มส.ตอบโจทย์"ทำไม?!?โลกนี้ต้องมี มจร"
มส.ตอบโจทย์"ทำไม?!?โลกนี้ต้องมี มจร"
พระพรหมบัณฑิตตอบโจทย์"ทำไม?!?โลกนี้ต้องมี มจร" มุ่งพัฒนามหาวิทยาลัยหวังลดความขัดแย้งและสร้างสังคมไทย ยุค 4.0 อย่างยั่งยืน เร่งปั้นผลงานคณาจารย์ให้เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการบริการสังคม
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2560 พระมหาหรรษา ธัมมหาโส,รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและหลักสูตรสันติศึกษา เปิดเผยว่า วันนี้(28มิถุนายน) ที่สถาบันภาษา มจร พระพรหมบัณฑิต, ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดี มจร ได้กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ ในโอกาสครบรอบ 5 ปีของการจัดตั้งสถาบันภาษา เพื่อพัฒนามหาจุฬาฯ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนานานาชาติ โดยย้ำว่า สถาบันภาษาคือสะพานที่ทอดเดินเพื่อเชื่อมโยงไปสู่วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ ทั้งนี้ คำถามสำคัญที่อธิการบดีได้ตั้งคำถาม และตอบเอง คือ "ทำไม?!? โลกนี้จึงต้องมี มจร"
1.คำตอบระยะแรกเริ่มของการเกิดขึ้นของมหาจุฬาฯ คือ สถาบันการศึกษาเพื่อคนด้อยโอกาส คนชายขอบ และคนเล็กคนน้อยทั้งหลายที่พลาดโอกาสทางการศึกษา จึงหันหน้าเข้าสู่รั้วของ มจร ตัวอย่างสำคัญ คือ ผู้บริหารยุคแรกๆ ของมหาจุฬาฯ จนถึงรุ่นกลาง ที่เป็นอธิการบดี รองอธิการบดี คือกลุ่มที่พลาดโอกาสทางการศึกษาที่รัฐไม่สามารถจัดได้อย่างทั่วถึง จึงหันหน้าเข้าสู่การศึกษาที่จัดโดยคณะสงฆ์ตามวัดต่างๆ ก่อนที่จะใช้เป็นสะพานทอดเดินเข้าสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่จัดโดยมหาจุฬาฯ แต่ปัจจุบันนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยชุมชนได้เข้ามาร่วมทำหน้าที่รองรับในจังหวัดต่างๆ อย่างทั่วถึง คำถามตามมาก็คือ มหาจุฬาฯ จะเดินหน้าพัฒนาตัวเองอย่างไร?!?
2.คำตอบระยะที่สองของการเกิดขึ้นของมหาจุฬาฯ ในยุคไทยแลนด์ 4.0 คือ บทบาทและหน้าที่หลักของการที่โลกจำเป็นต้องมีมหาจุฬาฯ ก็เพื่อให้มหาจุฬาฯ เน้นจัดการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม โลกนี้มีศาสตร์ต่างๆ มากมาย และศาสตร์เหล่านั้น มหาวิทยาลัยทางโลกก็มีจุดเน้นที่โดดเด่นแต่ละด้านเป็นลักษณะที่สะท้อนความเป็นตัวตนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ธรรมศาสตร์ หรือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คำถามที่มีต่อมหาจุฬาฯ คืออะไร?!? มหาจุฬาฯ มิได้มีหน้าที่ไปจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศดังเช่นที่มหาวิทยาลัยเหล่านั้นดำเนินการกันอยู่ แต่หน้าที่หลักคือเน้นศึกษาพระพุทธศาสนา แล้วบูรณาการพระพุทธศาสนาให้เข้ากับศาสตร์เหล่านั้นให้ได้ หากมหาจุฬาฯ ทำหน้าที่ในจุดนี้ไม่ได้ โลกนี้ก็ไม่จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการมีมหาจุฬาฯ
"การถามเองและตอบเองของพระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดีมหาจุฬาฯ ย่อมส่งผลต่อการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะที่ 12 (2560-2564) ของมหาจุฬาฯ รวมไปถึงการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ ว่าจะกำหนดกรอบการพัฒนาให้เดินหน้าไปในทิศทางใด จึงจะทำให้การดำรงอยู่ของมหาจุฬาฯ สามารถตอบโจทย์โลกวัตถุนิยมที่กำลังขัดแย้งและสร้างความรุนแรง และสังคมไทย ยุค 4.0 ได้อย่างยั่งยืน การอยู่รอดหรือการเสื่อมสลายของมหาจุฬาฯ จึงขึ้นอยู่การตอบโจทย์ดังกล่าว" พระมหาหรรษา กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตามระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2560 ได้ปฏิบัติหน้าที่รักษาการในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ เป็นประธานในการเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "เทคนิคการสร้างผลงานเพื่อสู่ตำแหน่งทางวิชาการ" ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยมีพระมหาธิติ อนุภทฺโท ผู้อำนวยการกองวิชาการกล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ในการกิจกรรมครั้งนี้ ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้มีคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมรับการพัฒนาเทคนิคการสร้างผลงานกว่า 75 รูป/คน คาดว่า หลังการสัมมนาฯ คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยจะนำเทคนิคที่ได้รับไปพัฒนาผลงานทางวิชาการ เพื่อเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการในระดับที่สูงขึ้น อีกทั้งจะทำให้นิสิตได้รับประโยชน์จากตำรา และหนังสือวิชาการสำหรับการศึกษาค้นคว้าได้อย่างลึกซึ้งต่อไป
ทั้งนี้ในแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฉบับที่ 11 (2555-2559) ยุทธศาสตร์ที่ 1 ว่าด้วยการผลิตบัณฑิต และการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและมาตรฐานนั้น ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ กลยุทธ์ที่ 2 เน้นพัฒนาและสร้างศักยภาพของอาจารย์ให้มีความรู้ความสามารถในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ มาตรการ ข้อ 2.3 ส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยวางเป้าหมายเชิงปริมาณว่า ในปี 2559 ต้องมีคณาจารย์ที่เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ 37% แต่ในความเป็นจริง ขณะนี้ มหาจุฬาฯ มีคณาจารย์เข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการอยู่ที่ 27% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายถึง 10%
"จากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ทีมงานสายวิชาการนำโดยพระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และอาตมา ในฐานะผู้กำกับนโยบายด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย ได้กระตุ้นให้ จัดโครงการ "เทคนิคการสร้างผลงานเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ" โดยการเชิญคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยเน้นกลุ่มที่จบปริญญาเอกและบรรจุตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำเกิน 2 ปี แต่ไม่ยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ให้เข้ารับการพัฒนาเทคนิคการสร้างผลงานทางวิชาการ ทั้งนี้ ได้เชิญ รศ.สุเทพ ลิ่มอรุณ และคณะจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเป็นวิทยากรให้การพัฒนาเทคนิคดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 วัน" ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร ระบุ
ที่มา : http://www.banmuang.co.th/news/education/84314
ขอขอบคุณ : ภาพ/ข่าว จาก เว็บไซตข่าว บ้านเมือง |