ข่าวประชาสัมพันธ์
เจ้าคุณประสารถึง อ.สุรพศ ทวีศักดิ์
14 ธ.ค. 66 | ข่าวมหาวิทยาลัย
699

ถึง อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ (นักปรัชญาชายขอบ)

      อาตมาได้อ่านบทความโดยละเอียดของอาจารย์ที่เขียนลงในเฟชบุ๊ค โดยผ่านทางสื่อ Thebuddh และ Siampongsnews. ที่ออกเผยแพร่แล้ว อ่านหลายรอบและชั่งใจอยู่นานว่าจะเขียนอะไรถึงอาจารย์บ้างไหม เพราะปกติแล้วเมื่อมีใครกล่าวหรือเขียนอะไรที่พาดพิงมาถึงอาตมาโดยตรง อาตมาไม่เคยที่จะตอบโต้ใดๆเลยไม่ว่าจะเป็นอาจารย์สุรพศ  อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย หรือท่านอื่นๆอีกหลายท่านก็ตาม อาตมาถือคติตามพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า สพฺพตฺถ ทุกฺขสฺส สุขํ ปหานํ  ละเหตุทุกข์ได้ เป็นสุขในที่ทั้งปวง แต่คราวนี้จำต้องเขียนถึง จะนิ่งเฉยเหมือนที่ผ่านมาคงไม่ใช่ที่ เพราะอาจารย์เจตนากล่าวพาดพิงถึงสถาบันการศึกษาสงฆ์ในทางเสียหาย ใช้ศัพท์ใช้แสงแรงและถ้าเดาไม่ผิดคำว่า “ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์บางรูป” คงหมายถึงอาตมา “พระราชวัชรสารบัณฑิต” หรือ “เจ้าคุณประสาร” ใช่หรือไม่?

    ในบทความที่อาจารย์พูดมานั้น อาตมาขอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยแยกแยะออกเป็นประเด็น ๆดังนี้

     1.ยุคก่อนมีภูมิปัญญาพุทธ ค่อนข้างที่จะมีบทบาทชี้นำสังคมไทยทั้งที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่ได้รับงบอุดหนุนจากภาครัฐด้วยซ้ำไป และได้ยกบุคคลหลายรูปหลายท่านเป็นแบบอย่าง ในเรื่องนี้นั้นอาจารย์สุรพศ ดูอาจจะมีเจตนาดูหมิ่นดูแคลนมหาวิทยาลัยสงฆ์มากไปหรือไม่  อาตมาอยากถามอาจารย์ว่ามองเช่นนั้นจริงๆ ใช่ใหม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วอาจารย์เองก็เป็นผลิตผลมาจากระบบการศึกษาสงฆ์และมหาวิทยาลัยสงฆ์จนเป็นตัวเป็นตนมาได้ถึงทุกวันนี้ จึงอยากเริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำถามนี้ก่อน และถ้าหากว่าทัศนะเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็แสดงว่าอาจารย์ได้ละเลย หรือมองไม่เห็นบทบาทที่เป็นรูปธรรมในผลผลิตของมหาวิทยาลัยสงฆ์ มองไม่เห็นเลย เมื่อมีมุมมองเช่นนี้อาจารย์ก็เลยกล่าวหาคลุมและเหวี่ยงแหไปหมดจนแทบไม่มีอะไรที่เรียกว่าเป็นส่วนดีให้สังคมได้เห็นกันบ้างเลย 

     อาตมาจึงจะไม่ขอยกตัวอย่างตัวบุคคลและงาน ทั้งด้านการวิจัย งานวิชาการ พุทธนวัตกรรมและอื่นๆอีกมากมายที่บ่งบอก หรือ เป็นตัวชี้วัดว่าท่านเหล่านี้มีภูมิปัญญาพุทธ และมีบทบาทในสังคมไทยมากน้อยแค่ไหนในเวลานี้ เพราะเมื่อเอ่ยชื่อเสียงเรียงนามไปแล้วไปแล้วท่านเหล่านั้นก็จะถูกจับลงมาในวงสนทนาวงนี้ด้วยเพราะฉะนั้นในชั้นนี้นั้นยังไม่อยากทำเช่นนั้น จึงขอจำกัดวงไว้ก่อน

     ข้อเท็จจริงแล้วหลายท่าน หลายคนในยุคใหม่ ซึ่งเป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ ยืนยันได้ว่ามีมีองค์ความรู้ มีบทบาท มีฐานะที่เป็นพึ่งทางภูมิปัญญาพุทธ ทั้งในระดับหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับประเทศ ระดับนานาชาติ เสียดายนะที่อาจารย์มองไม่เห็น ด้วยอาจจะสายตาสั้นไปนิดหนึ่ง

     2.ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงฆ์ (ซึ่งก็มีแค่ 2 แห่งเท่านั้นคือ มจร กับ มมร) ได้รับงบจากรัฐ และมีวิทยาเขตมากมาย แต่ไม่ปรากฎผลงานภูมิปัญญาพุทธที่สังคมรู้จักเลย 

