ข่าวประชาสัมพันธ์
สมเด็จพระสังฆราช เสด็จไปเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 18
02 มิ.ย. 66 | ข่าวมหาวิทยาลัย
432

เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 18 เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก”

วันนี้ (1 มิ.ย. 66) เวลา 09.00 น.ที่อาคารหอประชุม มวก.48 พรรษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 18 เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” โดยมี พระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม อุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประธานสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก และประธานสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ  พระเถรานุเถระ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หัวหน้าส่วนราชการ และพุทธศาสนิกชนจากทั่วโลก ร่วมพิธี โดยได้รับเกียรติจาก นายดิเนช คุณวาระเดนะ (H.E. Dinesh Gunawardena) นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” ในครั้งนี้ด้วย


การนี้ เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานสัมโมทนียกถาเปิดงาน ความโดยสรุปว่า “พระพุทธศาสนา” เป็นศาสนาอเทวนิยม มุ่งเน้นสั่งสอนว่าสิ่งทั้งหลายล้วนมีเหตุปัจจัยในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปหาใช่เกิดจากการดลบันดาลของอำนาจลี้ลับเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด เพราะฉะนั้น ถ้าท่านพิจารณาถึงอริยสัจสี่ ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ และทรงพระมหากรุณาประทานให้แก่เราทั้งหลายผู้เป็นพุทธบริษัท ได้ศึกษาใคร่ครวญ และน้อมนำไปเป็นวิถีทางแห่งการรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ นั้น ย่อมเห็นประจักษ์ได้ว่า ถ้าต้องการไม่ให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สรรพสัตว์ทั้งหลายคงมีทางเลือกสองทาง กล่าวคือ กําจัดเหตุ 1 และกําจัดเงื่อนไข 1 เมื่อทําได้ดั่งว่าแล้วทั้งสองประการ ผลที่ไม่พึงปรารถนาก็จะไม่บังเกิดอย่างแน่แท้ อันความตระหนักรู้แจ้งในหลักการเหล่านี้ ย่อมทำให้ไวเนยสัตว์ตื่นรู้ พร้อมความระมัดระวังโดยรอบคอบมากยิ่งขึ้น มีนัยประมวลสรุปรวมหมายถึง “ความไม่ประมาท” ซึ่งเป็นที่สุดแห่งพระบรมพุทโธวาททั้งปวงนั้นเอง โดยการที่ท่านทั้งหลายมาประชุมกันเพื่อร่วมขบคิดใคร่ครวญในหัวข้อ “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” นับเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา เพราะเสมอด้วยการทำให้พระพุทธศาสนา ปลูกฝังหยั่งรากลงลึกสู่จิตใจของมวลมนุษยชาติ ในฐานะศาสนาแห่งเหตุและผล ที่สมบูรณ์พร้อมทั้งภาคปริยัติ และภาคปฏิบัติ เป็นยอดศาสนา ที่ช่วยเกื้อกูลให้โลกนี้ สามารถก้าวข้ามพ้นวิกฤตการณ์ ไปสู่ภาวะแห่งศานติสุขได้อย่างแท้จริง

ด้านท่านเจ้าคุณพระพรหมบัณฑิต กล่าวถวายรายงานความโดยสังเขปว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศรับรองให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลก ต่อมาได้มีการจัดงานฉลองวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก โดยผู้นำชาวพุทธ ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อ พ.ศ.2547 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่มีการจัดกิจกรรมนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก และได้จัดกิจกรรมนานาชาติต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลและมหาเถรสมาคมได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการจัดงาน โดยได้อาราธนา/เชิญสมเด็จพระสังฆราช ประมุขสงฆ์ ผู้นำชาวพุทธ นักปราชญ์ด้านพระพุทธศาสนา และชาวพุทธจากนานาประเทศ มาร่วมประชุมพร้อมกัน ซึ่งการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลกปีนี้เป็นครั้งที่ 18 คณะกรรมการบริหารของสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรที่ปรึกษาพิเศษของคณะมนตรี เศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ มีฉันทามติร่วมกันให้จัดงานประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปีพุทธศักราช 2566 ภายใต้หัวข้อเรื่อง พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน พุทธศักราช 2566 ซึ่งมีผู้นำชาวพุทธและนักปราชญ์ด้านพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน จาก 55 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานวันสำคัญทางพระพุทธศาสนามาอย่างเสมอต้นเสมอปลายในทุกโอกาส ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการสนองงานคณะสงฆ์ผู้เป็นหลักชัยของสังคมไทย โดยการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาหรือสัปดาห์วิสาขบูชาโลก ประจำปี 2566 นี้ กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ที่มีอยู่ทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เชิญชวนและประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ เสริมสร้างพลังการมีส่วนร่วมของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ รวมถึงศาสนิกชนอื่น ๆ ได้ร่วมกิจกรรม ได้แก่ 1) เชิญชวนส่วนราชการ ห้าง ร้าน มูลนิธิ สมาคม บริษัทเอกชน ตลอดจนพี่น้องประชาชนทุกครัวเรือน ร่วมกันประดับธงชาติและธงธรรมจักร อันเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญเพื่อสร้างบรรยากาศที่คึกคักของสัปดาห์วันวิสาขบูชาโลกทั่วประเทศ และเป็นสัญลักษณ์ว่าพวกเราคนไทยมีความเป็นสิริมงคลในห้วงของการเฉลิมฉลองจัดงานสัปดาห์วิสาขบูชาโลก 2) ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นผู้นำการบูรณาการทุกภาคส่วน นำพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ร่วมกันทำบุญใส่บาตรและประกอบกิจกรรมที่เป็นสรรพสิริมงคล เช่น การไถ่ชีวิตโค กระบือ ปล่อยปลา ปล่อยนก ปล่อยเต่า ปลูกต้นไม้ ปลูกป่า และกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่น ๆ เพิ่มพูนขึ้นตามภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ เพื่อที่จะให้เราได้ดำเนินการที่เรียกว่าเป็นการปฏิบัติบูชาให้เพิ่มพูนมากขึ้น นอกเหนือจากการประดับธงที่ถือเป็นอามิสบูชา 3) ทุกจังหวัดและทุกอำเภอเชิญชวนเด็ก เยาวชน และพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ร่วมประกาศตนเป็นพุทธมามกะต่อคณะสงฆ์ และพิจารณาห้ามมีการอนุญาตจัดให้มีการเล่นการพนันตามกฎหมายว่าด้วยการพนันทั้งปวงตลอดสัปดาห์วิสาขบูชาโลก และตรวจตราไม่ให้มีการจำหน่ายสุรายามึนเมาแอลกอฮอล์ และขอความร่วมมืองดให้บริการสถานบริการในวันวิสาขบูชา เพื่อลดโอกาสคนจะไปมึนเมาทำผิดศีลธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ช่วยกันขยายผลเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราชบพิตร ที่กระทรวงมหาดไทยได้รับเมตตาจากคณะสงฆ์เป็นหลักชัยขับเคลื่อนจนประสบผลสำเร็จเป็นบริบูรณ์ในหลายพื้นที่ อันเป็นแนวทางที่สำคัญที่ทำให้คนไทยอยู่รอด คนไทยไม่เป็นหนี้เป็นสิน สามารถช่วยเหลือพึ่งพากันในครัวเรือน ในชุมชน และช่วยเหลือชุมชนอื่นๆ ทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

“เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชาและการจัดงานวิสาขบูชานานาชาติ ครั้งที่ 18 เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2566 ขอเชิญชวนพี่น้องพุทธศาสนิกชนคนไทยทั่วประเทศ ได้ร่วมกันน้อมรำลึกถึงหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รักษาศีล ปฏิบัติสิ่งที่ดีงาม เข้าวัด ทำบุญตักบาตร บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ร่วมกับสมาชิกในครอบครัว ชุมชน และสังคม ตลอดสัปดาห์วันวิสาขบูชา 1 - 7 มิถุนายน 2566 และทุกโอกาสของชีวิต โดยพร้อมเพรียงกัน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

โอกาสนี้ นายดิเนช คุณวาระเดนะ (H.E. Dinesh Gunawardena) นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พุทธปัญญากับการรับมือวิกฤตโลก” (Buddhist Wisdom Coping with Global Crises) ความโดยสรุปว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประสูติตรัสรู้ และปรินิพพาน ท่านไม่ได้เกิดมาเป็นพระพุทธเจ้า แต่ความเป็นพุทธะ เกิดจากการฝึกฝนและปฏิบัติ พระองค์ได้เผยแผ่หลักธรรมคำสอนไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันวิสาขบูชาโลกนี้ เป็นโอกาสในการมารวมกันเพื่อนำคำสอนมาประยุกต์ใช้ในช่วงสถานการณ์วิกฤตของโลก นอกจากนี้ในอดีตที่ผ่านมา พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 และรัชกาลปัจจุบันของไทย ได้เสด็จไปเยือนเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-ศรีลังกา โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ เกิดนิกาย สยามวงศ์ รวมทั้งเน้นการนำหลักธรรมคำสอนพระพุทธศาสนาไปพัฒนาสังคม ให้ยั่งยืนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้สอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมชาติ เน้นทางสายกลางในการแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการสู่การปฏิบัติ  การพบกันในครั้งนี้เป็นช่วงสถานการณ์วิกฤตที่มีผู้คนได้รับผลกระทบมากมาย เป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกส่วนงานของสังคมต้องร่วมด้วยช่วยกันในการแก้ปัญหา และหาทางออก เช่น ปัญหาเรื่อง อาหาร ยารักษาโลก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องช่วยเหลือกัน โดยสำหรับศรีลังกา ในช่วงที่ผ่านมาได้ให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน ขอยกตัวอย่างหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา สำหรับคฤหัสถ์ เรียกว่าความสุขของคฤหัสถ์ 4 ประการ คือ 1) สุข เกิดจากการมีทรัพย์ 2) สุข เกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ 3) สุข เกิดจากการไม่มีหนี้ และ 4) สุข เกิดจากการมีอาชีพสุจริต และจากสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น ได้ยกตัวอย่างหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เน้นเชื่อมโยงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนากับการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทางด้านเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการนำแนวทางปฏิบัติแบบเถรวาท คือ วิปัสสนาสมาธิ ในกลุ่มพระพุทธศาสนาเถรวาท และในโรงเรียนสอนการปฏิบัติธรรมในเน้นการฝึกฝนผู้เรียนตามแนวทางการฝึกสติ (Mindfulness)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ในโครงการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ระดับปริญาตรี ประจำปี การศึกษา ๒๕๖๗ มจร
    20 ธ.ค. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    128
  • พิธีประสาทปริญญา ประจำปี ๒๕๖๗ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
    12 ธ.ค. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    212
  • ข้อปฏิบัติในการเข้ารับประทานปริญญาบัตร ในพิธีประสาทปริญญา
    25 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    527
  • พระสุธีรัตนบัณฑิต, รศ.ดร. คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพและศักยภาพการปฎิบัติงานของบุคลากรการแข่งขันกีฬา "มหาจุฬาอโยธยาเกมส์"
    22 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    403
  • พระพรหมวัชรวิมลมุนี วิ., รศ.ดร. ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระ สนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพและศักยภาพการปฎิบัติงานของบุคลากรการแข่งขันกีฬา "มหาจุฬาอโยธยาเกมส์"
    22 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    379