คณะสังคมศาสตร์

ประวัติคณะสังคมศาสตร์

        ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ คณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม ได้ออกคำสั่งมหาเถรสมาคม เรื่อง การศึกษาของมหาวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๑๒ และเรื่องการศึกษาของคณะสงฆ์ จากคำสั่งทั้งสองฉบับนี้ ส่งผลให้มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีสถานะเป็นสถาบันการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยโดยสมบูรณ์ และทำการเปิดสอนคณะเอเชียอาคเนย์ ต่อมาเปลี่ยนเป็น คณะมานุษยสงเคราะห์ศาสตร์ ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๖ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้แยกคณะมานุษยสงเคราะห์ศาสตร์ออกเป็นสองคณะ คือ คณะมนุษยศาสตร์ และคณะสังคมศาสตร์

        คณะสังคมศาสตร์ จึงได้ก่อกำเนิดขึ้น ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ พร้อมกับการปรับปรุงหลักสูตร หลักสูตรเดิมมีหน่วยกิต ๒๐๐ หน่วย ถูกลดจำนวนลงเหลือหน่วยกิจเพียง ๑๕๐ หน่วย ซึ่งจำนวนหน่วยกิต เป็นเช่นเดียวกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป ทั้งนี้เพื่อรองรับ พ.ร.บ. กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการทางพระพุทธศาสนา
อาจารย์ผู้เป็นกำลังสำคัญในการก่อกำเนิดคณะสังคมศาสตร์ในขณะนั้นคือ พระมหาสำรวม ปิยธมฺโม (น.ธ.เอก,ป.ธ.๖,M.A.(Phil.)) รวมทั้งมีผู้บริหารของคณะสังคมศาสตร์ ซึ่งมีคุณูปการ ต่อคณะอย่างต่อเนื่อง มีดังนี้

๑. พระมหาวิสุทธิ์ ปญญสฺสโร (พระครูประกาศิตพุทธศาสตร์/มรณภาพแล้ว)   รักษาการคณบดี ๒๐ พ.ค. ๒๕๒๖-๓๐ ก.ย. ๒๕๒๖
๒. พระมหาปรีชา  ปริญฺญาธโร รักษาการคณบดี ๓๐ ก.ย. ๒๕๒๖ – ๑๙ มี.ค. ๒๕๒๗
๓. พระมหายิน  วรกิจฺโจ ดำรงตำแหน่งคณบดีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๓๐
๔. พระมหาสำรวม  ปิยธมฺโม ดำรงตำแหน่งคณบดีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๕
๕. พระครูปลัดประสิทธิ์  ธุรสิทฺโธ,ดร. ดำรงตำแหน่งคณบดีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๕
๖. พระครูวิจิตรธรรมโชติ (สามารถ โชติธมฺโม) ดำรงตำแหน่งคณบดีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๙
๗. พระครูปุริมานุรักษ์ (ประสิทธิ์ ธุรสิทฺโธ),รศ.ดร. ดำรงตำแหน่งคณบดีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๙-๒๕๕๓
๘. พระครูปริยัติกิตติธำรง (ทองขาว กิตฺติธโร),รศ.ดร. ดำรงตำแหน่งคณบดีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๓- ๒๕๖๕
๙. พระอุดมสิทธินายก (กำพล คุณงฺกโร) ๒๕๖๕ ถึงปัจจุบัน

        วิวัฒนาการของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ดำเนินไปโดยลำดับจากเดิมมีเพียง คณะเดียว ได้ขยายออกเป็น คณะพุทธศาสตร์,คณะครุศาสตร์,คณะมนุษยศาสตร์,คณะสังคมศาสตร์, และบัณฑิตวิทยาลัย การขยายของมหาวิทยาลัย ทำให้มีความจำเป็น ต้องย้ายคณะสังคมศาสตร์ จากวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มาอยู่ที่อาคารเรียน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย ศูนย์วัดศรีสุดาราม เลขที่ ๒๓ ถนนบางขุนนนท์-ตลิ่งชัน แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๒ และทางคณะได้ย้ายสำนักงานคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มาปฏิบัติหน้าที่ ณ อาคารเรียนรวม โซนบี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ จนถึงปัจจุบัน

