ข่าวมหาวิทยาลัย |
คณะสงฆ์ภาค 2 เปิดเรียนป.ธ. ๖ - ๙ ที่วัดพระพุทธบาท | ||
วันที่ ๐๒/๐๘/๒๐๑๐ | เข้าชม : ๗๗๔๒ ครั้ง | |
วัดพระพุทธบาท สระบุรี: เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 1 ส.ค. 53 พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) ในฐานะเจ้าคณะภาค 2 เป็นประธานในพิธีเปิดเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ชั้นประโยค ป.ธ.6, 7, 8, 9 พื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสระบุรี ในเขตปกครองคณะสงฆ์ภาค 2 พระวิสุทธิภัทรธาดา เลขานุการเจ้าคณะภาค 2 กล่าวว่า ตามที่แม่กองธรรมสนามหลวง แผนกบาลีร่วมกับกองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ได้จัดทำโครงการศูนย์การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ชั้นประโยค ป.ธ. 6, 7, 8, 9 ในส่วนภูมิภาค มีเป้าหมายภาคละ 1 แห่ง รวมทั้งหมด 18 แห่ง ได้จัดการเรียนการสอนนำร่องก่อน 3 ภาค คือ ภาค 2 ณ วัดพระพุทธบาท ภาค 5 ณ วัดคลองโพธิ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาค 14 ณ วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม โดยคัดเลือกนักเรียนที่สอบได้ประโยค ป.ธ. 5, 6, 7, 8 ในปีการศึกษานั้น ในภาคนั้นๆ เป็นนักเรียนของศูนย์การศึกษาฯ แต่ละแห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียนที่สอบได้เปรียญโทและเปรียญเอกในส่วนภูมิภาคได้มีโอกาสเข้าศึกษาในชั้นเรียนในประโยคที่สูงขึ้นในเขตภาคของตน โดยไม่ต้องย้ายไปเรียนที่ส่วนกลาง เลขานุการเจ้าคณะภาค 2 กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมเจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด และเลขานุการในภาค 2 ในคราวประชุมครั้งที่ /2552 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552 เห็นชอบให้เปิดศูนย์การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ประโยค ป.ธ. 6, 7, 8, 9 ส่วนภูมิภาคของคณะสงฆ์ภาค 2 ขึ้น ณ วัดพระพุทธบาท โดยพระธรรมโกศาจารย์ ได้มอบหมายให้ พระราชสุตาลังการ รองเจ้าคณะภาค 2 เป็นประธานคณะกรรมการในการกำกับดูแล เป็นผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาฯ มีเจ้าคณะจังหวัด เจ้าสำนักเรียนและเจ้าสำนักศาสนศึกษาในเขตปกครอง และครูสอนเป็นกรรมการ ได้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอนมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีพระภิกษุสามเณรนักเรียน 93 รูป ครูสอน 11 รูป รวม 104 รูป โดยในปีการศึกษา 2553 นี้ ศูนย์การศึกษาฯ ของคณะสงฆ์ภาค 2 มีพระภิกษุสามเณรนักเรียนบาลีและครูสอน รวมจำนวน 128 รูป และเปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันนี้ โดยได้รับความอุปถัมภ์จากพระธรรมปิฎก เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาท และงบประมาณอุดหนุนจากสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง นอกจากนี้ยังได้รับความอุปถัมภ์และความร่วมมือจากเจ้าคณะพระสังฆาธิการ เจ้าสำนักเรียน เจ้าสำนักศาสนศึกษาเป็นอย่างดี ด้านพระธรรมโกศาจาราย์ กล่าวว่า การศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์ไทยยังคงมีความเข้มแข็งในด้านรูปแบบและระบบการสอบ พระสงฆ์ที่ศึกษาต้องมีศรัทธามั่นคงและเชื่อมั่นในการศึกษาเล่าเรียน เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญของการนำหลักธรรมไปเผยแผ่ต่อไป หลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามาในภาษาบาลี เมื่อครั้งที่เรียนในขณะเป็นสามเณร ได้อาศัยการศึกษาค้นคว้าและเปรียบเทียบ ขณะที่เรียนก็เพียงแต่เรียนไปเรื่อยๆ ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ แต่เมื่อมาศึกษาค้นคว้าเปรียบเทียบระหว่างวิสุทธิมรรคซึ่งเป็นหลักสูตรประโยคสูงและวิมุติมรรค ก็ทำให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง ดังนั้น จึงขอให้ผู้ที่เรียนมีความตั้งใจจริงในการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาตนเองต่อไป และที่สำคัญ การที่ได้ขยายศูนย์การศึกษามาที่ภาค 2 วัดพระพุทธบาทแห่งนี้ ซึ่งเป็นศูนย์การศึกษานำร่อง ก็ประสงค์จะให้เป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาด้านภาษาบาลีให้เป็นที่ประจักษ์ต่อไป ขณะที่ พระธรรมปัญญาภรณ์ เลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง กล่าวว่า ดีใจที่คณะสงฆ์ภาค 2 ได้ดำเนินการเปิดการเรียนการสอนบาลีในระดับเปรียญโทและเปรียญเอก ต้องยอมรับว่า กองบาลีสนามหลวงมีส่วนสนับสนุนน้อยมาก แต่กำลังสำคัญคือคณะสงฆ์ในภาค 2 ที่ร่วมแรงร่วมใจกันจัดการศึกษา ซึ่งถือเป็นศูนย์การศึกษานำร่อง โดยที่กองบาลีสนามหลวงได้อาศัยศูนย์การศึกษานำร่องนี้ช่วยจัดการเรียนการการสอนภาษาบาลีให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น แต่เมื่อมองถึงระบบการสอบบาลีสนามหลวงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังคงรักษารูปแบบเดิมไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าจะมีบ้างแต่ก็ยังน้อยมาก ในด้านจำนวนผู้เรียนก็มีเพิ่มขึ้น แต่ผลของการสอบผ่านยังไม่น่าพอใจ เพราะยังขาดการบูรณาการการเรียนการสอนและการสอบให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งการศึกษาพระพุทธศาสนาในไทยมี 3 แบบคือ พระปริยัติธรรมสายบาลี – นักธรรม พระปริยัติธรรมสายสามัญและการศึกษา ในระบบอุดมศึกษาคือของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จึงอยากให้ผู้ศึกษาเมื่อศึกษาต้องกลับไปดูบาลีเดิม คือพระไตรปิฎกเพื่อประกอบในการเรียน เพราะจะทำให้มีความรู้ความเข้าใจมากกว่าที่เรียนเพียงอย่างเดียว ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่/ข่าว/ภาพ |
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||