      ข้อนี้อาจารย์สุรพศ รู้หรือไม่ว่าวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ที่มีอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศในเวลานี้นั้นเขา มีพันธกิจทั้งที่เป็นพันธกิจตามกฎหมาย และพันธกิจเฉพาะ อย่างไรบ้าง วิทยาเขตใดที่มีวิสัยทัศน์โดยมีตัวชี้วัดวิสัยทัศน์ ในระดับลุ่มน้ำโขง วิทยาเขตใดมีตัวชี้วัดวิสัยทัศน์ในระดับภูมิภาคอินโดจีน วิทยาลัยสงฆ์ใดมีตัวชี้วัดวิสัยทัศน์ระดับท้องถิ่นและโดยภาพรวม เมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานตามแผนพัฒนาของมหาวิทยาลัยแล้ว ผลลัพธ์การทำงานในภาพรวมจะตอบวิสัยทัศน์ในระดับมหาวิทยาลัย  และประเด็นสำคัญทุกส่วนงานดังที่ได้กล่าวมาแล้ว “จัดการศึกษาตามยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาอุดมศึกษาโดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีตัวชี้วัดที่บ่งบอกถึงความสำเร็จ  อาจารย์เคยดูสิ่งเหล่านี้ใหม ใส่ใจในรายละเอียดพวกนี้หรือไม่ (วันไหนเข้าไปบรรยายลองเดินไปถามเด็กๆที่เขารับผิดชอบงานประกันในมหาวิทยาลัยราชภัฎของอาจารย์ดูก็ได้) และผลผลิตที่เป็นบัณฑิตออกมานั้นสนองตอบอะไร เป็นไปตามยุทธศาสตร์ใดใน5 ยุทธศาสตร์และทั้งหมดนี้จะสามารถเรียกโดยภาพรวมได้ว่าอำนวยประโยชน์ให้กับสังคม ประเทศชาติได้หรือไม่ หรือสนองตอบภูมิปัญญาพุทธในแบบของอาจารย์สุรพศได้ไหม?

      3.ไม่มีนักวิชาการที่โดดเด่นที่มีบทบาทปัญญาชนสาธารณะนำเสนอพุทธธรรมในเชิงก้าวหน้ารวมทั้งโครงสร้างของพระพุทธศาสนากับรัฐที่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามมากขึ้นๆ ในเรื่องนี้เป็นทั้งการเล่นคำและการวัดคนที่จะต้องให้เหมือนกับตน เล่นคำคือหาคำที่สละสลวยมาพูดมาว่าให้ เล่นคำให้เพราะ ให้น่าเชื่อถือ ส่วนคนที่เหมือนกับตนนั้นวัดจากคำว่า นำเสนอพุทธธรรมในเชิงก้าวหน้า เริ่มจากในกระบวนการคิดของอาจารย์สุรพศที่อาจจะบังเอิญไปเหมือนใครบางคน ในบางท่าน อาตมาคิดว่าอาจารย์ก็มีสิทธิคิด มีสิทธิทำ มีสิทธิเหมือนใครได้ไม่ผิดหรอกแต่อย่าด้อยค่าคนอื่น ถ้าคนอื่นคิดและทำไม่เหมือนตนก็ไปด้อยค่าเขา ในทางศาสนา พระพุทธศาสนา และการเมืองนั้นอาจารย์อย่ามองว่า ถ้าแบบนี้(อาจารย์ชอบใช้คำว่าอนุรักษ์นิยม กับ หัวก้าวหน้า)ไม่มีประโยชน์ ด้อยค่า ไม่ส่งเสริมประชาธิปไตย ไม่นำพาความเจริญรุ่งเรือง ต้องคิดก้าวหน้า แท้จริงแล้วทั้งหลักการและวิธีปฎิบัติของอาจารย์นั้นอาตมามองว่าอาจารย์เองก็ยังสับสนกับคำว่า “อนุรักษ์นิยม” “ความคิดก้าวหน้า” “นอกกรอบ” “ก้าวร้าว” “ให้ร้าย” “ความจริง” และ “ข้อเท็จจริง” ลองคิดให้ดีเขาไม่มีความโดดเด่นจริงๆหรือเพราะเขาคิด เขาทำไม่เหมือนเรา

      ส่วนโครงสร้างพระพุทธศาสนากับรัฐที่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามมากขึ้นๆ นั้น เห็นจะมีแต่อาจารย์กระมังที่พยายามดิ้นรนในการพูด เขียน เสนอแนวคิดและแสวงหาแนวร่วมในทฤษฎี “ศาสนาแยกออกจากรัฐ” แต่ก็น่าเสียดายที่อาจารย์พูดและเจาะจงให้น้ำหนักในเรื่องนี้เฉพาะพระพุทธศาสนาและพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเท่านั้นโดยอาจารย์ละเลยที่จะพูดถึงอีกหลายศาสนาในประเทศไทยหรือถ้าจะพูดถึงก็ดูจะน้อยมาก เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น เพราะอะไร ถ้าลองได้เป็นผู้กล้าแล้วต้องกล้าในทุกสมรภูมิ อย่ายึกๆยักๆแบบกล้าๆกลัวๆ

