ข่าวประชาสัมพันธ์
สันติศึกษา : การศึกษาอันพึงประสงค์ของคณะสงฆ์
24 ก.ย. 62 | ข่าวมหาวิทยาลัย
1402

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่าน ผมได้รับเกียรติจากโครงการสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เชิญให้ไปร่วมงานสัมมนาวิชาการงานวันสันติภาพสากล (International Day of Peace) ภายใต้หัวข้อเรื่อง "สติและสมาธิ วิถีสู่สันติภาพ" มีผู้คนนอกมหาวิทยาลัยมาร่วมงานคับคั่งมากมายหลายตา เช่น ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา บุคคลผู้สร้างชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก จากการเป็นผู้คิดค้นระบบควบคุมการลงจอดบนดาวอังคารของยานอวกาศไวกิ้ง 2 ลำ เมื่อปี ค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโลกมนุษย์และของประเทศไทย, ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาบรรยายหัวข้อเรื่อง "Mindful Digital : Changing Our life Changing the world : สติดิจิทัล : เปลี่ยนชีวิตเปลี่ยนโลก" นอกจากนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษาโครงการสันติศึกษาของ มจร. และมีซุ้มนิทรรศการของนักเรียนที่จัดแสดงได้อย่างสวยงาม ภายในงานนี้เน้นธีม “สติ สันติ” มีคุณค่าต่อตัวเอง สังคม และสัมโลกอย่างไร

เรื่องสันติศึกษา สถาบันการศึกษาไทยเปิดสอนเท่าที่รู้มีไม่กี่แห่ง เช่น สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหามหิดล สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งสองสถาบันนี้เป็นส่วนงานเทียบเท่าคณะ ๆ หนึ่งของมหาวิทยาลัย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เคยเห็นหากจำไม่ผิดชื่อ “ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง” แต่คิดว่าคงไม่ได้เปิดหลักสูตรศึกษาอย่างจริงจังดัง 2 มหาวิทยาลัยข้างต้น

ในวงการการศึกษาของคณะสงฆ์บทบาทตรงนี้ หลายปีมานี้เห็นชัดและกำลังได้รับความนิยมจากคนภายนอกที่เป็นฆราวาสมาเรียนกันมากก็ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นี่แหละทั้งๆ ที่เรื่อง สันติศึกษา เป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทยและเช่นเรื่องเรื่องสันติ เคยเป็นบทบาทเดิมๆ ของพระสงฆ์ด้วยซ้ำไป ซึ่งในอดีตความขัดแย้งทั้งในระดับชุมชน ทั้งในระดับตำบล พระสงฆ์ล้วนมีส่วนช่วยในการไกล่เกลี่ยเสมอมา ตอนหลังๆ รัฐไทยรวบอำนาจขึ้น การศึกษาไทยแผ่ขยายกว้างขึ้น บทบาทตรงนี้ของเจ้าอาวาส ของพระสงฆ์ที่มีบารมีในชุมชน ในหมู่บ้านก็ถูกลดบทบาทลง พระสงฆ์จึงถูกลดบทบาทเหลือเพียงแต่ “สร้างสันติภาพภายใน” คือ นั่งสมาธิเท่านั่น ในขณะที่เรื่องภายนอกวัดให้ “ฝ่ายบ้านเมือง” จัดการเอง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนานาชาติจะมีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ (UN) เพื่อเป็นองค์กรไกล่เกลี่ย สร้างสันติภาพในโลกแล้ว สิ่งหนึ่งที่หลายประเทศพยายามทำก็คือ การให้ความรู้เรื่องสันติศึกษา เรื่องการรับรู้ภัยแห่งความขัดแย้ง ภัยแห่งสงคราม ควบคู่กันไป โดยนำบทเรียนจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 นำมาเป็นบทบทเรียนให้มนุษยชาติรับรู้ถึง “ความร้ายกาจของความขัดแย้ง” อันเป็นศัตรูตัวฉกาจของ “สันติวิถี”

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยบางคนบางรูปในสถาบันอันเป็นที่รักของผม บางทีก็หลงทางไปเปิดการเรียนการสอนไปเน้น “หลักสูตรแข่งขันกับมหาวิทยาลัยฆราวาส” โดยลืม “รากเหง้า” ของตัวเองว่าก่อตั้งและเกิดขึ้นมา “เพื่ออะไร” ซ้ำบางคนก็ลืมไปว่า “ตัวเองคือคนวัด” ลืมเน้นว่า “ตัวตนที่แท้จริงของตัวเองคืออะไร” อะไรคือ จุดแข็ง อะไรคือ จุดขาย อะไรคือ จุดเด่น และอะไรคือ สิ่งจำเป็นต่อสังคมพระสงฆ์

เมื่อเราเชื่อว่าสังคมไทยตั้งอยู่บนฐาน “พหุวัฒนธรรม” คือ เป็นสังคมที่ประกอบด้วยหลากหลายชาติพันธุ์ หลากหลายศาสนา หลายหลายวัฒนธรรมประเพณี “การอยู่ร่วมกันได้บนฐานของความแตกต่างทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนาและความเห็นต่าง” สันติศึกษาน่าจะตอบโจทย์ตรงนี้ได้

สังคมไทย สังคมสงฆ์ในอนาคต ผมคิดว่า “พระสงฆ์ต้องนำบทบาทเดิมกลับมา” การไกล่เกลี่ย การแก้ข้อพิพาท การเข้าไปมีบทบาทในการลดความขัดแย้งในสังคมในชุมชนมันเป็นเรื่องจำเป็นสำคัญพระสงฆ์ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ทั้งเรื่องสันติศึกษา ทั้งเรื่องหลักกฎหมาย หลักรัฐศาสตร์ พระสงฆ์ต้องครบเครื่อง มิเช่นนั้น การปฎิรูปคณะสงฆ์ที่มหาเถรสมาคมวางเป้าไว้ว่าให้ “วัดเป็นศูนย์กลาง” ก็จะเหลือแค่ “ศูนย์กลางแห่งพิธีกรรม” ปฎิรูปไปปฎิรูปมาหลงทางเช่นเดิม.

..................................

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย “เปรียญ10” : riwpaalueng@gmail.com...
อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/article/733163

แสดงความคิดเห็น