ข่าวมหาวิทยาลัย |
มจร.เตรียมจัดประชุมวิสาขบูชาโลก ปี 53 เน้นหัวข้อ การฟื้นตัวจากวิกฤติโลก ตามทัศนะชาวพุทธ | ||
วันที่ ๓๐/๐๙/๒๐๐๙ | เข้าชม : ๘๑๑๐ ครั้ง | |
มจร.วังน้อย วานนี้ (29 ก.ย.): พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ณ ตึกอธิการบดี มจร. วังน้อย ว่า "ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ได้รับการพิจารณาให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมวิสาขบูชาโลก พ.ศ. 2553 ซึ่งได้กำหนดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค. 2553 โดยจะมีพิธีเปิดการประชุมในวันที่ 23 พฤษภาคม 2553 ที่ ห้องประชุม มวก. 48 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา และประชุมวิชาการในวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 ซึ่งห้องประชุมดังกล่าวสามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้ 3,000 คน และมีห้องประชุมย่อยอีก 4 ห้อง พร้อมห้องประชุมย่อยที่อาคารเรียนรวม 4 ห้อง โดยจะมีชาวพุทธจากต่างประเทศเดินทางมาเข้าร่วมประชุม 1,500 รูป/คน มากกว่า 80 ประเทศ อธิการบดี มจร กล่าวอีกว่า การประชุมคณะกรรมการฯวันนี้ ที่ประชุมตกลงเลือกหัวข้อใหญ่คือ การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก ตามทัศนะชาวพุทธ (Global Recovery: The Buddhist Perspective) และหัวข้อย่อย โดยมีผู้เสนอบทความ 8 คนต่อหัวข้อ ได้แก่ 1 การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยการพัฒนาทางจิต 2 การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยการศึกษาเชิงพุทธ 3 การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ 4 การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยนิเวศวิทยาเชิงพุทธ/สิ่งแวดล้อม 5 การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม นอกจากนี้ได้กำหนดให้มีการประชุมปฏิบัติการ 3 ห้อง คือ 1. สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ (IABU) 2. พระไตรปิฎกฉบับสากล (Common Buddhist Texts) และ 3. การจัดทำรายการตำราทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน (Union Catalogue of Buddhist Texts) วันสุดท้ายของการประชุม จะจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ กรุงเทพฯ เมื่อปิดประชุมแล้วคณะผู้เข้าร่วมประชุมจะไปเวียนเทียนปิดประชุมที่พุทธมณฑล การประชุมจึงมี 3 วัน คือ 23 -24 และ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ส่วนญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมนั้น จะนำชาวญี่ปุ่นมาร่วมประชุม 600 คน โดยออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และร่วมรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการประชุมในประเทศไทยอีกด้วย การที่ญี่ปุ่นขอเป็นเจ้าภาพร่วมเนื่องจากเห็นว่าสำนักงานสหประชาชาติตั้งอยู่ที่ประเทศไทย นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการฯ ยังได้คัดเลือกผู้ที่จะปาฐกถานำ และการแสดงทางวัฒนธรรมว่า ประเทศไหนจะนำการแสดงทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามาแสดงบ้าง ซึ่งจะมีการตกลงกันในรายละเอียดอีกครั้ง การจัดงานครั้งนี้เรามีการเตรียมการล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรในประเทศไทย เช่น การสนับสนุนจากโครงการทุนเล่าเรียนหลวง และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. ซึ่งคาดว่า การจัดประชุมครั้งนี้ จะสามารถดำเนินไปได้ด้วยดีจากความร่วมมือขององค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ อธิการบดี มจร. กล่าว |
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||