ข่าวประชาสัมพันธ์
สรุปผลการจัดประชุมระดมสมองการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัย ทอมก: วิถีวิจัยกับการพัฒนาประเทศ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๓ (กลุ่มสังคมและวัฒนธรรม)
28 มิ.ย. 53 | ข่าวมหาวิทยาลัย
235
ข่าวมหาวิทยาลัย
สรุปผลการจัดประชุมระดมสมองการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัย ทอมก: วิถีวิจัยกับการพัฒนาประเทศ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๓ (กลุ่มสังคมและวัฒนธรรม)
วันที่ ๒๘/๐๖/๒๐๑๐ เข้าชม : ๖๘๒๓ ครั้ง

สรุปผลการจัดประชุมระดมสมองการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัย ทอมก: วิถีวิจัยกับการพัฒนาประเทศ ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๓ (กลุ่มสังคมและวัฒนธรรม)
สืบเนื่องจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ (ทอมก) ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงการเทียบโอนหน่วยกิตระหว่างมหาวิทยาลัย/สถาบัน มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา บุคลากรทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน ตลอดจนการพัฒนาอาจารย์ การใช้ e-learning ร่วมกัน การสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรมในการจัดการเรียนการสอน การสร้างความมือมือด้านวิจัย โดยกำหนดทิศทางการทำวิจัย การพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ และนักวิจัยพี่เลี้ยง (mentor)  จึงได้ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการทำงานที่เชื่อมโยงกันเป็นกลุ่มวิจัยและเกิดการบูรณาการ ซึ่งจะไปสู่แนวทางการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ  ๔ กลุ่มวิจัย ได้แก่ กลุ่มวิจัยด้านพลังงาน กลุ่มวิจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม กลุ่มวิจัยด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและเทคโนโลยี กลุ่มวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ  และจัดประชุมระดมสมองขึ้นในวันศุกร์ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๓  เพื่อให้อาจารย์และนักวิจัยได้แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดประสบการณ์ มีการนำเสนอผลงานวิจัยทั้งที่เป็น Oral presentation และ Poster

สำหรับกลุ่มวิจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม ช่วงเช้าหลังเปิดการประชุม ได้รับเกียรติปาฐกถาพิเศษ เรื่อง สันติวิธี: วิถีแห่งการปฏิบัติเพื่อขจัดความขัดแย้งในสังคมไทย โดยศาสตราจารย์นายแพทย์วันชัย วัฒนศัพท์  ต่อด้วยเสวนาทางวิชาการเรื่อง ท่าทีของชาวพุทธ ต่อปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย โดย พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร  ดร. รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ รองศาสตราจารย์ ดร.ภัทรพร สิริกาญจน  อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ดำเนินรายการโดย ผศ.ทัศนีย์ เจนวิถีสุข อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ช่วงบ่าย ช่วงที่หนึ่ง ดำเนินรายการโดย ผศ.ทัศนีย์ เจนวิถีสุข นำเสนอบทความ/งานวิจัย  จำนวน ๔ เรื่อง ได้แก่ 
๑) การปฏิบัติอานาปานสติสมาธิขณะที่ผู้ป่วยได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมสามารถทำให้ความรุนแรงของความซึมเศร้าในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายดีขึ้น โดย ดร.จุฑามาศ วารีแสงทิพย์ นำเสนอถึงภาวะผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสามารถมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวด้วยการบำบัดทดแทนไต ซึ่งประกอบด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างช่องท้อง และการปลูกถ่ายไต ซึ่งขึ้นอยู่กับแผนการรักษารายวันที่ถูกต้องแน่นอน ความจำกัดในการรับประทานอาหาร การเปลี่ยนแปลงหน้าที่การทำงานของร่างกาย อัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยกลุ่มนี้มีเพียงหนึ่งในสามถึงหก ของกลุ่มประชากรทั่วไป พบภาวะซึมเศร้าร้อยละสามสิบของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ผลการศึกษาสรุปว่า การปฏิบัติสมาธิขณะที่ผู้ป่วยได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม สามารถทำให้ความรุนแรงของความซึมเศร้าในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายดีขึ้น เป็นผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น 
