให้ทั้งสองพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระพลานามัยแข็งแรง มีพระชนมายุยั่งยืนนาน และทรงพระเกษมสำราญชั่วนิรันดร์
ในช่วงที่มีงานฉลองวิสาขบูชานี้ พวกเราได้มาร่วมกันพิจารณาตามหัวข้อการประชุมใหญ่ว่าด้วยเรื่อง “พุทธวิถีสู่สันติภาพโลก”อันเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือร่วม กันระหว่างองค์กร และปัจเจกบุคคลต่างๆ จากพระพุทธศาสนาทุกนิกาย ควบคู่กับการจัดงานเสวนาทางวิชาการเรื่องการศึกษาแนวพุทธเพื่อสันติภาพ และคุณูปการของพระพุทธศาสนาต่อการรับผิดชอบสิ่งแวดล้อม
ในช่วงเปิดงานประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมได้ฟังปาฐกถาพิเศษ ที่เน้นให้เห็นความสำคัญของศีลธรรม การฝึกฝนจิตและองค์ความรู้ ตามแนวทางหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาเรื่องอริยมรรคมีองค์ 8 และวิเคราะห์เรื่องขันธ์ 5 และย้ำถึงบทบาทจำเป็นของความยุติธรรม ธรรมาภิบาล ความมั่นคงของปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน และชาติ ในฐานะเป็นองค์ประกอบของสันติภาพ
เมื่อเสร็จงานฉลองและงานประชุมที่ประสบผลสำเร็จแล้ว พวกเราได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ดังต่อไปนี้
1. สงครามเป็นเงื่อนไขทางด้านจิตใจ ดังนั้น ความสงบของโลกไม่สามารถตราเป็นกฎหมายบังคับได้ เมื่อสืบค้นหาสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งและความรุนแรงภายในจิตใจของพลโลก พบว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือที่ทรงพลัง ที่จะนำพามนุษยชาติไปสู่ความเป็นเอกภาพของมนุษย์ เศรษฐกิจโลกและความเป็นพลโลกเดียวกัน
ผู้เข้าร่วมประชุมได้อภิปรายและตกลงกรอบยุทธศาสตร์เชิงพุทธเพื่อสันติภาพโลก ที่เป็นไปได้อย่างกว้างขวางโดยทั่วไป ซึ่งมี ๓ ขั้นตอนสำคัญในการสร้างสันติภาพ กล่าวคือ การป้องกัน การแก้ไข และการฟื้นฟู ในการป้องกันความขัดแย้งผู้นำชาวพุทธเน้นถึงความสำคัญของสันติศึกษา ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งขึ้นแล้ว จะต้องมีการแก้ไขด้วยการเจรจาของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นภารกิจที่จำเป็นและรีบด่วน ข้อสุดท้ายถ้ามีปฏิบัติการรุนแรงเกิดขึ้น หรือมีสงครามเกิดขึ้น ต้องจัดให้มีการฟื้นฟู อย่างเป็นหน้าที่หลักของชาวพุทธ
2. ผู้เข้าร่วมประชุมตัดสินใจตกลงให้เผยแพร่ด้วยการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสากล ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกและผ่านการ ตรวจสอบรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญและผู้นำชาวพุทธ ๓ คณะ
3. ในการอภิปรายประเด็นเกี่ยวกับพุทธวิถีสู่สันติภาพ ผู้เข้าร่วมประชุมเน้นย้ำว่า การส่งเสริมสันติภาพและการไม่เบียดเบียนกัน เป็นลักษณะเด่นประการหนึ่งในคำสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนาสอนให้ใช้วิถีทางแก้ไขข้อขัดแย้งอย่างสันติระหว่างปัจเจกบุคคล ชุมชน ชาติ หรือสถาบัน ให้หลีกเลี่ยงการแข่งขันที่มากจนเกินเหตุ ให้ระงับความรุนแรงและการแสดงออกที่รุนแรงทุกรูปแบบ ดังนั้นพระพุทธศาสนาโดยทั่วไปเป็นเรื่องเดียวกันกับสันติภาพ เพราะพระพุทธศาสนาเชื่อมั่นในการเลือกอย่างเสรีของปัจเจกบุคคล ทั้งยังส่งเสริมความคิดและความเห็นที่หลากหลายของมนุษย์ รวมทั้งปฏิเสธการยัดเยียดความคิดให้คนอื่นๆ ดังนั้น ขันติธรรมจึงเป็นคำสอนหลักของทางพระพุทธศาสนา
4. ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความเชื่อมั่นว่า สันติ เมตตา กรุณา เป็นหลักคำสอนสากลที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนมากว่า 2,500 ปีแล้ว ยังคงใช้ได้กับทุกวันนี้ ความเข้าใจกัน ความเมตตาและกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นลักษณะเด่นของพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่มีปัญหาใดที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยปัญญาและความเพียรที่ถูกต้อง ปัญหาทุกอย่างไม่ว่าจะยุ่งยากและสลับซับซ้อนเพียงใด ก็มีวิธีแก้ไขอยู่ในตัวเองพระพุทธศาสนาสอนเรื่องความพอดี ทางสายกลาง ดังที่พระองค์ตรัสเรียกว่าเป็นวิถีชีวิตที่หลีกเลี่ยงหลุมพรางของความสุด โต่ง ความพอดีเป็นพื้นฐานของการที่ชาวพุทธปฏิบัติต่อคนอื่นๆและพวกเราหวังว่า จะป้องกันความเกินพอดีที่ปรากฏในโลกใบนี้
5. ในเรื่องคุณูปการของพระพุทธศาสนาต่อความรับผิดชอบสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิด สันติภาพโลก ได้รับการยอมรับว่า สวัสดิภาพของทุกชีวิต แม้ว่าดูเหมือนไม่มีความสำคัญก็ตาม ให้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญในด้านจิตใจ และเราควรต้องใส่ใจกับสิ่งที่มีชีวิตทั้งมวล ไม่ใช่เพื่อคนรุ่นเราเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงคนรุ่นต่อๆ ไป
6. เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมชาวพุทธทั่วโลกมีความเข้าใจกันและพัฒนาร่วมกันตาม พุทธวิถี ผู้เข้าร่วมประชุมมีมติว่า วันเพ็ญเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นวันฉลองวิสาขบูชาที่สำนักงานใหญ่และสำนักงาน สาขาตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนดนั้น เป็นวันสวดมนต์และปฏิบัติกรรมฐานของชาวพุทธทั่วโลก
7. ผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมกันสนับสนุนมาตรฐานโลกที่ตั้งขึ้นใหม่ ตามกรอบสหประชาชาติเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงที่ได้ผ่านการรับรอง แล้ว ในระหว่างการประชุม คอป 21 ณ กรุงปารีส เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และได้มีผู้ลงนาม จำนวน 177 ราย 17 พรรค และ 15 สัตยาบัน
8. ด้วยตระหนักถึงความมีน้ำใจ และบทบาทสำคัญที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดงานวันวิสาขบูชาโลกตลอดหลายปี ที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความเห็นชอบและสนับสนุนให้ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยม ประชาธิปไตยศรีลังกาเป็นเจ้าภาพจัดงานวันวิสาขบูชาโลกประจำปี 2560 ที่ประเทศศรีลังกา
ปฏิญญากรุงเทพฯเนื่องในวันวิสาขบูชานานาชาติครั้งที่ 13
ประกาศ ณ วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2559