ข่าวประชาสัมพันธ์
พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มจร : คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผนึกกำลังกับผู้นำ 3 ศาสนา เตือนสติสังคมไทย
16 เม.ย. 53 | ข่าวมหาวิทยาลัย
493
ข่าวมหาวิทยาลัย
พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มจร : คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผนึกกำลังกับผู้นำ 3 ศาสนา เตือนสติสังคมไทย
วันที่ ๑๖/๐๔/๒๐๑๐ เข้าชม : ๑๐๖๖๔ ครั้ง

          เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๓ พระธรรมโกศาจารย์ได้รับมอบหมายจากประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเข้าประชุม : คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประชุมและแถลงข่าวเรื่อง ”คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ผนึกกำลังกับผู้นำ3 ศาสนา เตือนสติสังคมไทย” ณ ห้องประชุม ๗๐๙ ชั้น ๖ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมี ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช ดร.ปริญญา ศิริสารการ และนางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับผู้นำ ๓ ศาสนา ประกอบด้วย  ๑.ศ.ดร.อิมรอน มะลูลีม รักษาการจุฬาราชมนตรี และประธานผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี (ผู้นำศาสนาอิสลาม)  ๒. มุขนายกเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ (ผู้นำศาสนาคริสต์) ๓. พระเดชพระคุณ พระธรรมโกษาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต ป.ธ.๙,Ph.D.) ศาสตราจารย์, ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์,เจ้าคณะภาค ๒ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (ผู้นำศาสนาพุทธ) โดยการมอบหมายจากเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช 
         พระธรรมโกศาจารย์ กล่าวว่า "ในขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะเผชิญหน้ากัน การเผชิญหน้ากันก็ทราบดีว่า มีผู้ถืออำนาจรัฐฝ่ายหนึ่งและผู้ชุมนุมอีกฝ่ายหนึ่ง ที่น่าวิตกกังวลก็คือผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายซึ่งมีกระจายอยู่ไปทั่วทำให้นึกถึงภาพของการแตกแยกในเรื่องสมัยโบราณว่าเวลาคนทะเลอะกันถ้าควบคุมไม่ได้มันจะแตกแยกตั้งแต่พื้นปฐพีไปจนถึงพรหมโลก การแตกแยกคือการเผชิญหน้าอย่างนี้ เกิดภาวะฝุ่นตลบ ในภาวะที่ฝุ่นตลบนั้นจะมองไม่ออกว่าใครมิตร ใครศัตรู หรือที่จริงก็คือคนไทยด้วยกัน เกิดการเผชิญหน้า เหมือนคนสองกลุ่มถืออาวุธจ้องใส่กัน ความรุนแรงที่มีทั้งสองฝ่ายเปรียบเหมือนอาวุธเมื่อเผชิญหน้ากัน จ้องใส่กันก็มีความเป็นไปได้ ๑. เรายิงเขาตาย ๒. เขายิงเราตาย ๓. ยิงพร้อมกันตายทั้งคู่ ซึ่งคำว่ายิงในที่นี้ก็คือการทำลาย ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบใดก็ตาม ถ้าไม่ตั้งสติและทำลายพร้อมกันตายทั้งคู่ คือประเทศชาติตาย ย่อยยับ อับจน ชัยชนะที่ได้มาบนซากปรักหักพังของแผ่นดิน จะมีประโยชน์อะไรดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยตรัสไว้ครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ถึงวาระที่เราจะตั้งสติว่า ชัยชนะขอบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบนซากปรักหักพังไม่เป็นสิ่งที่พึงปรารถนา
          สิ่งที่พูดมาคือความเป็นไปได้ ๓ แบบ คือ
         ๑. เราชนะเขาแพ้ เรียกว่า อัตตาธิปไตย เรายิ่งใหญ่
