ข่าวประชาสัมพันธ์
ไทย - ญี่ปุ่นพร้อมจัดประชุมวิสาขบูชาโลกปี 53 เน้น “การฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์โลกในทัศนะชาวพุทธ”
27 ม.ค. 53 | ข่าวมหาวิทยาลัย
428
ข่าวมหาวิทยาลัย
ไทย - ญี่ปุ่นพร้อมจัดประชุมวิสาขบูชาโลกปี 53 เน้น การฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์โลกในทัศนะชาวพุทธ
วันที่ ๒๗/๐๑/๒๐๑๐ เข้าชม : ๘๖๒๑ ครั้ง

    นับแต่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ และให้จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในวันดังกล่าว ณ สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขา ในเดือนพฤษภาคมของทุกปี จากมติในคราวประชุมครั้งที่ 54 เมื่อเดือนธันวาคม 2542 ประเทศไทยโดยคณะสงฆ์ รัฐบาล และประชาชนชาวพุทธ ได้จัดกิจกรรมเพื่อการเฉลิมฉลองเนื่องในวันดังกล่าวมาตลอดทุกปี ทั้งระดับประเทศ ท้องถิ่น จนถึงระดับนานาชาติ        ในปี พ.ศ. 2547 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคม(มส.) และรัฐบาลไทย ให้เป็นผู้รับผิดชอบจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชาวันสำคัญสากลของโลก ณ หอประชุมพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐมซึ่งถือเป็นการจัดครั้งแรกในประเทศไทย และในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มจร ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ “พระเทพโสภณ” ได้รับมอบหมายจากมส. และรัฐบาล ให้เดินทางเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของสหประชาชาติ ณ สำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มาถึงเดือนกรกฎาคม 2547 จึงได้จัดประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยพระพุทธศาสนาเถรวาทและมหายาน ณ หอประชุมพุทธมณฑล และศูนย์ประชุมสหประชาชาติ โดยความเห็นชอบของมส. ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ที่ประชุมได้ลงนามในความร่วมมือเพื่อการจัดกิจกรรมเนื่องในวันวิสขาบูชาในปีต่อมา ณ ประเทศไทยอีกครั้ง นับเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นภายใต้การนำของมจร กระทั่งประเทศไทยได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชาโลกเรื่อยมา

        สำหรับการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชา ปี 2552 คณะกรรมการจัดงานนานาชาติ (IOC) ต่างเห็นพ้องต้องกันให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดงาน และจัดสัมมนาวิชาการนานาชาติ เรื่อง  “พระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ของโลก” (Buddhist Approach to Global Crisis) ระหว่างวันที่ 4- 6พฤษภาคม 2552  พร้อมกันนี้ ยังได้มีมติให้จัดตั้งสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (ICUNDV) เพื่อดำเนินการจัดงานเฉลิมฉลองให้มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพในการจัดงานวิสาขบูชาโลก ครั้งที่ 6 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 70 ประเทศ และที่ประชุมเห็นชอบลงนามในแถลงการณ์ร่วมให้จัดฉลองวันวิสาขบูชาโลก ปี 2553 โดยที่ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้รับการพิจารณาให้เป็นเจ้าภาพร่วม

         ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มจร พร้อมด้วย นายฮิโรชิ มาซุโมโต ประธานชาวพุทธนิกายเบียวยูไก (ITRI) ประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมแถลงข่าวการจัดประชุมชาวพุทธนานาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชาโลก พ.ศ. 2553 ณห้องประชุมอาคารอธิการบดี มจร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยพระธรรมโกศาจารย์ แถลงว่า ที่ประชุมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกวันนี้ได้บรรลุข้อตกลงให้กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค. 2553 โดยจะมีพิธีเปิดการประชุมในวันที่ 23 พฤษภาคม ณ ห้องประชุม มวก. 48 พรรษามหาวชิราลงกรณ์ มจร วังน้อย และประชุมวิชาการในวันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งห้องประชุมดังกล่าวสามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้ 3,000 คน และมีห้องประชุมย่อยอีก 4 ห้อง พร้อมห้องประชุมย่อยที่อาคารเรียนรวม 4 ห้อง โดยจะเชิญผู้แทนชาวพุทธจากต่างประเทศที่มีอำนาจตัดสินใจมาเข้าร่วมประชุมให้ได้จำนวน 82 ประเทศ เท่ากับพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

       อธิการบดี มจร กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมชาวพุทธนานาชาติฯปีนี้ ที่ประชุมตกลงใช้หัวข้อใหญ่คือ “การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก ตามทัศนะชาวพุทธ” (Global Recovery: The Buddhist Perspective)และหัวข้อย่อย ได้แก่ 1. การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยการพัฒนาทางจิต  2. การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลกโดยอาศัยการศึกษาเชิงพุทธ  3. การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  4. การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยนิเวศวิทยาเชิงพุทธ/สิ่งแวดล้อม  5. การฟื้นตัวจากวิกฤติการณ์ของโลก โดยอาศัยพระพุทธศาสนาเพื่อสังคมนอกจากนี้ ได้กำหนดให้มีการประชุมปฏิบัติการ 3 ห้อง คือ 1. สมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ (IABU)  2.พระไตรปิฎกฉบับสากล (Common Buddhist Texts) และ 3. การจัดทำรายการตำราทางพระพุทธศาสนาร่วมกัน (Union Catalogue of Buddhist Texts) ส่วนวันสุดท้ายของการประชุม จะจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ กรุงเทพฯ เมื่อปิดประชุมแล้วคณะผู้เข้าร่วมประชุมจะไปเวียนเทียนที่พุทธมณฑล ก่อนจะเดินทางกลับไปฉลองวันวิสาขบูชาในประเทศของตนต่อไป

