ข่าวมหาวิทยาลัย |
แนะใช้หลักศาสนา-ปรัชญาแก้ปัญหาสังคมขัดแย้ง | ||
วันที่ ๑๐/๐๘/๒๐๐๙ | เข้าชม : ๘๘๙๙ ครั้ง | |
การที่สังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาศาสนาและปรัชญา ทำให้เกิดปัญหาด้านศีลธรรม เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถ้าใช้หลักของศาสนาและปรัชญาเข้าไปแก้จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง... จากการประชุมสัมมนา ราชบัณฑิตสัญจร เรื่อง บทบาทของวิชาศาสนาและปรัชญาในสังคมไทย จัดโดยสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มจร. และราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ กล่าวว่า การเรียนการสอนวิชาศาสนาและปรัชญาในสังคมไทยปัจจุบันต้องสอดคล้องกับที่ องค์การ การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโกกำหนดไว้คือการศึกษาต้องประกอบด้วย 4 เรื่อง คือ 1.การศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาปัญญาและพัฒนาความรู้ 2.เพื่อพัฒนาความสามารถในการปฏิบัติการ คือ ศาสนาและปรัชญาต้องบูรณาการให้ผู้ที่เรียนเอกวิชาอื่น มีจริยธรรมมีคุณธรรม เพราะคนกลุ่มนี้เมื่อเรียนได้ความรู้ความสามารถไปแล้ว เช่น เรียนรัฐศาสตร์แล้วไปปกครองแต่ขาดคุณธรรมขาดจริยธรรม ก็เกิดการทุจริต เกิดการขัดแย้งกัน ซึ่งวิชาที่สอนให้มีคุณธรรมจริยธรรมก็คือพระพุทธศาสนา 3.เพื่อพัฒนามนุษย์สัมพันธ์ เป็นการเรียนรู้ที่จะยอมรับกัน ซึ่งการที่สังคมไทยปัจจุบันอยู่ร่วมกันอย่างสันติไม่ได้เพราะไม่เรียนรู้ที่ จะอยู่ร่วมกัน เรียนแต่วิชาเอกของตัวเอง วิชาที่สอนให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เกิดความอดทน เกิดความปรองดองสมานฉันท์ ก็คือวิชาศาสนาและปรัชญา ซึ่งประเทศไทยยังขาดอยู่ และต้องเรียนต้องสอนกันให้มากกว่านี้ 4.เพื่อการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งนี้ ยูเนสโก ได้มีการวิจัยออกมาแล้วว่า ในศตวรรษที่ 21 การศึกษาต้องอาศัยทั้ง 4 เรื่องดังกล่าว จึงจะเป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวอีกว่า การที่สังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาศาสนาและปรัชญา ทำให้เกิดปัญหาด้านศีลธรรม เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ถ้าใช้หลักของศาสนาและปรัชญาเข้าไปแก้จะเกิดประโยชน์อย่าง ยิ่ง การที่จะให้สังคมหันมาสนใจศาสนาปรัชญาต้องใช้สื่อเข้าช่วย แต่ปัจจุบัน สื่อที่เผยแพร่ออกมาล้วนแต่มอมเมาทั้งสิ้น จะมีเวลาให้พระสงฆ์สั่งสอนด้านศาสนาปรัชญาก็จัดเวลาให้ช่วง03.00-04.00 น. หากต้องการให้ใช้หลักของศาสนาปรัชญาเข้ามาช่วยแก้ปัญหา คณะสงฆ์ต้องมีสื่อของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์. ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์ 7 สิงหาคม 2552 |
Web Link : http://www.thairath.co.th/content/edu/24827 | ||
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||