         ๒. คนอื่นชนะเราแพ้ เรียกว่า โลกาธิปไตย เขายิ่งใหญ่ ซึ่งทั้งสองแบบนี้นำมาสู่ความเครียดแค้นชิงชังไม่ว่าฝ่ายไหนชนะก็จะผูกเวรกัน จองเวรกันไม่รู้จบ แม้จะมาให้ตั้งโต๊ะเจรจาก็จะไปพูดกันแต่เรื่องไม่พอใจใครทำใครก่อน ไม่ได้มานึกถึงปัจจุบันว่าเกิดวิกฤติขึ้นแล้ว เราจะไม่ให้เผชิญหน้า ไม่ให้ชนกันได้อย่างไร ส่วนประเด็นที่พึงปรารถนาคือ ธรรมาธิปไตย คือ ต่างฝ่ายต่างชนะ ไม่มีฝ่ายใดชนะโดยเด็ดขาด เพราะว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรวบเบ็ดเสร็จมันก็อยู่ร่วมกันลำบากก็จะต้องเป็นวงจรแก้แค้นกัน ธรรมาธิปไตย คือต่างฝ่ายต่างอะลุ่มอล่วย เรียกว่าถอยกันคนละก้าว เพราะการที่จะให้เขาชนะบ้างเราชนะบ้าง ก็ต้องยอมกันบ้าง คนไทยเคยขอกันกินมากกว่านี้ไม่ใช่หรือ แล้วเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากไม่มีการอะลุ่มอล่วย ไม่มีการถอย ตั้งหลัก ตั้งสติ
        (๓)ในที่สุดสังคมไทยก็จะไปสู่ “อนาธิปไตย” ไม่มีขื่อ ไม่มีแปร ไม่มีความศักดิ์สิทธิของกฎหมายระเบียบไม่มีใครทำอะไรได้ มือใครยาวสาวได้สาวเอา แล้วประเทศชาติจะเหลืออะไร ในตอนนี้วาระนี้มาตั้งสติถอยกันคนละก้าว ถ้าเราคิดอย่างนี้ขึ้นมาก็จะเห็นได้ว่า ยิ่งดันทุรัง ยิ่งมุทะลุมันก็เข้าสู่ภาวะชนะศึกแต่แพ้สงคราม เราชนะทุกฝ่ายแต่อยู่บนความย่อยยับของสิ่งที่เราได้มา บางทียอมแพ้ศึกเพื่อชนะสงคราม ยอมแพ้แนวรบย่อย ๆ แต่ส่วนรวมเหลือรอดไว้ ประเทศชาติอยู่รอด สถาบันอยู่รอดทำอย่างไร ภาษาคนไทยแต่โบราณได้พูดเป็นคติเตือนใจ ซึ่งคนมักจะไม่ทำว่า “แพ้เป็นพระ ชนะเป็นมาร” คนบอกว่าเป็นพระก็ต้องแพ้อยู่ร่ำไป มารก็ต้องชนะ ฉะนั้นเป็นมารดีกว่าชนะดีกว่า แต่จริง ๆ เราเข้าใจความหมายคำนี้ผิด คำว่า แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร หมายความว่า เรายอมแพ้ให้ใคร เราเป็นพระในใจของคน ๆ นั้น เราชนะฝ่ายใดร่ำไป เราเป็นมารในใจของคน ๆ นั้น แล้วอย่าลืมว่าคนที่จะมาเป็นมาร คือคนไทยด้วยกันทั้งสิ้น แล้ววงจรเหล่านี้ก็ไม่ยุติ จะถอยในฝ่ายไหนก็ตามทั้งสองฝ่ายต้องตั้งสติ เพื่อไม่ให้ไปสู่อนาธิปไตย รักษาชาติบ้านเมืองเอาไว้แล้วก็ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า win win ต่างฝ่ายต่างได้ ต่างฝ่ายต่างชนะ เรียกว่า ธรรมาธิปไตย แต่สถานการณ์ปัจจุบันนี้ มาถึงขั้นเสียหายในเรื่องความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน เข้ามาในวงจรของการจองเวร อาฆาต พยาบาท ใครทำใครก่อน ตั้งสติด้วยการตัดวงจรแห่งการจองเวรนี้ แล้วก็ถามตัวเราด้วยการตั้งสติพินิจพิจารณาว่าเราจะให้วงจรแห่งการแก้แค้นนี้หมุนต่อไปทำลายทุกฝ่ายหรือไม่ ฉะนั้นในทางศาสนาจึงได้ขอให้เราตัดวงจรตรงนี้ด้วยการให้อภัย เยียวยาบาทแผลที่ภายในจิตใจของกันและกัน อย่าเยาะเย้ยกัน อภัยกัน และที่สำคัญก็คือแผ่เมตตา มองกันในแง่ดี ในทางพุทธศาสนานั้นถือว่าในเวลาที่เกิดการเกลียดชัง โกรธแค้นเราไม่เคยมองกันในแง่ดี ทั้ง ๆ ที่เขาก็มีแง่ดีให้มอง เราจะจับจ้องแต่ในแง่ร้ายของกันและกัน แผ่เมตตาคือเอาจุดดีความเป็นคนไทย ความเป็นผู้ที่มีความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง ความคิดเห็นอาจจะแตกต่างแต่อย่านำมาสู่ความแตกแยก เมื่อแผ่เมตตากันอย่างที่ว่าแล้ว ให้เกิดสภาวะที่กลับไปสู่คุณค่าแห่งสังคมไทยเดิม ๆ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพได้เคยกล่าวไว้หลายสิบปีมาแล้วว่า
          ประเทศไทยมีคุณธรรมที่รักษาความเป็นไทยอยู่ ๓  ประการ ในสมัยก่อน
          ประการที่ ๑ ความรักอิสรเสรีไม่ยอมตกเป็นเมืองขึ้นของใคร
          ประการที่ ๒ อวิหิงสา คือ การไม่เบียดเบียน ความอดทนอดกลั้น ต่อสิ่งที่แตกต่างกัน เราอยู่ร่วมกับคนต่างศาสนากันอย่างสามัคคีกัน เพราะความอดทนอดกลั้นยอมรับสิ่งที่แตกต่างจากเรา นี่คือสิ่งที่สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพท่านว่าไว้         