๒) รูปแบบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยงประเภทวัดในกรุงเทพมหานคร โดย พระมหาสุทิศ อาภากโร (อบอุ่น) ดร.นำเสนอขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัด รูปแบบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดที่มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมและการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พื้นที่เป้าหมายคือวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๙ วัด ใช้วิธีการศึกษาวิจัย ๓ รูปแบบคือ การวิจัยเชิงเอกสาร การวิจัยเชิงคุณภาพ และการวิจัยเชิงปริมาณ ผลการศึกษาพบว่า วัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งเก้าวัดในกรุงเทพมหานคร มีขีดความสามารถในการรองรับทางการท่องเที่ยวทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม โดยวัดให้ความสำคัญกับคุณค่าของสิ่งแวดล้อมในเชิงรูปธรรม พุทธศิลปกรรม และมีการนำความรู้ทางพระพุทธศาสนามาเผยแพร่แก่นักท่องเที่ยว สำหรับรูปแบบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดในกรุงเทพมหานคร พบว่ามี ๔ รูปแบบ คือ รูปแบบการเที่ยวชมทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม การเที่ยวชมบริเวณวัด(เชิงวัตถุธรรม)  รูปแบบการท่องเที่ยวตามเทศกาล ประเพณี วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา(เชิงวัฒนธรรม) รูปแบบการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาความรู้(เชิงนามธรรม การเรียนรู้) และรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงลึก เช่นการฝึกสมาธิ การฟังธรรม เป็นต้น 
๓) การให้การปรึกษาแนวพุทธธรรมแบบกลุ่มในผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า โดย รศ.ดร.สมพร รุ่งเรืองกลกิจ นำเสนอผลการวิจัยกึ่งทดลองแบบวัดก่อนและหลัง กลุ่มเดียว  เพื่อศึกษาผลการให้การปรึกษาแนวพุทธธรรมแบบกลุ่มในผู้ป่วยหญิงที่มีภาวะซึมเศร้า จำนวน ๑๘ คน เลือกกลุ่มแบบสะดวก ดำเนินการกลุ่มละ ๓ สัปดาห์ ๆ ละ ๑ ครั้ง ใช้เวลาครั้งละ ๙๐-๑๒๐ นาที ในสี่ประเด็นคือ บทบาทของกัลยาณมิตร รู้จักทุกข์และธรรมชาติของทุกข์ตามหลักไตรลักษณ์ การแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจสี่  ดำเนินการวัดผลโดยแบบประเมินภาวะซึมเศร้า ๒ ครั้ง ก่อนให้การปรึกษาและ ๑ เดือนหลังสิ้นสุดให้การปรึกษา วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ Wilcoxon Signed Ranks test ผลการศึกษาพบว่า ค่าคะแนนภาวะซึมเศร้าหลังการให้การปรึกษาแนวพุทธธรรมแบบกลุ่มทดลอง ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มตัวอย่างมีวิธีการมองตนที่ถูกต้องตามความเป็นจริง ฝึกการเจริญสติเพื่อรู้เท่าทันอารมณ์และสามารถจัดการกับภาวะซึมเศร้าได้เหมาะสม
๔) ความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่อการประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรม: เปรียบเทียบแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดในจังหวัดเชียงรายประเทศไทย และนครหลวงพระบาง สปป.ลาว  โดยอาจารย์สุจิตราภา นิลกำแหง พันธ์วิไล  นำเสนอผลการศึกษาพบว่า นักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวประเภทวัดในจังหวัดเชียงราย ประเทศไทย และนครหลวง สปป.ลาว มีความเห็นว่า หลักพุทธธรรมที่พระสงฆ์ควรจะนำมาประยุกต์ใช้ในการเผยแพร่แก่นักท่องเที่ยวได้แก่ พรหมวิหาร ๔ อิทธิบาท ๔ ไตรสิกขา และธรรมสำหรับการครองชีพ ๔ ประการ  ปัจจัยที่ส่งผลกระทบทางลบต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมระดับมากที่สุดคือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ รองลงมาคือด้านสังคมและด้านการเมือง
ช่วงที่สอง ดำเนินรายการโดย พระมหาสายัญ สิริปญฺโญ นำเสนอบทความ/งานวิจัย  จำนวน ๔ เรื่อง ได้แก่
๕) การแบ่งปันความรู้บนพื้นฐานภูมิปัญญา ในการค้าชายแดนไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ของกลุ่มหอการค้าจังหวัดภาคเหนือตอนบน โดย อาจารย์ทรงสรรค์ อุดมศิลป์ นำเสนอผลการศึกษากระบวนการและแนวทางของการแบ่งปันความรู้ เรื่องการค้าชายแดนไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ของกลุ่มหอการค้าภาคเหนือตอนบนโดยใช้หลักการของการเป็นชุมชนนักปฏิบัติทั้งในส่วนของหอการค้าจังหวัดและส่วนของผู้ประกอบการที่ทำการค้าชายแดน  และผลการวิเคราะห์ปัจจัยด้านภูมิปัญญา ความซื่อสัตย์ กตัญญูตามหลักศาสนาที่มีอิทธิพลต่อการค้าชายแดนไทยกับ สปป.ลาว