      “การใช้หัวข้อใหญ่ว่า การฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ของโลกในมุมมองของพระพุทธศาสนา หรือตามทัศนะชาวพุทธ เป็นประเด็นที่ว่าเราไม่อยากให้เกิดการฟื้นตัวแบบไม่มีทิศทาง บางคนบอกว่าฟื้นตัวตัวยู (U) คือ ขึ้นแล้วขึ้นเลย หรือฟื้นตัวแบบตัวดับบลิว (W)คือตกลงไปอีก แต่ชาวพุทธอยากให้ฟื้นตัวแบบตัวบี (B) คือขึ้นตรงไปเลยแบบไม่มีตกลงมาอีก คือเป็นการฟื้นตัวและพัฒนาแบบยั่งยืน ถาวร โดยอาศัยสติปัญญาของชาวพุทธ ซึ่งพระพุทธศาสนาเป็นภูมิปัญญาที่สำคัญ ก็ให้ผู้นำชาวพุทธทั่วโลกมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรโลกเราถึงจะฟื้นตัวโดยมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน เราต้องการแชร์วิชั่นร่วมกันและวางแผนร่วมกัน นั้นก็คือการประชุมกลุ่มทางวิชาการ 5 กลุ่ม กับการประชุมทางปฏิบัติการ 3 กลุ่ม และในวันสุดท้ายของการประชุมก็จะมีการประกาศปฏิญญากรุงเทพ” อธิการบดี มจร กล่าว

       ด้านนายฮิโรชิ มาซุโมโต กล่าวว่า ในส่วนของญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมด้วยนั้น จะนำผู้แทนชาวพุทธญี่ปุ่นทั้งนิกายที่มีอยู่เดิมและนิกายใหม่อีกหลายนิกายมาเข้าร่วมประชุมประมาณ 600 คน โดยออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และร่วมรับผิดชอบออกค่าใช้จ่ายอื่นๆสำหรับการประชุมอีกด้วย

      “ในครั้งแรกที่เรามาเข้าร่วมประชุมและได้เข้าไปเฉลิมฉลองที่สำนักงานสหประชาชาติในกรุงเทพฯ เราตกใจมากที่ประเทศไทยมีสำนักงานสหประชาชาติมาตั้งอย่างใหญ่โต ในประเทศญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเราก็ยังไม่มีสำนักงานสหประชาชาติที่ยิ่งใหญ่อย่างนี้ การจัดประชุมในประเทศไทยถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธเป็นหลัก หลังได้เคยเข้าร่วมประชุมหลายครั้งและได้พบปะพูดคุยกับท่านอธิการบดี มจร.อีกหลายปี ทำให้เกิดความประทับใจที่ท่านอธิการบดี ได้เปิดประตูให้กับชาวพุทธทั่วโลกได้เข้ามาร่วมประชุมอย่างเท่าเทียมกัน แนวปฏิบัติของท่านอธิการบดีจึงเหมือนกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ให้ความกรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งโลก”  ประธานชาวพุทธนิกายเบียวยูไก กล่าว
 

ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่

 


แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
Print This Page    Sent to Friend
แสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • "อ.เบียร์ คนตื่นธรรม" ข้ากราบสักการะ "พระเทพวัชรสารบัณฑิต" ปมเปรียบพระเกจิกับสุนัข
    11 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    97
  • พิธีอัญเชิญปัจจัยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 8 มกราคม โดย นายกิติภัค เกษรสิริธร ผู้แทนพระองค์
    08 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    113
  • "อาจารย์ ม.สงฆ์ มจร" นำสัมมนานานาชาติ เสริมพลังพุทธศาสนาและวรรณกรรมเพื่อความเท่าเทียม
    07 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    91
  • “ความเป็นผู้รู้จักเวลา เป็นรากฐานสำคัญ ที่ทำให้คนเราสามารถดูแลรับผิดชอบตนเองได้ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จที่สูงขึ้นต่อไปในอนาคต เด็กทุกคนจึงควรได้รับการปลูกฝังให้เป็นผู้รู้จักเวลา รู้ว่าเวลาใดควรปฏิบัติสิ่งใด..เหมาะแก่เวลาเสมอ” พระบรมราโชวาท ร.10 เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568
    05 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    283
  • “เจ้าคุณประสาร” มอง “อ.เบียร์” ขาด “คารวตา” ปมวิจารณ์ “พระเกจิสังขารไม่เปื่อย” ให้สติ “อย่าเป็นชาล้นถ้วย”
    04 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    135