ข่าวมหาวิทยาลัย |
มหาจุฬาพร้อมทะยานสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธโลก | ||
วันที่ ๒๒/๐๓/๒๐๑๗ | เข้าชม : ๘๐๔ ครั้ง | |
"แรกเริ่มเดิมทีเราไม่ได้มุ่งมาตรปรารถนาที่จะเป็นศูนย์การศึกษาพุทธโลก แต่เพราะบริบทและประวัติศาสตร์การจัดศึกษาของสถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาทั่วโลก พยายามแสวงหาสถาบันการจัดการศึกษาด้านพระพุทธศาสนาที่เป็นระบบ ทั้งการผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และความพร้อมของมหาจุฬาฯ จึงเป็นที่มาของจัดตั้งสมาคมวิสาขบูชาโลก และสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ มหาจุฬาฯ วังน้อย โดยอธิการบดี มหาจุฬาฯ เป็นประธานของทั้งสองสมาคม นี่คือเหตุผลว่า เพราะเหตุใด? ประเทศไทยจึงเป็นศูนย์กลางพุทธโลก และมหาจุฬาฯ จึงต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาโลก" ศ.ดร.พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี ย้ำเตือนให้ทีมงานจัดทำแผนพัฒนาวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ได้ทราบถึงที่มาของการเป็นศูนย์พระพุทธศาสนาโลก
13 มีนาคม 2560 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาจุฬาฯ วังน้อย: ศ.ดร.พระพรหมบัณฑิต ได้เปิดเผยถึงสถานะการเป็นศูนย์กลางพุทธโลก และศูนย์กลางการศึกษาพุทธโลก ให้ทีมงานจัดทำแผนพัฒนาวิทยาลัยพุทธศาสตร์ มหาจุฬาฯ ซึ่งเป็นทีมมันสมอง (Think Tank) ได้มองเห็นพัฒนาการของมหาจุฬาฯ ตั้งแต่ยุค 1.0 การเริ่มจัดตั้ง ยุค 2.0 การได้รับรองวิทยสถานะ ยุค 3.0 การได้รับ พรบ. และยุค 4.0 การเข้าสู่ความเป็นนานาชาติ และตั้งแต่ ปี 50 เป็นต้นมาคือยุคที่มหาจุฬาฯ ได้เข้าสู่การจัดการศึกษาในระดับนานาชาติอย่างเต็มตัว จึงได้เตรียมสถานที่ 80 กว่าไร่ รองรับภารกิจมหาจุฬาฯ 4.0 เอาไว้ การดำเนินการพัฒนามหาจุฬาฯ ตามทิศทางการพัฒนาประเทศ 4.0 คือ คือต้องเน้นพัฒนาคุณค่าเด่นด้านวัฒนธรรมที่มหาจุฬาฯ มี คือ ภูมิปัญญาด้านศาสนา โดยการนำมิติด้านการปฏิบัติกรรมฐาน ด้านสันติภาพ ไปนำเสนอแก่ชาวโลก ฉะนั้น ความเป็นอินเตอร์จึงมิได้มุ่งไปจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น หากแต่อยู่ที่การเปิดหลักสูตรให้กลุ่มคนหลากเชื้อชาติ หลากภาษา หลากวัฒนธรรม ได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ร่วมกัน จากแนวทางดังกล่าว Road Map ที่จะนำมหาจุฬาฯ ไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับโลก (World-Class Buddhist Education Institution) ได้นั้น ต้องดึงพลังของ ICDV, IABU, UN, UNESCO, สถาบันสมทบ สถาบันภาษา สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ เข้ามาช่วยเสริมแรงการพัฒนาวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ โดย IBSC ต้องดำเนินการในสิ่งต่อไปนี้ คือ (1) เปิด หลักสูตร International Program ในระดับ BA เน้นคัดเลือกนิสิตทั้งไทยและต่างประเทศที่มีศักยภาพมาเรียนร่วมกัน (2) เปิดหลักสูตรปริญญาโท และเอกที่โลกกำลังต้องการในสาขา Peace Studies, ASEAN Studies, Mindfulness and Meditation (3) ดึงนักวิชาการ และนักวิจัยทั่วโลก มาสอนและและวิจัย เพราะมหาจุฬาฯ คือ สถานที่ชุมนุมของนักปราชฌ์ทั่วโลกที่เดินทางมาร่วมงาน ICDV และ IABU พระพรหมบัณฑิต ย้ำก่อนจบว่า "การทำงานนานาชาติต้องมีใจกว้าง" การมีจิตใจที่กว้าง คือ การสะท้อนความเป็นอินเตอร์ หรือความเป็นนานาชาติ ดังนั้น การเข้าไปช่วยสนับสนุนสถาบันสมทบ หรือองค์การศึกษาด้านพระพุทธศาสนา และเปิดพื้นที่ให้มีการศึกษาและแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนามหายาน และวัชรยานร่วมกัน ที่สำคัญการสนับสนับให้ IBSC ทำงานได้ คือการเปิดพื้นที่ให้มหาจุฬาฯ ไปสู่นานาชาติได้ การปิดโอกาส IBSC คือ การปิดโอกาสของมหาจุฬาฯ ที่จะไปสู่ศูนย์กลางการศึกษาพุทธโลกตามวิสัยทัศน์ของมหาจุฬาฯ
นอกจากนี้ ในช่วงเช้านั้น พระราชวรเมธี,ดร. รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เป็นประธานในการเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และกล่าวนำไปสู่การเปิดพื้นที่พูดคุยของวิทยากร ทั้ง 4 ท่าน กล่าวคือ พระราชปริยัติกวี รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รศ.นพ.พิทยา จารุพูนผล คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกนก สุดประเสริฐ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ |
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||