๖) การจัดทำเกณฑ์การประเมินผลการวางแผนและการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดย อาจารย์สุวรรธนา เทพจิต นำเสนอผลการศึกษากระบวนการจัดทำเกณฑ์การประเมินผลการวางแผนและการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ มีขั้นตอนการดำเนินการ ๓ ขั้นตอน คือการเก็บข้อมูลภาคสนาม การจัดสนทนากลุ่ม และสรุปผลด้วยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการจัดการดำเนินงาน พบว่าเกณฑ์การประเมินผลการวางแผนและการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของ อปท. สามารถจำแนกออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ ตัวชี้วัดความสำเร็จของการวางแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนที่ ๒ ตัวชี้วัดความสำเร็จการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนที่ ๓ ตัวชี้วัดความสำเร็จของการดำเนินการเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด
๗) แนวทางการพัฒนาบทบาทของวัดตามความคาดหวังของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดนครปฐม โดย อาจารย์บูรเชน สุขคุ้ม  นำเสนอผลการศึกษาว่า วัดและพระสงฆ์มีบทบาทต่อชุมชนมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ปัจจุบันบทบาทวัดมีการปรับปรุงเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทั้งวิธีการและรูปแบบ เฉพาะเรื่องปลีกย่อย ส่วนบทบาทหลักยังคงยึดแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับวัดในอดีต พุทธศาสนิกชนในจังหวัดนครปฐมส่วนใหญ่ ต้องการให้วัดให้ความสำคัญต่อบทบาทหลักคือการศึกษา การปฏิบัติตามพระธรรมวินัย การเผยแผ่ ส่งเสริมการปฏิบัติธรรม และบทบาทรองคือการสังคมสงเคราะห์ การสนับสนุนการศึกษา ในระดับที่เท่า ๆ กัน  นอกจากนี้ วัดควรบริหารงานแบบเชิงรุก คือการหารูปแบบและวิธีการใหม่ ๆ ที่สามารถเข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น
๘) การศึกษาปัจจัยและความคาดหวังร่วมที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง: มิติการขับเคลื่อนด้านเกษตร โดย อาจารย์อุทัย สติมั่น นำเสนอผลการศึกษาพบว่า องค์กรชุมชนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและนำหลักการบริหารจัดการไปปรับใช้ และกลุ่มที่เรียนเศรษฐกิจพอเพียงแต่ยังไม่นำหลักการบริหารจัดการไปปรับใช้  โดยกลุ่มแรกจำแนกออกเป็น ๓ กลุ่มย่อยได้แก่ กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวคิดเชิงธุรกิจ  กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวคิดเชิงสังคม กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวคิดเชิงบูรณาการ  แต่ละกลุ่มวิเคราะห์รายประเด็นด้านผู้นำ  รูปแบบการบริหาร การมีส่วนร่วม  ส่วนกลุ่มเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่ยังไม่นำหลักบริหารไปปรับใช้ มีความรู้ความเข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้างเล็กน้อย การรวมกลุ่มยังไม่นาน ทำให้ขาดความเข้มแข็งทั้งทางด้านบริหารจัดการและด้านจิตใจ
สรุปรายงานโดย พระมหาสาธิต สาธิโต  ฝ่ายวิจัยสถาบันและสารสนเทศ กองแผนงาน สำนักงานอธิการบดี
 


แหล่งข่าว : กองแผนงาน
Print This Page    Sent to Friend
แสดงความคิดเห็น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • ทำบุญปีใหม่ มจร 2568 จับฉลากล ลุ้นรางวัล
    15 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    69
  • พิธีถวายพระพรชัยมงคลและเจริญพระพุทธมนต์ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่ากับ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี พุทธศักราช ๒๕๖๘
    15 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    63
  • "อ.เบียร์ คนตื่นธรรม" ข้ากราบสักการะ "พระเทพวัชรสารบัณฑิต" ปมเปรียบพระเกจิกับสุนัข
    11 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    127
  • พิธีอัญเชิญปัจจัยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 8 มกราคม โดย นายกิติภัค เกษรสิริธร ผู้แทนพระองค์
    08 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    136
  • "อาจารย์ ม.สงฆ์ มจร" นำสัมมนานานาชาติ เสริมพลังพุทธศาสนาและวรรณกรรมเพื่อความเท่าเทียม
    07 ม.ค. 68 | ข่าวมหาวิทยาลัย
    109