      4. ส่วนข้อที่แดกดันว่าเสียดายภาษีนั้น ทุกข้ออาตมาได้อธิบายมาหมดแล้วจึงบอกได้ว่า “เสียดายได้รับงบน้อยไป” เรามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งอาจจะได้รับงบน้อยไป ไม่เช่นนั้นเราจะทำอะไรได้ไพศาลกว่านี้

     ข้อสุดท้ายที่บอกว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์“บางรูป”รวมทั้งเหยียดว่าขาดความรู้ทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ (เข้าใจว่าในเรื่องแนวคิดเชิงอนุรักษ์ เรื่องคบพรรคการเมืองเพื่อออกกฎหมายอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ธนาคารพุทธ เป็นต้น) เพื่อไปถกกับคนรุ่นใหม่นั้น ถ้าตราบใดยังไม่เอ่ยชื่อ แม้จะรู้โดยนัยก็ตามอาตมาก็ยังไม่ขอพูดถึง รอจนกว่าจะเอ่ย และขอยืนยันว่าในชีวิตไม่เคยฟ้องร้องใคร ไม่เคยคิดจะค้าความกับใคร สบายใจได้ เราต้องปฎิสัมพันธ์กันในเชิงวิขาการ ไม่ใช่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้าอยากเอ่ยก็เอ่ยได้จะได้อธิบายความกันอีกต่อไป

     จริงๆ แล้วอาตมากับอาจารย์นั้นความสัมพันธ์ในวันนี้ก็ยังเหมือนเดิม เป็นปกติแม้จะมีวิวาทกันในครั้งนี้เป็นยกแรกก็ตาม ยังขอบคุณงานวิจัยอาจารย์ที่ยกอาตมาในหลายๆด้าน ขอบคุณที่แนะนำศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ที่มาทำวิจัยในเมืองไทยให้มาพบ มาสนทนาด้วย 

       แต่ในหัวข้อนี้นั้นเราเห็นต่างกันแน่นอน ต่างกันมากด้วย ส่วนใครจะอนุรักษ์นิยม ใครจะหัวก้าวหน้าก็ว่ากันไปเพราะในครั้งนี้นั้นอาตมาก็พยายามที่จะไม่ให้ถูกชกอยู่ฝ่ายเดียว เดี๋ยวกรรมการก็จะจับแพ้ เพื่อสถาบันสงฆ์ เพื่อมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็จำต้องเดินออกมาจากมุมทั้งที่รู้ว่าจะเปียกปอนแต่ก็ต้องทำทั้งที่ได้บำเพ็ญขันติบารมีมานมนาน

--------------------------------

 1:siampongsnews:มท.1 เชิญชวนร่วมดื่มด่ำ "เที่ยวดูไฟ" 2.4ล้านดวง ฉลองรับปีใหม่ 12 ธ.ค.66 - 15 ม.ค.67    https://siampongsnews.blogspot.com/2023/12/blog-post_48.html

2.“สุรพศ” ฟาดมหาวิทยาลัยสงฆ์ ระบุ “เสียดายภาษี”

https://thebuddh.com/?p=75914

วันที่13 ธันวาคม 2566 #เจ้าคุณประสาร


1.siampongsnews : https://siampongsnews.blogspot.com/2023/12/blog-post_48.html

2.thebuddh:“สุรพศ” ฟาดมหาวิทยาลัยสงฆ์ ระบุ “เสียดายภาษี”https://thebuddh.com/?p=75914


แสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ในโครงการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ระดับปริญาตรี ประจำปี การศึกษา ๒๕๖๗ มจร
    20 ธ.ค. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    94
  • พิธีประสาทปริญญา ประจำปี ๒๕๖๗ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
    12 ธ.ค. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    203
  • ข้อปฏิบัติในการเข้ารับประทานปริญญาบัตร ในพิธีประสาทปริญญา
    25 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    525
  • พระสุธีรัตนบัณฑิต, รศ.ดร. คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย สนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพและศักยภาพการปฎิบัติงานของบุคลากรการแข่งขันกีฬา "มหาจุฬาอโยธยาเกมส์"
    22 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    398
  • พระพรหมวัชรวิมลมุนี วิ., รศ.ดร. ผู้อำนวยการสถาบันวิปัสสนาธุระ สนับสนุนโครงการส่งเสริมสุขภาพและศักยภาพการปฎิบัติงานของบุคลากรการแข่งขันกีฬา "มหาจุฬาอโยธยาเกมส์"
    22 พ.ย. 67 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    374