ข่าวมหาวิทยาลัย |
ความท้าทาย ม.สงฆ์ไทยกับ"ที่นั่งถาวรวิชาพระพุทธศาสนา"ในฮาร์วาร์ด | ||
วันที่ ๐๕/๐๘/๒๐๑๐ | เข้าชม : ๗๑๓๖ ครั้ง | |
คมชัดลึก : ในการกล่าวสุนทรพจน์เปิดประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2553 ที่อุโบสถวัดวชิรธรรมปทีป มหานครนิวยอร์ก "ดอน ปรมัตถ์วินัย" เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา นอกจากชมเชยบทบาทพระธรรมทูตไทยว่า เป็นองครักษ์พิทักษ์พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ยังชื่นชมกับบทบาทวัดและคณะสงฆ์ไทยที่มีส่วนเยียวยาจิตใจคนไทยในภาวะวิกฤติและเป็นองค์กรหลักที่เชื่อมโยงให้เด็กไทยที่เกิดในสหรัฐอเมริกาได้เรียนรู้และรักวัฒนธรรมไทย พร้อมกับบอกข่าวดีว่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเสนอ Perpetual chair หรือ ที่นั่งถาวรด้านวิชาการทางพระพุทธศาสนา ให้ไทยดำเนินการ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลก แต่กลับมีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาท และมีความสนใจพระพุทธศาสนาสายนี้ ทั้งๆ ที่มีตัวเลือกอีกมาก เช่น ทิเบต เป็นต้น แต่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเสนอให้ไทยก่อน ข้อเสนอนี้หากได้รับการปฏิบัติจะทำให้ประเทศไทยซึ่งมีบทบาทสูงทางด้านนี้อยู่แล้ว ได้มีบทบาททางวิชาการเข้าไปในวงการมหาวิทยาลัยชั่วกาลนาน ตราบเท่าที่มหาวิทยาลัยยังอยู่ และคงอยู่ต่อไปเพราะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและโลก ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่เป็นองครักษ์พิทักษ์พระพุทธศาสนาตัวจริงของโลก บางทีเราเรียกว่าตัวจริงเสียงจริง จะเห็นว่าปัญหาเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นที่ไหนในโลก ประเทศไทยย่อมเข้าไปแก้ปัญหานั้นเสมอ ฉะนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับการลงลึกทางวิชาการพุทธศาสนาอันเป็นส่วนที่เติมเต็มได้เมื่อได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของโลกเช่น ฮาร์วาร์ด เมื่อถามว่าทำไมฮาร์วาร์ดเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา ท่านดอน ปรมัตถ์วินัย ตอบว่า สตีฟ ยัง ลูกชาย มร.ยัง อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย เป็นผู้นำเสนอและตัวท่านเอกอัครราชทูตเองก็ได้พูดกับคณบดีของมหาวิทยาลัยทางด้านศาสนาแล้ว โดยคณบดีบอกว่าเป็นความสนใจส่วนตัวของเขา หากพ้นเขาไปแล้ว มีคนอื่นมาดำรงตำแหน่งนี้ อาจไม่ใช่ประเทศไทย อาจจะเป็นประเทศอื่น หรือศาสนาพุทธแบบทิเบตก็ได้ เพราะมีผู้สนับสนุนเยอะเลยและรู้จักทิเบตดีกว่า ท่านทูตจึงคิดว่าข้อเสนอนี้จะลงตัวได้ดีกับสภาพการณ์ทั่วไปในประเทศไทย เพราะไทยนั้นเป็นประเทศที่มีวัดมากที่สุดในโลกอยู่แล้ว เช่นเดียวกับในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีวัดไทยมากที่สุดในโลกเช่นกัน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ นับได้จำนวนสิบเท่านั้น จึงสามารถบอกกล่าวได้ว่าความสามารถของไทยด้านพระพุทธศาสนานั้นมีชัดเจน แต่ยังไม่ครบถ้วนถ้าหากยังทำกันอยู่ในกลุ่มคนไทยด้วยกัน ดังที่เราเห็นกันทั่วไปที่ดูแลสารทุกข์สุกดิบ ให้กำลังใจ และประกอบกิจกรรมต่างๆ จึงอยากเห็นการยกระดับขึ้นมาถึงคนที่เป็นเจ้าของประเทศ ที่เขาสนใจปรัชญาศาสนาพุทธ ทั้งธรรมะและการปฏิบัติเมื่อทั้งสองสิ่งรวมตัวกันแล้วความเชื่อและบทบาทของไทยในพระพุทธศาสนาในสายตาคนทั้งโลกจะครบบริบูรณ์ ไม่ใช่เฉพาะในแง่ของจำนวนวัดที่มีอยู่ แต่ในแง่คุณค่าแห่งพระพุทธศาสนาด้วย ท่านให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงข้อเสนอของฮาร์วาร์ดว่าเริ่มจากมีที่นั่งถาวรก่อน แล้วจึงจัดหลักสูตรการเรียนการสอน และค้นคว้าทางวิชาการควบคู่กันไป ที่นั่งถาวรนี้จะอยู่ในมือของคนไทย สามารถดำเนินการได้ทุกรูปแบบ เพราะถือว่าเขายกให้ประเทศไทย จะทำกิจกรรมการเผยแผ่ในมหาวิทยาลัย หรือนอกมหาวิทยาลัยก็ได้ โดยทำในนามมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก เราได้ยี่ห้อฮาร์วาร์ดมาเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นถึอได้ว่ามีค่ายิ่ง ส่วนการผลักดันให้เป็นรูปธรรมนั้น ทางสถานเอกอัครราชทูตไทยต้องมีส่วนผลักดันด้วย พร้อมกับสารภาพว่าเรื่องนี้เพิ่งเกิดสดๆ ร้อนๆ ก่อนประชุมสมัชชาสงฆ์ไทยไม่กี่วันหลังจาก (สมัชชาสงฆ์ไทยประชุม 24-26 มิถุนายน 53) หลังจากประชุมสมัชชาแล้วท่านจะลงนามในหนังสือ ส่งเข้ากรุงเทพฯ เพื่อให้รัฐบาลส่งเสริมต่อ ทั้งนี้โครงการนี้มีเงินงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยทางไทยออกส่วนหนึ่ง ทางเอกชนที่สนับสนุน หรือฮาร์วาร์ดออกส่วนหนึ่ง แต่เป็นจำนวนเท่าใดนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ศาสนาอื่นๆ มีที่นั่งถาวรในฮาร์วาร์ดหมดแล้ว เว้นแต่พุทธเท่านั้น แม้ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยอยู่ 2 ท่านก็ตามหากได้มีที่นั่งตามที่ฮาร์วาร์ดเสนอให้มา จะทำให้ได้ทั้งบุคคลที่มีความชำนาญรวมทั้งพระสงฆ์ที่มีบทบาทอยู่แล้ว มีสถานที่ถาวรในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมีเกียรติ ท่านเอกอัครราชทูตไทยยังคิดในแง่ดีว่าลูกหลานไทยที่เกิดในสหรัฐอเมริกา ที่มีความรู้ภาษาอังกฤษดีๆ ถ้าหันมาสนใจศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจัง จะทำให้สามารถเผยแผ่ศาสนาต่อไปเป็นสากลได้ ไม่ใช่มีวัดมากอย่างเดียวต้องมีคุณภาพเสริมเข้ามาด้วย จึงจะได้ห็นภาพชัดว่าพุทธศาสนามีทิศทางการเดินอย่างมีคุณภาพ ด้านพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี หลังจาก มจร.ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคมให้ดำเนินการฝึกอบรมพระธรรมทูตก่อนส่งไปปฏิบัติศาสนกิจในแต่ละประเทศนั้น ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีพระธรรมทูตอาสาไปปฏิบัติศาสนกิจจำนวนมาก และมหาวิทยาลัยก็มีเป้าหมายที่ประสานกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาเพื่อจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเสนอแนวทางมาจึงถือเป็นสิ่งที่มองในเป้าหมายเดียวกัน และมจร.ก็ยินดีที่จะรับเรื่องนี้ไปประสานดำเนินการ แต่ต้องผ่านกระบวนการเสนอเรื่องตามลำดับขั้นตอน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 0 สมหมาย สุภาษิต 0 ที่มา; หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก วันพุธที่ 4 สิงหาคม 2553 http://www.komchadluek.net/detail/20100804/68865/ความท้าทายม.สงฆ์ไทยกับที่นั่งถาวรวิชาพระพุทธศาสนาในฮาร์วาร์ด.html |
แหล่งข่าว : ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ | ||