เอ.ที.อริยรัตเน "ลิตเติล คานธี" แห่งศรีลังกา
30 พ.ค. 53 | ข่าวมหาวิทยาลัย
449
|
ข่าวมหาวิทยาลัย |
|
เอ.ที.อริยรัตเน "ลิตเติล คานธี" แห่งศรีลังกา |
วันที่ ๓๐/๐๕/๒๐๑๐ |
เข้าชม : ๙๕๑๕ ครั้ง |
เอ.ที.อริยรัตเน "ลิตเติล คานธี" แห่งศรีลังกา
สัมภาษณ์
โดย สุทธาสินี จิตรกรรมไทย
งาน "วันวิสาขบูชาโลก" ปีนี้ พระสังฆราช พระเถระ พระสงฆ์ และฆราวาสจากเกือบ 90 ประเทศ นับจำนวนแล้วได้ถึง 4,000 รูป/คน เดินทางมาประเทศไทย เพื่อร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยพุทธศาสนาและร่วมงานบุญครั้งใหญ่ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ และพุทธมณฑล จ.นครปฐม
หนึ่งในนั้นคือฆราวาส-ปราชญ์คนสำคัญของศรีลังกา นาม "อหันคมาค ทิวดอร์ อริยรัตเน" วัย 78 ปี
ความสำคัญของบุคคลผู้นี้ นอกจากจะอุทิศตัวเพื่อศาสนาพุทธแล้ว ยังเป็นผู้ก่อตั้งและผู้นำ "ขบวนการสรรโวทัย ศรมตัน" ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนใหญ่สุดในศรีลังกา
ไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะ "สรรโวทัย ศรมตัน" คือขบวนการที่นำหลักธรรมทางพุทธศาสนาและหลักการของมหาตมะ คานธี มหาบุรุษของอินเดีย มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวศรีลังกาทั่วประเทศ โดยไม่เลือกเชื้อชาติหรือศาสนาใดๆ ทั้งสิ้น ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นขบวนการที่มีศักยภาพอย่างสูงในการพัฒนาชุมชน-ชนบท
ดร.อริยรัตเน เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ปี 2474 ที่อุนวตุนา-เมืองชายทะเลทางใต้ของศรีลังกา จบการศึกษาปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ ภาษาสิงหล และครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิทโยทัย ศรีลังกา ซึ่งภายหลัง ดร.อริยรัตเนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ทั้งยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย เอมิลิโอ อากินัลโด ประเทศฟิลิปปินส์ด้วย
ดร.อริยรัตเนเคยเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยนาลันทา กรุงโคลอมโบ วันหนึ่งเขานำนักเรียนหลายสิบคนไปเรียนรู้ที่หมู่บ้านของคนวรรณะต่ำ ได้ช่วยเหลือชาวบ้านซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เมื่อเห็นความเป็นอยู่อันยากลำบากของชาวบ้านมากขึ้น ก็เกิดความคิดอยากพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ยากไร้
อริยรัตเนคนหนุ่มในวัย 27 จึงก่อตั้ง "ขบวนการสรรโวทัย ศรมตัน" ในปี 2501
ชื่อขบวนการแปลได้ว่า "ผู้ตื่นทั้งมวล" หมายถึงการตื่นขึ้นจากอวิชชาและหลุดพ้นจากความทุกข์ยากของชาวศรีลังกา เน้นหลัก "อริยสัจ 4" ในศาสนาพุทธ ยึดหลัก "อหิงสา" หรือการไม่ใช้ความรุนแรงของคานธี ซึ่ง ดร.อริยรัตเนเชื่อมั่นในหลักนี้อย่างแรงกล้า ทั้งยังเน้นหลัก "เมตตา-กรุณา" ลด "อัตตา" เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ที่เกาะกิน
ขบวนการเคลื่อนไหวสรรโวทัย ศรมตัน ให้ความสำคัญกับประชาชน โดยถือว่าประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคม เน้นการพัฒนาในระดับหมู่บ้าน เพราะมองว่าหมู่บ้านคือหัวใจของชาติ
จะพัฒนาได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจาก "วัด" ได้แก่ พระสงฆ์รวมทั้งฆราวาส ทำงานร่วมกันกับชาวบ้าน มีอาสาสมัครที่เต็มใจเสียสละเวลาเข้าไปช่วย ทั้งเรื่องการให้ชาวบ้านได้เห็นความสำคัญของหลักธรรมในพุทธศาสนาที่สามารถนำมาปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน กระตุ้นให้ชาวบ้านสร้างโรงเรียนในชุมชนสำหรับให้ลูกหลานได้ร่ำเรียนหนังสือขั้นพื้นฐาน สร้างห้องสมุด ศูนย์สุขภาพชุมชน ขุดบ่อน้ำ สร้างห้องสุขา รวมทั้งแนะนำให้มีการก่อตั้งธนาคารหมู่บ้าน
ระยะแรก ขบวนการสรรโวทัย ศรมตัน ถูกทางการจับตามองด้วยความไม่ไว้วางใจ ด้วยกลัวจะกลายเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง ดร.อริยรัตเนถูกข่มขู่เอาชีวิต ถูกลอบสังหารก็เคย ชาวบ้านเองก็ไม่ใคร่เชื่อใจว่า สรรโวทัย ศรมตัน จะมาช่วยเหลือได้นานเพียงไหน หรือถึงขั้นมองว่าเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากชาวบ้านก็มี
ไม่สนภยันตรายใดๆ ดร.อริยรัตเนทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจพัฒนาชนบทอย่างจริงจัง-ต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน กระทั่งชาวบ้านไว้วางใจ ค่อยๆ หันมาร่วมมือสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ
ว่ากันว่า..แม้ในห้วงการรบระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับขบวนการแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐไม่สามารถเข้าถึงหมู่บ้านต่างๆ ได้เลย แต่อาสาสมัครของขบวนการสรรโวทัย ศรมตัน สามารถเข้าได้
เพราะชาวบ้านมั่นใจว่าอาสาสมัครของสรรโวทัย ศรมตัน เป็นกลางอย่างแท้จริง ไม่อิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ทุกวันนี้ไม่มีชาวศรีลังกาคนไหนไม่รู้จัก ดร.อริยรัตเน และขบวนการสรรโวทัย ศรมตัน เพราะช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านทั้งเรื่องการหาเลี้ยงปากท้อง รวมทั้งเรื่องของจิตใจที่ ดร.อริยรัตเน เป็นผู้นำชาวศรีลังกาในการเจริญภาวนา-นั่งสมาธิ
ภาพของชาวศรีลังกาหญิงชายหลายพันหลายหมื่นคนที่นั่งทำสมาธิ สร้างความสงบให้จิตใจ ใบหน้าอิ่มเอิบ เรียกความประทับใจจากผู้ได้เห็นนักต่อนัก
ถึงปี 2553 ขบวนการสรรโวทัย ศรมตัน เข้าไปช่วยพัฒนาได้มากกว่า 15,000 หมู่บ้านทั่วศรีลังกาแล้ว
ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาชนบทของ ดร.อริยรัตเน ส่งให้เขาได้รับรางวัลด้านการพัฒนาชุมชนและการสร้างเสริมสันติภาพมากมายทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ อย่าง รางวัลศรีลังกาภิมานย์ อันเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดแห่งชาติศรีลังกา รางวัลสันติภาพสากล อฉรรยา สุชิล กุมาร ซึ่งเป็นรางวัลเดียวกับที่องค์ทะไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตได้รับ รางวัลสันติภาพมหาตมะ คานธี รางวัลชัมนาลาล พาชัช ที่มอบให้กับผู้เผยแพร่หลักคุณธรรมของคานธี รางวัลรามอน แม็กไซไซ รางวัลสันติภาพนิวาโนะ และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
"ยึดหลักธรรมอริยสัจ 4 และหลักอหิงสาในการช่วยเหลือผู้คน-พัฒนาชนบทมาตลอด 52 ปี จึงไม่เกินความจริงไปนักที่จะมีผู้กล่าวยกย่องว่า ดร.อริยรัตเน คือ "ลิตเติล คานธี" แห่งศรีลังกา"
โอกาสดี งาน "วันวิสาขบูชาโลก" ปี 2553 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่น ดร.อริยรัตเนบินลัดฟ้าตรงจากศรีลังกาเข้าร่วมงานโดยเฉพาะ และปาฐกถาหัวข้อ "โกลบอล รีคัฟเวอรี่-อะ บุดดิสต์ เพอร์สเปคทีฟ" (การฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์โลกตามทรรศนะชาวพุทธ) ให้ผู้ร่วมงานได้ฟัง
ดร.อริยรัตเนกล่าวถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างวิกฤตการณ์โลกอย่างสภาวะโลกร้อนกับพุทธศาสนาไว้ว่า ปัญหาที่มีเกิดจากจิตใจของมนุษย์ที่ห่างเหินศีลธรรม สิ่งที่มนุษย์เพียงผู้หนึ่งทำหรือประเทศหนึ่งทำก็กระทบทั่วโลก เพราะสิ่งต่างๆ ล้วนเชื่อมโยงกัน กระทั่งเรื่องสภาวะโลกร้อนก็สัมพันธ์กับจิตใจมนุษย์ที่มีความเร่าร้อน มีความโลภ ทำลายสิ่งแวดล้อม ศาสนาพุทธให้อ้างอิงตนเอง ทำดีก็มีความสุข ทำชั่วก็มีความทุกข์ พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนั้น เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากตนเองทั้งนั้น เมื่อใจเร่าร้อน สิ่งที่แสดงออกก็เร่าร้อน
ศาสนาพุทธสอนให้อยู่อย่างสอดคล้องกับกฎธรรมชาติ 5 ข้อ คือ อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตนิยาม กรรมนิยาม และธรรมนิยาม กฎทั้ง 5 ข้อ ถ้าไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไปฝืนกฎ ก็ทำให้เกิดวิกฤตการณ์โลกได้
ยกตัวอย่าง อุตุนิยาม ฤดูกาล เกิดสภาวะโลกร้อน แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม สึนามิ เพราะมนุษย์ไม่เข้าใจกฎธรรมชาติ และไม่อยู่ให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ พีชนิยามเป็นเรื่องของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ถ้าไม่ได้ศึกษาเพื่ออยู่ร่วมกันก็เกิดการทำลายกัน มีจิตนิยามที่ไม่เข้าใจจิตใจตนเอง ทำไมถึงเกิดความโลภ เกิดความโกรธ เกิดความหลง จึงต้องศึกษาจิตนิยาม รู้ให้เท่าทันการทำงานของจิต ศึกษากรรมนิยาม สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม สุดท้ายคือธรรมนิยาม คือ กฎของธรรมชาติ เข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความจริงว่าเชื่อมโยงกัน แล้วอยู่อย่างสอดคล้อง
นานทีปีหน บุคคลสำคัญระดับโลกผู้นี้จะมาเยือนเมืองไทย เมื่อมีโอกาสจึงขอเข้าพบปะสนทนา-ขอความรู้และความคิดเห็น
"จำเพาะเจาะจงไปที่ประเด็น "พุทธศาสนากับการแก้ไขปัญหาทางสังคม""
นำหลัก "อริยสัจ 4" และหลัก "อหิงสา" มาใช้ในการช่วยเหลือชาวบ้านและพัฒนาชนบทในศรีลังกาอย่างไร
หลักธรรมในศาสนาพุทธไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตของเราได้
ขบวนการสรรโวทัย ศรมตัน ได้รับความร่วมมือจากพระสงฆ์ ชาวบ้านในหมู่บ้าน และอาสาสมัคร ถึงจะทำให้การพัฒนาก้าวหน้าไปได้ ซึ่งเรายึดหลัก "อริยสัจ 4"
ข้อแรกคือ "ทุกข์" ชาวบ้านต้องขบคิดว่าปัญหาของตนคืออะไร เช่น ความเจ็บป่วย ความยากจน การไม่มีความรู้ การถูกกดขี่ หรือกระทั่งความไม่มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อรู้ว่าทุกข์เรื่องอะไรแล้ว ก็มองหาเหตุแห่งทุกข์ คือ "สมุทัย" ซึ่งอาจเป็นความต้องการชิงดีชิงเด่น การแข่งขันระหว่างกัน ความเห็นแก่ตัว ความโลภ ความเกลียดชัง เป็นต้น
ต่อมาเป็น "นิโรธ" หรือการดับทุกข์ ซึ่งจะดับทุกข์ได้ต้องเริ่มที่ตนเองก่อน จากนั้นคนอื่นถึงจะช่วยเหลือได้ สุดท้าย "มรรค" คือ หนทางการดับทุกข์ ได้แก่ มรรค 8 เป็นหนทางอันประเสริฐเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ แต่ละข้อในมรรค 8 ชาวบ้านสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งต้องค่อยๆ ฝึกไป ทั้งในระดับบุคคลและในระดับหมู่บ้าน
ส่วน "อหิงสา" คือการไม่ใช้ความรุนแรง เชื้อชาติหรือศาสนาอาจแตกต่าง แต่ทุกคนคือเพื่อนบ้านกัน การทะเลาะลงไม้ลงมือใช้อาวุธไม่ได้ช่วยอะไรเลย
ยังมีหลักธรรมอื่นๆ ที่ขบวนการสรรโวทัย ศรมตัน นำมาปรับใช้หรือเปล่า
มีครับ คือ "พรหมวิหาร 4" ต้องมี "เมตตา" ชาวบ้านต้องมีความรักและมีความปรารถนาดีต่อกัน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม อาจเป็นคนที่เราไม่ชอบหน้าหรือเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน แต่เมื่ออยู่ในสังคมเดียวกันก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน มี "กรุณา" คือการช่วยเหลือเพื่อนบ้านให้พ้นจากความทุกข์ การได้ช่วยเหลือผู้อื่นเท่ากับเป็นการลดความเห็นแก่ตัวไปด้วยในตัว เพราะมองเห็นว่าโลกนี้ยังมีผู้คนอีกมากมายที่เราต้องสัมพันธ์ด้วย เราอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องพึ่งพากัน มี "มุทิตา" คือยินดีเมื่อได้ร่วมกับเพื่อนบ้านพัฒนาหมู่บ้านให้ดีขึ้น และ "อุเบกขา" คือทำใจเป็นกลาง ไม่ทะเลาะกันด้วยเหตุว่าเพื่อนบ้านต่างเชื้อชาติหรือต่างศาสนา และไม่มองว่าเขามีความเชื่อหรือมีความเห็นต่างจากเราแล้วจะพูดคุยกันไม่ได้
ยังมีหลัก "สังคหวัตถุ 4" ข้อแรกได้แก่ "ทาน" คือการให้หรือการเสียสละ คนรวยต้องช่วยเหลือคนจน ต้องรู้จักแบ่งปัน สังคมถึงจะน่าอยู่ "ปิยวาจา" พูดจาต่อกันด้วยถ้อยคำไพเราะที่ออกมาด้วยความจริงใจ "อัตถจริยา" คือการช่วยกันบำเพ็ญประโยชน์ต่อชุมชน ช่วยเหลือสังคมเท่าที่จะช่วยได้ ใครมีเงินก็อาจสมทบทุนช่วยเหลือผู้ยากไร้ หรือหากผู้ยากไร้ต้องการช่วยเหลือสังคม พวกเขาก็อาจลงแรงกายหรือใช้สติปัญญาช่วยได้ และ "สมานัตตา" ประพฤติตนเสมอต้นเสมอปลาย ใช้ชีวิตไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่หลงไปตามกระแสทุนนิยมหรือบริโภคนิยม
การดำเนินการมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรไหม
ระยะแรกไม่ค่อยมีใครเข้าใจเท่าไหร่ (ยิ้ม) แต่เมื่อปฏิบัติให้เห็น ชาวบ้านก็เข้ามาร่วมมากขึ้น
และถึงแม้สรรโวทัย ศรมตัน จะเป็นขบวนการที่อยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมในพุทธศาสนา แต่ก็เปิดกว้างต่อผู้คนทุกศาสนา ทุกเชื้อชาติ และทุกชนชั้น ใครที่ได้เข้าไปหมู่บ้านที่สรรโวทัย ศรมตัน เข้าไปร่วมพัฒนา จะเห็นว่ามีบ้านของทั้งชาวพุทธ ฮินดู มุสลิม สร้างเรียงรายกันไป ทุกคนเป็นมิตรที่ดีต่อกัน ไม่มีเรื่องความแตกต่างทางศาสนามาเป็นตัวกั้น เป็นมิตรภาพที่มาจากการทำงานร่วมกัน เพื่อเป้าหมายเดียวกัน
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในศรีลังกา?
