ข่าวมหาวิทยาลัย |
11 ปฏิญญาวิสาขบูชาโลกเชื่อศาสนาพาไทยพ้นวิกฤติ | ||
วันที่ ๒๘/๐๕/๒๐๑๐ | เข้าชม : ๖๓๘๗ ครั้ง | |
คมชัดลึก : แม้ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติทางการเมืองอย่างรุนแรง เสียงปืน เสียงระเบิด ความร้อนของไฟยังระอุพร้อมที่จะปะทุพ่นม่านควันปกคลุมทั่วกรุงเทพมหานคร นานาชาติต่างส่งสารให้คนของตนระมัดระวัง และทยอยเดินทางกลับ
แต่ดูเหมือนว่าความร้อนนั้นมิอาจอยู่เหนือความสงบร่มเย็นในพระพุทธศาสนาที่มีมากว่า 2,500 ปี จึงมีผู้นำชาวพุทธระดับสมเด็จพระสังฆราช ประมุขสงฆ์ นักปราชญ์ จาก 83 ประเทศกว่า 1,700 คนมุ่งหน้าเข้าไทยเพื่อร่วมการประชุมชาวพุทธนานาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2553 วันที่ 23-25 พฤษภาคม 2553 ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) จ.พระนครศรีอยุธยา กันอย่างพร้อมเพรียง โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ไปทรงเปิดการประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ในการนี้ได้พระราชทานพระราชดำรัส ใจความตอนหนึ่งว่า “พระพุทธศาสนานั้นมีลักษณะพิเศษ ในประการที่อาศัยเหตุและผลอันเที่ยงแท้ตามเป็นจริงเป็นพื้นฐาน แสดงคำสอนที่บุคคลสามารถใช้ปัญญาไตร่ตรองและหยิบยกขึ้นปฏิบัติ เพื่อความสุขความเจริญและความบริสุทธิ์ได้ตามวิสัยของตน ท่านทั้งหลายผู้ตั้งใจอุทิศแรงกายแรงใจของตนเพื่อพระพุทธศาสนา จึงชอบที่จะเผยแพร่พุทธธรรมโดยยึดหลักของเหตุผลแนะนำส่งเสริมให้บุคคลใช้ปัญญาพิจารณาปัญหาและสิ่งดีชั่วต่างๆ ให้รู้ให้เห็นตามทางและวิธีที่ถูกต้องด้วยตัวเขาเอง” นอกจากนี้ยังมีบุคคลสำคัญต่างส่งสารแสดงทัศนะหลักธรรมกับการแก้ปัญหาต่างๆ นานา อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เชื่อในหลักอหิงสา ไม่เบียดเบียน มีความเมตตากรุณาต่อกันให้เกิดสันติในโลก นายบัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เชื่อในความอดทน เมตตาธรรมจะทำประโยชน์แก่มนุษยชาติ ด้าน อีรีน่า โบโคว่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก เห็นว่าพระพุทธเจ้าเน้นให้คนอยู่ร่วมกันโดยสันติและยอมรับความหลากหลาย ปลูกฝังความอดกลั้น คุณค่าแห่งเมตตาธรรม และความสำนึกดีให้เด็กด้วย พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มจร. ประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดการประชุม บอกว่ายังมีเวทีการประชุมในหัวข้อ “การฟื้นฟูวิกฤติการณ์ของโลก ตามทัศนะชาวพุทธ” มีทัศนะผู้นำชาวพุทธเสนอไว้อย่างน่าสนใจ 5 ประเด็น 1.แก้ปัญหาโดยอาศัยจิต ศีล สมาธิ ปัญญา จะต้องเร่งประยุกต์หลักการปฏิบัติกรรมฐานให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิต การใช้สติ พุทธจิตวิทยา จิตวิทยา จิตเวช 2.แก้ปัญหาด้วยการศึกษาเชิงพุทธ สอดแทรกคำสอนทางพุทธศาสนาเข้าไปในประเทศที่มีคนกลุ่มน้อยนับถือศาสนาพุทธ การสอนศีลธรรมให้เยาวชน ใน 2 รูปแบบคือ ตามประเพณี และการศึกษาสมัยใหม่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ 3.แก้ปัญหาด้วยการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่มีการขัดแย้งกัน การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา 4.แก้ปัญหาด้วยนิเวศวิทยาเชิงพุทธ ลดความโลภที่ไม่มีขีดจำกัด ไม่ใช้ทรัพยากรอย่างไร้ความรับผิดชอบ โดยรักษาศีลไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม 5.แก้ปัญหาด้วยพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม การช่วยเหลือผู้อื่นด้วยมิใช่นำไปช่วยตัวเองเท่านั้น นำหลักธรรมของพระพุทธเจ้าออกไปช่วยเหลือสังคม ทั้งนี้ เนื้อหาสาระจาก 5 เวทีได้กลายมาเป็นมติ “ปฏิญญากรุงเทพ” แยกย่อยได้ถึง 11 ประการ 1.ฟื้นฟูศีลธรรมในจิตใจของมนุษย์หลุดพ้นวิกฤติของโลก 2.เรียกร้องให้ผู้นำทางศาสนา ผู้นำการเมือง เจรจาพูดคุยกันเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดระหว่างวัฒนธรรม 3.แก้ปัญหาอย่างสันติบนทางสายกลางแบบมีส่วนร่วม 4.ส่งเสริมสุขภาวะจิตใจ อารมณ์โดยอาศัยจริยธรรมทางด้านศีลธรรม 5.ใช้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือช่วยบรรเทาผลกระทบวิกฤติการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งในบุคคลและชุมชน 6.เชื่อมโยงพระพุทธศาสนากับนิเวศวิทยาและทัศนคติที่ดีต่อธรรมชาติ 7.จัดสร้างพุทธอุทยานโลก ที่ จ.ปราจีนบุรี 8.ส่งเสริมให้สาธารณชนเข้าใจหลักธรรมโดยใช้พระไตรปิฎกฉบับสากล 9.สนับสนุนโครงการอิเล็กทรอนิกจัดสร้างตำราทางพระพุทธศาสนานาชาติ 10.จัดประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ครั้งที่ 2 ในเดือนธันวาคม 2554 ณ มจร. และ 11.จัดงานวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี 2554 ณ ประเทศไทย เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2554 ในช่วงท้ายของการประชุมนี้มีกิจกรรมสำคัญที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม สมเด็จพระสังฆราช และประมุขสงฆ์ที่เข้าร่วมประชุมทั้ง 83 ประเทศ ร่วมสวดเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนา เพื่อทำบุญใหญ่เป็นสิริมงคลให้ประเทศไทยและต่างเชื่อมั่นว่าไทยจะผ่านพ้นวิกฤติการณ์ทางการเมืองได้ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผู้นำชาวพุทธนานาชาติร่วมกันแสดงออกถึงความปรารถนาดีให้สังคมไทยกลับมาสงบสุขอีกครั้ง แล้วเราคนไทยจะแสดงพลังต่อบ้านเมืองยามนี้อย่างไร ผกามาศ ใจฉลาด รายงาน ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 28 พฤษภาคม 2553 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล |
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||