วันที่ 14 มิ.ย.2561 พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) พร้อมด้วยพระราชปริยัติกวี รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร เดินทางไปที่สถานเอกอัครราชทูตฮังการี ถนนวิทยุ กทม. เพื่อเป็นพยานในการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง มจร กับวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกท ประเทศฮังการี ซึ่งมี ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา(สกอ.) เป็นผู้ลงนามข้อตกลง ฝ่ายประเทศไทย ดร. ปีเตอร์ ยาคอป เอกอัครราชทูตฮังการี ประจำประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ฝ่ายประเทศประเทศฮังการี
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษาและผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร เปิดเผยว่า พระพรหมบัณฑิต ย้ำมาโดยตลอดว่า "การมีมหาจุฬาฯ ไม่ใช่เพื่อมหาจุฬาฯ แต่การมีมหาจุฬาฯ เพื่อตอบปัญหาหรือทุกข์ของชาวโลก" วันนี้ มหาจุฬาฯจึงอยู่เหนือคำว่า พื้นที่ เขตแดน ภาษา ชาติพันธุ์ และประเทศ การลงนาม MoU ที่สถานทูตฮังการี โดยมีนายสุภัทรเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยและนายปีเตอร์เป็นผู้แทนรัฐบาลฮังการี
"จึงเป็นการเปิดขอบฟ้าของนำพระพุทธศาสนาเข้าสู่ยุโรปอย่างเป็นทางการ โดยผ่านประตูของมหาวิทยาลัยธรรมเกท ปูดาเปสต์ ฮังการี อย่างเป็นทางการ โดยมีรัฐบาลของประเทศทั้งสองเข้ามารับรู้และร่วมผลักดัน 10 ปี บนเส้นทางสายนี้ สายที่นำพระพุทธศาสนาสู่ทวีปยุโรปอย่างเต็มภาคภูมิ และนี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไม?!?! จึงต้องมีมหาจุฬาฯ การรักษามหาจุฬาฯ จึงเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาพระพุทธศาสนาเพื่อส่งต่อพุทธปัญญาแก่ชาวโลกต่อไป" พระมหาหรรษา ระบุ
ที่มา : https://siampongsnews.blogspot.com/2018/06/blog-post_20.html
ขอขอบคุณ : ภ่าพ/ข่าว เว็บไซต์ข่าว siampongsnew