ปรัชญา ปณิธาน วิสัยทัศน์และพันธกิจ

สุภาษิต(Proverb)
         สุภาษิตว่า        ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต
         แปลว่า           ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก

ปณิธาน (Determination)
         ศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง สำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์

ปรัชญา(Philosophy)
         จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับพุทธศาสนา พัฒนาจิตใจและสังคม

วิสัยทัศน์ (Vision)  
         ผลิตคนดีและเก่ง อย่างมีสมรรถภาพ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้มีปฏิทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ ใฝ่คิด เป็นผู้นำจิตใจและปัญญา มีโลกทัศน์กว้างไกล มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนาและพัฒนาสังคม
         จัดการศึกษาและวิจัยดีอย่างมีคุณภาพ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดการศึกษาและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ โดยบูรณาการวิชาการด้านสังคมศาสตร์กับพุทธศาสนาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ผ่านกระบวนการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อก้าวไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ และเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนา มนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล และสันติสุข
           บริการวิชาการดีอย่างมีสุขภาพ  มุ่งมั่นในการให้บริการวิชาการด้านสังคมศาสตร์และพระพุทธศาสนาแก่คณะสงฆ์และสังคม รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ และความร่วมมืออันดีระหว่างพุทธศาสนิกชนในระดับชาติและนานาชาติ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะและวัฒนธรรมอันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา
           บริหารดีอย่างมีประสิทธิภาพ  คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  มุ่งพัฒนาการบริหารจัดการตามหลักนิติธรรม จริยธรรม ความสำนึกรับผิดชอบ การมีส่วนร่วม ความโปร่งใสตรวจสอบได้ และความคุ้มค่า รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

พันธกิจ (Mission)
            ผลิตบัณฑิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผลิตบัณฑิตและพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ๙ ประการ คือ มีปฏิปทาน่าเลื่อมใส ใฝ่รู้ใฝ่คิด เป็นผู้นำด้านจิตใจและปัญญา มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา รู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม มีโลกทัศน์ กว้างไกล มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเอง ให้เพียงพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรม
            วิจัยและพัฒนาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย การวิจัยและค้นคว้า เพื่อสร้างองค์ความรู้ควบคู่ไปกับกระบวนการเรียนการสอน เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ในพระไตรปิฎก โดยวิธีสหวิทยาการแล้วนำองค์ความรู้ที่ค้นพบมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหา ศีลธรรม และจริยธรรมของสังคม รวมทั้งพัฒนา คุณภาพงานวิชาการด้านพระพุทธศาสนา
            ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม ตามปณิธานการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ด้วยการปรับปรุงกิจกรรมต่างๆ ให้ประสานสอดคล้อง เอื้อต่อการส่งเสริม สนับสนุนกิจการคณะสงฆ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา สร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรมแก่ประชาชน จัดประชุม สัมมนา และฝึกอบรม เพื่อพัฒนาพระสงฆ์และบุคลากรทางศาสนา ให้มีศักยภาพในการธำรงรักษา เผยแผ่หลักคำสอน และเป็นแกนหลักในการพัฒนาจิตใจในวงกว้าง
             ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เสริมสร้าง และพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ให้เอื้อต่อการศึกษา เพื่อสร้างจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในความเป็นไทย สนับสนุนให้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเป็นรากฐานของการพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ

เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย อัตลักษณ์มหาวิทยาลัยและอัตลักษณ์บัณฑิต

เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย คือ บริการวิชาการด้านพระพุทธศาสนา
อัตลักษณ์มหาวิทยาลัย คือ ประยุกต์พระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม
อัตลักษณ์บัณฑิต คือ มีศรัทธาอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา


เข้าสู่เว็บไซต์คณะสังคมศาสตร์