          ประการที่ ๓ คนไทยถนัดในการประสานประโยชน์ หมายความว่าใครมีดีตรงไหนก็มาร่วมกัน มาช่วยกันทำ คนต่างชาติ ต่างศาสนามาประเทศไทยมาอยู่ร่วมกัน ช่วยกันพัฒนาสังคมไทย พัฒนาบ้านเมืองของเรา การประสานประโยชน์ก็คือให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ เราเคยเกิดความขัดแย้ง เราก็สามารถเปลี่ยนผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเรามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และสร้างสังคมไทยให้เป็นปึกแผ่น ด้วยคุณธรรมทางศาสนา คือ ขันติ ความอดทนต่อความแตกต่าง ใครอาจจะคิดเห็นแตกต่างจากเรา ทนกันได้ ฟังกันได้ เมตตา ความรัก เห็นว่าเป็นพวกเดียวกัน และอภัยต่อกัน ไม่เพิ่มวงจรแห่งการจองเวรกันต่อไป เพราะฉะนั้นเรามาตั้งสติและแผ่เมตตากัน แผ่เมตตานั้นในทางพุทธศาสนาได้กำหนดไว้เวลาเราสวดมนต์ เราทำกิจกรรมทางศาสนา เราแผ่เมตตากันเพื่อไม่ให้โกรธเกลียดกัน และไม่ได้แผ่เมตตาเฉพาะกลุ่มเราเท่านั้น แผ่ความรักไปทุกกลุ่มทุกฝ่าย
          ท่านจึงใช้คำว่า สัพเพ สัตตา แปลว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่ามนุษย์ พวกเขา พวกเรา ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นสุข เป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย จงอย่ามีความทุกข์ ขอให้มีความสุข รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด และยิ่งคนที่เราแผ่เมตตาถึงก็คือคนไทยด้วยกัน ทำพร้อม ๆ กัน ในฝ่ายพุทธก็ทำพร้อม ๆ กันทั่วประเทศ จะเอาเวลาก่อนเคารพธงชาติก็ได้ สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ อัพพะยาปัชฌา โหนตุ อะนีฆา โหนตุ สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ หากเราท่องไม่ได้ก็แปลเป็นภาษาไทย สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย จงมีความสุขกาย สุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทอญ. ทำอย่างนี้ค่อย ๆ ดึงสติกลับคืนมาสู่สังคมไทย และค่อย ๆ แกะ ค่อย ๆ แก้จะด้วยวิธีใดก็ตาม ก็จะทำให้นำสันติสุขกลับมาสู่สังคมไทยที่เรารักอีกครั้งหนึ่ง"
         ที่มา http://www.nhrc.or.th/news.php?news_id=6658
         ค้นข่าวโดย พระมหาศรีทนต์ สมจาโร ผู้อำนวยการส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ e-mail  srithont@mcu.ac.th


แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ
Print This Page    Sent to Friend
แสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ทำบุญปีใหม่ มจร 2568 จับฉลากล ลุ้นรางวัล
    15 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    40
  • พิธีถวายพระพรชัยมงคลและเจริญพระพุทธมนต์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่ากับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช ๒๕๖๘
    15 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    38
  • "อ.เบียร์ คนตื่นธรรม" ข้ากราบสักการะ "พระเทพวัชรสารบัณฑิต" ปมเปรียบพระเกจิกับสุนัข
    11 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    114
  • พิธีอัญเชิญปัจจัยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 8 มกราคม โดย นายกิติภัค เกษรสิริธร ผู้แทนพระองค์
    08 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    124
  • "อาจารย์ ม.สงฆ์ มจร" นำสัมมนานานาชาติ เสริมพลังพุทธศาสนาและวรรณกรรมเพื่อความเท่าเทียม
    07 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    102