เรามีความรุนแรงในประเทศมานานนม ระหว่างฝ่ายคือสิงหลและทมิฬ
มีความพยายามเจรจาสันติภาพอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ล้มเหลว ท้ายสุดรัฐบาลตัดสินใจใช้กองกำลังเข้าปราบปรามอย่างหนัก หมดงบประมาณไปมากมายกับการรบที่ใช้ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจ ที่สุดฝ่ายรัฐบาลก็ชนะ ไม่มีการจับอาวุธขึ้นต่อสู้ และตอนนี้ก็ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการก่อการร้ายในศรีลังกา
แต่การจะให้เกิดสันติภาพอย่างแท้จริงได้ต้องไม่ใช่ได้มาด้วยกำลัง แต่ต้องได้มาด้วยความเข้าใจ หลักหนึ่งของศาสนาพุทธคือการไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งการไม่ใช้ความรุนแรงจะทำให้ท้ายที่สุดผู้คนจะมารวมกันและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้สังคม
หลักการไม่ใช้ความรุนแรงหรือ "อหิงสา" ประสบความสำเร็จไหม
ความรุนแรงไม่แก้ปัญหาอะไรเลย เพราะฉะนั้นเราจึงทำงานร่วมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชาวสิงหล ชาวทมิฬ ผู้ที่นับถือพุทธ ฮินดู อิสลาม หรือผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ เราต้องช่วยกันฟื้นฟูสังคม สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น และช่วยแนะนำแนวทางที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
เรามี "5อาร์ โปรแกรม" คือ รีลีฟ (relief) รีฮาบิลิเทชั่น (rehabilitation) รีคอนสตรัคชั่น (reconstruction) รีคอนซีลิเอชั่น (reconciliation) และ รี-อเวเคนนิ่ง (re-awakening) หมายถึง การช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ การฟื้นฟู การสร้างขึ้นใหม่ การสร้างความปรองดอง และการตื่นรู้ขึ้นอีกครั้ง เพื่อชีวิตที่สงบสันติ
ยกตัวอย่างเช่นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ เราก็เข้าไปช่วยฟื้นฟูทั้งสภาพจิตใจและสภาพหมู่บ้าน โดยอาศัยหลัก "5อาร์ โปรแกรม"
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ?
ผมทราบครับ ผมมองว่าเหตุการณ์นี้คล้ายๆ กับที่เคยเกิดขึ้นในศรีลังกา
คำตอบของเราต่อสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ต้องเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองและเศรษฐกิจ โดยอยู่บนพื้นฐานของพุทธธรรม เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม หากประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจแล้ว ความรุนแรงก็จะไม่เกิดขึ้น
เราควรทำความเข้าใจหลักธรรมในพุทธศาสนาให้เข้าใจลึกซึ้ง ประเทศไทยเป็นดินแดนพุทธศาสนาที่ใหญ่กว่าศรีลังกา ประชากร 97 เปอร์เซนต์นับถือศาสนาพุทธ ขณะที่ในศรีลังกามีพุทธศาสนิกชนอยู่ 70 เปอร์เซนต์
เพราะฉะนั้นสิ่งแรกคือประเทศไทยควรย้อนกลับไปสู่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ปฏิเสธที่จะยอมรับอุดมคติหรือหลักการทางการเมืองที่มาจากตะวันตก เรามีอุดมการณ์ทางการเมืองของเราที่ไม่แบ่งแยกผู้คนจากกัน
หลายคนอาจบอกว่าโลกก้าวไปไกลแล้ว แต่อย่าลืมว่าคำสอนของพระพุทธองค์นั้นเป็น "อกาลิโก" คืออยู่เหนือกาลเวลา เพราะฉะนั้นไม่ว่าโลกจะหมุนไปแค่ไหน มีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพียงไร แต่เราก็สามารถนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาใช้ได้เสมอ
ต้องใช้เวลานานกว่าจะทำได้สำเร็จ?
ไม่หรอกครับ ความรุนแรงต่างหากที่อยู่นานกว่า
อีกหลักธรรมหนึ่งคือการให้อภัย เป็นเรื่องสำคัญมาก การให้อภัยผู้ที่สร้างความทุกข์ให้นั้นแม้จะยาก แต่หากทำได้ก็เป็นเรื่องที่ดีและยิ่งใหญ่ และในเวลาเดียวกันผู้ที่สร้างความทุกข์ให้ผู้อื่นก็ควรละอายต่อสิ่งที่ทำ และหันกลับมาช่วยเหลือผู้อื่น
โลกของเรามีความรุนแรงเพียงพอแล้วครับ
จะเริ่มต้นสร้างสังคมที่สงบ สันติ ปราศจากความรุนแรงได้อย่างไร
ลองอย่างนี้สิครับ ใช้เวลา 5 นาทีในแต่ละวันไปกับ "อาณาปานสติ" กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ตื่นตอนเช้า จะตี 5 หรือ 6 โมง ลองนั่งเงียบๆ พิจารณาลมหายใจเข้าออก จะช่วยให้จิตใจสงบขึ้น อย่างที่สองคือลองลดอัตตา มีเมตตา กรุณา ช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น และอย่างที่สามคือ คิดดี พูดดี ทำดี ถ้ามีการฝึกสิ่งเหล่านี้แล้วก็จะเกิดความสงบในจิตใจ
"สังคมที่มีความสงบ สันติ จะเกิดขึ้นได้ เราสามารถเริ่มต้นที่ตัวเอง"
ที่มา: วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา 14:06:24 น. มติชนออนไลน์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ |
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ |
|