ข่าวประชาสัมพันธ์
อธิการบดีมหาจุฬาย้ำ สมานฉันท์คือทางออกของความขัดแย้ง
19 มี.ค. 50 | ข่าวมหาวิทยาลัย
733
ข่าวมหาวิทยาลัย
อธิการบดีมหาจุฬาย้ำ สมานฉันท์คือทางออกของความขัดแย้ง
วันที่ ๑๙/๐๓/๒๐๐๗ เข้าชม : ๑๑๒๓๙ ครั้ง

         สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 มี.ค.)  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและเครือข่ายอุดมศึกษาภาคกลางตอนล่าง จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "สมานฉันท์ : ทางออกของความขัดแย้งในสังคมไทย" โดยพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สังคมไทยเกิดความขัดแย้ง และทางออกของความขัดแย้งก็คือความสมานฉันท์ จึงต้องช่วยกันหาวิธีนำสันติเข้าบ้านเพื่อให้เกิดความรุ่งโรจน์ ร่ำรวย ตามมาแก่ประเทศ การสัมมนาวันนี้จึงหวังให้เกิดทางออกที่จะสร้างสันติให้สังคมไทย

         ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "สมานฉันท์ให้สังคมสันติสุขภายใต้วิกฤติชาติอย่างไร" ตอนหนึ่ง ว่า สันติภาพจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีความยุติธรรม โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น ต้องสร้างความไว้วางใจต่อกัน และสำคัญที่สุดต้องฟังกัน วิธีการที่ดี คือการเจรจาไกล่เกลี่ย

         "สังคมไทยปัจจุบันกำลังเผชิญกับความขัดแย้งกันเอง  เป็นภัยที่รุนแรงกว่าอื่นๆ เมื่อหาทางออกไม่ได้ ก็จะใช้ความรุนแรงเหมือนปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ จึงต้องสร้างความไว้วางใจ ความเป็นธรรมเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ จากการวิจัยพบว่ากลุ่มนักโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษจะมีจิตสำนึกไม่กลับไปทำผิดซ้ำอีก ขณะที่กลุ่มนักโทษที่ต้องโทษและชดใช้โทษจนครบ จะมีโอกาสกลับไปทำผิดอีกมากกว่า เพราะเชื่อว่าตัวเองได้ชดใช้โทษเก่าไปแล้ว" ศ.นพ.วันชัย กล่าว

         ด้าน พระธรรมกิตติวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม และราชบัณฑิต กล่าวว่า เวลานี้สังคมไทยต่างก็ยอมรับแล้วว่า เป็นสังคมที่ขัดแย้ง ในทัศนะของสงฆ์ เห็นว่า คำว่าสมานฉันท์ที่มีการพูดกันอยู่เสมอ เป็นเพียงคำพูดที่ติดปาก แต่ยังไม่มีการนำมาใช้อย่างจริงใจและจริงจัง คนที่มีเวรต่อกันพูดกันอย่างไรก็ไม่รู้เรื่อง จนกว่าจะตัดเวรต่อกันให้ได้ก่อน ความสมานฉันท์จึงจะสำเร็จ ที่สำคัญคือต้องให้อภัย ไม่คิดกันว่าเป็นศัตรู มีปิยวาจาต่อกัน ไม่พูดร้ายด้วยอารมณ์ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และการวางตัดให้เหมาะสม เคารพผู้ใหญ่ และรู้จักผ่อนปรน ตราบใดที่ความสมานฉันท์ยังเป็นเพียงอุดมการณ์ หรือข้อเรียกร้อง รับรองไม่เกิดขึ้นแน่นอน  จึงต้องการให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความสมานฉันท์อย่างมีโครงสร้าง รายละเอียด วัตถุประสงค์และวิธีปฏิบัติ โดยยึดศาสนธรรม น้อมนำพระบรมราโชวาทมากำหนดยุทธศาสตร์

         ขณะที่ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวว่า การทำงานของกองทัพเป็นกองทัพที่ดีไม่ใช่กองทัพป่าเถื่อน และยึดถือเสมอว่าการใช้กำลังเป็นหนทางสุดท้าย หากเจรจาได้ก็ให้เจรจาก่อน ทางออกที่สมานฉันท์ทางทหาร คือ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สิ่งที่ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายขณะนี้ เพราะคนไทยลืมพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่า "บ้านเมืองเรามีทั้งคนดีคนไม่ดี แต่ต้องไม่ให้คนไม่ดีขึ้นมาปกครองประเทศ" ยืนยันว่า ผู้ที่เข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมืองอยู่ขณะนี้ ต้องการทำเพื่อชาติบ้านเมืองจริงๆ และต้องการให้ข้าราชการหันมาทำงานเพื่อบ้านเมือง เลิกประจบสอพลอ เราเป็นทหารรุ่นใหม่ ทหารประชาธิปไตย และยึดหลักความจริง การตรวจสอบขั้วอำนาจเก่า ก็ใช้กฎหมาย ไม่ได้ใช้อำนาจเข้ามายึด ใครทำกรรมไว้ก็ต้องถูกตรวจสอบ ยืนยันไม่ใช่นักรบที่ป่าเถื่อน และไม่เคยทำอะไรที่สกปรก  ตนขอฝากไปถึงนักการเมืองรุ่นเก่า ขอให้วางมือ และมาขอพระราชทานอภัยโทษให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานให้ชาติแทน

         ส่วน นายโคทม อารียา ประธานที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การสร้างความสมานฉันท์ไม่ใช่แค่หน้าที่ของรัฐบาล แต่ทุกคนต้องร่วมกัน โดยเฉพาะปัญหาภาคใต้ ตนอยากเห็นภาคใต้เป็นเขตพัฒนาพิเศษด้านการศึกษาและความยุติธรรมด้วย นอกเหนือจากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น แนวทางสร้างความสมานฉันท์ ต้องอดทน และยึดมั่นที่จะทำให้ได้ ต้องสร้างความร่วมมือในชุมชน พื้นที่ต่างๆ ให้เกิดขึ้นให้ได้ โดยเฉพาะปัญหาการแบ่งแยกขั้วอำนาจเก่า ขั้วอำนาจใหม่ เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่ลงรอยกันและไม่สามารถสร้างความสมานฉันท์ได้

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  (17/03/50)


แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
Print This Page    Sent to Friend
แสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ในโครงการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ระดับปริญาตรี ประจำปี การศึกษา ๒๕๖๗ มจร
    20 ธ.ค. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    103
  • พิธีประสาทปริญญา ประจำปี ๒๕๖๗ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
    12 ธ.ค. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    205
  • ข้อปฏิบัติในการเข้ารับประทานปริญญาบัตร ในพิธีประสาทปริญญา
    25 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    527
  • พระสุธีรัตนบัณฑิต, รศ.ดร. คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพและศักยภาพการปฎิบัติงานของบุคลากรการแข่งขันกีฬา "มหาจุฬาอโยธยาเกมส์"
    22 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    399
  • พระพรหมวัชรวิมลมุนี วิ., รศ.ดร. ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระ สนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพและศักยภาพการปฎิบัติงานของบุคลากรการแข่งขันกีฬา "มหาจุฬาอโยธยาเกมส์"
    22 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    374